Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อวันที่ 24 ก.ย.ที่ผ่านมา  นักวิชาการ  องค์กรภาคประชาชนภาคเหนือ และกลุ่มผู้ใช้น้ำลุ่มแม่น้ำปิง และแม่น้ำสาขา ได้จัดสัมมนาเรื่อง แนวทางการจัดการลุ่มน้ำแม่ปิงตอนบน ขึ้นที่ห้องประชุมบ้านธารแก้ว  อ.เมือง  จ.เชียงใหม่  เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วมเมืองเชียงใหม่


 


หลังจากที่พื้นที่ของ จ.เชียงใหม่ ได้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ในรอบ 40 ปี สร้างความเดือดร้อนและสร้างความเสียหายไปมากกว่า 5,000 ล้านบาท  จนทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร  นายกรัฐมนตรี  ต้องลงพื้นที่นั่งรถจีเอ็มซีของทหาร  สั่งการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมด้วยตัวเอง  ก่อนจะนั่งเฮลิคอปเตอร์บินขึ้นตรวจลำน้ำแม่ปิงขึ้นไปทางตอนเหนือ  ก่อนออกมาให้สัมภาษณ์ถึงสาเหตุของการเกิดน้ำท่วมเชียงใหม่ครั้งนี้ว่า  สาเหตุมาจากการบุกรุกพื้นที่ป่า  ทำให้น้ำป่าไหลหลากลงมาท่วมเมืองเชียงใหม่นอกจากนั้น  ยังมีการรุกล้ำพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำปิง ทำให้แม่น้ำปิงแคบลง 


 


นอกจากนั้น  พ.ต.ท.ทักษิณ ระบุว่า  สาเหตุหนึ่งที่เกิดวิกฤติน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ในครั้งนี้  ก็เพราะมีฝายหินทิ้ง  3 แห่ง คือฝายพญาคำ  ฝายท่าวังตาล และฝายหนองผึ้ง กั้นลำน้ำจึงทำให้น้ำเอ่อล้นท่วมเมืองเชียงใหม่  พร้อมกับสั่งการให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการรื้อฝายทั้ง 3 แห่งทิ้งทันที  โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้นายเนวิน ชิดชอบ รมต.ประจำสำนักนายกและนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รองนายกรัฐมนตรีเข้ามาจัดการแก้ไขปัญหา


 


เผย น้ำลด  โครงการผุดเพียบ


 


นายมนตรี จันทวงศ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ กล่าวว่า  หลังเหตุการณ์น้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ 3 ครั้งในรอบปี  จะพบว่ามีโครงการเกือบ 10 โครงการผุดขึ้นมามากมาย  โดยแนวทางการแก้ปัญหาในเบื้องต้นนั้น เมื่อดูจากแผนบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่เทศบาลนครเชียงใหม่ จะพบว่า  มีโครงการก่อสร้างเขื่อนริมตลิ่งแม่น้ำปิงทั้ง 2 ฝั่งของลำน้ำตั้งแต่บริเวณสะพานขรัวเหล็ก (โรงแรมเพชรงาม) ลงไปจนถึงบ้านป่าแดดใต้ สูงเฉลี่ย 2.10 เมตร ฝั่งละประมาณ 6.40 กิโลเมตร รวมความยาว 12.80 กิโลเมตร โดยมีเป้าหมายเพื่อป้องกันน้ำท่วมจากแม่น้ำปิงล้นตลิ่งในท้องที่ตำบลหนองหอย ตำบลช้างคลานและตำบลป่าแดด  รวมทั้งเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในภาพรวมของชุมชนทั้งสองฝั่งแม่น้ำปิง


 


รื้อฝายโบราณ 5 แห่ง  สร้างฝายยาง


 


ที่กลายเป็นประเด็นร้อนที่สุดในขณะนี้  ก็คือแผนการปรับปรุงฝายในแม่น้ำปิง 5 แห่ง ได้แก่  ฝายพญาคำ(ท่าศาลา) ฝายหนองผึ้ง ฝายท่าวังตาล ฝายหนองสลีก และฝายเด่นคา ซึ่งเดิมเป็นฝายหินทิ้ง  โดยพิจารณาให้มีก่อสร้างเป็นฝายยาง 2 แห่งแทน คือ ฝายท่าวังตาล และฝายเด่นคา


 


ส่วนฝายท่าศาลา ฝายหนองผึ้ง และฝายท่าวังตาลนั้น ให้รื้อทิ้ง เพื่อให้สามารถควบคุมการระบายน้ำและเก็บกักน้ำในลำน้ำให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  ซึ่งได้ผ่านมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 ส.ค.2548


 


นอกจากนั้น  มีโครงการขุดลอกปรับปรุงลำน้ำแม่ปิงจากบริเวณเหนือตัวเมืองเชียงใหม่จนถึงสบน้ำแม่ขานกับแม่น้ำปิง  โดยมีความยาวทั้งหมด 53  กิโลเมตร  ความลึกเฉลี่ยของการขุดลอกลำน้ำแม่น้ำปิงอยู่ระหว่าง 1.18 - 2.80 เมตร  รวมไปถึงโครงการปรับปรุงพนังกั้นน้ำจากสบแม่ขาน บ้านท่ามะโอ ตำบลสองแคว อำเภอจอมทอง  ถึงสบแม่กลาง  บ้านทุ่งหมากหนุ่ม ตำบลสบเตี้ยะ อำเภอจอมทอง ความยาว 36 กม.


 


ดันผันน้ำแม่ปิงไปแม่กวง


แนวคิดที่จะทำการผันน้ำจากแม่น้ำปิงไปยังแม่น้ำกวงนี้  เพื่อช่วยลดปริมาณน้ำในแม่น้ำปิงและสามารถช่วยลดระดับน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ได้  โดยจะเริ่มต้นตรงบริเวณหน้าฝายแม่แฝก อ.สันทราย ผ่านทางคลองส่งน้ำแม่แฝก ซึ่งไหลมาบรรจบกับลำน้ำแม่กวง อ.ดอยสะเก็ด  ซึ่งการศึกษาระบุว่า  การผันน้ำจากแม่น้ำปิงด้วยอัตรา 100 ลบ.ม./วินาที จะมีผลทำให้ระดับน้ำท่วมที่ตัวเมืองเชียงใหม่ลดลงประมาณ 0.40 เมตร 


 


ทั้งนี้  จะต้องขุดลอกลำน้ำแม่กวง  ให้ลึกลงโดยเฉลี่ย 1.21 เมตร โดยมีความลึกมากที่สุด  ที่ทำการขุดเท่ากับ 2.5 เมตร จึงสามารถแก้ปัญหาการไหลล้นตลิ่งของลำน้ำแม่กวงได้


 


เขื่อนน้ำปิง-แตง-ขาน ป้องกันน้ำท่วมจริงหรือ?


นายมนตรี  กล่าวอีกว่า  นอกจากนั้น  ยังมีโครงการที่จะสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำปิงตอนบน และแม่น้ำสาขาอีกหลายแห่ง ได้แก่  โครงการสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำแม่แตง  บริเวณ อ.เวียงแหง  จ.เชียงใหม่ โครงการสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำกึ๊ด หรือบ้านต้นตอง เขต อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่  และโครงการสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำแม่ขาน ซึ่งอยู่ในลุ่มน้ำแม่ขาน  เขต อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่


 


นอกจากนั้น ยังมีโครงการสร้างอุโมงค์ผันน้ำแตง-แม่งัด-แม่กวง ซึ่งถือว่าเป็นโครงการใหญ่ที่สุด และทุกฝ่ายกำลังจับตามองกันอย่างใกล้ชิด  ว่าโครงการนี้คุ้มค่าหรือไม่  ใครได้ประโยชน์และใครได้รับผลกระทบ  รวมทั้งมีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืนหรือไม่


 


รองผู้อำนวยการมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ ได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า ดูเหมือนว่าจะเป็นการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ  แต่จริงๆ  แล้วแต่ละโครงการนั้นมีการรวบรัดและขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ตนเห็นว่าอาจส่งผลต่อความโปร่งใส  สร้างความคลุมเครือ  ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาใหม่ที่แก้ไม่รู้จบ


 


"การแก้ปัญหาน้ำทั้งระบบ  จำเป็นต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในแต่ละโครงการ และยังต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในภาพรวมทั้งหมดอีกด้วย แต่สำหรับแผนโครงการทั้งหมดตนยังไม่มีมีใครพูดถึงเรื่องนี้  อีกทั้งมีการอ้างว่า  แผนงานต่างๆ นั้นได้ผ่านขั้นตอนของคณะกรรมการลุ่มน้ำปิงตอนบน  โดยทึกทักเอากลไกนี้มารับรองว่าเป็นแผนที่ผ่านกลไกการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนแล้ว   ซึ่งจริงๆ  แล้วกลไกนี้ยังไม่สมบูรณ์พอ ความเป็นตัวแทนของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สัดส่วนไม่มากพอ ตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบต้องมากกว่านี้ ต้องมีพี่น้องชาวบ้านในเขตเทศบาลเจอปัญหาน้ำท่วมเข้าร่วมด้วย " รองผู้อำนวยการมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ กล่าว


 


หนุนภาคปปช.ตรวจสอบโครงการหลังน้ำท่วม


ดร.ฉลาดชาย รมิตานนท์  คณะสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  กล่าวว่า โครงการที่เกิดขึ้นหลังน้ำท่วมเชียงใหม่ครั้งนี้  รัฐจะต้องตั้งคำถามว่า 1.โครงการนี้มีประสิทธิภาพหรือไม่ รับประกันได้ไหมว่าน้ำจะไม่ท่วมต่อไป ไม่ว่าในเขตเมืองหรือเขตพื้นที่การเกษตรด้วย  


 


"ภาครัฐจะต้องพูดถึงพื้นที่กรณีน้ำท่วมในพื้นที่การเกษตรภายใต้ชลประทานรัฐด้วย ว่าชลประทานเหมืองฝายมีความเป็นเป็นธรรมหรือไม่ ไม่ใช่ว่าทางเทศบาลออกมาบอกว่าเขตนี้ห้ามท่วม  แต่ปล่อยให้น้ำท่วมพื้นที่การเกษตรของชาวนาในพื้นที่ท้ายน้ำ นอกจากนั้น  จะต้องมีการตรวจสอบว่าโครงการต่างๆ หลังน้ำท่วมนี้มีความโปร่งใสหรือไม่  และจะมีความยั่งยืนได้มากน้อยแค่ไหน  ซึ่งความเป็นธรรมและความโปร่งใส  คนทั่วไปให้ความสนใจเป็นพิเศษ" ดร.ฉลาดชาย กล่าว


 


นอกจากนั้น  ดร.ฉลาดชาย  ยังกล่าวอีกว่า  กรณีน้ำท่วมเชียงใหม่ในครั้งนี้  ได้สะท้อนให้เห็นถึงระบบการเมืองไทย  ซึ่งเป็นระบบเผด็จการรวบอำนาจของผู้ที่มีทุน  มีกลุ่มนักการเมืองกินหัวคิว ในการสร้างโครง การต่างๆ ถึง30 เปอร์เซ็นต์  ยิ่งทำให้ฐานทางอำนาจแน่นยิ่งขึ้น ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการเมืองภาคประชาชน  เพื่อร่วมกันตรวจสอบการดำเนินโครงการต่างของรัฐ


 


ชี้รัฐไม่เคยประเมินความสำเร็จและล้มเหลว


ด้าน สุภาพร ครุฑเมือง นักวิชาการ จากหน่วยวิจัยสังคมและสิ่งแวดล้อม  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ได้ทำการวิจัยในเรื่องน้ำท่วมในหลายๆ พื้นที่ จะเห็นว่า  ตั้งแต่ปี2545 เป็นต้นมา  เมื่อเกิดปัญหาน้ำท่วม  ภาครัฐได้หาทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยมีการว่าบริษัทที่ปรึกษาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำทั้งระบบ ซึ่งผลการศึกษาได้มีการเสนอ 2 แนวทาง คือ การจัดการเรื่องผังเมือง การจัดการเรื่องที่ดิน  ที่อยู่อาศัย  และอีกแนวทางคือมี เรื่องสิ่งก่อสร้าง การฝาย เขื่อน เก็บกักน้ำ 


 


แต่ปรากฏว่า สิ่งที่รัฐนำมาใช้ในการแก้ปัญหาน้ำท่วม กลับมุ่งไปที่โครงการปลูกสิ่งก่อสร้าง การสร้างฝายและเขื่อน  ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาตามมาอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกันเอง  โดยมีความขัดแย้งกันในเรื่องการแย่งงบประมาณ


 


"ปัญหาน้ำท่วมมันเป็นเรื่องการจัดการ ไม่ได้มีการประสานกัน และการแก้ปัญหาน้ำท่วมไม่ใช่แก้ด้วยการสร้างเขื่อนอย่างเดียว  หน่วยงานภาครัฐดันทุรังทำไป อยากทำก็ทำไป  หน่วยงานราชการไม่ได้มีการประเมินความสำเร็จและความล้มเหลว และที่สำคัญอยู่ที่การขาดการมีส่วนร่วมหรือการเข้ามารับรู้ของภาคประชาชนความร่วมมือประชาชน  ทั้งๆ ที่ชาวบ้านจะมีข้อมูลในเรื่องนี้อยู่มาก  แม้กระทั่งในเรื่องการจัดสรรน้ำ  ก็ไม่ได้มีการจัดสรรน้ำที่เป็นธรรม  และรัฐจะนึกกลุ่มผู้ใช้น้ำจะได้รับการจัดสรรน้ำอันดับท้ายๆ  โดยมุ่งเพื่อภาคธุรกิจบริการและอุตสาหกรรมเป็นอันดับต้นๆ" นักวิจัยเรื่องน้ำท่วม จากหน่วยวิจัยสังคมและสิ่งแวดล้อม  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าว


 


 รัฐแปลงวิกฤติน้ำท่วมเป็นธุรกิจ


ในขณะที่ นายสวิง  ตันอุด  ผู้อำนวยการวิทยาลัยการจัดการทางสังคม  ภาคเหนือ  กล่าวว่า  ถ้าให้มองถึงโครงการต่างๆ ของรัฐที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ จะเห็นว่าเป็นการอาศัยสถานการณ์น้ำท่วมเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสในเรื่องธุรกิจ  ดังนั้นจำเป็นต้องมีการสร้างระบบเครือข่ายข้อมูล ให้มีการรับรู้ข้อมูลให้เท่าทันสถานการณ์   และให้ประชาชนมีสิทธิ์ มีเสียงให้มากที่สุด


 


"อย่างกรณีเหมืองฝาย  ทำอย่างไรถึงจะมีเครือข่ายเกิดขึ้น เช่น พัฒนาเครือข่ายองค์กรเหมืองฝาย 4,000 กว่าเหมืองฝาย  ที่มีมาช้านาน มาเป็นพื้นฐานการจัดองค์กร การจัดการที่อยู่บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของประชาชน  โดยผสมผสานความรู้หลายๆด้านทั้งในเรื่องภูมิปัญญาและเทคโนโลยีในการจัดการแก้ไขปัญหา  มากกว่าการใช้อำนาจแก้ไขปัญหาอย่างที่ผ่าน" นายสวิง  กล่าว


 


จากการสัมมนา เรื่อง แนวทางการจัดการลุ่มน้ำแม่ปิงตอนบนโดยภาคประชาชนในครั้งนี้   ได้ข้อสรุปเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานกันต่อไป  โดยมีการเสนอให้มีการสร้างศูนย์ประสานงาน ระบบข้อมูลข่าวสาร โดยมีการพัฒนาเครือข่ายแบบเก่า คือ เครือข่ายเหมืองฝาย หรือแบบใหม่เก่า เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการจัดการทรัพยากร  โดยการดำเนินงานโครงการใดๆ ของรัฐ  จะต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม ทำประชาวิจารณ์ ศึกษาผลกระทบก่อนดำเนินการ 


 


รวมไปถึงการเสนอให้มีการศึกษาระบบผังเมือง   ระบบเมือง  ระบบเหมืองฝาย  ระบบน้ำน้ำคูคลองเมืองเดิม โดยใช้องค์ความรู้ ภูมิปัญญาพื้นบ้าน หรือเทคโนโลยีมาปรับใช้ผสมสานกันได้ ไม่ใช่มุ่งแต่ใช้เทค โนโลยีสมัยใหม่เพียงอย่างเดียว  และหากรัฐยังดื้อดึงไม่ให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม  ไม่มีการศึกษาผลกระทบ กับการดำเนินงานโครงการใดๆ  ทางภาคประชาชนได้ลงความเห็นกันว่า จะต้องอาศัยสิทธิตามรัฐธรรมนูญ และหากโครงการของรัฐสร้างผลกระทบต่อชาวบ้านและชุมชนโดยรวม  ก็อาจอาศัยช่องทางทางศาลปกครอง.


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net