3 ทางสู้ "เสรีสื่อ" กม.-ปชช.-สื่อทางเลือก

ประชาไท - 19 ก.ย. 48 วงเสวนา "ผ่าทางตันธุรกิจการเมือง บ่อนทำลายเสรีภาพประชาชน" ที่คณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอ 3 หนทาง กฎหมาย-ปลุกประชาชน-และสร้างสื่อทางเลือก เพื่อฟื้น รักษา และสร้างเสรีภาพแก่สื่อมวลชน 

 

รอง บก.มติชน เสนอร่าง กม. คุ้มครองสื่อ

นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ รองบรรณาธิการอำนวยการ หนังสือพิมพ์มติชน และอุปนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วงที่มีการร่าง พระราชบัญญัติวิทยุกระจายเสียง และโทรทัศน์แห่งชาติ ก็เคยมีการถกเถียงกันในคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าควรมีสาระอะไรบ้าง ซึ่งเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งคือการถือหุ้นข้ามสื่อที่เหมาะสม แต่ปรากฏว่ากลไกนี้ก็ถูกตัดออกไป

 

จากกรณีการซื้อหุ้นมติชน-โพสต์ของบริษัทบันเทิงยักษ์ใหญ่ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จึงอยากให้ทุกคนใช้เป็นโอกาสในการพูดคุยว่าจำเป็นต้องมีกฎหมายขึ้นมาควบคุมการถือครองสื่อข้ามกิจการหรือไม่ เพราะเวลานี้ แม้จะมีการบัญญัติเรื่องสิทธิเสรีภาพสื่อเอาไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 41 แต่ท้ายบทก็ระบุว่าให้เป็นไปตามกฎหมายที่บัญญัติ ซึ่งวันนี้ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะมารองรับ

 

นายประสงค์ ยังกล่าวต่อไปว่า ตนได้ติดต่อกับ ผศ.นายบรรเจิด สิงคะเนติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อให้ช่วยศึกษาร่างกฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน เพื่อเสนอต่อรัฐบาลตามที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้รับปากไว้ว่ารัฐบาลยินดีจะเป็นเจ้าภาพ โดยจะให้สื่อมวลชนและนักวิชาการทำหน้าที่ร่างกลไกเพื่อเป็นการพิสูจน์ความจริงใจของรัฐบาล

 

นอกจากนี้ นายประสงค์ ยังได้เสนอว่า ควรมีการตั้งกองทุนสถาบันอิสระเข้าไปถือหุ้นในกิจการสื่อ โดยพนักงานเองควรมีหุ้นในลักษณะองค์กรลูกจ้าง เมื่อมีกำไรก็มีเงินปันผล เพื่อจะนำมาพัฒนารูปแบบการดำเนินงานของสื่อ

 

อาจารย์นิติศาสตร์ มธ. แนะดูตัวอย่าง กม.ต่างประเทศ

 

ผศ.บรรเจิด สิงคะเนติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังศึกษากฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 41 ว่าจะสามารถสร้างกลไกในการร่างกฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนได้อย่างไร โดยดูตัวอย่างจากประเทศต่างๆ ทั้งฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และเยอรมนี

 

ผศ.บรรเจิด กล่าวต่อไปว่า ประเทศฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา มีหลักกฎหมายคล้ายกัน อย่างกฎหมายคุ้มครองแรงงานทั่วไป และกฎหมายคุ้มครองแรงงานเฉพาะองค์กรสื่อ ซึ่งกฎหมายทั้งของประเทศฝรั่งเศส และอเมริกา จะให้ความคุ้มครองลูกจ้างองค์กรสื่อมากกว่ากรณีลูกจ้างทั่วไป

 

นอกจากนี้ประเทศฝรั่งเศสยังมีกฎหมายอาญาที่ป้องกันการใช้อิทธิพลเพื่อให้สื่อมวลชนแสดงความคิดเห็นไปตามที่ตนต้องการ โดยมีองค์กรที่คล้ายกับ กสช. ของเราคุ้มครอง และยังมีกฎหมายที่แยกผู้ถือหุ้นระหว่างฝ่ายบริหาร และฝ่ายวิชาชีพไม่ให้มีอิทธิพลต่อกัน ซึ่งท้ายที่สุดประเทศไทยก็ควรต้องสร้างกลไกคุ้มครองสื่อเพื่อให้พ้นจากการครอบงำทั้งจากอำนาจทุน และอำนาจรัฐเช่นกัน ผศ.บรรเจิด กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ. ผู้นี้มองว่า การร่างกลไกทางกฎหมายในครั้งนี้เป็นเพียงการร่างเพื่อตั้งแท่นไว้ อย่าเพิ่งคาดหวังว่าจะประสบความสำเร็จภายใต้สภาพการณ์ที่การเมืองกำลังฮุบทุกสิ่งทุกอย่าง

 

ส.ว.แมกไซไซ แนะ "สื่อ" สวมบทบาทอัศวินกู้เสรีภาพ

ด้านนายจอน อึ๊งภากรณ์ ส.ว.กทม. กล่าวถึงการต่อสู้เพื่อปกป้องเสรีภาพของสื่อหลังกรณีการซื้อหุ้นมติชน และบางกอกโพสต์ว่า เรื่องของยุทธวิธี หรือยุทธศาสตร์ในการต่อสู้ไม่สำคัญเท่ากับว่าใครจะเป็นคนนำ เพราะในสังคมไทยยังต้องการผู้นำ เนื่องจากปัจจุบันเราอยู่ในสังคมที่ไม่มีอัศวินขี่ม้าขาว

 

ส.ว.จอน กล่าวต่อไปว่า ถ้าพูดตรงๆ ว่าใครจะเป็นคนนำก็คงต้องเป็น สื่อมวลชน แต่ปัญหาก็คือการขาดความสามัคคีของคนในแวดวงสื่อ รวมถึงเจ้าของสื่อ ซึ่งผมอยากเห็น คุณสนธิ (ลิ้มทองกุล) คุณสุทธิชัย หยุ่น คุณเปลว สีเงิน มานั่งคุยกัน แม้จะคาดหวังไม่ได้มากนัก เพราะคนเหล่านี้ก็คือนายทุนอีกรูปแบบหนึ่ง แต่สื่อมวลชนและสมาคมวิชาชีพก็ต้องช่วยกัน โดยมองว่าการต่อสู้ครั้งนี้เป็นการต่อสู้ทางการเมือง ไม่อยากให้มองเพียงการร่างกฎหมายอย่างเดียว เพราะกฎหมายจะร่างกี่กฎหมายก็ได้ แต่มันอาจไม่ผ่านสภา

 

ทางออกจึงต้องรวมพลังคนทำงานสื่อที่กำลังอึดอัด เพื่อเรียกร้องให้ประชาชนสู้ แต่สู้กันอย่างไรนั้นเป็นเรื่องที่สื่อต้องไปคิดกัน โดยส่วนตัวผมไม่คาดหวังกับการตั้ง กสช. (คณะกรรมการจัดสรรคลื่นความถี่และกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ) เพราะง่ายต่อการถูกแทรกแซงจากรับบาล เว้นแต่ถ้ามีแรงกดดันจากประชาชน ตอนนั้น กสช. จึงจะระมัดระวังตัวและเป็นอิสระพอที่จะคิดถึงประโยชน์ของประชาชนมากขึ้น ส.ว.กทม. กล่าว

 

หมอนิรันดร์ เสนอสื่อทางเลือกสู้อำนาจรัฐ

ขณะที่ น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ส.ว.อุบลราชธานี ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา เสนอว่า เราต้องรักษาสิ่งที่เรามีอยู่ในเรื่องสื่อทางเลือก ไม่ว่าจะเป็นวิทยุชุมชน เว็บไซต์ หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ขณะที่เราเปิดพื้นที่ของตนเองได้ เราต้องคุมพื้นที่เราให้ได้ ไม่ให้เขามาอ้างสิทธิ

 

การที่เราจะสู้กับยักษ์ใหญ่ เราต้องสู้ในระดับพื้นที่ที่เราทำงานได้ ทำอย่างไรให้เกิดการเปิดพื้นที่ศูนย์ข่าวภาคประชาชนในการต่อสู้กับอำนาจรัฐ ถ้าหากเรายังไม่ทำ การยึดมติชน และบางกอกโพสต์ จะไม่หยุดเพียงเท่านี้ เพราะหลังจากที่เขายึดรัฐสภา ยึดองค์กรอิสระ สื่อเป็นสิ่งสุดท้ายที่เขาจะยึด เพื่อสร้างวัฒนธรรมให้ลูกหลานเราเลือกเขาอยู่ต่อไปนานๆ ประธาน กมธ.พัฒนาสังคมฯ กล่าว

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท