Skip to main content
sharethis







การลงนามเพื่อเปิดเสรีการบินไทย-สหรัฐ ระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและคณะ กับประธานาธิบดี จอร์ช ดับเบิ้ลยู บุช วันนี้(19 ก.ย.) อาจไม่มีอะไรที่น่าตื่นเต้นไปกว่าพิธีกรรมระหว่างผู้นำของทั้งสองประเทศ


 


แต่สำหรับสายการบินแห่งชาติอย่าง บมจ.การบินไทยแล้ว นี่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของความถดถอยทางธุรกิจ เช่นเดียวกันกับที่เกิดกับสายการบินใหญ่ๆ ในสหรัฐอเมริกา อาทิ สายการบินเดลต้าและสายการบินนอร์ทเวสต์ ที่ทยอยยื่นขอความคุ้มครองจากศาลภายใต้กฎหมายล้มละลายเมื่อไม่นานมานี้ หรือดังเช่นกรณีของสายการบินยูไนเต็ด เมื่อ 3 ปีก่อนก็เป็นได้  ขณะที่มีข่าวลือสะพัดจากเวทีเจรจาเสรีการค้าไทย-สหรัฐว่า สายการบินต้นทุนต่ำอย่าง แอร์ เอเชีย ได้ประโยชน์จากการเปิดเสรีครั้งนี้ไปเต็มๆ


 


แอร์เอเชียรุ่ง - การบินไทย ?


 


บริษัท ไทย แอร์เอเชีย จำกัด สายการบินต้นทุนต่ำ(โลว์คอสต์ แอร์ไลน์) เป็นการร่วมทุนของบริษัทแม่ 2 บริษัทคือ กลุ่มชินคอร์ปอเรชั่นจำกัด (มหาชน) และ AirAsia Malaysia  โดยเดิมชื่อว่า บริษัทแอร์เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด   มีนายบุญคลี ปลั่งศิริ เป็นประธานกรรมการบริหารฯ


 


15 สิงหาคม 2548  สำนักข่าวซินหัวไฟแนนซ์รายงานข้อมูลที่สายการบินแอร์เอเชียแถลงต่อตลาดหลักทรัพย์มาเลเซีย ว่า ต้องการกู้เงินเพื่อเป็นทุนในการซื้อเครื่องบิน 33 ลำ ในเบื้องต้นระหว่างเดือนธ.ค.2548 ถึงเดือนธ.ค.2550 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.2 พันล้านดอลลาร์ โดยบริษัทฯ ได้ยืนยันคำสั่งซื้อเครื่องบินรุ่นแอร์บัส A320-200 จำนวน 60 ลำกับบริษัทแอร์บัส เอสเอเอส และได้ลงนามในสัญญาสำหรับออพชั่นเพื่อซื้อเครื่องบินอีก 40 ลำ


 


สำหรับแบ่งนำมาใช้ที่สายการบินแอร์ เอเชีย ของมาเลเชีย, ไทย แอร์ เอเชีย และสายการบิน AWAIR ประเทศอินโดนีเซีย (ร่วมลงทุนระหว่างแอร์เอเชีย และนักธุรกิจของอินโดนีเซีย) แห่งละ 20 เครื่อง โดยจะมีกำหนดส่งมอบเครื่องลำแรกที่มาเลเซียประมาณปลายปีนี้


 


รายงานข่าวยังระบุว่า นอกจากการสั่งซื้อเครื่องบินเพื่อมาประจำการแทนเครื่องเก่าบางส่วนแล้ว แอร์เอเซียยังเข้าไปเทคโอเวอร์กิจการสายการบินในต่างประเทศ รวมทั้งมีแผนที่จะเปิดเส้นทางการบินใหม่ๆ โดยสร้างเน็ตเวิร์กของข่ายการบินระหว่างจุดต่อจุดตามสโลแกน "ใครๆ ก็บินได้"


 


ด้วยความเป็นสายการบินโลว์คอส์ต ที่มีผลประกอบการดี ทำให้แอร์ เอเชีย ได้เซ็นสัญญาเป็นสปอนเซอร์ให้กับทีมสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จากประเทศอังกฤษ เป็นเวลาหนึ่งปี ระหว่าง 1 ส.ค.48-1ส.ค. 49 มูลค่าสัญญาสูงกว่า 2 ล้านปอนด์ (ประมาณ 140ล้านบาท)


 


แอร์เอเชียยังประกาศตัวที่จะชิงฐานลูกค้าภายในปีนี้  2.5 ล้านคน ทั้งในเส้นทางการบินเดิมและเส้นทางการบินใหม่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


 


ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานข่าวกรณี STARTAX LONDON จัดอันดับสายการบินยอมเยี่ยมประจำปี 2548 ให้ "การบินไทย"ได้คะแนนรวมประเภทสายการบินยอดเยี่ยมของโลกโดยตกอันดับไปอยู่ที่  7 จากการโหวตของผู้โดยสาร 94 ประเทศ 12 ล้านคน


 


สิ่งที่เกิดขึ้นถือว่า คลาดเคลื่อนไปจากยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลไทยรักไทยวางไว้ว่า ต้องการเห็นการบินไทยก้าวขึ้นเป็นสายการบินชั้นนำ 1 ใน 3 ของโลกไว้โดยสิ้นเชิง  


 


ความตกต่ำของการบินไทยไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะภาพลักษณ์เท่านั้น แต่ก่อนหน้านี้การบินไทยตกอยู่ในสภาพขาดทุนจากการทำสงครามกับสายการบินโลว์คอสต์ในเส้นทางการบินภายในประเทศ ในช่วง 7- 8 เดือนที่ผ่านมา ว่ากันว่า ทำให้การบินไทยขาดทุนโดยเฉลี่ย 100 ล้านบาทต่อเดือน


 


ขณะที่เส้นทางการบินในต่างประเทศก็ประสบปัญหาไม่แพ้กัน โดยเฉพาะใน 22 จุดบิน ซึ่งฝ่ายบริหารมีคำสั่งให้ทบทวนหรือยกเลิกเที่ยวบิน แม้กระทั่งเที่ยวบินตรง "กรุงเทพฯ-นิวยอร์ก" ซึ่งการบินไทยเพิ่งโปร โมทเส้นทางใหม่ไปไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ก็มีปัญหาถึงขั้น "ขาดทุน" แน่นอน แม้จะขายได้เต็มลำก็ตาม


 


ภาพเปรียบเทียบของทั้งสองสายการบิน อย่างเช่น แอร์เอเชีย ซึ่งมีเครือชินวัตรถือหุ้นใหญ่นั้น อยู่ในช่วงขาขึ้น เพราะนอกจากผลกำไรที่สูงในบรรดาโลว์คอสต์แอร์แล้ว โอกาสทางธุรกิจของแอร์ เอเชีย บริษัทในเครือของผู้บริหารพรรคไทยรักไทย ค่อนข้างสดใสก็ไม่แพ้กัน


 


ขณะที่ปัญหาของการบินไทยซึ่งสะสมตัวอยู่ในขณะนี้ยังไม่มีทีท่าว่า จะเคลียร์เรื่องราวโดยง่าย ประกอบกับรัฐบาลเพิ่งลงนามเปิดเสรีน่านฟ้าไทย-สหรัฐไปหมาดๆ นั้น จะเป็นการซ้ำเติม บมจ.การบินไทยให้ซวดเซถึงขั้นเกิดวิกฤตได้หรือไม่


 


เสรีการบินไทย-สหรัฐ ซ้ำเติมบินไทย?


 


ข้อตกลงด้านการบินที่ไทยและสหรัฐบรรลุก่อนหน้านี้ซึ่งทางการไทยเชื่อว่า ประเทศจะได้รับประโยชน์โดยผลักดันให้สนามบินสุวรรณภูมิเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคนี้ อยู่บนหลักการสำคัญคือ "จะปรับปรุงความสัมพันธ์ทางการบินสหรัฐ-ไทย ด้วยการเปิดทางให้สายการบินจาก 2 ประเทศตัดสินใจเชิงพาณิชย์ได้โดยมีการแทรกแซงจากรัฐบาลน้อยที่สุด"


 


"พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้รายละเอียดถึงการเปิดเสรีการบินระหว่างไทย-สหรัฐ ว่า ข้อตกลงระหว่าง 2 ประเทศจะมีผลบังคับในปี 2553


 


โดยในช่วงก่อนจะถึงกำหนด 5 ปี ทั้ง 2 ประเทศจะเริ่มทยอยเพิ่มจำนวนเที่ยวบินอย่างต่อเนื่อง โดยแผนการเพิ่มเที่ยวบินในปี 2549 มีเที่ยวบินเพิ่มขึ้นเป็น 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ต่อจุดบิน ปี 2550 เพิ่มขึ้นเป็น 28 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ต่อจุดบิน และปี 2552 เพิ่มขึ้นเป็น 35 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ต่อจุดบิน


 


แต่ทั้งนี้ หลังเปิดเสรีการบินแล้ว 3 ปี หากเห็นว่าไม่เหมาะสม ไทยมีสิทธิทบทวนข้อตกลงได้ และสามารถยกเลิกข้อตกลงได้


 


ทั้งนี้รัฐบาลเชื่อว่า แนวทางข้อตกลงดังกล่าว จะไม่ส่งผลกระทบต่อ บมจ.การบินไทยแต่อย่างใด แม้ว่าอาจจะต้องปรับตัวแข่งขันบ้าง เพราะสายการบินจากสหรัฐที่บินมายังไทย จะแวะที่ญี่ปุ่นเป็นส่วนใหญ่ โดยทำการบินเพียงสัปดาห์ละ 14 เที่ยว คิดเป็นจำนวนผู้โดยสารจากต้นทางประมาณ 4,000 คนต่อสัปดาห์ และรับผู้โดยสารเพิ่มจากประเทศที่ 3 คือญี่ปุ่นได้ประมาณ 1,000 คน ขณะที่เส้นทางญี่ปุ่น การบินไทยสามารถรับผู้โดยสารจากญี่ปุ่นได้ถึง 7,000 คนต่อสัปดาห์


 


ข้อมูลจากปากของรมว.คมนาคมสวนทางกับข้อมูลภายในของการบินไทยที่เห็นว่า การเปิดเสรีภาพที่ 5 กับสหรัฐ จะกระทบกับตลาดหลักของการบินไทยคือ เส้นทาง กรุงเทพฯ-ญี่ปุ่น ซึ่ง มีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 40-50 %


 


เนื่องจากสายการบินจากสหรัฐสามารถแวะรับผู้โดยสารจากญี่ปุ่นมายังไทยหรือ จากไทยไปแวะญี่ปุ่นก่อนบินต่อไปสหรัฐได้ ซึ่งน่าจะทำให้ลูกค้าของการบินไทยลดลง


 


ขณะที่การบินไทยทำการบินในเส้นทางจากกรุงเทพฯ ไปยังเมืองต่างๆ ของสหรัฐ น้อย ส่วนใหญ่จะบินใน 2 จุดคือ กรุงเทพฯ-ลอสแองเจลิส สัปดาห์ละ 4 เที่ยว และเส้นทางกรุงเทพฯ-นิวยอร์ก สัปดาห์ละ 6 เที่ยว


 


เหตุผลก็เพราะ สายการบินอื่นๆ แข่งขันในเส้นทางดังกล่าวสูงมาก ประกอบกับต้นทุนการดำเนินงานของการบินไทยสูงกว่าสายการบินอื่น ทำให้ไม่ใช่เส้นหลักของการบินไทย อย่าทั้งนี้โดยภาพรวม แม้ บมจ.การบินไทยเร่งปรับตัว แต่ผลกระทบต่อฐานะรายได้เกิดขึ้นแน่นอน


 


สุดท้ายใครได้ประโยชน์?


 


ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับ บมจ.การบินไทย โดยเฉพาะประเด็นล่าสุดคือ การเปิดเสรีการบินระหว่างไทย-สหรัฐ ทั้งในตลาดหลักและผลกระทบอื่นๆ ในอนาคตที่จะตามมา รวมถึงเส้นทางผลประโยชน์ที่แท้จริงจะตกอยู่กับใคร เป็นสิ่งที่น่าจับตาดูอย่างยิ่ง


 


เพราะนับแต่รัฐบาลดำเนินนโยบายเสรีการบินโดยเปิดช่องให้สายการบินต้นทุนต่ำเข้ามาแข่งขันกับการบินไทย ซึ่งแม้จะเป็นผลดีในแง่การสร้างทางเลือกให้กับผู้โดยสาร แต่ก็มีเสียงสะท้อนทำนองว่า มีการเลือกปฏิบัติระหว่างกลุ่มสายการบินโลว์คอสต์ด้วยกันเอง ในการใช้โครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการบิน ขณะ ที่สายการบินหลักถูกทำให้อ่อนแอลงเรื่อยๆ


 


กรณีการเปิดเสรีการบินต่อเนื่องมาถึงการเปิดน่านฟ้าไทย- สหรัฐ อาจจะเป็นตัวอย่างรูปธรรมที่จะใช้อธิบายการกำหนดนโยบายที่เอื้อต่อผลประโยชน์ทางธุรกิจที่ซับซ้อน และทับซ้อนอยู่บนผลประโยชน์ของประชาชนก็เป็นได้


 


 ข้อมูลประกอบการเขียน


 



'แอร์ เอเชีย'รุกขยายธุรกิจโฮลดิ้ง เปิดเกมส์บุกตลาดยุโรปฝ่าสมรภูมิโลว์คอสต์ , เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ,


วันที่ 28 กรกฎาคม 2005



ผ่ายุทธศาสตร์ การบินไทย บอร์ด "ล้วงลูก" จน "หลงทาง" !? , เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ (Th)} 18 ส.ค.2005



บินไทยหวั่นรายได้หด"เปิดเสรี"น่านฟ้าสหรัฐ, กรุงเทพธุรกิจ  ฉบับวันที่ 14 กันยายน 2005




"ทักษิณ" ลงนามเสรีการบินสหรัฐฯ-จับตาถก "บุช" วันนี้, ผู้จัดการออนไลน์  วันที่ 19 กันยายน 2005


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net