Skip to main content
sharethis

5 เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ บุกกลันตันสอบปากคำ 131 ชาวนราฯ เร่งหาผู้ขออพยพ 2 สัญชาติ ถ้าพบขอให้สละเหลือสัญชาติเดียว "ธรรมรักษ์" โต้กลับมหาเธร์ ยันใช้เกาะลังกาวีวางแผนป่วนใต้ "รัฐมนตรีต่างประเทศเสือเหลือง" ยันต้องเคารพ UNHCR พร้อมปฏิบัติตามความเห็นข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยฯ "กระทรวงศึกษาฯ" ปรับยุทธศาสตร์ รับลูกแก้ปมปัญหาใต้


 


"บัวแก้ว"ร่วมสอบ131ผู้อพยพ


เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2548 ทางมาเลเซียอนุญาตให้เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศของไทย 5 คน เข้าไปสอบปากคำชาวนราธิวาส 131 คน ที่อพยพในมาเลเซีย ซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่ที่อำเภอตาเนาะแมเราะ รัฐกลันตัน ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ในประเด็นสาเหตุการหลบหนีว่า มีผู้ปลุกระดม หรือนำมาหรือไม่ มีการข่มขู่คุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐจริงหรือไม่ ซึ่งทุกคนยังให้การว่า เดินทางมาขออพยพเพราะกลัวเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ได้ถูกบังคับหรือชักจูงจากผู้ใด


ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศของไทย ได้นำรายชื่อชาวนราธิวาสทั้ง 131 คน ให้ฝ่ายปกครองของไทยตรวจสอบกับฝ่ายมาเลเซียว่า มีใครถือบัตรสองสัญชาติบ้างหรือไม่ หากมีผู้ถือสองสัญชาติ จะสอบถามความสมัครใจให้เลือกถือสัญชาติเดียว ถ้าต้องการถือสัญชาติมาเลเซีย รัฐบาลไทยจะถอนสัญชาติทันที


สำหรับผู้ต้องสงสัยว่า เป็นคนยุยงและวางแผนให้ชาวนราธิวาสกลุ่มนี้ เข้าไปลี้ภัยในรัฐกลันตัน คือ นายมือเยาะ สะอุ อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ตำบลโต๊ะเด็ง อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ที่มีหมายจับในข้อหาความมั่นคง นายซายูดี มือลี อดีตสมาชิกสภาจังหวัดนราธิวาส จากอำเภอสุไหงปาดี เนื่องจากพบว่า มีคนส่วนหนึ่งที่ขอลี้ภัยเป็นญาติของคนทั้งสอง แต่ยังไม่พบคนทั้งสองอยู่ในกลุ่มผู้ขออพยพทั้ง 131 คน


 


"ธรรมรักษ์"ยันใช้ลังกาวีวางแผนป่วนใต้


พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า กรณีผู้ขออพยพ 131 คน ทางพล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด จะหารือกับผู้บัญชาการทหารสูงสุดของมาเลเซีย ซึ่งเดินทางมาประเทศไทยในวันที่ 9 กันยายน 2548 นี้


"ที่ชาวบ้านกลัว เขากลัวใคร ถ้าไปตรงโน้นผู้ก่อความไม่สงบไม่ทำร้ายเขาใช่ไหม มันเป็นการเมือง เดี๋ยวให้กระทรวงต่างประเทศเขาพูด ผมสนใจการเคลื่อนไหวที่เกาะลังกาวี เพราะมีอดีตนักการเมืองของมาเลเซียอยู่ที่นั่น ผู้นำที่ก่อเหตุในบ้านเรา เขาไปประชุมกันที่นั่นหลายหนแล้ว ต่อไปนี้เราต้องจับตาดู ความเคลื่อนไหวที่เกาะลังกาวี" พล.อ.ธรรมรักษ์ กล่าว


เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีนายมหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ขอให้รัฐบาลไทยอนุญาตให้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ปกครองตัวเอง พล.อ.ธรรมรักษ์ ตอบว่า ก็มหาเธร์เป็นเจ้าของเกาะลังกาวี มาเลเซียเป็นเพื่อนบ้านที่ดี มีเพียงบางคนเท่านั้นที่เข้ามายุ่ง


ก่อนหน้านี้ ดาโต๊ะไซ ยิดฮามิด อาลบา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซียให้สัมภาษณ์ว่า มาเลเซียต้องเคารพการประกาศสถานะของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ถ้าคนเหล่านี้หลบหนีเข้ามา เนื่องจากหวั่นอันตรายจากการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาลไทย มาเลเซียก็พร้อมให้สถานะผู้ลี้ภัย และที่พักพิงแก่คนเหล่านี้


 


131ผู้อพยพประเด็นหาเสียงมาเลย์


ผู้สื่อข่าวมาเลเซียจากเดอะสตาร์และนิวสเตรทไทม์ที่รัฐกลันตัน วิเคราะห์ว่า เรื่องชาวนราธิวาส 131 คนเข้ามาขออพยพ จะถูกหยิบยกเป็นประเด็นหาเสียงของทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน เพราะเป็นเรื่องที่ชาวกลันตันให้ความสนใจมาก เนื่องจากคนชายแดนทั้ง 2 ฝั่ง มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมายาวนาน ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ชาวกลันตันไม่อาจทนดูพี่น้องศาสนาเดียวกันถูกกดขี่โดยตนเองไม่ได้ให้การช่วยเหลือใดๆ ขณะนี้พรรคปาส ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านได้จัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้แล้ว โดยเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2548 พรรคปาสได้เปิดปราศรัยเพื่อระดมหาเงินเข้ากองทุนมาแล้วครั้งหนึ่ง


หนังสือ พิมพ์สเตรทส์ ไทมส์รายงานข่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติมาเลเซีย ได้เพิ่มกำลังลาดตระเวนตามแนวชายแดนรัฐกลันตัน รัฐปาลิส และรัฐเคดาห์อีก 400 คน จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 400 คน และยังเพิ่มมาตรการความปลอดภัยโดยขึงลวดหนามบริเวณเส้นกั้นพรมแดนด่านบุเกตบุงา ซึ่งอยู่ติดกับอำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส อีก 200 เมตรด้วย


ส่วนเหตุการณ์ปิดหมู่บ้านที่บ้านละหาน หมู่ที่ 8 ตำบลปะลุรู อำเภอสุไหงปาดี ขณะนี้ชาวบ้านได้นำเครื่องกีดขวางถนนออก ยอมให้มีการผ่านเข้า - ออกในหมู่บ้านได้ แต่ยังไม่ยอมพูดคุยกับทหารและตำรวจ ที่เข้าไปรักษาความสงบ รวมทั้งนำป้ายเขียนเป็นภาษายาวีว่า "ไม่ต้อนรับผู้สื่อข่าว" มาติดในหมู่บ้านด้วย


วันเดียวกัน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมเรื่องปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีพล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พล.อ.อ.คงศักดิ์ วันทนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายรุ่ง แก้วแดง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายเนวิน ชิดชอบ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานด้านความมั่นคง เข้าร่วม


พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวภายหลังการประชุมว่า เป็นการหารือเรื่องแนวทางการปฏิรูปการศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้เหมาะสมกับพื้นที่


 


กระทรวงศึกษาฯปรับยุทธศาสตร์


นายจาตุรนต์ เปิดเผยว่า กระทรวงศึกษาธิการได้เสนอยุทธศาสตร์ ทั้งส่วนที่ทำมาแล้วและที่จะทำต่อไป โดยจะเพิ่มการสอนศาสนาอิสลามและพุทธในโรงเรียนของรัฐ และปรับปรุงหลักสูตรแกนกลาง หลักสูตรท้องถิ่น หลักสูตรสามัญ และหลักสูตรเกี่ยวกับศาสนา ให้สอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


นายจาตุรนต์ กล่าวอีกว่า จะมีการส่งเสริมให้มีการพัฒนาปรับปรุงโรงเรียน สถานศึกษา เพื่อให้เด็กสามารถเรียนต่อ และประกอบอาชีพได้ การเพิ่มครูที่ขาดแคลน เพิ่มครูสอนศาสนา ภาษาไทย และภาษาท้องถิ่น ซึ่งต้องอาศัยโต๊ะครูผู้นำทางศาสนา และบุคลากรในพื้นที่ โดยเฉพาะผู้จบการศึกษาแล้ว และพร้อมทำงาน เพราะฉะนั้น การรับสมัครครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเป็นลักษณะพิเศษ คือ รับสมัครคนในพื้นที่ให้มากที่สุด ไม่ใช่เปิดทั่วไป


"ส่วนเรื่องงบประมาณ ระเบียบต่าง ๆ ให้พิจารณาเป็นพิเศษ ไม่ต้องติดกรอบของราชการหรือกระทรวงศึกษาธิการตามปกติ" นายจาตุรนต์ กล่าว


 


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net