Skip to main content
sharethis

"การทำเกษตรอินทรีย์ของตำบลเริ่มต้นขึ้นคือจู่ ๆ ที่ต.เทนมีย์มีคนนอนตายเดือนละ 7-8 คน หาสาเหตุไม่เจอ  ช่วงแรก ๆ ชาวบ้านก็เชื่อว่าเป็นปอบ  จนกระทั่งเมื่อมีการตรวจเลือดชาวบ้านในตำบลก็พบว่า  สาเหตุที่แท้จริงเป็นเพราะสารเคมีในเลือดสูงมาก" 


 


สัญชัย   มีโชค  นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเทนมีย์ อ.เมือง จ.สุรินทร์เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการผลักดันให้ตำบลเทนมีย์เป็นตำบลที่ทำเกษตรอินทรีย์ทั้งตำบล  จนปัจจุบันสามารถผลักดันให้อยู่ในแผนนโยบายขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทนมีย์เป็นผลสำเร็จ  มีการสนับสนุนประชาชนทั้งงบประมาณ และการฝึกอบรมมาอย่างต่อเนื่อง


 


สำหรับชุมชนที่อยู่ในกระแสการปลูกพืชเพื่อขาย  และส่งออก  อาจจะไม่เชื่อและคิดว่าเป็นเรื่องยากกับการผลักดันคนในตำบลรวมไปถึงฝ่ายนโยบาย เช่น อบต.ให้หันมาสนใจและสนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์  แม้จะเห็นข้อดีของการทำการเกษตรปลอดสาร  ก็เป็นเรื่องยากในการปฏิบัติ    แต่สำหรับตำบลเทนมีย์ทำไมถึงสามารถผลักดันให้คนทั้งตำบลเห็นความสำคัญของการทำเกษตรอินทรีย์ได้


 


จากประชาคมหมู่บ้านสู่ อบต.


 


ภายหลังจากที่ชาวบ้านตื่นตัวจากกรณีที่มีคนตาย  และพบว่าปอบแท้ที่จริงแล้วก็คือสารเคมี  ชาวบ้านก็เริ่มตระหนักว่าจะต้องลดการใช้สารเคมีในการปลูกพืช  สัญชัยเล่าว่า ช่วงแรก ๆ  ก่อนที่จะผลักดันให้ตำบลเทนมีย์เป็นเมืองเกษตรอินทรีย์นั้นต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก   ไม่ใช่จะเปลี่ยนได้โดยฉับพลัน  เพราะชาวบ้านบางส่วนก็ยังคุ้นเคยกับการทำเกษตรเพื่อขาย  แม้ว่าจะเป็นหนี้สินรุงรังจากต้นทุนทางการเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปีก็ตาม    เนื่องจากยังติดอยู่ในวงจรของหนี้สิน  จำเป็นต้องปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อหาเงินมาใช้หนี้


 


เดิมทีพื้นที่ตำบลเทนมีย์เป็นแหล่งปลูกเผือก ปลูกต้นหอม และข้าวหอมมะลิที่ใช้สารเคมีเป็นจำนวนมาก   จ.สุรินทร์ถือว่าเป็นจังหวัดที่ปลูกข้าวหอมมะลิพันธุ์ดีที่สุดและมีปริมาณมากที่สุดคือร้อยละ 26 ของผลผลิตข้าวหอมมะลิทั่วประเทศ  แต่กลับปรากฏว่าเกษตรกรกลับมีหนี้สินมากสวนทางกับตัวเลขการส่งออก     ทั้งนี้เพราะต้นทุนปุ๋ย และยาปราบศัตรูพืชมีราคาสูงขึ้น  แต่ราคาผลผลิตกลับลดลง


 


สัญชัยเล่าว่า เมื่อชาวบ้านเริ่มกลัวตายจากการใช้สารเคมี  ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการนำเรื่องเกษตรอินทรีย์มาคุยกันในประชาคมตำบล   ชาวบ้านที่ตระหนักก็หันมาเริ่มทำเกษตรอินทรีย์เป็นกลุ่มเล็ก ๆ  และค่อยขยายไปเรื่อย ๆ  จนปัจจุบันมีสมาชิกเพิ่มเป็น 500 คน    ตอนนั้น อบต.ยังไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วม  ตนเองก็ยังไม่ได้เข้าไปเป็นนายกฯ อบต.  แต่เมื่อประชาชนเริ่มสนใจก็ขยับไปของบประมาณสนับสนุนจาก อบต.   งบประมาณที่ชาวบ้านขอสนับสนุนจะเน้นนำไปใช้ในการฝึกอบรม  ดูงาน 


 


การทำเกษตรอินทรีย์เริ่มต้นจากการปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ก่อน   คนที่สนใจทำเกษตรอินทรีย์จะต้องสมัครเป็นสมาชิกและลงทะเบียนอย่างน้อยต้องทำคนละ 5 ไร่    เพื่อให้การทำเกษตรอินทรีย์เป็นจริงจึงจัดตั้งโรงสีข้าวชุมชน และโรงปุ๋ยอินทรีย์ขึ้นมา  โดยของบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 


 


สมาชิกที่ผลิตข้าวจะใช้ปุ๋ยอินทรีย์จากโรงปุ๋ยอินทรีย์ของชุมชน   ซึ่งทำจากหอยเชอรี่  เนื่องจากชุมชนมีหอยเชอรี่เป็นจำนวนมากจึงรับซื้อจากชาวบ้านกิโลละ 1 บาท  ปุ๋ยอินทรีย์ดังกล่าวผลิตขายแทบไม่ทันเพราะดังไปถึงกัมพูชา   ขณะที่ปุ๋ยคอกก็หาลำบากต้องไปสั่งถึงต่างอำเภอ  เนื่องจากชาวบ้านเริ่มนิยมใช้ปุ๋ยอินทรีย์มากขึ้น  นอกจากจะราคาถูกกว่าปุ๋ยเคมีแล้วยังเสี่ยงภัยน้อยกว่าอีกด้วย


 


หลังจากผลักดันให้ชาวบ้านปลูก  ก็ผลักดันให้ชาวบ้านในตำบลได้บริโภคอาหารปลอดสารพิษด้วย   เมื่อกระแสความนิยมการบริโภคอาหารปลอดสารพิษเพิ่มขึ้นก็จะเป็นผลดีต่อการทำเกษตรอินทรีย์โดยตรง


 


ต่อมาทางกลุ่มก็เริ่มผลักดันแนวคิดการทำเกษตรอินทรีย์ไปสู่ อบต.เพราะเห็นว่าถ้าหาก อบต.เห็นด้วยกับแนวทาง  ก็จะเรื่องที่ดีที่จะผันงบประมาณบางส่วนมาสนับสนุน  จากเดิมที่งบประมาณส่วนใหญ่เน้นแต่การสร้างถนน  ซ่อมทางก็จะเปลี่ยนไป  


 


จนกระทั่งปัจจุบัน (2548)  อบต.เริ่มมีการกำหนดยุทธศาสตร์ของตำบลเทนมีย์ไว้อย่างชัดเจนว่าจะต้องมีโครงการเกษตรอินทรีย์อย่างต่อเนื่องทุกปี  และงบประมาณสนับสนุนด้านอาหารปลอดภัยและการทำเกษตรอินทรีย์มากกว่าด้านอื่น ๆ  เช่นการทำข้าวอินทรีย์  การทำผักปลอดสารพิษ  และมีงบประมาณสำหรับการฝึกอบรม  ให้ความรู้  สนับสนุนให้ชุมชนจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนในตำบลขึ้นมาเพื่อเป็นฐานของชุมชนในระยะยาวด้วย


 


อบต.กับนโยบายสาธารณะของท้องถิ่น


 


"ถ้าผู้นำไม่มีวิสัยทัศน์ก็จะทำงานพัฒนาท้องถิ่นในแบบเดิม ๆ คือเน้นแต่เรื่องน้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี   แต่การที่ อบต.เทนมีย์สามารถนำเรื่องเกษตรอินทรีย์มาบรรจุเป็นแผนได้จึงนับว่ามีวิสัยทัศน์อย่างมาก"      อ.สุธี ประศาสน์เศรษฐ์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  กล่าวถึงบทบาทของ อบต.ที่ควรเปลี่ยนไปจากเดิม  


 


อย่างไรก็ตาม  อ.สุธี ก็เห็นว่ากระบวนการที่จะนำระบบเกษตรอินทรีย์มาปฏิบัติและเผยแพร่เป็นที่ชัดเจนนั้นยาก  ต้องใช้กระบวนการหลากหลาย  ต้องมีพันธมิตร และมีความร่วมมือกับเกษตรตำบล อนามัยตำบล นักวิชาการ และต้องมีปราชญ์ชาวบ้านที่ได้ค้นพบและปฏิบัติอยู่แล้ว จึงจะทำให้เกิดกระบวนการเกษตรอินทรีย์ขึ้นในตำบลได้จริง


 


เกือบ  8 ปีแล้วนับตั้งแต่มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น  จนถึงปัจจุบันมี อบต.กว่า 7,000 แห่งทั่วประเทศ  เป็นที่ทราบกันดีว่าแม้ว่า อบต.จะมีอำนาจในการจัดการท้องถิ่น  แต่กลับพบว่า อบต.จำนวนไม่น้อยก็ถูกครอบงำจากส่วนราชการอยู่มาก  มีข้าราชการเกษียณ  และนักการเมืองท้องถิ่นที่เข้ามาอยู่ใน อบต.ก็มาก   กลับกลายเป็นว่า อบต.กลายเป็นหน่วยงานที่ไม่ต่างไปจากส่วนราชการที่มีแผน นโยบายที่กำหนดมาจากส่วนกลาง    ดังนั้นการที่ อบต.เทนมีย์รับเอาความคิดของชุมชนในปรับเป็นแผน นโยบายของ อบต.จึงถือเป็นตัวอย่างที่น่าจะเกิดขึ้นในพื้นที่อื่น ๆ   ด้วย


 


ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม  อดีตประธานสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนมีความเห็นถึงบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่าขณะที่ในระดับชาติมีแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ    มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ    ในท้องถิ่นก็สามารถมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทำนองเดียวกับรัฐส่วนกลางได้เช่นกัน  ในระดับชาติมีกฎหมาย นโยบายเกิดขึ้น  เช่นมีกฎหมายปฏิรูปการศึกษา    ในท้องถิ่นก็สามารถมีข้อบังคับ ข้อปฏิบัติได้เช่นกัน


 


อย่างไรก็ตาม ไพบูลย์ก็มีความเห็นว่าการระดมนโยบายสาธารณะของท้องถิ่นนั้นไม่ใช่การที่กำหนดกันเองภายใน อบต.และสมาชิกไม่กี่คน  แต่หมายถึง อบต.จะต้องสามารถระดมความเห็นของประชาชนในท้องถิ่นได้ด้วย  เช่น  การจัดเวทีให้คนในชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมแสดงความเห็นว่าต้องการการพัฒนาภายในชุมชนแบบไหนอย่างไร    แล้วนำความเห็นเหล่านั้นมากำหนดเป็นแผนของ อบต.อีกทีหนึ่ง เป็นต้น


 


อาจกล่าวได้ว่า การลบล้างภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น อบต.  อบจ.  เทศบาลทั้งหลายจากการที่เคยเป็นองค์กรที่กินตามน้ำ  กินหินปูนทรายจากการโครงการก่อสร้างมาสู่การเป็น อบต.ที่เป็นของประชาชนนั้นเป็นเรื่องยาก  เพราะเรื่องเหล่านี้ต้องผ่านการพิสูจน์ตัวเองอย่างหนัก 


 


แต่ปัจจุบันก็พบว่ามี อบต.จำนวนไม่น้อยที่เริ่มปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ในการทำงาน นอกเหนือจาก อบต.เทนมีย์แล้วยังมี อบต.อีกหลายแห่งที่เริ่มเข้าไปทำงานใกล้ชิดกับประชาชน  และร่วมผลักดันนโยบายสาธารณะที่มาจากท้องถิ่นจริง ๆ   จากงานศึกษาของมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติพบว่ามีเป็นจำนวนมาก เช่น อบต.ประดู่ยืน อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี  อบต.น้ำเกี๋ยน อ.ภูเพียง จ.น่านมีการผลักดันเรื่องระบบสวัสดิการของชุมชนท้องถิ่น    อบต.ท่าข้าม อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา   อบต.ขอนหาด จ.นครศรีธรรมราชก็มีการผลักดันเรื่องเกษตรอินทรีย์เช่นเดียวกับตำบลเทนมีย์  เป็นต้น


 


วาระการทำงานของนายก อบต.และสมาชิก อบต.ที่กำลังเริ่มต้นหลังเลือกตั้งผ่านไปหมาด ๆ  จึงอยู่ในสายตาของประชาชนในท้องถิ่น  กระบวนการทำงานและวิสัยทัศน์จะถือเป็นบทพิสูจน์ว่า อบต.นั้น ๆ จะอยู่ในใจคนท้องถิ่นได้หรือไม่. 


 


เบญจา ศิลารักษ์


สำนักข่าวประชาธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net