Skip to main content
sharethis

 


นายแก้วสรร อติโพธิ สมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร กล่าวในงานเสวนาเรื่อง "พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์" ที่จัดขึ้น ณ ห้องประชุมจี๊ด เศรษฐบุตร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2548 ว่า "พระราชอำนาจ" ไม่ใช่ตรายาง และพระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจที่จะทักท้วงและยับยั้งได้ทุกเรื่อง


 


โดยนายแก้วสรรกล่าวว่า รัฐบาลจะนำคะแนนเสียงที่ได้รับการเลือกตั้งถึง 19 ล้านเสียงมาใช้อ้างความชอบธรรมในทุกเรื่องไม่ได้ เพราะนั่นเป็นเพียงคะแนนเสียงจากการเลือกตั้ง แต่รัฐบาลไม่ได้สิทธิประชาชนไปแบบเด็ดขาด  ประชาชนสามารถเปลี่ยนใจที่จะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนรัฐบาลก็ได้ ทั้งนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดของบ้านเมืองก็คือประชาชนและองค์ประมุขของประเทศ และในฐานะที่ตนเป็นสมาชิกวุฒิสภาซึ่งอยู่ในฐานะที่ใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชนนั้น นอกจากจะต้องเคารพในรัฐธรรมนูญแล้ว ก็ยังต้องเคารพในองค์ประมุขของประเทศซึ่งหมายถึงการเคารพในพระราชอำนาจด้วย


      


ทั้งนี้ยังได้อ้างถึงพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงตรัสว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" ว่าคือเป้าหมายและคือวิถีธรรม เป็นประโยชน์ของปวงชน ซึ่งแสดงให้เห็นแนวทางขององค์ประมุขของประเทศที่เป็นอีกส่วนหนึ่งแยกต่างหากจากระบบรัฐบาล


      


"ท่านเห็นไหมครับมันคนละทางกัน เพราะฉะนั้นการปกครองในขณะนี้ ถ้าแยกตามหลักวิชา ในฐานะที่เคยสอนรัฐธรรมนูญมา มันเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งเป็นส่วนที่เขาเรียกว่า ส่วนของระบบรัฐบาล เป็นส่วนที่รับผิด รับชอบ ไล่ได้ ไปได้ ติดคุกได้ ลงโทษได้ สู้ได้ อาจจะเป็นคณะปฏิวัติ อาจจะเป็นพรรคการเมือง อาจจะเป็น ส.ว.กลุ่มนี้ แต่พวกนี้เป็นพวกที่ถูกด่าได้ รับผิดชอบได้ ผิดพลาดได้ ขณะเดียวกันบ้านเมืองมันเปลี่ยนบ่อย เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ขัดแย้งกัน แบ่งเป็นพรรคเป็นพวก แรงบ้าง ฆ่ากันเป็นระยะก็มี แต่เราต้องมีระบบอีกระบบหนึ่ง เป็นส่วนที่เขาเรียกว่า ระบบของประมุข ไม่ไปตามรัฐบาล สายตายาวไกล ผ่านมาหมด ไม่เหมือนนายกฯที่มีตั้งแต่นายกฯ ขี้ฝอย นายกฯ ขี้ปอดก็มี นายกฯ บ้าอำนาจก็มี นายกฯ ไม่ทำอะไร อ่านกฎหมายลูกเดียว ผมยังไม่ได้รับรายงานก็มี"


      


นายแก้วสรรได้กล่าวถึงพระราชกรณียกิจที่ทรงนำพาบ้านเมืองผ่านเหตุการณ์อันตรายต่างๆ เช่น เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 และปัญหาสังคม ซึ่งทรงไม่เลือกฝักฝ่าย แต่ถือประโยชน์มหาชนเป็นที่ตั้ง ซึ่งหากองค์ประมุขของประเทศเลือกฝักฝ่ายเสียแล้วบ้านเมืองก็อาจวุ่นวายได้


           


"เพราะฉะนั้นที่วันนี้มาพูดกัน ไม่ใช่ทักษิณหรือชวนหรือใครทั้งสิ้น แต่มาพูดถึงบรมโพธิสมภาร ว่าต้องรักษาไว้"


 


ส.ว.อีดีตนักกฎหมายมหาชนผู้นี้กล่าวพร้อมสรุปว่า พระราชอำนาจนั้นมีมาก่อนการบัญญัติกฎหมาย เพราะฉะนั้น พระราชอำนาจจึงไม่ได้มีอยู่เฉพาะเท่าที่เขียนไว้ในกฎหมายเท่านั้น และไม่ได้มีสถานะเป็นเพียงตรายาง อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ใช้โดยองค์พระมหากษัตริย์ ฉะนั้นอะไรที่ไม่สมประโยชน์กับประชาชนชาวสยาม และไม่เป็นธรรม ทรงทักท้วงได้ ยับยั้งได้


 


"เพราะฉะนั้นด้วยความรู้สึกนี้ทั้งหมด คำถามในทางวิชาการว่า พระราชอำนาจอยู่ที่ไหน คำตอบ พระราชอำนาจไม่มีเท่าที่เขียน พระราชอำนาจมีมาก่อน และถูกรับรองไว้เพียงบางส่วน เหมือนกับสิทธิเสรีภาพของผู้คนมีมาก่อน รัฐธรรมนูญเป็นเพียงสิ่งรับรอง เพราะฉะนั้นในช่วงรัชสมัยของพระองค์ มีประเพณี มีวัตรปฏิบัติ ซึ่งเรายอมรับกันทุกคน ก่อตัวขึ้น และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย นั่นเป็นการปรากฏตัวในทางจารีตประเพณี ผมเป็นนักกฎหมาย ผมบอกว่า โอเคถ้าบอกว่าพระราชอำนาจเรื่องนี้ไม่มีกำหนดไว้ หรือไม่ได้อยู่ตรงนั้น เพราะฉะนั้นในรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 จึงได้รับรองไว้ นั่นคือเรื่องที่ว่า เมื่อเรื่องใดไม่ได้เขียนไว้ ก็ให้ใช้จารีตประเพณี ตรงนั้นล่ะครับ"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net