จับตารัฐวางกรอบแก้ "โลกร้อน"

 


ประชาไท - 29 ก.ย.47      นักวิชาการ-WHO ชี้ "โลกร้อน" เพิ่มความรุนแรงให้ภัยธรรมชาติ แต่ประเทศอุตสาหกรรมยังหลบลงนามพิธีสารเกียวโตที่มีเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้านกระทรวงทรัพฯ ขยับทำกรอบนโยบาย CDM คาดเสร็จสิ้นปี ตีกรอบโครงการสร้างเครดิตหักลบกลบหนี้ก๊าซเรือนกระจกของประเทศพัฒนาแล้วในไทย

 

หลังจากเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันว่า "ภาวะโลกร้อน" อาจเป็นปัจจัยเสริมให้พายุ "เฮอริเคน" ที่พัดถล่มสหรัฐอเมริกาหลายครั้งในรอบเดือนนี้มีความรุนแรงขึ้น รศ.ดร.สิรินธรเทพ  เต้าประยูร  นักวิชาการผู้ทำวิจัยเรื่อง  "สถานภาพและความพร้อมของประเทศเพื่อรองรับผลกระทบของสนธิสัญญาและมาตรการต่างประเทศที่เกี่ยวกับการลดและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก " ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)   ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า มีความเป็นไปได้ที่ภาวะโลกร้อนจะส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดพิบัติภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น

 

รศ.ดร.สิรินธรเทพ ระบุด้วยว่า จากการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกพบว่าอุณหภูมิโลกใน 20 ปีที่ผ่านมานั้นเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ย 0.5 องศาเซลเซียส ค่าความร้อนที่สูงขึ้นทำให้น้ำระเหยสู่บรรยากาศมากขึ้น  เมื่อแหล่งน้ำซึ่งเป็นปัจจัยทำให้สภาวะระบบนิเวศเย็นมีปริมาณน้อยลง  สภาพอากาศโดยทั่วไปจึงร้อนขึ้น และทำให้น้ำแข็งขั้วโลกเหนือละลาย ส่งผลต่อการพัดพาของกระแสน้ำอุ่นและกระแสน้ำเย็นโดยเฉพาะบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกด้านล่างระหว่างทวีปอเมริกาใต้และทวีปออสเตรเลียเปลี่ยนไปทำให้เกิดปรากฏการณ์เอลนิโญบ่อยขึ้นเพราะพัดพากระแสน้ำเย็นไปไม่ถึง

 

"ตรงนี้อาจก่อให้เกิดพายุหรือเหตุการณ์ที่ไม่ได้มาตามระยะเวลากำหนดหรือไม่ได้มาตามรอบมากขึ้น "  รศ.ดร.สิรินธรเทพให้ภาพความเปลี่ยนแปลงของอากาศที่ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ พร้อมทั้งกล่าวถึงแนวทางการแก้ไขที่คนทั่วไปทำได้ว่า ต้องลดการใช้พลังงานอันเป็นบ่อเกิดของมลภาวะเพื่อให้โลกได้ปรับสมดุล 

 

ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จัดประชุมขึ้นที่เมืองโนอูเมีย เกาะนิว คาเลโดเนีย ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งนายฮิโตชิ โอกาวา ที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมได้เปิดเผยว่า จากข้อมูลเมื่อปี 2543 พบว่ารูปแบบการเปลี่ยนแปลงของอากาศที่ร้อนขึ้นทุกปีอาจจะทำให้มีผู้คนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเสียชีวิตราว 10,000 คนต่อปี เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อน เช่น  การเกิดไซโคลน ไต้ฝุ่น ความแห้งแล้ง และการเกิดอุทกภัย โดยพายุที่เกิดขึ้นในแปซิฟิกตะวันตกได้เพิ่มขึ้นราว 2 เปอร์เซ็นต์จากเมื่อตอนต้นทศวรรษ 1980 จนถึงปลายทศวรรษ 1990 ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตเนื่องจากภัยธรรมชาติที่เกิดจากความแห้งแล้ง น้ำท่วม พายุ ได้เพิ่มขึ้นราว 30-40 เปอร์เซ็นต์

 

ด้านสมาคมการแพทย์ออสเตรเลีย(AMA) และกองทุนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมออสเตรเลีย เปิดเผยรายงานการศึกษาเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนชิ้นใหม่ที่ระบุว่า อุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคขึ้นทั่วเอเชียและในหมู่เกาะแปซิฟิก โดยคาดว่าอุณหภูมิโลกจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เฉลี่ย 1-6 องศาเซลเซียสจนถึงปี 2100 ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความแห้งแล้ง น้ำท่วม และไต้ฝุ่นมากขึ้น รวมทั้งทำให้เกิดโรคมาลาเรีย ไข้เลือดออก และอหิวาตกโรคมากขึ้นเช่นกัน

 

ทั้งนี้ ปัญหาโลกร้อนเป็นปัญหาใหญ่ที่ทั่วโลกร่วมกันแก้ไขมายาวนาน โดยมีความพยายามสร้างข้อตกลงในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นสาเหตุสำคัญให้เกิดภาวะโลกร้อนขึ้นในปี 2535 คือ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nation Framework Convention on Climate Change : UNFCCC) นำไปสู่การรับรองพิธีสารเกียวโตในปี 2540 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ.48 ซึ่งกำหนดจะลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกให้ได้อย่างน้อย 5 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณการปลดปล่อยในปี 2533 สำหรับประเทศไทยได้ให้สัตยาบันแล้วในเดือนสิงหาคม 2545 ขณะที่ประเทศอุตสาหกรรมที่สำคัญของโลกยังไม่ได้ลงนามในพิธีสารนี้ อาทิ ออสเตรเลีย อิตาลี สหรัฐอเมริกา

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 25 ก.ย.นี้ หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ รายงานว่า 9 มลรัฐของสหรัฐ ได้แก่  นิวยอร์ก นิวเจอร์ซี คอนเนตทิกัต เดลาแวร์ เมน แมสซาชูเซตส์ นิวแฮมป์เชียร์ โรดไอแลนด์ และเวอร์มอนต์ได้ท้าท้ายประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ด้วยการจับมือกันออกมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยแต่ละมลรัฐจะออกมาตรการของตนเพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ลดลงอย่างน้อย 10 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2020 หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีบุช อ้างเหตุผลในการไม่ร่วมลงนามพิธีสารเกียวโตว่า มาตรการบีบบังคับให้ชาติสมาชิกลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอาจฉุดรั้งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

 

ขณะที่ในการประชุมนอกรอบการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ARF) เมื่อปลายเดือนก.ค.48 รัฐบาลสหรัฐได้จับมือกับมือ 5 ชาติเอเชีย-แปซิฟิก ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน อินเดีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น จัดทำข้อตกลงแก้ปัญหาโลกร้อนฉบับใหม่ "หุ้นส่วนเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อการพัฒนาและสภาพอากาศที่สะอาด" โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ และแสงอาทิตย์ ซึ่งแม้นายอเล็กซานเดอร์ ดาวเนอร์ รัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลียจะออกมาย้ำว่า "การเป็นหุ้นส่วนครั้งนี้จะช่วยเติมเต็ม ไม่ใช่เพื่อทดแทนพิธีสารเกียวโต" แต่บรรดานักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ก็ยังประนามข้อตกลงนี้ว่าเป็นการกระทำที่เห็นแก่ตัว พร้อมกับเตือนว่า มาตรการที่ทำด้วยความสมัครใจจะใช้ไม่ได้ผลในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน

 

ในส่วนของประเทศไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เร่งทำกรอบนโยบายสนับสนุน โครงการ CDM (clean development mechanism) ซึ่งเป็นหนึ่งในทางเลือกของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้พิธีสารเกียวโต โดยขณะนี้ญี่ปุ่นและเดนมาร์ก ได้เข้ามาติดต่อเสนอการทำโครงการ CDM ในประเทศแล้ว แต่เนื่องจากไทยยังไม่มีการประกาศนโยบายที่ชัดเจนออกมา จึงยังไม่มีการพิจารณากรอบนโยบายดังกล่าว

 

ทั้งนี้ CDM เป็นมาตรการที่เปิดโอกาสให้ประเทศพัฒนาแล้วเข้ามาเสนอโครงการการลด-เลิกการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศกำลังพัฒนา โดยนำปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงได้ไปเป็น "เครดิต" หักออกจากปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ประเทศของตัวเองต้องลดลงตามพันธกรณี 

 

รายงานข่าวระบุว่า กรอบนโยบายเกี่ยวกับ CDM ได้กำหนดการพิจารณาการทำโครงการ CDM เรียงลำดับความสำคัญของดังต่อไปนี้1)จะต้องเป็นโครงการด้านพลังงาน อาทิ โครงการทำพลังงานทดแทน หรือ พลังงานหมุนเวียน 2)โครงการด้านการจัดการของเสียให้มาเป็นพลังงาน (Waste to Energy) เช่น การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากมูลสัตว์  3)โครงการด้านคมนาคม การจัดทำระบบลอจิสติกเกิดประสิทธิภาพ สามารถลดต้นทุน/ลดการใช้พลังงาน

 

โดยขณะนี้กรอบดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีนายยงยุทธ   ติยะไพรัช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานแล้ว และเตรียมเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่มี นายพินิจ  จารุสมบัติ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน คาดว่าจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ และเพื่อประกาศเป็นนโยบายได้ภายในปีนี้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท