ถือหลายสัญชาติ เป็นภัยต่อรัฐจริงหรือ ? ผิดกม.จริงหรือ ? - รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=120&d_id=120&page=1

เริ่มเขียนตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ และเขียนเสร็จเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๘

 

เผยแพร่ในมติชนรายวันเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ.2548 ปีที่ 28 ฉบับที่ 9835

----------------------------------------------------------------------------------

ในบรรยากาศของการก่อการร้ายที่คุกคามภาคใต้ของประเทศไทย แนวคิดเรื่องคนหลายสัญชาติถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาหลายครั้ง มีข้อเสนอให้รัฐไทยถอนสัญชาติไทยของบุคคลที่ถือสัญชาติไทยควบคู่ไปกับสัญชาติของรัฐต่างประเทศมาเลเซีย    คนสอนกฎหมายสัญชาติก็รู้สึกว่า มันเป็นเรื่องที่อยู่นิ่งเฉยได้ลำบาก  มีหลายคำถามที่ขออนุญาตตั้งคำถามและเสนอแนะต่อผู้บริหารรัฐไทยในวันนี้

 

ทำไมคนหนึ่งคนจึงมีหลายสัญชาติได้ ?

 

คำตอบก็คือ กฎหมายของรัฐหลายรัฐต่างก็ให้สัญชาติของตนแก่บุคคลคนเดียว  โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล รัฐหนึ่งย่อมมีอำนาจอธิปไตยที่จะกำหนดว่า บุคคลในลักษณะใดย่อมมีสัญชาติของตน และในแนวปฏิบัติของสังคมมนุษย์ที่เติบโตมาเป็นกฎหมายจารีตประเพณีที่ยอมรับกันในทุกรับว่า รัฐหนึ่งๆ มักให้สัญชาติแก่คนที่มีจุดเกาะเกี่ยวอย่างแท้จริงกับตน ซึ่งในสังคมดั่งเดิมที่การเดินทางข้ามชาติแทบจะไม่เกิด ปัญหาคนหลายสัญชาติก็จะไม่เกิดให้เป็นที่ลำบากใจ

 

เราจะมีความเข้าใจในหลักกฎหมายที่กล่าวจะมากขึ้น หากเราวิเคราะห์ผ่านตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริง

 

ตัวอย่างแรก ก็คือ เรื่องของนายแดงซึ่งเกิดในประเทศไทยจากพ่อแม่ที่มีเชื้อชาติไทยและเกิดในประเทศไทยอีกด้วย และแม้เมื่อเติบใหญ่ นายแดงก็ยังมีภูมิลำเนาในประเทศไทย และก่อตั้งครอบครัวกับคนสัญชาติไทย จะเห็นว่า โดยการเกิดและภายหลังการเกิด ทุกจุดเกาะเกี่ยวในชีวิตนายแดงก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของประเทศไทย จึงเป็นข้อสรุปที่ชัดเจนว่า นายแดงย่อมมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับประเทศไทย รัฐไทยไม่รู้สึกลำบากใจที่จะยอมรับว่า นายแดงมีสัญชาติไทย จึงไม่มีใครเลยสักคนขึ้นขึ้นมาสงสัยว่า นายแดงไม่มีสัญชาติไทย

 

จะเห็นว่า บุคคลในสถานการณ์เดียวกับนายแดง ก็คือ คนข้างมากในสังคมไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน ไม่มีโอกาสที่จะมีหลายสัญชาติ ความแตกต่างระหว่างอดีตและปัจจุบันอาจจะอยู่ที่จำนวนของคนหลายสัญชาติ ในอดีต คนหลายสัญชาติแทบจะไม่มีเพราะแทบจะไม่เกิดการข้ามชาติของบุคคลธรรมดา ในปัจจุบัน คนหลายสัญชาติมีมากขึ้นแม้จะยังมิใช่กรณีข้างมากของประเทศไทย เพราะการข้ามชาติของคนไทยออกไปนอกประเทศก็มีมากขึ้นและการข้ามชาติเข้ามาในประเทศไทยของคนต่างด้าวก็มากขึ้น

 

  ดังนั้น ผลของเรื่องจึงทำให้รัฐหนึ่งรัฐอาจทำให้คนหนึ่งคนมีหลายสัญชาติในขณะเดียวกัน หรืออาจทำให้คนหนึ่งคนอาจไม่มีสัญชาติของรัฐใดเลย กล่าวคือ คนๆ นี้ ย่อมตกเป็นคนไร้รัฐสัญชาติ (Nationalityless Person)  มันจึงไม่อาจเป็นความผิดของคนๆ นั้นที่เขาจะมีหลายสัญชาติหรือไร้สัญชาติ  สถานการณ์ดังกล่าวอาจจะเป็นคุณหรือเป็นโทษต่อทั้งตัวบุคคลนั้นเองหรือต่อรัฐที่เกี่ยวข้อง  ปัญหาความมีหลายสัญชาติอาจทำให้บุคคลได้รับความคุ้มครองจากหลายรัฐหรืออาจใช้ทรัพยากรในฐานะคนชาติในหลายรัฐ ในขณะที่ปัญหาไร้สัญชาติอาจทำให้บุคคลปราศจากความคุ้มครองจากทุกรัฐที่เกาะเกี่ยวกับตน และตกเป็นคนต่างด้าวในทุกรัฐบนโลกนี้

 

ตัวอย่างในประเทศไทยของกรณีก็มีให้เห็นได้ในหลายปรากฏการณ์

 

อาทิ มนุษย์คนหนึ่งชื่อ "แมรี่" เกิดในประเทศสหรัฐอเมริกาจากบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายและมารดาซึ่งมีสัญชาติไทย   ปรากฏการณ์นี้นำไปสู่คนสองสัญชาติทันที กล่าวคือ กฎหมายไทยยอมรับว่า แมรี่มีสัญชาติไทย ในขณะที่กฎหมายอเมริกันก็ยอมรับว่า แมรี่มีสัญชาติอเมริกัน  โดยกฎหมายสัญชาติไทย แมรี่มีสถานะเป็น "คนไทยโดยหลักสืบสายโลหิต" กรณีอย่างนี้มีมากมายในยุคปัจจุบัน โดยข้อเท็จจริง แมรี่อาจจะรักประเทศสหรัฐอเมริกันมากกว่าประเทศไทย พูดภาษาไทยก็ไม่ได้ ไม่เคยมาเห็นแผ่นดินไทยสักครั้ง   ความผูกพันกับประเทศไทยโดยข้อเท็จจริงก็ไม่มี แต่ก็ไม่มีกฎหมายไทยที่ให้อำนาจรัฐไทยที่จะถอนสัญชาติของคนไทยโดยหลักสืบสายโลหิตอย่างแมรี่ เพราะเหตุที่ดันมีหลายสัญชาติ หรือแม้ว่าบุคคลในลักษณะนี้จะมีการกระทำที่เป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งรัฐไทยอย่างใดก็ตาม  ก็ไม่ปรากฏมีกฎหมายใดให้อำนาจแก่รัฐไทยที่จะถอนสัญชาติไทยของบุคคลในสถานการณ์ดังกล่าว

 

หรือ คำถามย้อนกลับมาถึงมนุษย์อีกคนหนึ่งที่ชื่อ "กาเซ็ม" ซึ่งเกิดในประเทศมาเลเซีย จากบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งมีมาเลเซียแต่มีมารดาซึ่งมีสัญชาติไทย จะเห็นว่า โดยกฎหมายไทยว่าด้วยสัญชาติ กาเซ็มย่อมเป็นบุคคลในสถานการณ์เดียวกันกับแมรี่  กล่าวคือ เป็นคนไทยโดยหลักสืบสายโลหิตเช่นกัน  แต่เป็นที่น่าสงสัยว่า  นโยบายของรัฐไทยในปัจจุบันที่มีต่อแมรี่และกาเซ็มจะแตกต่างกันหรือไม่ ?

 

ในสังคมไทย คำว่า "ภัยต่อความมั่นคงแห่งรัฐ" ดูจะเป็น "ถ้อยคำ" ที่ปาใส่ใครได้ง่าย โดยเฉพาะเมื่อเขาคนนั้นคิดต่างไปจากผู้ถืออำนาจในการปกครองประเทศ

 

เมื่อศึกษากฎหมายระหว่างประเทศ จะพบว่า สิ่งที่กฎหมายระหว่างประเทศต่อต้านก็คือ การที่รัฐนั้นใช้อำนาจตามอำเภอใจที่จะถอนสัญชาติของมนุษย์ เพราะเหตุว่า การกระทำเช่นนั้นอาจนำไปสู่สถานการณ์ที่ทำให้เกิด "ความไร้รัฐ" (Statelessness) หรือ "ความไร้สัญชาติ" (Nationalitylessness) แก่มนุษย์

 

โดยพิจารณาทางปฏิบัติของนานารัฐบนโลกในปัจจุบันนี้ซึ่งได้รับการยอมรับในฐานะกฎหมายระหว่างประเทศประเภทจารีตประเพณีระหว่างประเทศ จึงพบว่า รัฐจะไม่ถอนสัญชาติของคนชาติโดยหลักสืบสายโลหิต แม้บุคคลนั้นจะเลวทรามต่ำช้าประการใด การประหารชีวิตให้สิ้นสุดลงอาจเกิดได้ต่อคนชาติในหลายประเทศ แต่การถอนสัญชาติให้คนชาติโดยหลักสืบสายโลหิตให้ตกเป็นคนไร้รัฐทั้งโดยข้อเท็จจริงหรือโดยข้อกฎหมาย เป็นสิ่งที่อารยประเทศผู้เคารพในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ไม่กระทำ เนื่องจากการตกเป็น "คนไร้รัฐ" ย่อมทำให้มนุษย์ไม่อาจได้บริโภค "สิทธิมนุษยชน" อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์

 

แค่เป็นคนสองสัญชาติไม่น่าจะเป็นเหตุแห่งการถอนสัญชาติไทย ในยุคที่การข้ามชาติเป็นเรื่องทำได้ง่ายและไม่นานนัก การไปมีความสัมพันธ์กับรัฐต่างประเทศ อาทิ การมีบุพการีฝ่ายหนึ่งเป็นคนต่างด้าวหรือคู่สมรสเป็นคนต่างด้าวหรือการไปตั้งรกรากในต่างประเทศ จึงไม่อาจหมายความโดยอัตโนมัติว่า บุคคลจะสิ้นความผูกพันกับประเทศไทยเสมอไป หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นประสงค์ร้ายต่อสังคมไทยโดยทันที   ในขณะเดียวกัน ความเป็นภัยต่อรัฐไทยอาจเกิดขึ้นได้แม้บุคคลนั้นมีสัญชาติไทยแต่เพียงสัญชาติเดียว เพราะไม่มีความสัมพันธ์กับรัฐต่างประเทศเลย กล่าวคือ มีบุพการีเป็นคนไทยหรือคู่สมรสก็เป็นคนไทยหรือบ้านเรือนตั้งรกรากในประเทศไทย โดยสรุป การมีหลายสัญชาติและความเป็นภัยต่อรัฐเป็นคนละเรื่องกัน ไม่ได้เป็นเหตุเป็นผลต่อกัน  การเอาเหตุที่มีหลายสัญชาติมาเป็นเหตุให้ถูกถอนสัญชาติไทยจึงเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะมีเหตุผล

 

นอกจากข้อท้วงติงทางกฎหมาย ก็ยังจะท้วงติงทางจิตวิทยาด้วยว่า ควรที่รัฐบาลจะคำนึงถึงจิตใจของคนในสถานการณ์เดียวกับกาเซ็มคนหลายสัญชาติในมาเลเซียซึ่งอาจจะสะเทือนใจในข่าวที่ออกมาจากรัฐบาลที่ดูรังเกียจเดียดฉันท์พวกเขาเสียเหลือเกิน มันผิดด้วยหรือที่กาเซ็มจะรักทั้งแผ่นดินมาเลเซียของบิดาและแผ่นดินไทยของมารดา ? การคงไว้ซึ่งสัญชาติไทยและมาเลเซียในชีวิตของกาเซ็มเป็นไปไม่ได้หรือ ?  หากจะมีคนหลายสัญชาติสักคนที่เป็นภัยต่อรัฐ ก็ควรที่จะจัดการปราบปรามลงโทษคนหลายสัญชาติคนนั้นในลักษณะเดียวกับคนที่มีสัญชาติไทยแต่สัญชาติเดียว

 

ปัญหาจริงๆ ก็คือ ความไม่มั่นคงของชายแดนไทย-มาเลเซียเกิดจากระบบการควบคุมการเคลื่อนไหวของผู้ก่อการร้ายยังไม่มีประสิทธิภาพนักมิใช่หรือ ? ความไม่สงบของภาคใต้เกิดจากระบบข่าวกรองการก่อการร้ายยังไม่มีประสิทธิภาพนักมิใช่หรือ ? ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองในภาคใต้เกิดจากขบวนการก่อการร้ายที่เคลื่อนไหวในภาคใต้มิใช่หรือ ? ดังนั้น การแก้ปัญหาก็น่าจะมุ่งไปที่สาเหตุของปัญหาอันได้แก่ (๑) การเสริมประสิทธิภาพในระบบควบคุมการผ่านแดนไทย-มาเลเซียของบุคคลทุกคน (๒) การตรวจระบบข่าวกรองให้มีศักยภาพมากขึ้น และ (๓) การติดตามบุคคลที่การข่าวระบุว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการก่อการร้าย หรือแม้จับกุมคนที่มีการกระทำที่เป็นภัยโดยชัดแจ้ง หรือแม้ถอนสัญชาติไทยของคนที่เป็นผู้ก่อการร้ายตัวจริงหากสัญชาติที่จะถอนนั้นมิใช่สัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตและไม่ทำให้บุคคลนั้นตกเป็นคนไร้สัญชาติ

 

สิ่งที่ไม่อยากเห็นอีก  ก็คือ นโยบายแบบคลุมๆ เครือๆ ต่อคนหลายสัญชาติในภาคใต้  ซึ่งมันน่าจะเป็นการทำลายความมั่นคงของรัฐมากกว่านะ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท