รายงาน : ทำไมนัก กม. วอน ส.ว. กลืนน้ำลาย ผ่าทางตัน ผู้ว่า สตง.

วันนี้ ( 3 ต.ค. 2548) เป็นวันที่วุฒิสภาจะชี้ขาด 2 ประเด็น คือชี้ขาดสถานะของตัวเองว่า จะชี้ขาดสถานะของคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา หรือไม่ ซึ่งถือเป็นการออกมาแสดงความรับผิดชอบตัดสินใจหลังจากที่ปัญหากรณีการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ยืดเยื้อยาวนานมาเป็นเวลานานกว่าปี นับจากวันที่วุฒิสมาชิกจำนวนหนึ่ง นำโดย พ.ต.อ.สุรพงษ์ ไผ่นวล ลุกขึ้นมาชี้ประเด็นว่าคุณหญิงจารุวรรณ เข้าสู่ตำแหน่งผู้ว่า สตง. โดยผ่านกระบวนการที่ไม่ชอบด้วยระเบียบ คตง. ตั้งแต่กลางปี 2547 และศาลรัฐธรรมนูญได้ลงมาร่วมในวังวนแห่งปัญหาด้วยการโดดมาวินิจฉัยว่ากระบวนการสรรหาผู้ว่า สตง. มิชอบ ท่ามกลางเสียงอึงคะนึงว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจในการวินิจฉัยคำร้องดังกล่าว เพราะไม่ใช่ประเด็นความขัดกันระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญ

 

ปฐมเหตุแห่งปัญหาอันเรื้อรัง ได้แตกประเด็นความ "พร่อง""ในการใช้กฎหมายที่เกี่ยวพันกับการเมืองของไทยจนเริ่มเข้าสู่ภาวะตีบตันอย่างยิ่ง

 

รศ.ดร. วรเจตน์ ภาคีรีตน์ แสดงทัศนะต่อกรณีดังกล่าวในงานเสวนา "ผ่าทางตันสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน" จัดโดยสมาคมนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในวันศุกร์ที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา ในสายตาของนักกฎหมาย ประเด็นปัญหากรณีสรรหาผู้ว่าสตง. จะเป็นอื่นไปไม่ได้เลย นอกจากดัชนี้ชี้ความเป็น "ผู้เยาว์" ของสังคมไทยต่อการใช้กระบวนการทางกฎหมายที่เกี่ยวพันกับการเมือง

 

ปฐมเหตุแห่งปัญหา—คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ผมเริ่มต้นจากตรงนี้ก่อนนะครับว่าปัญหาหลักคือปัญหาสถานภาพของคุณหญิงจารุวรรณ ว่าท่านยังเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินอยู่หรือไม่ ความเห็นของผมเป็นความเห็นที่ประจักษ์มาตั้งแต่แรกเพราะว่าหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคมปี 2547 นะครับ ทางคณาจารย์กลุ่มหนึ่งที่มีผมอยู่ในนั้นด้วยก็ออกแถลงการณ์ (http://www.law.tu.ac.th/fulltime-faculty/resume/Dean/infringe.htm)

 

ในแถลงการณ์นั้นไม่ได้พูดชัดหรอกนะครับว่าสถานะของคุณหญิงจารุวรรณ เป็นอย่างไร แต่แถลงการณ์นั้นบอกเอาไว้ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะส่งผลก่อให้เกิดปัญหาต่อไปในอนาคตเพราะไม่ได้พูดถึงผลของคำวินิจฉัยไว้ชัดเจน แล้วสภาพการณ์ที่เกิดสืบเนื่องกันมาก็คงทำให้เห็นแล้วว่ามันเป็นอย่างที่ปรากฏในคำแถลงการณ์ที่เราบอกไปนะครับ

 

ทำไมคุณหญิงจารุวรรณจึงไม่พ้นจากตำแหน่งผู้ว่า สตง.

 

ทีนี้ถามว่าทำไมผมจึงเห็นว่าคุณหญิงจารุวรรณนั้นยังอยู่ในฐานะผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ผมเรียนตรงนี้ก่อนนะครับว่า ผมไม่ได้ดูที่ตัวบุคคล ผมไม่ประกันความดีหรือความไม่ดีของใครคนใดคนหนึ่งทั้งสิ้น ผมไม่รู้จักและก็ไม่ทราบเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่มีอยู่ ผมทราบจากสื่อมวลชนและการอภิปรายในวุฒิสภาเพราฉะนั้นที่ผมจะพูดต่อไปนี้เป็นทัศนะทางกฎหมายล้วน ๆ โดยที่ไม่ได้ดูเลยว่าคน ๆ นั้นเป็นใคร

 

ทำไมคุณหญิงจารุวรรณจึงยังอยู่ในตำแหน่ง ปกติแล้วเวลาใครคนใดคนหนึ่งเข้าสู่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งของรัฐ จะต้องมีกระบวนการเข้าสู่ตำแหน่ง กระบวนเข้าสู่ตำแหน่งนั้นจะได้รับการบัญญัติไว้ในกฎหมายซึ่งอาจจะมีขั้นตอนในการเข้าสู่ตำแหน่งหลายขั้นตอนด้วยกัน เช่นขั้นตอนการพิจารณาสรรหา ขั้นตอนการพิจารณาคุณสมบัติ ขั้นตอนการเลือก ขั้นตอนการเสนอชื่อ ขั้นตอนการลงมติ ขั้นตอนการนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ขั้นตอนการลงพระปรมาภิไธย ทีนี้ประเด็นปัญหาก็คือว่า กรณีคุณหญิงจารุวรรณ ผมรับนะครับว่ามันมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นในขั้นตอนกระบวนการสรรหาว่าไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ความบกพร่องเกิดขึ้นตรงที่ว่า ในระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินนั้นระบุเอาไว้ว่าให้ คตง. เสนอชื่อคนที่ได้คะแนนสูงสุดไปเพียงชื่อเดียว แต่ประธาน คตง. กลับเสนอไป 3 ชื่อ แล้ววุฒิสภาไปโหวตเลือก ถามว่าอันนี้มันไม่ถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ คำตอบคือใช่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญชี้เอาไว้ในคำวินิจฉัยว่ามันไม่เป็นไปตามระเบียบ

 

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกินกรอบรัฐธรรมนูญ

ที่นี้ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาคือเมื่อไม่เป็นไปตามระเบียบ มันเกิดอะไรขึ้น นี่ละที่ยาก คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีคุณศิรินทร์ ธูปกล่ำ ในคำวินิจฉัยที่ 38/2545 ถ้าจำได้ในปีนั้น คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์เอง คณาจารย์จำนวนหนึ่งซึ่งผมอยู่ในจำนวนนั้นด้วย ออกแถลงการณ์ว่ากรณีของคุณศิรินทร์นั้นมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบความชอบตามรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่ามันไม่ใช่เป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และก็เห็นว่าการพ้นตำแหน่งของคุณศิรินทร์นั้นไม่มีบทบัญญัติทางกฎหมายรองรับ แต่ในคราวนั้น ผมเรียนว่าไม่มีสื่อมวลชนสนใจในคำแถลงหรือความเห็นของผมเท่าไหร่ อาจจะเป็นเพราะคุณศิรินทร์นั้นมีภาพในทางสังคมที่อาจจะไม่ได้เหมือนกับคุณหญิงจารุวรรณ แต่ว่าในความเห็นของผม คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 38/2545 กับ 47/2547 มีลักษณะเดียวกันก็คือเกินกว่ากรอบที่รัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้

 

ทำไมผมถึงบอกอย่างนั้น ย้อนกลับมาที่กรณีคุณหญิงจารุวรรณ ความบกพร่องในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งมันจะส่งผลกระทบต่อตัวตำแหน่งหรือไม่ มันขึ้นอยู่กับว่าความบกพร่องอันนั้นมันเป็นความบกพร่องที่เป็นสาระสำคัญหรือไม่ ถามว่ามันเป็นสาระสำคัญหรือไม่ ดูจากไหน และใครเป็นคนบอก คำตอบก็คือศาลจะเป็นคนพิจารณาว่าขั้นตอนนั้นน่ะ เป็นสาระสำคัญของเรื่องและทำให้คนที่เขาดำรงตำแหน่งมาแล้วหลุดจากตำแหน่งหรือเปล่า ซึ่งไม่ปรากฏในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเลย

 

สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญแถลงเกินคำวินิจฉัยของศาลฯ

ถามว่าแล้วทำไมเราจึงเชื่อว่าคุณหญิงจารุวรรณนั้นพ้นจากตำแหน่ง และทำไมคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินจึงดำเนินกระบวนการสรรหาใหม่ แล้วเสนอชื่อคุณวิสุทธิ์ มนตริวัตรขึ้นมา ผมเรียนว่าก็เพราะเหตุว่าคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินไปยึดถือคำแถลงของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ

 

ท่านจะต้องแยกระหว่างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกับคำแถลงของศาลรัฐธรรมนูญ ออกจากกัน คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเขียนเอาไว้กระบวนการไม่ชอบ ก็เท่านี้ครับ ไม่ได้พูดถึงตัวบุคคลต่อไป การจะไปตีความคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเลยไปให้กระทบกับตัวบุคคลที่อยู่ในตำแหน่งโดยที่ไม่มีลายลักษณ์อักษรอะไรรองรับ โดยหลักแล้ว ทำไม่ได้

 

เมื่อทำไม่ได้ เมื่อไม่มีการกระทำอันใดอันหนึ่งมาเพิกถอนการกระทำที่ได้มีการกระทำไปแล้วนั้น จึงจะต้องถือเสมือนว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเพียงแต่ declare หรือแสดงแต่เพียงว่ากระบวนการสรรหานั้นไม่ชอบ แล้วจบเท่านั้น ส่วนผลจะเกิดเป็นอย่างไรต่อไป ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัยเอาไว้ให้เสร็จสิ้นเด็ดขาดจึงจะตีความเลยต่อไปให้เป็นผลร้ายต่อบุคคลนั้นไม่ได้ นี่คือประเด็น เมื่อบอกว่ากระบวนการไม่ชอบแล้วไม่ได้บอกว่ากระบวนการนั้นเป็นสาระสำคัญหรือไม่ ผลของคำวินิจฉัยก็หยุดอยู่เท่านั้น ถามว่าการที่คน ๆหนึ่งยังอยู่ในตำแหน่งต่อไปจะขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ เหมือนกับที่หลายคนเข้าใจว่าถ้าไม่สรรหาใหม่จะขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรับธรรมนูญ ผมไม่คิดเช่นนั้น เพราะศาลรัฐธรรมนูญท่านไม่ได้บอกอะไร แค่บอกว่ากระบวนการไม่ชอบแต่เรากำลังไปยึดเอาคำแถลงของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งแถลงเพิ่มเติมคำวินิจฉัย โดยที่ไม่ได้มีหน้าที่และอำนาจทางกฎหมายที่จะแถลงให้ผูกพันองค์กรใดได้

 

หน้าที่ตีความคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นของ คตง. และวุฒิสภา

เอาละ พอเป็นอย่างนี้ใครตีความ คนที่ตีความต่อมาว่าตกลงจะพ้นตำแหน่งหรือไม่พ้นก็คือคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินกับวุฒิสภา ผมเองเห็นว่าคุณหญิงจารุวรรณท่านไม่พ้นจากตำแหน่ง แต่ผมเองก็ยอมรับว่าถ้าเกิด คตง. ท่านบอกว่าพ้น ส่งไปที่วุฒิสภา วุฒิสภาท่านก็บอกว่าพ้นเลือกคนใหม่ขึ้นมา ทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ผมก็รับว่าต้องถือว่าพ้นไปโดยปริยาย

 

แต่เมื่อกระบวนการดำเนินไปไม่สุด ก็ต้องกลับมาตามหลักเดิมว่า เมื่อไม่มีอะไรทำให้พ้นจากตำแหน่ง ก็ต้องถือว่ายังไม่พ้น แต่ที่ไม่พ้นจากตำแหน่งไม่ใช่เพราะไม่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พ้นจากตำแหน่ง คือเราอาจจะเข้าใจตรงนี้คลาดเคลื่อนกัน เหตุที่คุณหญิงจารุวรรณไม่พ้นจากตำแหน่งเป็นเพราะว่าไม่มีฐานทางกฎหมายรองรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าใน พรบ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินเขียนเอาไว้เรื่องการพ้นจากตำแหน่งไว้ในวงเล็บใดวงเล็บหนึ่ง บอกว่าการพ้นจากตำแหน่งโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ อันนี้ชัดเจนเลยครับ ถ้าท่านวินิจฉัยว่ากระบวนการไม่ชอบนี่ ผมไม่มีเถียงเลย ยอมรับโดยดุษฎี และโดยความเคารพอย่างยิ่งต่อศาลรัฐธรรมนูญ

 

ถ้าจะพ้นจากตำแหน่งมันจะต้องมีฐานทางกฎหมายรองรับคำวินิจฉัย ไม่ใช่มีแต่คำวินิจฉัยเปล่า ๆ เปลือย ๆ แล้วให้คน ๆ หนึ่งหลุดจากตำแหน่งไปโดยที่เป็นปัญหาเถียงกันด้วยว่าคำวินิจฉัยนี้ใช้ได้มากน้อยแค่ไหน เพียงไร

 

ผมคิดว่าผมเคารพศาลรัฐธรรมนูญนะครับ และรับคำวินิจฉัยของท่านนะครับ แต่ก็รับในแง่ที่ว่าท่าน Declare ว่ากระบวนการไม่ชอบ เราก็รับว่ากระบวนการไม่ชอบ แน่นอนว่าเป็นหน้าที่ที่ฝ่ายที่มีหน้าที่ต้องไปปรับเปลี่ยนกระบวนการในการสรรหาในคราวต่อไป แต่จะไปกระทบกับคนที่เขาอยู่ในตำแหน่งแล้วอย่างที่ คตง. ตีความจากการถามไปที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญนั้นไม่ได้

 

ข้อสังเกต 4 ประการ คำวินิจฉัยรัฐธรรมนูญมีปัญหา

มีอยู่ 4 ประเด็นที่ผมตั้งเอาว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่ค่อนข้างซับซ้อนว่าทำไมคำวินิจฉัยในกรณีนี้จึงเป็นปัญหา

 

ต้นเหตุแห่งปัญหา ประเด็นแรก คือ กระบวนการเสนอชื่อคุณหญิงจารุวรรณไปนั้น ผมรับแล้วว่าไม่ถูกต้องตามระเบียบ แต่ว่ารัฐธรรมนูญกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญไม่ได้พูดเอาไว้

 

ประเด็นก็คือว่า ถ้าวุฒิสมาชิกเห็นว่ามันไม่เป็นไปตามระเบียบที่กฎหมายกำหนด ทำไมจึงไม่เสนอให้มีการตีความตรงนี้นับตั้งแต่เดือนแรก ๆ หรือนับตั้งแต่วันที่พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยและมีการแต่งตั้ง ทำไมไม่เสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญในวันนั้น หรือในช่วงเวลาถัดจากนั้น ทำไมจึงรอให้ระยะเวลาล่วงพ้นไปถึง 1 ปี 5 เดือนจึงมีการเข้าชื่อกันแล้วค่อยเสนอไปยังศาลรัฐธรรมนูญ

 

ทำไมเมื่อเรื่องนี้ไปถึงศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญไม่หยิบยกประเด็นนี้มาขึ้นพิจารณาว่า เมื่อระยะเวลาล่วงเลยไปถึง 1 ปี 5 เดือนแล้ว บุคคลที่จะเสนอเรื่องนั้นจะยังคงมีสิทธิจะเสนอคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ท่านต้องเข้าใจนะครับว่ามันไม่เสนอเรื่องกันได้ชั่วกัลป์ปาวสานนะครับ จริง ๆ มันมีระยะเวลาที่ศาลจะต้องพิจารณาว่าเหตุแห่งคำร้องนั้นมันจบหรือมันมีข้อยุติไปแล้วหรือไม่ ผมตั้งข้อสังเกตว่าเรืองนี้มันล่วงพ้นไป 1 ปี 5 เดือนแล้วเรื่องนี้ ไม่ปรากฏในคำวินิจฉัยว่าพ้นไป 1 ปี 5 เดือนเลยระยะเวลาที่จะส่งมายังศาลแล้ว เหตุที่จะร้องไม่มีแล้ว เพราะอยู่ในตำแหน่งมาเป็นปี ๆ แล้ว ทำงานมาไปเป็นปี ๆ แล้ว

 

ถ้าไม่มีระยะเวลากำหนดอย่างนี้ ผมถามว่าเมื่อไหร่ล่ะ จะยื่นเมื่อไหร่ก็ได้เหรอครับผ่านไป 4 ปีแล้วก็ยื่น 5 ปีแล้วก็ยื่นหรือครับ นี่คือประเด็นที่ 1 ที่ไม่ปรากฏในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่อาจจะไม่ใช่ประเด็นที่สำคัญมากนัก

 

ประเด็นที่ 2 ที่อาจจะสำคัญมากยิ่งกว่า คือประเด็นที่ว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 312 กำหนดให้การสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กระทำโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน รัฐสภาก็มาออก พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน แล้วก็บัญญัติเอาไว้ในกฎหมายระบุคุณสมบัติของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินว่ามีอะไรบ้าง แล้วก็ให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สรรหา แต่ว่า กระบวนการในการสรรหาเป็นอย่างไรนั้น รัฐสภากลับไม่ได้บัญญัติเอาไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน แต่ในตัวพรบ.ฯ กลับมอบอำนาจต่อไปยังคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินให้เป็นคนออกระเบียบกำหนดกระบวนการสรรหาขึ้นมาเอง เพราฉะนั้นที่บอกว่าต้องเสนอไปชื่อเดียว และเป็นชื่อที่ต้องได้คะแนนเสียงสูงสุดเกินกึ่งหนึ่งของ คตง. จึงไม่ได้อยู่ในรัฐธรรมนูญ ไม่อยู่ใน พรบ.ฯ แต่ไปอยู่ในระเบียบของ คตง. ผมเรียนว่าในประเด็นนี้ ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะได้วินิจฉัยต่อไปว่ากระบวนการสรรหาจะชอบหรือไม่ชอบ ศาลรัฐธรรมนูญพึงวินิจฉัยเสียก่อนว่ารัฐสภามีอำนาจที่จะมอบการกำหนดกฎเกณฑ์ในเรื่องของกระบวนการสรรหา ให้กับคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินหรือไม่ ทำได้หรือไม่ หรือรัฐสภาจะต้องกำหนดกฎเกณฑ์อันนี้เองในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ แล้วถ้ากำหนดกฎเกณฑ์อันนี้เอง ก็กำหนดได้ครับว่าให้ คตง. สรรหามาแล้วเสนอมาเป็นบัญชีรายชื่อ กำหนดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ

 

แต่รัฐสภาไม่ได้ทำ แต่กลับส่งต่อสิ่งที่รัฐธรรมนูญบอกให้รัฐสภาเป็นผู้ทำ กลับส่งต่อไปยัง คตง. ศาลรัฐธรรมนูญท่านก็ไม่ได้หยิบประเด็นนี้ขึ้นตั้งเป็นประเด็นเบื้องต้นวินิจฉัยก่อนในคดี ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ปรากฏว่าระเบียบนี้ ใช้ได้หรือใช้ไม่ได้ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญบอกเสียแล้วว่าการมอบอำนาจให้ คตง.ออกระเบียบนั้นระเบียบนี้ใช้ไม่ได้ เมื่อระเบียบใช้ไม่ได้ ก็สรรหากันไปตามกระบวนการเท่าที่มีอยู่ ก็ถือว่ากระบวนการสรรหานั้นชอบ ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัยประเด็นนี้ ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญมาก ๆ และผมเห็นว่าต่อไปในอนาคต ถ้าไม่แก้กฎหมายก็จะเป็นประเด็นที่เป็นปัญหาอีก และผมบอกได้เลยนะครับว่าในอนาคตเรื่องการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน จะกำหนดให้สรรหาอย่างไร คะแนนเท่าไหร่ ควรไปเขียนในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญครับ อย่าส่งลูกบอลลูกนี้ไปให้ คตง. เป็นคนทำอย่างที่ทำกันอยู่และศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้วินิจฉัยว่าทำได้หรือไม่ได้ แต่ถ้าถามผม ผมคิดว่าทำไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญเขียนเอาไว้ชัดเจนว่าให้เขียนเอาไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ท่านไปดูรัฐธรรมนูญมาตรา 312

 

ประเด็นที่ 3 การฝ่าฝืนระเบียบของ คตง. เป็นสาระสำคัญหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ชี้ความเป็นสาระสำคัญของความบกพร่องในกระบวนการสรรหา ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัย และถ้าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยประเด็นนี้ ก็พึงต้องเคารพอำนาจของวุฒิสภาด้วยนะครับว่าประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ได้อภิปรายกันและโหวตกันเรียบร้อยแล้วครับในวุฒิสภา ไม่ได้เป็นประเด็นที่เขาไม่ได้พูดกัน เขาพูดกันแล้ว เขาเลือกกันแล้ว เขาโหวตกันแล้ว

 

ประเด็นที่ 4 เป็นประเด็นที่พูดกันในภายหลังก็คือ ตัวระเบียบ คตง. ไม่ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ประเด็นนี้สำคัญ มีคนบอกว่าระเบียบอันนี้ไม่ต้องลงในราชกิจจานุเบกษาก็ได้ เพราะว่าถ้าระเบียบไหนต้องลงในราชกิจจานุเบกษาตัว พรบ. ประกอบรัฐธรรมนูญจะเขียนชัดเลยว่าต้องลง เรื่องนี้ไม่ได้เขียนไว้ก็เลยไม่ต้องลง ตีความอย่างนี้ไม่ได้ครับ เราต้องเข้าใจนะครับว่า การเข้าสู่ตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินนั้นเขียนเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ ให้มาบัญญัติใน พรบ. ประกอบรัฐธรรมนูญ เป็นระเบียบที่สำคัญมาก กระทบกับคนที่เข้าสู่กระบวนการ มันไม่ใช่ระเบียบภายในที่จะติดประกาศไว้ที่สำนักงาน แล้วระเบียบตัวเองกำหนดกฎเกณฑ์มากขึ้นไปอีกว่า ให้เสนอชื่อไปชื่อเดียวแล้วไปมัดวุฒิสภา นี่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัย แล้วไปหยิบมาใช้เสมือนหนึ่งว่ามันใช้ได้ในทางกฎหมาย

 

 ผมขออนุญาตด้วยความเคารพอย่างยิ่งต่อศาลรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้มีความบกพร่องในทางกฎหมายอย่างน้อย 4 ประเด็น ซึ่งแน่นอนความบกพร่องนี้เป็นประเด็นที่อภิปรายทางวิชาการได้ อาจจะไม่ถึงขนาดที่ทำให้คำวินิจฉัยนี้เสียไป ผมก็เคารพว่าท่านบอกว่ากระบวนการไม่ชอบเท่าที่ท่านดูมา และผมก็เห็นว่ากระบวนการไม่เป็นไปตามระเบียบจริง ๆ แต่ประเด็นก็คือศาลท่านหยิบเอาระเบียบขึ้นมาเป็นตัวตั้ง เอารัฐธรรมนูญกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเป็นตัวรอง แล้วก็เลยชี้มาแบบนี้ เมื่อชี้มาแบบนี้ก็เป็นปัญหาสืบเนื่องต่อมา

 

วุฒิสภาใช้อำนาจลงมติไปแล้ว องค์กรอื่นก้าวล่วงได้ก็โดยรัฐธรรมนูญให้อำนาจเท่านั้น

ผมฟังการอภิปราย ส.ว. ท่านหนึ่งเข้าใจว่าเป็น ส.ว. เชียงราย ท่านบอกว่าท่านอยู่กับข้อเท็จจริง ท่านรู้ว่าเรื่องนี้มันเป็นมาอย่างไร มันมีกระบวรการอะไรอย่างไร และท่านเกือบจะร้องไห้ตอนที่ท่านอภิปรายเสร็จ ท่านบอกว่าท่านไม่เข้าใจกระแสสังคม ว่าทำไมกระแสสังคมไปเอาตัวบุคคล ผมคิดว่าผมเข้าใจ ส.ว. ท่านนั้นนะครับ ผมเองเวลาที่วิเคราะห์กฎหมายแล้ว ผมคิดว่าพอไปดูตัวบุคคล ไปดูข้อเท็จจริงจะทำให้การวินิจฉัยกฎหมายบางเรื่องพร่ามัวไป ผมจึงไม่ได้ดูว่า ตกลงใครดีใครไม่ดีใครชั่วใครไม่ชั่ว ผมไม่รู้ แต่ผมรู้เพียงแต่ว่าโดยระบบของกระบวนการ เมื่อวุฒิสภาเขาใช้อำนาจของเขาไปหมดเรียบร้อยแล้ว จะมีองค์กรใดองค์กรหนึ่งก้าวล่วงเข้ามาพลิกมติ เปลี่ยนแปลงมติของวุฒิสภา ถามว่าทำได้หรือไม่ ตอบว่าทำได้ครับ แต่ต้องมีรัฐธรรมนูญให้อำนาจ

 

เพราะฉะนั้นผมบอกไว้ก่อนวันนี้นะครับว่า ผมเห็นท่าน ส.ว. แก้วสรร อติโพธิ ท่าน ส.ว. พนัส ทัศนียานนท์ เสนอญัตติที่จะอภิปรายกันในวันจันทร์ให้ยืนยันสถานภาพของคุณหญิงจารุวรรณ ในวันจันทร์ ผมสนับสนุนการกระทำของท่าน ส.ว. แก้วสรร อติโพธิและท่าน ส.ว. พนัส ทัศนียานนท์ เต็มที่ครับ และผมคิดว่าเรื่องนี้ควรจะทำตั้งแต่แรกแล้วนะครับ เพราะศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยก้าวล่วงเข้ามาในกระบวนการที่มันจบสิ้นไปแล้ว วุฒิสมาชิกยังเป็นทองไม่รู้ร้อนกันอยู่เป็นเวลายาวนาน ผมพูดกับเพื่อนอาจารย์ของผมว่า วุฒิสมาชิกถูกตบหน้านะครับ

 

ผมไม่ได้หมายความศาลรัฐธรรมนูญท่านวินิจฉัยไม่ได้นะครับ ทำได้ครับถ้ารู้สึกว่าเรื่องนี้ต้องให้ศาลวินิจฉัย ท่านทำกระบวนการขึ้นมาครับ ออกแบบกระบวนการขึ้นมาแก้รัฐธรรมนูญ บัญญัติกฎหมายขึ้นมา แล้วก็กำหนดชัดเจนว่าถ้าถูกศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่ากระบวนการไม่ชอบก็หลุดจากตำแหน่งไป แต่เมื่อมันไม่มีกระบวนการ ก็ต้องกลับเข้าสู่หลักทั่วไปว่าศาลรัฐธรรมนูญท่านมีอำนาจจำกัดเฉพาะเท่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด  ถ้าท่านตีความมาตรา 266 โดยไม่ถูกท้วงติงโดยที่ไม่ได้ถูกท้วงติง โดยที่ไม่ถูกคัดค้านจากองค์กรใดเลย ไม่ถูกตอบโต้ในเชิงการใช้อำนาจจากองค์กรใดเลย การใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญก็จะขยายออกไปเรื่อย ๆ แล้วก็ก้าวล่วงเข้าไปวินิจฉัยซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าในอนาคตจะเป็นเรื่องอะไรอีก แล้วก็ส่งผลทำให้คนที่เขาเข้าสู่ตำแหน่งหลุดออกจากตำแหน่งไป โดยที่ท่านไม่ต้องรับผิดชอบ ท่านก็ตัดสินเท่านี้ แล้วท่านก็ไม่ต้องรับผิดชอบ ผมคิดว่าในระบอบประชาธิปไตยเราจะปล่อยให้สภาพการณ์แบบนี้เกิดขึ้นไม่ได้

 

หนุน ส.ว. กลืนน้ำลายตัวเองเพื่อบ้านเพื่อเมือง

เพราะฉะนั้น ในทัศนะผมคิดว่า การที่วุฒิสมาชิกจำนวนหนึ่งจะเสนอญัตติต่อสภา เป็นการกลืนน้ำลายตัวเองหรือไม่ แน่นอนครับ แต่ท่านก็เคยกลืนมาแล้วครั้งหนึ่งตอนที่ท่านเลือกคุณวิสุทธิ์ ท่านอาจจะกลืนเพราะท่านรับในคำวินิจฉัย หรือท่านอาจจะไม่คิดว่ามันจะวุ่นวายอย่างนี้ หรืออะไรก็ตาม แต่ท่านก็กลืนน้ำลายไปแล้ว แต่เมื่อมันไปต่อไม่ได้ ท่านก็กลืนน้ำลายตัวเองอีกสักครั้งหนึ่งเอาให้มันชัดว่าจุดยืนในทางกฎหมายของวุฒิสภาอยู่ตรงนี้ แล้วผมคิดว่าทาง คตง. ก็ดูอยู่ว่าจะเป็นอย่างไร และ คตง.ชุดนี้เป็นชุดใหม่ ผมคิดว่าก็พอมีทางออก ซึ่งถ้าถามว่าทางออกนี้จะทำให้ใครเสียหน้าไปมากน้อยขนาดไหน ก็อาจจะมีบ้างก็เรื่องมันดำเนินมาแบบนี้แล้ว ก็อาจจะมีบ้าง ผมเรียนว่าการสรรหาก็เป็นหนทางหนึ่ง ซึ่งถ้าทูลเกล้าขึ้นไปแล้วมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าลงมา มันก็จบ แต่ท่านเสี่ยงครับ เพราะเคยทำไปแล้วที่หนึ่ง เมื่อทางนี้ลองเดินไปแล้วไม่ได้ แล้วยังมีความเห็นที่ไม่ตรงกัน ทำไมไม่ลองความเห็นผมบ้าง เผื่อมันจะจบ

 

อาจจะมีคนถามว่า วุฒิสภาทำได้เหรอ กลืนน้ำลายตัวเอง 2 ที 3 ที ผมคิดว่า มันเป็นเรื่องของบ้านของเมือง แสดงออกมาเถอะครับจุดยืนทางกฎหมาย แล้วผมอยากให้มีคนออกมารับผิดชอบบ้าง เรื่องนี้นะครับทุกคนปัดหมด ไม่มีใครรับผิดชอบเลยแม้แต่องค์กรเดียวที่เข้ามาเกี่ยวกัน และล่าสุดผมต้องบอกว่าไม่สบายใจ ผมขออนุญาตพาดพิง อาจจะเสียมารยาทนิดหน่อยเพราะท่านที่ถูกพาดพิงไม่มีโอกาสตอบโต้ แต่ผมถือว่าท่านอยู่ในตำแหน่งสาธารณะ คือท่านประธานวุฒิสภา ตั้งแต่แรกเลยเรื่องคุณวิสุทธิ์ ท่านยึกยักมาตลอดเลย นำขึ้นทูลเกล้าฯ ไม่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ทูลเกล้าฯ แล้วหรือยัง จะวิจารณ์ก็ไม่รู้จะวิจารณ์ได้หรือไม่ได้อยู่ยังไง แล้วที่สุดก็ไม่ได้มีใครออกมาแสดงความรับผิดชอบ จะวิจารณ์ก็มีคนบอกเดี๋ยวจะถูกแจ้งความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ผมว่าอย่างนี้แย่ ถ้าเราอยู่ในระบบที่ถกเถียงกันด้วยเหตุด้วยผลได้ ผมว่าไม่มีปัญหาเห็นไม่ตรงกันไม่เป็นไร แต่ถ้ามาเล่นกันอย่างนี้ ผมว่าไม่ถูก และในทัศนะผมเมื่อไม่มีอะไรเปลี่ยนเปลง ผมถือหลักภาษาละตินเรียกว่า Status quo หมายความว่าเมื่อไม่มีการกระทำอันใดอันหนึ่งมาเพิกถอนการกระทำอีกอันหนึ่ง ก็ต้องถือสภาพที่เป็นไปแต่เดิม กรณีของตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินนั้นพ้นได้หลายวิธี ตาย ลาอออก ...ก็ต้องไปดูตามกฎหมายแต่ทำไมกรณีนี้จึงไม่ถือว่าพ้นจากตำแหน่ง คำตอบคือมันขาด มันขาดเรื่องการกำหนดว่าพ้นจากตำแหน่งโดยผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ได้เขียนเอาไว้ ถามว่าวันนี้ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงเกิดขึ้นจากไหน คำตอบคือเกิดขึ้นจากองค์กรที่เริ่มคือสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินไปยึดถือเอาคำแถลงของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ จะไปเอาคำแถลงของศาลรัฐธรรมนูญมามีผลทางกฎหมายแล้วผูกมัดองค์กรอื่นต้องปฏิบัติตามไม่ได้

 

ส่วนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 38/2545 กรณีคุณศิรินทร์ ธูปกล่ำ ถามว่าเป็นบรรทัดฐานได้ไหม ผมคิดว่าจะเป็นบรรทัดฐานบางทีอาจจะต้องใช้เวลา ถ้ามีกรณีที่เกิดขึ้นแล้วรับกันอีกอาจจะถือเป็นบรรทัดฐานได้ แต่กรณีนี้เกิดขึ้นครั้งเดียวและเกิดขึ้นโดยที่มีการโต้แย้งด้วย ผมก็ไม่แน่ใจว่าจะเอาเป็นบรรทัดฐานได้หรือไม่ แต่กรณีของคุณศิรินทร์นั้นก็ชัดว่าท่านจะกลับไปทำงานก็มีการล็อกห้องทำงานหมด แล้วสื่อมวลชนหรือประชาชนทั่วไปก็บอกว่าไปเลยไม่ต้องมาทำงานแล้ว ท่านก็หายไปเลย ผมก็ไม่รู้ว่ายังไง แต่กรณีของคุณหญิงจารุวรรณนั้นเป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่ความเห็นทางกฎหมายของผมนั้นยืนอยู่บนเส้นเดียวกันตลอด นี่พูดโดยไม่ไดดูตัวคน เพราะถ้าดูตัวคนเมื่อไหร่ก็ปวดหัวครับ มันไม่จบ

 

ย้ำอีกครั้ง ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยกรณีผู้ว่า สตง.

ตอนที่มีการส่งชื่อทำไมตอนนั้นประธาน คตง. จึงส่งไป 3 ชื่อ ทั้งที่ตัวระเบียบก็เขียนเอาไว้ให้ส่งไปคนเดียว มติ คตง. ก็บอกให้ส่งไปชื่อดียว ซึ่งเราก็รับกันทุกคนแหละว่าขั้นตอนมันผิด ทีนี้ประเด็นมันก็อยู่ตรงนี้ว่าทำไมตอนที่ประธาน คตง. ทำไมตอนนั้น คณะกรรมการ คตง. ไม่โวยวาย ทำไมตอนที่บัญชีรายชื่อไปที่วุฒิสภาทำไมจึงไม่เสนอไปที่วุฒิสภาว่าไม่ใช่มติของ คตง. วุฒิสภาจึงไม่มีสิทธิเอามาพิจารณา แล้วถ้าเกิดวุฒิสภาขืนพิจารณาแล้ว คตง. ส่งศาลรัฐธรรมนูญเลยตอนนั้น ถ้าผมเป็น คตง. ผมต้องเอาเรื่องแล้วนะครับตอนนั้น ที่สุดมันเป็นปัญหาข้อกฎหมายล้วน ๆ ที่สุดเป็นเรื่องของการตีความกฎหมาย เป็นการวินิจฉัยว่าในทางกฎหมยนั้นเป็นอย่างไร ก็ว่าไปตามหลักที่ผมพอจะมีความรู้อยู่ว่าหลักมันต้องเป็นอย่างนี้ คือผมก็ไม่สามารถบอกว่าหลักมันเป็นอย่างนี้แล้วผลมันเป็นอย่างอื่น หลักของผมก็ต้องตอบว่าอย่างนี้ ซึ่งผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องของศาลรัฐธรรมนูญ  ซึ่งผมก็บอกแล้วว่าผมรับว่ามันไม่ถูกต้องตามระเบียบ คตง. เพียงแต่ว่ามันถูกล้างไปโดยการกระทำของวุฒิสภา และผมมองว่าเรื่องนี้วุฒิสภาจะทำถูกหรือไม่ถูกนั้นก็เป็นเรื่องเถียงกันได้ แต่ประเด็นก็คือมันไม่ใช่เรื่องของศาลรัฐธรรมนูญ คือทำผิดทำถูกก็รับผิดชอบทางการเมืองไป แต่ประเด็นก็คือเป็นเรื่องของศาลหรือไม่ ซึ่งผมก็บอกว่าไม่ใช่เรื่องของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เรื่องความขัดแย้งระหว่างองค์กร

 

และผมบอกนะครับว่าเรื่องนี้ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉันให้ชัดเลยว่ากระบวนการสรรหาไม่ชอบเป็นสาระสำคัญ คุณหญิงจารุวรรณต้องพ้นจากตำแหน่ง ศาลรัฐธรรมนูญก็จะวินิจฉัยโดยไม่มีอำนาจ และไปชี้ให้คนพ้นจากตำแหน่งโดยขาดฐานอำนาจทางกฎหมายรองรับ ผมคิดว่าศาลรัฐธรรมนูญก็ตระหนักตรงนี้ เพราะกรณีของคุณศิรินทร์ ก็ถูกวิจารณ์ว่ามันเป็นอย่างนั้น โดยศาลรัฐธรรมนูญอาจจะหวังว่าวินิจฉัยไปเท่านี้แล้วก็คงจะไม่เกิดปัญหา บังเอิญมันไม่เป็นอย่างนั้น การวินิจฉัยทางกฎหมายต้องฟันข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงให้ขาด แล้วจบ

 

ข้อพิสูจน์ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยกรณี ผู้ว่า สตง.

ผมมีข้อพิสูจน์อย่างหนึ่งว่าทำไมศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยคดีแบบนี้ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 266 อำนาจจะไปตลอดสาย ก็คือเมื่อรับเรื่องไว้ ท่านก็จะทำคำวินิจฉัยได้ และคำวินิจฉัยของท่านจะส่งผลในระบบกฎหมาย เช่น องค์กรหนึ่งก้าวล่วงไปใช้อำนาจของอีกองค์กรหนึ่ง เข้าไปในปริมณฑลแห่งอำนาจของอีกองค์กรหนึ่ง แล้วเกิดการทับกันในเชิงอำนาจ ศาลรัฐธรรมนูญก็จะชี้ว่าการที่องค์กร A ใช้อำนาจอย่างนี้ มันกระทบกับปริมณฑลแห่งอำนาจขององค์กร B แล้ว ในทางกฎหมายเรียกว่า Declare คือคำพิพากษาที่แสดงผลทางกฎหมายโดยไม่ต้องบังคับการอะไรเลย ก็คือแสดงว่าองค์กรนี้ก้างล่วงเข้าไปกระทบอีกองค์กรหนึ่ง แล้วองค์กรนั้นก็จะรู้เองและก็จะถอนการกระทำที่กระทบออกไป

 

แต่พอมาถึงเรื่องตำแหน่งที่กระทบคน แค่ Declareไม่พอ จะต้องมีการกระทำที่ไปเพิกถอน กรณีคุณหญิงจารุวรรณคือ ต้องเพิกถอนมติของวุฒิสภา จึงจะทำให้คุณหญิงจารุวรรณพ้นจากตำแหน่ง ถามว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเพิกถอนมติของวุฒิสภาหรือไม่ คำตอบคือไม่มีครับ เมื่อไม่มีก็ต้องย้อนกลับไปว่า ทั้งกระบวนการนั้นเข้าสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ครับ

 

ทาง 2 แพร่ง แก้ปัญหาผู้ว่า สตง.

ผมเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ในระบบกฎหมายของเรา ไม่ได้โทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ถ้าเราลองดูด้วยเหตุด้วยผลในทางกฎหมายขณะนี้ เดินได้ 2 ทางคือ

 

ทางแรก เพื่อให้เกิดความผาสุกในทางกฎหมาย ก็ให้คุณหญิงพ้นจากตำแหน่งไป ก็จบไปในทางหนึ่งแต่เราก็จะสูญเสียคุณค่าบางอย่าง เราก็จะขยายอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญออกไป แล้วต่อไปเราก็จะยอมรับว่าศาลก็จะรับคดีแบบนี้ได้อีก แล้วต่อไปในอนาคตก็จะเป็นแบบไหนไม่รู้

 

อีกทางหนึ่ง ก็ไม่ได้ไม่เคารพคำวินิจฉัยนะครับ ก็ถือว่าคำวินิจฉัยก็อยู่อย่างนั้นแหละ แต่เมื่อไม่ได้ว่าให้คุณหญิงจารุวรรณพ้นจากตำแหน่ง ก็ต้องถือว่าไม่พ้นและก็ทำงานต่อไปจนครบวาระ จะสูญเสียอะไรหรือไม่ บางท่านก็อาจจะรู้สึกว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมไม่ได้รับความเคารพหรือไม่ ก็ไม่ถึงขนาดนั้น

 

ในฐานะที่ผมเป็นนักกฎหมายผมต้องยึดมั่นในคำพิพากษาของศาลกว่าสิ่งอื่น ในทางกฎหมายแล้ว นอกจากความยุติธรรมซึ่งเป็นเป้าหมายของกฎหมายแล้ว ความสงบ ความสันติในทางกฎหมาย เป็นอุดมการณ์และเป็นคุณค่าสำคัญประการหนึ่งเหมือนกัน การกระทำบางอย่างอาจจะดูไม่ยุติธรรมหรอกครับ แต่พอถึงจุด ๆ หนึ่ง มันต้องจบได้ในทางกฎหมาย ดังนั้น ผมต้องเคารพในคำพิพากษาของศาลฎีกาศาลปกครองสูงสุด ศาลรัฐธรรมนูญ แม้ผมจะไม่เห็นด้วยแต่ผมก็ต้องเคารพ

 

แต่ในฐานะที่ศาลรัฐธรรมนูญท่านเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจกระทบการทางการเมือง ท่านต้องเข้าใจว่าการที่ท่านใช้อำนาจออกไปและก้าวออกไปมาก ก็มีองค์กรอื่นที่เขาจะโต้ตอบกลับมา ในต่างประเทศก็มีเหมือนกัน ผมยอมที่จะให้ลดระดับคุณค่าของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญลงนิดหนึ่ง เพื่อให้ดุลยภาพในรัฐธรรมนูญเข้าสู่ระบบที่คงที่ ผมคิดว่าอยู่ในระดับที่ทำได้ และศาลรัฐธรรมนูญท่านก็ไม่ได้เสียอะไร ถ้าเราหยุดกันตรงนี้ได้ ผมคิดว่ามันก็จะจบได้เหมือนกัน

 

แต่ปัญหาคือมันไม่จบ เพราะจากนี้ก็เป็นเรื่องของความต้องการของคนแล้ว ไม่ใช่เรื่องของกฎหมายแล้ว คนกลุ่มหนึ่งบอกอยากให้คุณหญิงจารุวรรณอยู่ในตำแหน่ง อีกกลุ่มหนึ่งบอกอยากให้พ้น นี่เป็นเรื่องของความต้องการ พอเอาความต้องการของคนมาเป็นตัวตั้ง อย่างไรมันก็ไม่จบ ผมจึงบอกว่าประเทศไทยเรายังไม่บรรลุนิติภาวะในแง่ของการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือตัดสินประเด็นปัญหาที่คาบเกี่ยวกับการเมือง เรายังเป็นผู้เยาว์ ผมพุดด้วยทัศนะที่ดีนะครับเพราะผู้เยาว์จะมีวันหนึ่งที่บรรลุนิติภาวะใช่ไหมครับ  ผมมุ่งหวังว่าในอนาคตเราจะบรรลุนิติภาวะในแง่ของการปรับใช้กำหมายให้ถูกต้องตามระบบระเบียบและวิธีการที่มันควรจะเป็น และเมื่อถึงวันนั้น ปัญหาแบบนี้ก็จะไม่มี

 

แต่วันนี้เราต้องยอมรับว่าเราล้มเหลวในระดับหนึ่งแล้ว ปัญหาที่เราต้องการให้จบในทางกฎหมายกลับไม่จบแล้วหวนกลับมาเป็นปัญหาทางการเมือง แล้วพอมันหวนกลับมาเป็นปัญหาทางการเมือง โอ้โห อันนี้ยากมากครับให้ผู้วิเศษที่ไหนมาแก้ก็จะยากละ เพราะมันกลับมาเป็นประเด็นทางการเมืองเสียแล้ว

 

ประเด็นข้อกฎหมายผมพูดไปจนหมดแล้ว เหลือแต่เพียงจะเลือกทางไหนที่จะเดิน แต่อย่างไรก็ตามเรื่องของกระบวนการสรรหาผู้ว่า สตง. ต่อไปข้างหน้าจะปล่อยให้อยู่ในระเบียบของ คตง. ไม่ได้ ต้องกำหนดกฎเกณฑ์นี้ไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเสียเลย

 

ปัญหาของบ้านเราคือเวลาที่เราออกแบบกลไกในทางกฎหมาย เราทำเรื่องบางเรื่องให้ซับซ้อนเกินความจำเป็น แล้วไม่มีตัวแบบในโลก เราทำขึ้นมาเองแล้วซับซ้อนเกินความจำเป็น แล้วเราก็ติดกับที่เราสร้างขึ้นก็ยิ่งยุ่งยากวุ่นวาย ในอนาคตเราอาจจะต้องคิดอะไรให้มันง่ายขึ้นกว่านี้ และถ้าความสามารถในทางกฎหมายเรายังไม่ถึงขั้น เราอย่าเพิ่งไป เราค่อย ๆ ไปเท่าที่พอจะทำได้ และวัตถุประสงค์คือลดปัญหาที่ทำให้เกิดความขัดแย้งให้มากที่สุด คนไทยเราขัดแย้งกันมากเรื่องตำแหน่ง เรื่องคน ผมไม่ค่อยเห็นปัญญหาแบบนี้เกิดขึ้นที่อื่น แล้วคอยดูเรื่อง กสช. นะครับ เดี๋ยวก็มีเรื่องอีก คนอยากเข้าสู่ตำแหน่งนั้นอยากเข้าสู่ตำแหน่งนี้ ก็เป็นธรรมดา เป็นกิเลสมนุษย์ แต่ขอร้องอย่างเดียวครับ คุณกล้าเข้าสู่ตำแหน่ง เวลาที่มีปัญหาคุณช่วยรับผิดชอบหน่อย ไม่ใช่ว่าอยากมีตำแหน่งอย่างเดียว แต่พอถึงคราวที่ต้องรับผิดชอบกลับไม่แสดงความรับผิดชอบ

 

 

หมายเหตุ

การเสวนา "ผ่าทางตันสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน" จัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 30 กันยายน 2548 โดยสมาคมนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ รศ.ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รศ. มานิตย์ จุมปา คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและอาจารย์ชีวิน ฉายาชวลิต คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท