Skip to main content
sharethis

ประชาไท—1 ก.ย. 48 เครือข่ายผู้ใช้น้ำ จ.ระยอง ยื่นคำร้องต่อกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (กมธ.) วุฒิสภา หวังช่วยแก้วิกฤตน้ำภาคตะวันออก พร้อมเตรียมยื่นฟ้องกรมชลประทานต่อศาลปกครองในวันพรุ่งนี้


 


วันนี้  ชาวบ้านและกลุ่มเครือข่ายต่างๆ ใน จ.ระยอง ได้เข้าร้องเรียนต่อ คณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  วุฒิสภา ในกรณีวิกฤตน้ำในภาคตะวันออก  เพื่อชี้แจงปัญหาและหาแนวทางออกร่วมกัน


 


ภายหลังจากรับข้อร้องเรียน น.พ.นิรันดร์  พิทักษ์วัชระ  ประธานกมธ.พัฒนาสังคมฯ กล่าวถึงแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวว่า  ต้องใช้นโยบายการจัดการลุ่มน้ำ  ซึ่งในมุมมองด้านความมั่นคงของมนุษย์นั้น  ต้องมองภาพรวม  เพราะหากพูดถึงการจัดการน้ำก็ในเชิงวัตถุเพียงอย่างเดียว  ซึ่งอาจเปลี่ยนเป็นเงินตราหรือสินค้า ก็จะทำให้ทรัพยากรน้ำเกิดการแย่งชิงกัน  ส่งผลให้เกิดวิกฤตสังคมต่อไป


 


"ตอนนี้ต้องมองถึงการจัดการทั้งลุ่มน้ำ  โดยมองว่าน้ำเป็นพื้นที่มีสังคมและชุมชนอยู่ด้วย  และคนยังวิถีชีวิตที่ขึ้นกับลุ่มน้ำอย่างไรบ้าง  และการจัดการต่างๆ สอดคล้องกับวิถีของเขาไหม  ทั้งนี้  การมองเป็นลุ่มน้ำ  รวมไปถึงดิน  ป่า  พื้นที่  ซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจของชุมชน  วิถีชีวิต  การทำมาหากิน  เกษตรกรรม  ความอยู่เย็นเป็นสุข  ความเจ็บไข้ได้ป่วย  รวมถึงมิติทางสังคมและวัฒนธรรมด้วย"  น.พ.นิรันดร์  ส.ว. จ.อุบลราชธานี  กล่าว


 


ทั้งนี้  ประธาน กมธ.พัฒนาสังคมฯ ยังย้ำต่อไปว่า  ต้องมองภาพรวม  ไม่ใช่มองเพียงการแย่งน้ำระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรมเท่านั้น  แต่มองที่นโยบายทั้งระบบของการจัดการลุ่มน้ำที่มีสังคมเกี่ยวโยงในทุกส่วน และต้องทำให้เกิดความสมดุลทั้งด้านสาธารณูปโภค  สิ่งแวดล้อม ชุมชน


 


ทั้งนี้  น.พ.นิรันดร์  กล่าวในตอนท้ายว่า  กมธ.พัฒนาสังคมฯ จะตั้งกระทู้ถามเกี่ยวกับการจัดการลุ่มน้ำในสภา  เกี่ยวกับการจัดการเชิงนโยบายสาธารณะซึ่งเกี่ยวโยงกับงบประมาณ  ทั้งยังจะจัดเวทีสาธารณะร่วมกับคณะกรรมาธิการอื่นที่เกี่ยวข้อง  หน่วยงาน และภาคประชาชน โดยได้มอบหมายให้อนุกรรมาธิการความมั่นคงของฐานทรัพยากรไปดำเนินการต่อ


 


ด้าน นายวิรัตน์  รัตนศิริธรรม  ที่ปรึกษากมธ.พัฒนาสังคมฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า  "เรื่องน้ำเป็นปัญหาใหญ่เพราะต้องต่อสู้กับนโยบายของรัฐบาล ที่กำลังเน้นอัตราการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมเป็นหลัก และพยายามทำให้บรรยากาศการลงทุนไม่สูญเสียไป" 


 


ขณะเดียวกัน  นายวิรัตน์  เห็นว่า  การแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมและการมีส่วนร่วมของประชาชนยังเข้าไปไม่ถึง แต่ภาคอุตสาหกรรมและอื่นๆ ต่างมีเจ้ามือคอยช่วยเหลือ  ขณะนี้ตัวยืนคือกรมชลประทาน  แต่ตอนนี้มีบทบาทต่อเกษตรกรอย่างไร  ทั้งนี้  กรมชลฯต้องรับผิดชอบหรือมีบทบาทช่วยเหลือเกษตรกรหรือไม่ เพราะเกตรกรก็ต้องมีเจ้ามือเหมือนกัน


 


ขณะที่  นายสุทธิ  อัชฌาศัย  ผู้ประสานงานเมืองน่าอยู่ จ.ระยอง กล่าวว่า  สภาผู้ใช้น้ำจ.ระยอง  และกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจ.ระยอง  จะยื่นฟ้องกรมชลประทานต่อศาลปกครองในวันพรุ่งนี้  ในข้อหาทำนบดินปิดกั้นแม่น้ำระยอง  โดยประชาชนไม่มีส่วนร่วมและไม่ศึกษาผลกระทบก่อนก่อสร้าง  และจะนำเรื่องกรณีวางท่อจากคลองทับมาและคลองน้ำหู  เข้าสู่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด  ต่อไปด้วย


 


สำหรับความเคลื่อนไหวในส่วนของชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดระยองนั้น  ชาวบ้านซึ่งรวมตัวเป็นเครือข่ายผู้ใช้นำภาคตะวันออกจะยื่นฟ้องกรมชลประทานต่อศาลปกครองในวันพรุ่งนี้


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net