Skip to main content
sharethis

บทบาทของปอเนาะ


1 .สถาบันศาสนา


ปอเนาะเป็นสถาบันที่มีบทบาทสำคัญในการจัดการการศึกษาวิชาการศาสนาสาขาต่าง ๆ ให้กับสังคมมุสลิมผู้ที่สนใจทุกเพศทุกวัย วิชาการที่ปอเนาะจัดให้เป็นวิชาการศาสนาที่จะทำให้ผู้ศึกษารู้จักข้อบัญญัติใช้และข้อห้าม ตลอดจนบาปและบุญในอิสลามเพื่อใช้ในการดำเนินชีวิตทั้งในเรื่องส่วนตัว ครอบครัวและสังคม


 


2. บทบาทในฐานะที่เป็นบุคคล


บทบาทของปอเนาะในฐานะที่เป็นบุคคลนั้น จะต้องพิจารณาที่ตัวโต๊ะครู ทั้งนี้เพราะโต๊ะครูเป็นทั้งเจ้าของและผู้ทำการสอนของปอเนาะ โต๊ะครูเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถในด้านศาสนาและเป็นบุคคลที่มีความประพฤติปฏิบัติอยู่ในศีลธรรม จึงเป็นบุคคลที่ประชาชนให้ความเคารพนับถือ ให้เกียรติ และยกย่อง พร้อมปฏิบัติตามคำสั่งสอน ด้วยเหตุนี้ โต๊ะครูจึงเป็นผู้ที่ทำให้ปอเนาะเข้าไปมีบทบาทและอิทธิพลต่อการศึกษา และความรู้สึกนึกคิดของประชาชนในชุมชน


 


3. สถาบันการศึกษา


ปอเนาะมีบทบาทมากในการวางรากฐานการศึกษาสำหรับนักวิชาการศาสนา และนักปราชญ์ นักวิชาการมุสลิมในปัจจุบันจำนวนมากมีประวัติการศึกษามาจากปอเนาะ หากเป็นในอดีตก่อนพ.ศ. 2504 นักวิชาการศาสนาเกือบทั้งหมดมีพื้นฐานความรู้ทางศาสนามาจากปอเนาะ ด้วยเหตุผลดังกล่าวปอเนาะจึงมีบทบาทสำคัญในด้านการสร้างปราชญ์ และนักวิชาการศาสนาเพื่อกลับไปพัฒนาสังคมซึ่งส่วนใหญ่จะเปิดปอเนาะเพื่อเผยแผ่ความรู้ให้แก่สังคมต่อไป บางคนก็อาจจะไปเป็นนักเผยแผ่อิสระและบางคนก็อาจจะไปเป็นครูสอนศาสนาในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม


 


4. สถาบันทางสังคม


ปอเนาะเป็นสถาบันที่อบรมสั่งสอนสมาชิกในสังคมให้ยึดมั่นในหลักการศาสนา และกระตุ้นให้สังคมตระหนักถึงความชั่วร้ายของบรรดาอบายมุข เช่น การพนัน ยาเสพติด การผิดประเวณีเป็นต้น นอกจากนั้นปอเนาะยังมีบทบาทสำคัญในเรื่องของการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาสถานสาธารณประโยชน์


      


      จำนวนปอเนาะที่สำรวจเดือนกรกฎาคม 2547   






























จังหวัด


จำนวนปอเนาะ


จำนวนครู


จำนวนนักเรียน


ยะลา


53


53


2,744


ปัตตานี


150


150


8,816


นราธิวาส


46


46


3,511


รวม


249


249


15,071


แหล่งข้อมูล สำนักผู้ตรวจราชการประจำเขตตรวจราชการที่ 12


 


ปอเนาะกับการสร้างอัตลักษณ์ของชุมชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้


ปอเนาะจะมีบทบาทสำคัญในการสร้างอัตลักษณ์ของชุมชนมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผลผลิตของปอเนาะจะมีเอกลักษณ์ที่ต่างไปจากบุคคลทั่วๆ ไป ด้านต่างๆ ดังต่อไปนี้


 


1.       วิถีชีวิต


วิถีการดำเนินชีวิตของมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีความสัมพันธ์กับหลักคำสอนของศาสนา พวกเขาจะมีความเชื่อและวัฒนธรรมที่ต่างไปจากผู้คนทั่วไปในภูมิภาคอื่นๆของประ เทศ จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ผลผลิตของปอเนาะจะเป็นผู้ที่รักษาวัฒนธรรมของท้องถิ่น โดยเฉพาะวัฒนธรรมที่วางอยู่บนพื้นฐานของหลักความเชื่อทางศาสนา นอกจากนั้นผู้เรียนในปอเนาะบางคนจะเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ และเป็นที่พึ่งของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องศาสนา เช่น ในงานแต่งงาน งานทำบุญเป็นต้น


 


1.       ภาษา


ปอเนาะเป็นสถาบันศึกษาหนึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีบทบาทสำคัญในการธำรงไว้ซึ่งภาษามาลายูซึ่งเป็นภาษาที่ใช้กันอย่างกว้างขวางในภูมิภาคแห่งนี้ ผู้เรียนและผล ผลิตของปอเนาะจะผู้มีความสามารถในการใช้อักขระญาวี ซึ่งเป็นอักขระที่มีฐานมาจากอักขระอาหรับ นอกจากนั้นปอเนาะยังเป็นสถาบันที่มีบทบาทสำคัญในการสอนภาษาอาหรับซึ่งบรรดานักวิชาการมุสลิมถือว่าเป็นสื่อในการทำความเข้าใจอิสลาม อย่างไรก็ตามผู้เรียนในปอเนาะ และผลผลิตของปอเนาะส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีความรู้ในการใช้ภาษาไทย เพราะวิชาการสามัญจะไม่มีสอนในสถาบันศึกษาปอเนาะ


 


2.       ความรู้ทั้งทางธรรมและทางโลก


ผลผลิตของปอเนาะจะเป็นผู้ที่รักสันโดษ จะใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย การใช้ชีวิตจะเน้นหนักในเรื่องศาสนา แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาไม่มีความรู้เกี่ยวกับทางโลก เพราะวิชาการศาสนาอิสลามจะครอบคลุมวิชาการทางธรรมและทางโลก แต่ถ้ากล่าวถึงวิชาการสามัญที่มีสอนในโรงเรียนของรัฐ ผู้เรียนในปอเนาะจะไม่ค่อยมีความรู้ประเภทนี้เพราะวิชาการดังกล่าวจะไม่มีสอนในปอเนาะ


 


3.       เศรษฐกิจ


ผลผลิตของปอเนาะส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบอาชีพครูสอนศาสนา อาจจะสอนอยู่ที่ปอเนาะหรือโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม นอกจากนั้นก็อาจจะประกอบอาชีพเกษตรกร ไม่มีความรู้ทางวิชาชีพ เพราะไม่มีโอกาสได้ศึกษาในช่วงที่ศึกษาในปอเนาะ


 


5. การเมือง


ผลผลิตของปอเนาะจะไมค่อยมีความรู้เกี่ยวกับการเมืองทั่วๆไปของประเทศ แต่พวกเขาก็จะมีบทบาทสำคัญในการชี้นำสังคมในการเลือกนักการเมืองทั้งระดับท้องถิ่น และระดับประเทศ และมีผลผลิตจากปอเนาะบางคนก็ได้รับเลือกให้เป็นนักการเมืองระดับท้องถิ่น


 


6. นักวิชาการมุสลิม


นักปราชญ์มุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่เป็นผลผลิตของปอเนาะ ในอดีตผล ผลิตของปอเนาะเป็นที่ยอมรับของสังคมมุสลิมทั้งในและต่างประเทศ ด้วยเหตุผลดังกล่าว จังหวัดชายแดนภาคใต้ในอดีตจึงกลายเป็นศูนย์กลางของการศึกษาอิสลาม และมีผู้คนจากประเทศต่างๆ มาศึกษาอิสลามในพื้นที่แห่งนี้


 


ผศ.ดร.อิบราเฮ็ม ณรงค์รักษาเขต


หัวหน้าภาควิชาอิสลามศึกษา วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net