Skip to main content
sharethis

เหตุฆาตกรรมทหารประจำหน่วยนาวิกโยธิน (น.ย.) ในพื้นที่หมู่ 7 บ้านตันหยงลิมอร์ อ. ระแงะ จ. นราธิวาส คล้อยหลังจากที่นายกรัฐมนตรีไทยเหยียบเท้าลงบนแผ่นดินเกิดไม่ทันข้ามวัน กลายเป็นเหตุสะเทือนขวัญที่ทุกสื่อพุ่งเป้าความสนใจตลอดวันนี้


 


ท่ามกลางรูปการของเหตุฆาตกรรมซึ่งเต็มไปด้วยความสับสนและยังไม่มีผลการสืบสวนสวนสวนอย่างเป็นทางการ อีกทั้งยังไม่ปรากฏชัดว่าเป็นการกระทำของฝ่ายใด เว้นแต่แถลงการณ์ของ พล.อ. ขวัญชาติ กล้าหาญ แม่ทัพภาคที่ 4 และนายนัจมุดดิน อูมา อดีต ส.ส. จังหวัดนราธิวาส พรรคไทยรักไทยซึ่งดูเหมือนจะพุ่งเป้าไปที่กลุ่มวัยรุ่นในหมู่บ้าน


 


รูปคดีซึ่งแสดงถึงความสับสนก่อนเกิดเหตุครั้งนี้ มีบางคำอธิบายกล่าวว่าเป็นความพ้องกันกับที่เคยเกิดในพื้นที่ อ. ระแงะแห่งนี้ในเดือนเมษายน 2546 โดยเหตุจูงใจจาก "โจรนินจา"


 


เหตุเกิดที่ อ. ระแงะ-โจรนินจา สวมหน้ากากเสือ !!?


 


26 เมษายน 2546 ชาวบ้านหมู่ 1 ต.เฉลิม อ.ระแงะ จ.นราธิวาส กว่า 3,000 คนปิดล้อมและรุมประชา ทัณฑ์ ส.ต.อ.โสภณ ชลชลี และส.ต.ท.สมคิด เจิมขุนทด 2 ตชด. จากค่ายนเรศวร จ.ประจวบคีรีขันธ์ ถึงแก่ความตาย พร้อมทั้งทำร้ายร่างกาย พ.ต.อ.นพดล เผือกโสภณ ผกก. สภอ. ระแงะ จ.นราธิวาสได้รับบาดเจ็บสาหัส จากการสอบถามของผู้สื่อข่าว และจากการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ ชาวบ้านอ้างเหตุเข้าใจว่าเป็น ตชด. ทั้ง 2 นายเป็นโจรนินจา


 


นายมะเปาะดิง สามู ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ต.เฉลิม อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นสถานที่เกิดเหตุให้ข้อมูลว่า เวลาประมาณ 18.30 น.วันที่ 25 เม.ย. วัยรุ่นในหมู่บ้านรายงานกับตนว่าขณะที่วัยรุ่นคนดังกล่าวดื่มน้ำชา เวลาประมาณ 18.30 น. เห็นชายฉกรรจ์มีพฤติกรรมน่าสงสัยจำนวน 3 คนเข้ามาในหมู่บ้าน โดยทั้ง 3 คนสวมหน้ากากเสือ ตนจึงระดมคนในหมู่บ้านให้ออกไปปิดล้อมค้นหา แต่ไม่พบบุคคลต้องสงสัย


 


ด้าน ส.ต.อ.โสภณ และ ส.ต.ท.สมคิด ซึ่งขับรถจักรยานยนต์ยี่ห้อซูซูกิ อาร์วีจี สีดำ ไม่มีเลขทะเบียน โดยไม่ได้เปิดไฟหน้ารถผ่านเข้าไปในเขตหมู่บ้านในคืนเดียวกันก็ไปพบกับกลุ่มวัยรุ่น 4- 5 คนซึ่งขับขี่รถจักร ยานยนต์อยู่และเห็นว่าตชด. ทั้ง 2 นายเป็นคนแปลกหน้าจึงขับไล่ เป็นเหตุให้ ตชด. ทั้ง 2 ตัดสินใจทิ้งรถจักรยานยนต์แล้วเดินวนเวียนอยู่ในสวนยางจนเกือบเช้ากระทั่งไปพบกับคนกรีดยางในหมู่บ้านและพูดคุยกันไม่รู้เรื่อง


 


เหตุการณ์ลุกลามเมื่อคนกรีดยางไปแจ้งกับผู้ใหญ่บ้านและมีการระดมกำลังกันไปจับกุมตัว ตชด. ทั้ง 2 นาย และพยายามสอบสวนว่าเป็น โจรนินจาหรือไม่ พร้อมกับแจ้งไปยัง สภอ. ระแงะ เพื่อให้มารับตัวไปสอบสวน


         


ระหว่างนั้นข่าวแพร่สะพัดออกไปอย่างรวดเร็วข้ามอำเภอ มีชาวบ้านจำนวนมากแห่กันไปยังที่ทำการผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 เพื่อดูหน้าผู้ต้องสงสัยว่าเป็นแก๊งนินจา มีคนต่างถิ่นมาชุมนุมกันราว 3,000 คน ซึ่งบรรยากาศเริ่มตึงเครียด เพราะพากันเข้าใจว่าจับโจรนินจาได้


 


ต่อมา พ.ต.อ.นพดล พร้อมกำลังจำนวนหนึ่ง เดินทางถึงบ้านผู้ใหญ่บ้าน แล้วเข้าเจรจาเพื่อนำตัวตำรวจทั้งสองนายกลับไป แต่เมื่อพ.ต.อ.นพดล เดินนำตำรวจทั้งสองนายออกพ้นชายคาบ้านของผู้ใหญ่บ้าน ปรากฏว่า มีคนเข้าประชิดตัว ใช้ขวานจามเข้าที่หัวของนายตำรวจทั้งสอง แล้วมีการฮือเข้าทำร้าย มีการรุมตีด้วยไม้ แทงด้วยมีด ใช้เท้าเหยียบคอ กระทืบหน้า


         


หนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับวันที่ 30  เมษายน 2546 รายงานว่า ภายหลังทางเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบเหตุ การณ์ในช่วงดังกล่าวจากภาพถ่ายวิดีโอ โดยให้คนในหมู่บ้านมาดูแล้วต่างยืนยันว่าพบวัยรุ่นจำนวน 10 กว่าคนที่ลงมือไม่ใช่คนในพื้นที่


 


พ.ต.ต.นพดล ผู้รอดชีวิตจากการรุมประชาทัณฑ์ครั้งนั้นให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 3 พ.ค. 2546 ว่า


 


"..ตอนนั้นที่จำได้ก็มีทั้งเตะทั้งต่อย กระทืบ มีคนรุมเข้ามาประมาณร้อยกว่าคน มีคนพยายามที่จะกันให้ผมออกไป ตำรวจก็เข้ามาช่วย ชาวบ้านแถวนั้นที่รู้จักก็ช่วยกั้นไม่ให้คนเข้ามารุมเพิ่มมากขึ้น มันชุลมุนมาก ผมรู้ว่าถูกตีแล้วสลบไป มารู้ตัวทีหลังที่โรงพยาบาลก็ได้ข่าวว่าตำรวจตระเวนชายแดนสองคนนั้นถูกขวานจามเสียชีวิตและยังถูกแทงด้วยมีดอีกด้วย"


 


อย่างไรก็ตามเขายืนยันว่า เมื่อหายจากอาการบาดเจ็บแล้วเขาก็จะกลับไปทำงานในพื้นที่เดิมเพราะเขาไม่เคยมีเรื่องขัดแย้งกับชาวบ้าน และชาวบ้านไม่มีเรื่องขัดแย้งกับตำรวจอย่างแน่นอน ส่วนความวุ่นวายสับสนที่เกิดขึ้นจนกระทั่งนำไปสู่การุมสกรัมโหดนั้นเขากล่าวว่า "ยังตอบไม่ได้ ยังไม่ทราบว่าเป็นใครกันแน่ แต่เรื่องนี้ชาวบ้านอาจรู้ดี ชาวบ้านเขารู้จักผมดี เพราะผมทำงานกับชาวบ้านมานานแล้ว ไม่เคยมีปัญหาอะไรกับชาวบ้าน"


 


11 พ.ค. 2546 ผู้ต้องหาผู้ต้องหาคดีประชาทัณฑ์ 2 ตชด. ได้แก่ นายลอยือรัน  เปาะเฮง อายุ  26  ปี นายยูโซ๊ะ  อีแตลือเงาะ อายุ  46  ปีและนายกาลิยา  ดือแมงาเซ  เจ๊ะลอ  อายุ  47 ปี  ให้การกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสารภาพว่า เป็นคนลงมือทุบตี  แต่ในขณะนั้นไม่ทราบว่า ผู้ตายเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ  เนื่องจากข่าวสารที่ออกมาทำให้ทุกคนเชื่อว่า เป็นโจรนินจา จึงพากันโกรธแค้น  


 


"โจรนินจา" เหตุแห่งความหวาดระแวง


 


ก่อนหน้าเกิดเหตุรุมประชาทัณฑ์ประมาณ 1 สัปดาห์ "โจรนินจา" เป็นถ้อยคำอาถรรพ์ที่แพร่สะพัดไปในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่ำลือกันว่าเหตุปล้น ฆ่า ข่มขืนในยามค่ำคืนนั้นเกิดขึ้นจากการกระทำของโจรนินจาซึ่งสามารถเหาะเหินระหว่างต้นยาง และหายตัวได้ สร้างความหวาดกลัวให้กับชาวบ้านในพื้นที่จนกระทั่งตั้งเวรยามลาดตระเวนเพื่อรักษาความปลอดภัยของหมู่บ้าน และเป็นเหตุให้ชาวบ้านหวาดระแวงและจับกุมตัวตชด. ทั้ง 2 นายซึ่งเพิ่งเข้าไปประจำการในพื้นที่ได้ไม่ถึง 20 วัน จนกระทั่งนำไปสู่การประชาทัณฑ์


 


ภายหลังเกิดแหตุ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสขณะนั้น กล่าวกับผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 30 เมษายน 2546 ว่า "เรื่องโจรนินจาอาจจะเป็นการหันเหความสนใจ เพราะยังไม่มีการแจ้งคดีความ อาจต้องการหักเหความสนใจ เป็นข่าวลือทุกวัน เรื่องนินจาเราประกาศไปแล้ว ถ้ามีข่าวที่ไหนขอให้ไปทันที แต่ไปแล้วก็ไม่เคยเจอ คิดว่าเป็นข่าวลือสร้างความปั่นป่วนให้เรา"


 


ด้านผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ต.เฉลิม อ.ระแงะ จ.นราธิวาส  กล่าวว่า "เมื่อเดือนที่แล้วมีตำรวจ ตชด.2 คนขับรถจักรยานยนต์แวะมาถามทางชาวบ้านตอนกลางคืน พอเรียกให้หยุดทั้ง 2 คนรีบขับรถหนีไป ชาวบ้านและอาสาสมัครยิงปืนขู่ขึ้นฟ้าก็ยังไม่ยอมหยุดกระทั่งขับหลบหนีไป ก่อนหน้านี้ เคยมีนาวิกโยธินหรือเจ้าหน้าที่เข้ามาในหมู่บ้านตอนกลางคืนแต่ไม่เคยมีปัญหา เพราะแจ้งให้ทราบก่อนว่าเป็นเจ้าหน้าที่ พอมาระยะหลังเริ่มมีคนแปลกหน้าเข้ามามากขึ้นตอนนี้ไม่ได้กลัวแก๊งนินจา แต่กลัวคนที่เข้ามาเพื่อสร้างสถานการณ์มากกว่า"


 


กระแสแห่งความหวาดระแวงครั้งนั้นนั้นอาศัยอยู่ในวังวนของเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นเป็นระลอกๆ มีรายงานข่าวว่าก่อนหน้าวันเกิดเหตุประมาณ 20 วัน เจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งใช้อาวุธปืนยิงเด็กนักเรียนในพื้นที่เสียชีวิต 2 คน โดยอ้างว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติด แต่จากการสอบสวนพบว่าเกิดจากการทะเลาะวิวาทเนื่องจากเด็กนักเรียนทั้ง 2 คน ขับรถจักรยานยนต์ปาดหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจคนดังกล่าว


 


จากเหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้ชาวบ้านตั้งเวรยามขึ้นมาป้องกันการวิสามัญฆาตกรรมของเจ้าหน้าที่โดยอ้างเหตุการณ์ปราบปรามยาเสพติด


 


ย้อนหลังออกไป มีเหตุปล้นฆ่าทหารในฐานทหารตายไป4 ศพ โดยคาดว่ามีคนร้ายประมาณ 30 คน ปล้นปืนไปประมาณ 30 กระบอก


 


ก่อนเหตุประชาทัณฑ์เจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐครั้งนั้น  "โจรนินจา" ถูกร่ำลือสะพัดไปในพื้นที่ซึ่งมีเหตุ ปล้น ฆ่า ข่มขืน ในยามวิกาล เจ้าหน้าที่รัฐซึ่ง"ไม่ได้สวมเครื่องแบบ"เป็นฝ่ายถูกหวาดระแวงโดยชาวบ้านในพื้นที่ให้เหตุผลว่าเป็น "คนแปลกหน้า" และอาศัยหลักฐานจากวีดีโอที่บันทึกเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุ ชาวบ้านระบุว่าผู้ลงมือทำร้ายเจ้าหน้าที่เป็น "คนนอกพื้นที่"


 


ในขณะที่เมื่อหันหน้าไปทางเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็ได้พบกับการวิสามัญฆาตกรรมแบบผิดฝาผิดตัวโดยอ้างเหตุปราบปรามยาเสพติด  การถูกบุกฐานที่มั่นปล้นอาวุธสงคราม


 


เงาสะท้อนจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ขณะที่รัฐกำลังทำสงครามกับเหตุการณ์ความไม่สงบและยาเสพติดอยู่นั้น ชาวบ้านในพื้นที่ก็ถูกขนาบอยู่ระหว่าง "โจรนินจา" "เจ้าหน้าที่" "คนนอกพื้นที่" และ "คนแปลกหน้า"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net