Skip to main content
sharethis


ประชาไท          ดูเหมือนปัญหาจริงๆของกระบวนการยุติธรรมในภาคใต้ ก็เป็นปัญหาเดียวกันกับในพื้นที่อื่น ๆ ด้วย


 


ดร.กิตติพงษ์      คือเกิดขึ้นที่อื่นด้วย แต่ความรุนแรงของการใช้กำลัง ความเฉียบขาดในการดำเนินการทางกฎหมายมันเพิ่มระดับขึ้นเพราะเจ้าหน้าที่มองในเชิงปราบปราม เมื่อสถานการณ์รุนแรงขึ้น เจ้าหน้าที่ก็ใช้อำนาจมากขึ้น เหมือนกับลอนดอน เจ้าหน้าที่ถึงกับไปยิงผิดคน เพราะต้องเพิ่มระดับความรุนแรงในการใช้อำนาจ


 


พูดแล้วก็ดูเหมือนเป็นเรื่องพื้น ๆ  แต่ในความเห็นส่วนตัวผมคิดว่าสำคัญ เราต้องเข้าใจว่ามีหลายมิติหลายเงื่อนไข การมุ่งเน้นไปที่การปราบปรามอย่างสุดขั้วนั้น แม้ว่าคุณจะมีเหตุผลมากมายในการปราบปราม แต่ก็กำลังจะแพ้เพราะมันหลงเข้าทางอีกฝ่าย


 


ถ้าเราไม่อธิบายดีๆ คนก็จะมองว่ามาพูดเรื่องนี้ทำไม เป็นนักสิทธิมนุษยชนหรืออย่างไร เป็นนักสิทธิมนุษยชนที่ไม่ฟังเหตุผลหรือ คุณรู้หรือเปล่าว่าเกิดอะไรขึ้นที่ภาคใต้ กลายเป็นต้องมาถกเถียงกันตรงนี้


 


ความรู้สึกของผมที่เสนอแบบนี้ไม่ได้บอกว่าคุณไปคุ้มครองสิทธิ์ฝ่ายตรงข้ามหรือฝ่ายที่เป็นผู้ก่อการในความเห็นเจ้าหน้าที่อย่างเดียวนะ คุณมีภารกิจที่จะต้องเข้าใจปัญหาสามารถบังคับให้กฎหมายตรงเป้าด้วย


 


คือคนที่ผิดจริงคุณก็จัดการดำเนินการให้สู้คดี ใช้กระบวนการยุติธรรม ในขณะเดียวก็ปิดช่องว่าง ที่ว่ากระบวนการยุติธรรมกระทำแบบปิดประตูตีแมว เช่น จับกุมโดยไม่แจ้งข้อหา อย่างนี้ ทำไม่ถูก และก็จะถูกขยายผลไป


 


การบังคับใช้กฎหมายให้ตรงเป้าหมาย จะทำความเชื่อถือของคนในพื้นที่ และคนในประเทศไม่สับสน ความสับสนจะเกิดขึ้นเมื่อคนไม่เชื่อถือเจ้าหน้าที่ และก็ไม่ไว้ใจเจ้าหน้าที่รัฐ และจะทำให้รัฐเข้าไม่ถึงข้อมูล นี่คือเรื่องใหญ่สุด 


 


ประเด็นปลีกย่อยอื่นๆ ที่จะเสนอตามไปก็มี เช่น การใช้หลักนิติวิทยาศาสตร์ซึ่งจำเป็นต้องใช้เพราะพยานบุคคลไม่มีหรือมีน้อย เพราะคนไม่ไว้วางใจเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่เชื่อถือก็ไม่ให้ข้อมูล เมื่อไม่ให้ข้อมูลความจำเป็นในเรื่องนี้ก็มีมากขึ้น ประเด็นเรื่องการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ การดึงภาคประชาชนมาเข้าร่วมมากขึ้น สร้างกระบวนการยุติธรรมทางเลือก เป็นต้น


 


 


จะทำอย่างไรให้รัฐรับข้อเสนอหรือแนวทางที่กล่าวมา


                            


เราคงไม่เสนอเชิงไม่เห็นด้วยกับการปราบปราม การปราบปรามก็ต้องมี เพราะมีการฆ่าทุกวันก็ต้องมีการปราบปราม แต่ต้องการให้เห็นว่า การปราบปรามที่ไม่ได้คำนึงถึงเงื่อนไขแบบนี้


 


เพราะเวลาคุยเรื่องนี้หลายคนก็บอกว่าทำไมทำเกินมาตรฐานที่ใช้กับคนทั่วประเทศ เช่น สมมติว่าให้สิทธิ์ในการคุยกับทนาย ก็อาจจะมีคนค้านว่าแล้วทำไมที่อื่นไม่สำคัญ มันก็มีคนมองแบบนี้นะไม่ใช่ไม่มี มันจะมีมุมมองของคนแล้วแต่การตัดสินใจ ที่มองว่าแบบนี้ไม่ถูก การให้อะไรเกินสมควร การต้องให้หลักปฏิบัติเท่าเทียมกันทุกพื้นที่ กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย


 


ผมก็กำลังจะบอกว่ากฎหมายต้องเป็นกฎหมาย และต้องให้มาตรฐานกระบวนการทางกฎหมายตรงนี้มันสูงขึ้น


 


ในส่วนของ กอส.ก็มีหน้าที่เสนอความคิดเห็น ซึ่งถ้ามันเป็นความเห็นผมก็คงไม่มีความหมายอะไร ถ้าผมเป็นอธิบดีกรมคุมประพฤติก็คงไม่พูดเรื่องนี้ แต่ในฐานะที่ผมเป็น ผู้เกี่ยวข้องกับ กอส. ผมก็มีหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายให้หาคำตอบว่าปัญหากระบวนยุติธรรมมันเกิดอะไรขึ้น  ผมก็คงต้องไปหาคำตอบเพื่อเสนอกับวงการนักกฎหมาย


 


แต่กระบวนการคิดจะทำคนเดียวนี่ไม่ได้ ข้อเท็จจริงคืออะไร ต้องนำเสนออย่างเป็นระบบ เคารพความคิดเห็น ผมก็ทำได้เท่านั้น คือเราไม่ได้มีหน้าที่ตัดสินใจ ถ้าท่านประธาน กอส. เห็นในแนวเดียวกันก็อาจจะคุยกับท่านนายก ถ้าท่านนายกเห็นว่าที่ผ่านมาสองปีแนวทางเดิมมันแก้ปัญหาไม่ได้ ก็อาจจะเห็นว่าอาจจะเหมาะสม


 


ความเห็นส่วนตัวของผมนั้น การที่ท่านรองฯ ชิดชัย (วรรณสถิตย์) ท่านได้รับมอบหมายให้ดูกระทรวงยุติธรรมก็เป็นคนดูทั้งระบบยุติธรรม ทั้งตำรวจ ทั้งความมั่นคงในคน ๆเดียวกัน ก็เป็นไปในแนวที่ผมพูด ส่วนการที่ผู้ปฏิบัติในพื้นที่จะเข้าใจตรงกันหรือไม่ ยังจะมีผู้ปฏิบัติงานหลายฝ่ายอยู่หรือไม่ ก็ต้องดูว่าแนวทางที่เสนอไปนั้นรัฐบาลเห็นชอบหรือไม่ จากนั้น ท่าน รองฯ ชิดชัย ก็คงจะพิจารณาว่าใครจะเป็นฝ่ายปฏิบัติการเป็นเอกภาพ อาจจะเป็น ทหาร ตำรวจ คนในพื้นที่ เพื่อจะได้มีสภาพของความเป็นเอกภาพ


 


ส่วนเรื่อง พรก. ในส่วนตัวผม คงไม่อยากไปพูดในเรื่องว่า กระบวนการขั้นตอนมันถูกหรือไม่ หรือว่ามันมีวิธีอื่นหรือไม่ ก็คือเราก็มองว่ามันมีขึ้นมาแล้ว เราจะทำยังไงไม่ให้ความต้องการที่จะทำให้สงบส่งสัญญาณที่ไม่ถูกต้อง


 


ผมไม่พูดย้อนหลังว่ามันถูกหรือไม่ถูก แต่สิ่งที่ผมห่วงก็คือว่าถ้าไม่มีความชัดเจนเรื่องการนำไปใช้ก็ดูเหมือนกับเป็นเรื่องการส่งสัญญาณ ในเชิงเปิดช่องให้ ทำได้เพราะอำนาจคุณจะมากขึ้นกว่าเดิม แต่ความจริงไม่ใช่


 


ถ้าจะมองดูดี ๆไม่มองเรื่องการเมือง เดิมมันมีอยู่แล้ว กฎอัยการศึกมันใช้ได้กว้างขวางมากเลยแล้วมันก็ดูไม่ดีในต่างประเทศ ถ้าเราเอา พรก.มาใช้แล้วดูกระบวนการของมันที่จะไปเกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพประชาชนจริง ๆ ก็คือการเอาตัวผู้ต้องสงสัยไป ซึ่งเดิมก็เอาตัวไปได้อยู่แล้ว แต่การนำตัวผู้ต้องสงสัยไปในขณะนี้มันมีขั้นตอนต้องไปหาศาลชัดเจน ศาลจะต้องเป็นผู้อนุญาต จะขอเกิน 7 วัน ศาลก็ต้องอนุญาตอีก ตรงนี้จะศาลน่าจะใช้จังหวะที่ท่านเข้ามาเกี่ยว เป็นการสร้างมาตรฐาน ศาลนราธิวาสก็ได้ทำแล้ว


 


ส่วนที่เกี่ยวข้องสื่อก็เป็นเรื่องที่ห่วงเป็นใยอยู่ เพราะบทบัญญัติกว้างขวางมาก อาจจะเกิดขึ้นที่กรุงเทพ ที่ภาคใต้ ที่ต่างๆ แต่เกินเขตของ กอส.


 


ถ้าให้มองในมุมของการส่งสัญญาณที่ไม่ถูกสำหรับผู้ปฏิบัติ รัฐก็จะต้องดำเนินการให้ชัดเจนว่า คู่มือในการดำเนินการตาม พรก.ที่ชัดเจนเป็นเอกภาพคืออะไร ทางศาลที่เป็นผู้ดูแลหลักประกันก็คงจะต้องเข้ามาดูแล อันนี้ก็จะไปสอดคล้องว่าถ้ามันมีหน่วยปฏิบัติการในเชิงที่เป็นเอกภาพ ก็คงจะไปเสริมในเรื่องของการคุ้มครองสิทธิ์ของคนที่ถูกกระทบ มีการฝึกอบรมคนที่เกี่ยวข้องในการใช้อำนาจตามมาตรฐาน ก็จะรวมไปถึงเรื่องว่า เอาตัวไปคุมที่ไหน อย่างไร ควบคุมที่เรือนจำไม่ได้ ที่โรงพักไม่ได้ ในทางปฏิบัติต้องไม่ทำเหมือนเขาเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย ต้องมีมาตรฐาน ก็ขอให้ทำตามนั้น ถ้าทำตามที่บัญญัติไว้ได้ ก็คิดว่ามีหลักประกันในอนาคต แต่ถ้าถามว่าไม่มี (พรก.) เลยดีไหม...ถ้าไม่มีเลยได้มันยิ่งดีใหญ่


 


 


อาจารย์เสนอว่าควรจะมีหน่วยงานพิเศษขึ้นมาคอยดูแล อาจารย์มองว่าเป็นหน่วยราชการพิเศษ ตัวคณะกรรมการที่ มี พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ เป็นประธานคณะกรรมการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินอยู่ในขณะนี้อยู่ในความหมายของหน่วยงานพิเศษที่อาจารย์พูดถึงหรือไม่


                           


ก็อาจจะคล้าย ๆ กันแต่ผมมองในเรื่องเอกภาพของการดำเนินการมากกว่า เพราะว่ามันอาจจะมีความไม่ชัดเจนของสายบังคับบัญชาของหลายหน่วย ประเด็นที่สองคือเรื่องของผู้ปฏิบัติก็อาจจะไม่กระจ่างในนโยบายของการใช้หลักสันติวิธี ถ้าผู้ปฏิบัติในพื้นที่ไม่เข้าวิธีการ ไม่ได้รับการฝึกอบรม ไม่ได้รับความเข้าใจของปฏิบัติการพิเศษที่ทำอยู่ คิดว่าเป็นเหตุการณ์ปกติ ก็จะมีปัญหา เรื่องของความไม่สืบเนื่องในการดูแลช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ


 


ผมมองในเชิง Operation (ปฏิบัติการ) จริงๆ ไม่ใช่เรื่องของการกำกับดูแล ซึ่งต้องไปออกแบบซึ่งอาจกำลังทำอยู่ก็ได้ แต่ต้องไปออกแบบให้รอบด้านและเข้าใจตรงกัน ซึ่งอาจจะทำโดยคนเดิมก็ได้แต่ต้องแน่ใจว่าเป้าหมายเดียวกัน ซึ่งถ้าไม่ทำตรงนี้อันตรายมาก เพราะเป็นไปได้โดยง่ายว่าสัญญาณที่ส่งไปของจากคำให้สัมภาษณ์ของบางท่าน จากการมี พรก. และความเครียดภายในพื้นที่ มันเกิดความสับสนในการบังคับใช้กฎหมายซึ่งไม่เป็นผลดี


 


ส่วนเรื่องว่าจะมีคณะกรรมการกำกับหรือไม่อันนี้เป็นแนวคิดของ กอส. อยู่แล้ว ที่จะทำให้เกิดเอกภาพระดับชาติ


 


หน่วยงานที่ไปกำกับ Operation ต้องมีหน้าที่2-3 เรื่อง คือ  เรื่องของการกำกับให้มีเอกภาพ ถ้าไปกำกับเจ็ดแปดหน่วยคงปวดหัวเหมือนกันเพราะมันไม่มีเอกภาพซะเลยอยู่แล้ว แต่ถ้าไปกำกับ Task Force มันง่าย คณะกรรมการกำกับต้องมีอยู่แล้ว


 


นี่ยังไม่ได้พูดถึงว่าตามพรก. ใช้ได้หรือไม่นะ แต่ถ้ากำกับแล้วน่าจะมีส่วนของการตรวจสอบ หรือสร้างกลไกตรวจสอบ เช่น การรับข้อร้องเรียนในส่วนของสภาทนายความหรือกรรมการสิทธิ์ การที่จะให้คนที่ถูกผลกระทบแม้จะบอกว่าหน่วย  Task Force จะต้องมีอะไรซักอย่างแล้วก็ตาม แต่ก็อาจจะไม่เป็นไปตามนั้นก็ได้ เพราะเค้าต้องทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ถ้าได้รับผลกระทบน่าจะมีช่องเข้าไปสู่ระดับสูงที่เป็นกรรมการกำกับได้


 


เพราะฉะนั้นเรื่องของการกำกับเอกภาพก็ส่วนหนึ่ง เรื่องของการสร้างระบบตรวจสอบซึ่งอาจจะไม่ได้ทำโดยภาครัฐทั้งหมดก็ได้ แต่ภาครับต้องเปิดช่องให้ข้อมูลเข้ามาที่ภาครัฐ เรื่องของผลกระทบ เรื่องของการสงเคราะห์ในการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย เรื่องการรับข้อร้องเรียน การใช้กฎหมายที่ไม่ถูกต้อง แม้กระทั่งรับเรื่องบุคคลสูญหาย


 


ในส่วนที่สองคือการตรวจสอบ  ส่วนที่สามอาจจะทำเรื่องการพัฒนามาตรฐานหรือพัฒนาคนก็ได้ ถ้ามีคณะกรรมการกำกับก็สามารถบอกได้ว่า ต้องพัฒนามาตรฐานว่าต้องมีคู่มือในการดำเนินการตาม พรก.ฉุกเฉิน นะ ว่าคุณยังไม่รู้กฎหมายวิ.อาญา (วิธีพิจารณาความอาญา) เลย ยังงงอยู่ แล้วพรก.มาใหม่ เจ้าหน้าที่ไม่รู้ ผมก็ยังไม่รู้ทุกเรื่อง เจ้าหน้าที่จะไปรู้ได้อย่างไร ภายใน 7 วัน ใครจะไปรู้ล่ะ เพราะฉะนั้น ต้องมีคู่มือ ใช่ไหม ถือเป็นการพัฒนามาตรฐานหรือการพัฒนาเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ


 


แต่เหนืออื่นใดต้องเข้าใจยุทธศาสตร์สันติวิธีว่าไม่ใช่การงอมืองอเท้า ไม่ใช่การไม่ต่อสู้ หรือการยอมแพ้ฝ่ายตรงข้าม


 


เรื่องคณะกรรมการ ที่พูดถึงเอกภาพ ความโปร่งใส เสรีภาพ การตรวจสอบ การพัฒนาคน พัฒนามาตรฐานนั้น อีกเรื่องที่สำคัญมาก ๆ คือการเร่งสะสางคดีที่เป็นปัญหาที่มีความเคลือบแคลง คดีที่ได้รับการร้องเรียนว่าใช้อำนาจโดยไม่ชอบ ชุดกำกับจะเข้าไปตรวจสอบอีกที โดยไปเชื่อมกับฝ่ายเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ ชุดกำกับจะเป็นชุดที่วางนโยบาย รับฟังข้อมูล สามารถตั้งอนุกรรมการสะสางเรื่อง มันก็เป็นระบบมากขึ้น ซึ่งพอเป็นระบบแล้วก็จะคลี่คลายออกมา


 


คือปัญหาเรื่องยากๆ มันแก้ไขง่ายๆไม่ได้นะ ไม่ใช่แก้รายวัน มันต้องคิดกรอบว่าอะไรคือปัญหา ก็ต้องจัดระบบ มีความจริงใจ และตั้งใจในระยะยาว เพราะไม่มีใครเชื่อว่าเรื่องนี้จะยุติได้ในระยะเวลาสั้นๆ ต้องคิดให้จริงจัง


 


ต้องเข้าใจดุซงญอ เข้าใจตั้งแต่สมัยปลายกรุงศรีอยุธยาเกิดอะไรขึ้น รัฐปัตตานีเกิดที่ไหนอย่างไร ความรู้สึกของคนในพื้นที่เป็นอย่างไร เกิดอะไรขึ้นในเรื่องของแนวคิดชาตินิยมใหม่ ที่เกิดในยุคหลัง ถ้าไม่เข้าใจตรงนี้เลย แล้วก็ยังมีมิติทางวัฒนธรรม เรื่องภาษา เรื่องของศาสนา เศรษฐกิจเข้ามาเป็นปัจจัย


 


ถ้าเข้าใจแล้วมองว่าเป็นเรื่องของลักษณะพิเศษ ในที่สุดก็จะเข้าใจว่าปัญหานั้นเชื่อมโยงเรื่องความยุติธรรม ถ้ากฎหมายหรือความยุติธรรมเข้าไป แทนที่จะไปช่วยคุ้มครองเขา กลับทำให้เขาหวาดกลัวเป็นผลกระทบจากกระบวนการยุติธรรม ถ้ากฎหมายกับกระบวนยุติธรรมทำให้คนรู้สึกแบบนั้นได้เป็นจำนวนมาก ก็วิกฤตนะ 


 


ตอนนี้แนวทางต่างๆมันก็เริ่มจะดีขึ้น คิดว่าดีขึ้นในโครงสร้างหลังจากปรับ ครม.ใหม่ หวังว่ามันจะเป็นอย่างนั้น


 


ปัญหาของกระบวนการยุติธรรมนั้นเชื่อมโยงกับข้อสังเกตที่ว่าเราคุ้นชินกับระบบการหาพยานหลักฐานที่ไม่คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากนัก และก็มีคนไทยเป็นจำนวนมากทีเดียวบอก "ไม่เป็นไรหรอก แต่ขอให้จับให้ถูกตัวก็แล้วกัน" เราอาจจะรู้สึกอย่างนั้นบางส่วน เจ้าหน้าที่รัฐก็อาจรู้สึกว่าเขากำลังเสียสละอยู่นะ อยากให้สังคมปลอดภัย ไม่ได้คิดถึงตัวเองนะ ทีนี้จะทำให้คนที่ล้วนแต่หวังดีด้วยกันทั้งนั้นมาทำความเข้าใจปัญหา....มันยากนะ


 


เราไม่ได้พูดถึงว่าไม่บังคับใช้กฎหมาย แต่กำลังพูดถึงว่าทำอย่างไรให้ถูกเป้าไม่เหมาโหล ไม่ไปขยายผลในการทำให้คนกลางๆ ไม่ไปเข้าอีกฝ่ายหนึ่ง เพราะเขาก็ได้รับผลกระทบพอสมควร...ยากมาก


 


เจ้าหน้าที่ก็อาจจะบอกว่าเขาก็ไม่ได้เลือกปฏิบัตินี่ ที่อื่นเขาก็ทำกันอย่างนี้ การไปเอาตัวใครสักคนมาสวบสวน พอไม่ผิดก็ปล่อยกลับไป ความจริงมันไม่ถูกนะ มันทำไม่ได้ตามกฎหมาย เพราะถือว่าใช้อำนาจโดยไม่ชอบธรรม ในข่าวที่เราเห็นก็มีอยู่เยอะ


 


ถามว่าภาคอื่นมีไหม... เขาบอกว่าไม่ได้เลือกปฏิบัติ ไม่ใช่เพราะไม่ชอบคนสามจังหวัด แต่เป็นวิธีการที่ทำอยู่ทั่วประเทศ แต่ว่าผลกระทบมันกว้างใหญ่ไพศาลเกินกว่าคนที่ทำจะรู้


 


บางเรื่องที่ไม่รู้ เช่น การหายไปของคุณสมชาย (นีละไพจิตร) เขาไม่รู้ว่าเขาทำอะไรอยู่ ทำอะไรลงไป... ทนายสมชายเป็นคนที่ทำเพื่อสังคมมาตลอด แล้วภาพท่านในประเทศ-ในระหว่างประเทศเป็นอย่างไร คนต้องรู้ เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน


 


ถ้าไม่สามารถคลี่คลายประเด็นเหล่านี้ก็คงไม่สามารถที่จะตั้งต้นใหม่ได้ ถ้าคลี่คลายได้ก็เกิดความไว้วางใจมากขึ้น เพราะความสมานฉันท์มันต้องเกิดจากความจริงก่อน แล้วก็เรียนรู้ที่จะให้อภัย เกิดการยอมรับ ถ้ามันไม่มีความจริง มีแต่ความเคลือบแคลง ไม่แน่ใจก็คงสมานฉันท์ยาก ไม่มีสิ่งที่ช่วยให้นับหนึ่งแล้วจะสมานฉันท์ยังไง


 


นี่คือสิ่งที่ทาง กอส. หลายๆ ฝ่ายเห็นว่าจะต้องมีพื้นฐานของความเข้าใจร่วมกัน ที่ผ่านมาก็ผ่านไป ต่อไปนี้จะไม่เกิด ตรงนี้ถ้าบรรยากาศมันเอื้อผมก็เชื่อว่า ความสมานฉันท์ ความเข้าใจตรงกันจะเกิด


 


ใครที่ทำไม่ดีเราก็จะใช้กฎหมายโดยเคร่งครัดเอาตัวมาลงโทษให้ได้ ใช้หลักนิติวิทยาศาสตร์ ใช้หลักประชาชนไว้วางใจมาให้ปากคำกับเจ้าหน้าที่ ส่วนร่วมในการก่อการร้ายก็จะยากขึ้น ต่อไปก็จะบังคับใช้กฎหมายง่ายขึ้น เหมือนอย่างนิวยอร์กเกิดไฟดับใหญ่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ถ้าเป็นที่อื่นคนขโมยคงเต็มไปหมด แต่นิวยอร์ก ไม่มีคดีขโมยเกิดขึ้นแม้แต่เรื่องเดียว คนนิวยอร์กเขารักกัน เพราะมีอะไรที่เคยสูญเสียร่วมกัน ถ้ามีปลาเน่าเกิดขึ้นนอกคอก คนส่วนใหญ่เขาไม่เอาด้วย


 


แต่ถ้ามีความคับแค้นเกิดขึ้นมี แม้พ่อแม่ห้ามปรามก็อาจจะได้รับคำตอบว่า "ผมก็ทำแทนรุ่นท่าน ก็โดนกดขี่มาตลอด พวกเราก็ทำแทน"


 


เมื่อฝ่ายนักกฎหมาย เสนอแนวทางที่จะปรับเปลี่ยนกระบวนการยุติธรรม คาดว่ารัฐบาลจะปรับหรือจะใช้แนวทางเดิม


 


ผมเชื่อในหลักด้วยเหตุด้วยผล เรื่องยากๆ ก็ต้องพูดกันในข้อเท็จจริง ขณะนี้ถ้าเขาตัดสินใจฟังข้อเท็จจริงก็ดี (หัวเราะ)


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net