กรมพลังงานชูไฟฟ้าต้นทุนต่ำ ดันเขื่อนพลังน้ำโขงแสนล้าน

 

 

 

เขื่อนมานวาน เขื่อนแห่งแรกบน แม่น้ำโขง   www.searin.org

ประชาไท - 3 ต.ค.48        พพ.ระดมความเห็นโครงการเขื่อนไฟฟ้าแสนล้านากั้นลำน้ำโขง เตรียมของบศึกษาเพิ่มเติม 100 ล้าน ขณะที่เอ็นจีโอประณามโครงการไดโนเสาร์หาเรื่องของบศึกษาวิจัย

กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ( พพ.) กระทรวงพลังงาน จัดเวทีระดมความคิดเห็น "โครงการศึกษาศักยภาพการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำแบบขั้นบันได้ในแม่น้ำโขง" ซึ่งทำการศึกษาเบื้องต้นโดยบริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท มหานคร คอนซัลแตนท์ จำกัด

 

นายชูลิต วัชรสิทธุ์ วิศวกรวางแผนโครงการ และกรรมการบริหารบริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด

ได้นำเสนอโครงการนำร่องคือ เขื่อนบ้านกุ่มตอนบน บริเวณอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ชายแดนไทย-สปป.ลาว กำลังการผลิตกว่า 2,050 เมกะวัตต์ อาคารระบายน้ำล้นมีประตูระบายน้ำ 19 บาน ช่อง ทางเดินเรือ 2 ระดับอยู่ทางฝั่งขวาของโรงไฟฟ้าซึ่งตั้งอยู่ทั้งฝั่งซ้ายและขวาของอาคารระบายน้ำ นอก จากนี้ในการออกแบบยังสร้างบันไดปลาโจนไว้ทางฝั่งขวาของโรงไฟฟ้าด้วย

 

โดยโครงการนี้มีการคำนวณงบประมาณค่าก่อสร้างจำนวน 97,072 ล้านบาท และจะได้ผลประโยชน์เฉลี่ยปีละ 17,777 ล้านบาท กำหนดระยะเวลาคืนทุน 9 ปี ส่วนรูปแบบการลงทุนนั้น ควรให้สัมปทานเอกชนเป็นผู้ลงทุนในรูปแบบ BTO (Build-Operate-Transfer)

 

ทั้งนี้ โครงการเขื่อนบ้านกุ่มนี้เป็น 1 ใน 7 โครงการที่ทางบริษัทฯ ได้คัดเลือกมาทำการศึกษาความเป็นไปได้ จากการศึกษาเดิมของคณะกรรมการลุ่มน้ำโขง (MRC) ที่จัดทำไว้ 10 แห่ง นอกจากนี้โครงการก่อ สร้างเขื่อนบ้านกุ่ม ยังมีการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างบ้านกุ่มตอนล่างและตอนบน ซึ่งผลการศึกษาพบว่า พื้นที่บ้านกุ่มตอนล่างจะกระทบกับประชาชนราว 118 ครัวเรือนใน 2 หมู่บ้าน ขณะที่บ้านกุ่มตอนบนจะกระทบกับประชาชนเพียง 40 ครัวเรือนใน 1 หมู่บ้าน เนื่องจากพื้นที่เก็บกักน้ำ 90% นั้นท่วมในลำน้ำ  

 

นายชูลิต อธิบายด้วยว่า ลำน้ำโขงมีความยาวราว 4,800 กม. เกิดจากที่ราบสูงในทิเบต พื้นที่ตอนบนของลำน้ำโขงกว่า 1,800 กม.อยู่ในประเทศจีน มีพื้นที่รับน้ำฝนเพียง 23% แต่มีโครงการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า 8 เขื่อน สร้างแล้วเสร็จไปแล้ว 2 เขื่อน ขณะที่ในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตอนล่างไหลผ่าน 4 ประ เทศคือ ลาว เวียดนาม ไทย กัมพูชา นั้น มีพื้นที่รับน้ำฝนถึง 76% ยังไม่มีการใช้ประโยชน์ในการผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างจริงจัง

 

อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมตลอดทั้งลุ่มน้ำโขงตอนล่างนั้น บริษัทฯ ได้ทำการศึกษาศักยภาพของเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำรวมทั้งสิ้นจำนวน 7 แห่งที่มีความเหมาะสมทางวิศวกรรม เศรษฐกิจ สังคมและสิงแวดล้อม คือ เขื่อนบ้านกุ่ม ขนาด 2,050 เมกะวัตต์ เขื่อนคอนฟอล (สปป.ลาว) ขนาด 240 เมกะวัตต์ เขื่อนผามอง ขนาด 1,482 เมกะวัตต์ เขื่อนหลวงพระบาง ขนาด 1,240 เมกะวัตต์ เขื่อนไชยบุรี ขนาด 1,012 เมกะวัตต์ เขื่อนปากเบง ขนาด 972 เมกะวัตต์ เขื่อนสามบอ ขนาด 2,625 เมกะวัตต์

 

นายอดุลย์ ฉายอรุณ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาพลังงาน ระบุว่า โครงการนี้เกิดขึ้นท่ามกลางปัญหาเชื้อ เพลิงในการผลิตไฟฟ้าทั้งน้ำมัน และถ่านหินมีราคาแพง ดังนั้น การสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าในลำน้ำโขงจะรองรับกับความต้องการไฟฟ้าของประเทศได้เป็นอย่างดี โดยในปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการไฟฟ้า 10,700 เมกกะวัตต์ และจะเพิ่มขึ้นเป็น 34,000 เมกกะวัตต์ ภายใน 10 ปี

 

ทั้งนี้ ทาง พพ.จะมีการขออนุมัติงบประมาณอีกกว่า 100 ล้านจากงบประมาณของกรมฯ ในปี 2550 หรือจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในทำการศึกษาในรายละเอียดความคุ้มทุนของโครงการ เพื่อดึงดูดความสนใจของนักลงทุน

 

พล.ร.ท.โรจน์ วิภัติภูมิประเทศ อดีตประธานกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร เสนอว่า ควรหลีก เลี่ยงการใช้คำว่า "เขื่อนขั้นบันได" และใช้คำว่า "ฝายขั้นบันได" แทน  เนื่องจากคณะกรรมาธิการการ ทหาร ซึ่งเป็นผู้เริ่มต้นโครงการนี้กับคณะทำงานของศ.ดร.บุญรอด บิณฑสันต์ ได้นำเสนอโครงการนี้แก่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และกระทรวงพลังงานตั้งแต่ต้นปี 2547 โดยใช้คำว่า ฝาย เพื่อหลีกเลี่ยงการต่อต้านจากบรรดาองค์กรพัฒนาเอกชน นอกจากนี้ทางพพ. ควรศึกษาพลังงานทางเลือกจากสายลม และแสงแดด ควบคู่กันไปด้วย

 

ด้านนายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ เลขาธิการมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ กล่าวว่า โครงการสร้างเขื่อนตลอดลำน้ำโขงนี้ เคยถูกเสนอมาตั้งแต่ 40 ปีที่แล้ว ซึ่งได้ข้อสรุปมาโดยตลอดว่าไม่สามารถเป็นไปได้ ครั้งนี้ทางพพ.ก็โหนกระแสราคาน้ำมันแพงนำเสนอเรื่องเหล่านี้อีก ทั้งที่ปัญหาพลังงานนั้นเกิดขึ้นจากระบบที่ไร้ประสิทธิภาพและการรวมศูนย์ผูกขาดการผลิต อีกทั้งการแก้ปัญหานั้นก็มีทางเลือกอีกมากมายที่ไม่มีผลกระทบมหาศาลอย่างการสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำสำคัญของนานาชาติ

 

"โครงการนี้เหมือนการขุดสร้างไดโนเสาร์ขึ้นมาใหม่ โดยอ้างน้ำมันแพง และการสร้างเขื่อนของจีน ซึ่งในกรณีของจีนเขาทำได้เพราะใช้อำนาจเผด็จการ ท่ามกลางการเพ่งเล็งและประณามจากชาติต่างๆ เรื่องนี้ศึกษากันมามาก ใช้งบประมาณมากมาย และครั้งนี้ก็เช่นกันที่จะต้องทำเรื่องของบประมาณในการศึกษาอีกครั้งหนึ่ง ขณะที่โครงการปากมูลก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้ โครงการโขง ชี มูล ก็ยังไม่มีคำตอบ"นายวิฑูรย์กล่าว

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท