Skip to main content
sharethis


เป็นโอกาสดีที่ได้หลีกหนีจากห้องประชุมกรรมาธิการร่วมพิจารณาร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชน ของบรรดาส.ส.และส.ว. ที่ไม่มีทีท่าว่าจะถกเถียงกันจบง่ายๆ ด้วยมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร จัดโครงการพาคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชม "โครงการจอมป่า" ซึ่งมีตัวอย่างของชุมชนที่อาศัยอยู่กับผืนป่าตะวันตกในอีกรูปแบบหนึ่ง


 


ในขณะที่สังคมไทยเผชิญข้อถกเถียงมากว่า 15 ปีแล้ว เกี่ยวกับแนวคิดว่าด้วยการอยู่ร่วมกันของ "คน" กับ "ป่า" โครงการจอมป่า ที่มูลนิธิสืบฯ ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรฯ ได้สร้างความน่าสนใจขึ้นมาทันควัน เพราะใช้สโลแกน ... "คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้ และเสือก็อยู่ได้"


 


โครงการจอมป่าหรือ JoMPA - Joint Management of Protected Areas ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุน DANCED ประเทศเดนมาร์ก ต่อเนื่องจากโครงการ WEFCOM โดยมูลนิธิสืบฯ จะร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติฯ สร้างการจัดการผืนป่าตะวันตกอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชนโดยรอบกว่า 100 ชุมชน


 


ชุมชนส่วนใหญ่ปักหลักอยู่ตาม "ชายขอบ" ของผืนป่าสมบูรณ์กว่า 11.7 ล้านไร่ ถือเป็นลักษณะสำคัญที่แตกต่างกับป่าในภูมิภาคอื่นๆ ที่มักมีชุมชนกระจัดกระจายอยู่ภายในไม่ว่าจะเป็นดงดิบแค่ไหนก็ตาม


 


กระนั้นก็ดี ยังมีบางชุมชนที่หลงไปอยู่ในเขตอนุรักษ์สีเขียวจัดของผืนป่าตะวันตกจนได้ อย่าง "บ้านเขาเหล็ก" ชุมชนกะเหรี่ยงราว 75 ครอบครัว มีประชากรกว่า 200 คน ตั้งอยู่กลางดงลึกในเขตอุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ซึ่งชาวบ้านยืนยันชัดเจนว่าอยู่มาพร้อมต้นมะขามใหญ่อายุ 200 ปี ด้านหน้าหมู่บ้านก่อนที่จะมีการประกาศเขตอุทยาน


 


แต่ "ต้นมะขาม" ดูเหมือนเป็นหลักฐานซึ่งระบบราชการยากจะทำใจยอมรับ ที่ผ่านมาชุมชนแห่งนี้จึงต้องเผชิญปัญหาความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ และมักถูกจับกุมในฐานะผู้บุกรุกผืนป่า เพื่อทำ "ไร่หมุนเวียน" ไม่ต่างจากกะเหรี่ยงในพื้นที่อื่น


 


จนกระทั่งเมื่อ 4-5 ปีนี้เองที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้เริ่มยอมรับ และมีความเข้าใจเรื่อง "ไร่หมุนเวียน" มากขึ้นว่า ชาวบ้านไม่ได้ขยายพื้นที่จนกลายเป็นไร่เลื่อนลอย เพียงแต่มีวิถีการทำไร่ข้าวแบบฉบับกะเหรี่ยงที่หมุนวนอยู่ในพื้นที่ที่แน่นอน ทำผืนนี้แล้วย้ายไปทำผืนนั้น ปล่อยให้สภาพป่าในพื้นที่เก่าได้รับการฟื้นฟู แล้วกลับมาหักล้างเพาะปลูกใหม่อีกครั้ง โดยวงจรของการกลับมายังพื้นที่เดิมนั้นอยู่ที่ประมาณ 3-5 ปี


 


 "กะเหรี่ยงยึดถือตามบรรพบุรุษว่า ขอให้มีข้าวกับเกลือ ไว้ทำปลาร้า เนื้อร้า ก็อยู่ได้" ชาวบ้านเขาเหล็กคนหนึ่งเล่าให้ฟัง


 


เขาเล่าด้วยว่า ครอบครัวที่ขยันเต็มที่ มีแรงงานทำกินได้ในพื้นที่ไม่เกิน 5 ไร่ โดยการทำไร่ข้าวของกะเหรี่ยงนั้นจะมีอาหารทุกอย่างที่จำเป็นสำหรับการยังชีพของครอบครัวอยู่ในนั้น ไม่ว่าข้าว พริก ถั่ว มัน เผือก มะเขือ ผักกาด ฯลฯ และมีการพึ่งพิงพื้นราบน้อยมาก เพราะไม่ใช้ยาฆ่าแมลง รวมทั้งมีการเก็บ-แลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์กันเอง


 


ในที่สุดหมู่บ้านแห่งนี้จึงได้รับการกัน "พื้นที่ทำกิน" เพื่อทำไร่หมุนเวียนราว 2,700 ไร่ และพื้นที่ "สีขาว" เพื่ออยู่อาศัยอีกราว 500 ไร่


 


"เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สู้กันมาตลอด นอกจากระดับนโยบายแล้ว มันขึ้นอยู่กับหัวหน้าอุทยานฯ ด้วยว่าเข้าใจเรื่องไร่หมุนเวียนแค่ไหน อีกหลายแห่งก็ยังไม่เข้าใจ ขนาดว่าทาง (มูลนิธิ) สืบฯ ร่วมกับชาวบ้านและเจ้าหน้าที่เดินสำรวจกันเขตพื้นที่ทำกินเสร็จแล้ว หัวหน้าอุทยานฯ ยังโทรมาบอกให้เอาหลักออก ไม่งั้นจะฟ้องว่ามูลนิธิสืบบุกรุกป่า...ก็ถ้าไม่กันพื้นที่ให้เขาก็อยู่ไม่ได้ จะย้ายไปไหน" วรลักษณ์ ศรีใย ผู้จัดการมูลนิธิสืบฯ พูดถึงภาพรวม


 


แม้"เขาเหล็ก" จะเป็นหนึ่งในไม่กี่พื้นที่ที่ "โชคดี" กระนั้น การยังชีพโดยการหา "ของป่า" จำพวกหน่อไม้และเห็ด ก็เป็นส่วนสำคัญในชีวิตกะเหรี่ยง แต่ลำพังเพียงพื้นที่ทำกินก็ได้มาด้วยความยากลำบาก พื้นที่ "ป่าชุมชน" กลางเขตป่าอนุรักษ์จึงนับเป็นเรื่องที่ไม่ต้องพูดถึง


 


โชคดีอีกเช่นกันที่คำตอบต่อปัญหานี้หลากหลายกว่าที่คิด ชาวบ้านจึงยังมีหน่อไม้ให้ขุด มีไม้เศรษฐกิจให้ใช้ โดยไม่ต้องคอยทะเลาะกับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ


 


ไพรัส ศรีเริ่มสกุล ชาวบ้านเขาเหล็กและพนักงานราชการศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา "แม่ฟ้าหลวง" เล่าให้ฟังว่า พวกเขาใช้พื้นที่ว่างเปล่า และหัวไร่ปลายนาภายในพื้นที่อยู่อาศัย 500 ไร่นี้ ทำการขยายพันธุ์สารพัดไผ่ ไม่ว่าจะเป็นไผ่ตง ไผ่รวก ไผ่ซาง รวมถึงพันธุ์หมาจู๋ เพื่อลดการหาหน่อไม้ในป่า รวมทั้งมีการปลูกไม้เศรษฐกิจอื่นๆ ด้วย การหาของป่าของชาวบ้านจึงลดลง และอยู่ภายในกำหนดปีละ 1 เดือนตามข้อตกลงกับอุทยานฯ


 


ที่สำคัญ ชาวบ้านยังได้คิดระบบจดทะเบียนไม้ทุกต้น                                                                        


 "เราทำทะเบียนแล้วให้เจ้าหน้าที่รับรู้ เซ็นชื่อ เวลาที่เราตัดไม้ของเราจะได้ไม่โดนจับ หาว่าตัดจากป่าหรือเปล่า อีกอย่างถ้าเจ้าหน้าที่โยกย้ายเปลี่ยนคนใหม่ก็จะได้ไม่มีปัญหากัน เพราะเรามีหลักฐานหมด" ไพรัสกล่าว


 


อย่างไรก็ดี ความพยายามในการตอบโจทก์อย่างหลากหลายของชาวบ้าน และการต่อสู้กับทางการเพื่อพิสูจน์ตัวเองอย่างยาวนาน ถูกเทียบเคียงอย่างโหดร้ายกับกรณีสวนส้มของนายทุน ซึ่งเริ่มรุกเข้ามาด้านเหนือหมู่บ้าน นำความกังวลลึกๆ เกี่ยวกับสารเคมีที่อาจจะปนเปื้อนในแหล่งน้ำมาสู่บ้านเขาเหล็ก ..... และนำความสะเทือนใจลึกๆ มาสู่ผู้มาเยือน....เออหนอ ประเทศไทย!


 


 


 

เอกสารประกอบ

แผนที่แสดงชุมชนเป้าหมายโครงการร่วมรักษาผืนป่าตะวันตกเชิงระบบนิเวศ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net