Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2548 ที่สำนักทะเบียนอำเภอเมืองปัตตานี ซึ่งเป็นวันแรกที่กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย จะออกบัตรประจำตัวประชาชนแบบอเนกประสงค์ (สมาร์ทการ์ด) ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยนำร่องที่ที่อำเภอเมืองปัตตานี ปรากฏว่าตั้งแต่เช้ามีประชาชนเดินทางนำใบเหลือง(ใบแทนบัตรประชาชน) เพื่อมาขอขึ้นบัตรสมาร์ทการ์ดจำนวนหลายสิบคน แต่ต้องพบกับความผิดหวัง เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่สามารถออกบัตรสมาร์ทการ์ดได้ทันตามกำหนด



ทั้งนี้ นายชาญวิทย์ วสยางกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ได้มาตรวจเยี่ยมการออกบัตรสมาร์ทการ์ดที่สำนักทะเบียนอำเภอเมืองปัตตานีด้วย ได้กล่าวขออภัยต่อประชาชนที่ไม่สามารถออกบัตรสมาร์ทการ์ดได้ในวันดังกล่าว เนื่องจากเกิดความบกพร่องของระบบสื่อสารออนไลน์ทางคอมพิวเตอร์ซึ่งไม่สามารถเชื่อมโยงฐานข้อมูลระหว่างจังหวัดปัตตานีกับกรุงเทพมหานครได้ จึงขอเลื่อนการให้บริการออกไปอีกหนึ่งวัน



สำหรับประชาชนที่เดินทางมาขอรับบัตรสมาร์ทการ์ดแต่ไม่สามารถรับได้ ทางอำเภอได้ประทับตราลงวันที่ไว้ในบัตรคิวและให้มาขอรับได้ในวันที่ 7 ตุลาคม 2548 เดิมตั้งเป้าว่าจะออกบัตรให้ได้วันละประมาณ 300 ใบ แต่เนื่องจากเป็นระบบใหม่ที่อยู่ระหว่างการทดลองจึงจะพยายามออกบัตรให้ได้วันละไม่น้อยกว่า 200 ใบ สำหรับผู้ที่จะมารับบัตรสมาร์ทการ์ดต้องมารับด้วยตนเองไม่สามารถให้ผู้อื่นมารับแทนได้ เนื่องจากต้องมีการพิมพ์ลายนิ้วมือ และต้องสะกดชื่อ-สุกล ด้วยภาษาอังกฤษเพื่อระบุในสมาร์ทการ์ดด้วย


นายชาญวิทย์ กล่าวอีกว่า ในวันที่ 7 ตุลาคม 2548 นายชาญชัย สุทรมัฐ อธิบดีกรมการปกครอง ได้เดินทางมาดูความพร้อมและทดลองการใช้เครื่องออกบัตรสมาร์ทการ์ดด้วย โดยจะมีพิธีเปิดบริการอย่างเป็นทางการ



ศูนย์ข่าวอิศรา พบว่าเครื่องออกบัตรสมาร์ทการ์ดได้ติดตั้ง ณ สำนักทะเบียนราษฎร์ ที่ว่าการอำเภอเมืองปัตตานีเรียบร้อยแล้ว แต่สาเหตุที่ยังไม่สามารถออกบัตรได้ เนื่องจากขนาดของชิพข้อมูลไม่สามารถประกอบในบัตรได้อย่างลงตัว



"การทำบัตรสมาร์ทการ์ดสามารถทำได้ 2 รูปแบบ แบบแรกคือประชาชนที่ถือใบเหลือง หรือใบแทนบัตรประชาชนอยู่แล้ว จะสามารถทำได้รวดเร็ว เพราะสามารถโหลดรูปและประทับรอยนิ้วมือได้เลย กับอีกแบบหนึ่งคือผู้ที่ไม่มีใบเหลือง ต้องถ่ายรูปใหม่ จึงต้องเตรียมการในส่วนนี้ ซึ่งอาจจะล่าช้าบ้าง" เจ้าหน้าที่อำเภอรายหนึ่ง ระบุ



สำหรับการทำบัตรสมาร์ทการ์ดนั้น ประชาชนทุกคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีหน้าที่ต้องทำ แต่ในช่วงแรกจะนำร่องเฉพาะอำเภอเมืองก่อน โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองได้จัดคิวให้ประชาชนจากแต่ละหมู่บ้านมาติดต่อดำเนินการที่อำเภอเรียบร้อยแล้ว



อนึ่ง บัตรสมาร์ทการ์ดที่รัฐบาลเลือกนำมาใช้เป็นบัตรประจำตัวประชาชนแบบอเนกประสงค์นั้น เป็นสมาร์ทการ์ดแบบสัมผัส คือเป็นบัตรที่มีการผนึกชิพทองขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณครึ่งนิ้วไว้ที่ด้านหน้าของบัตร แทนการใช้แถบแม่เหล็กแบบเดิม



ทั้งนี้ การส่งถ่ายข้อมูลเข้าและออกจากชิพบนบัตร จะต้องสอดบัตรเข้าไปในเครื่องอ่านบัตร ซึ่งชิพจะสัมผัสกับหัวต่อหรือคอนเน็กเตอร์ไฟฟ้า และสามารถอ่านข้อมูลได้



เมื่อมีสมาร์ทการ์ดแล้ว คาดว่าในอนาคตอาจไม่จำเป็นต้องมีทะเบียนบ้าน เพราะหน่วยงานต่างๆ สามารถค้นฐานข้อมูลได้จากบัตร หากจะทำใบขับขี่ พาสปอร์ต สมัครงาน หรือแม้แต่จดทะเบียนสมรส ก็สามารถนำสมาร์ทการ์ดไปยื่นคำร้องต่อเจ้าหน้าที่ได้เลย



สำหรับในแง่ความมั่นคง เมื่อมีสมาร์ทการ์ดแล้ว ก็สามารถตรวจสอบข้อมูลพื้นฐานต่างๆ ของบุคคลเพื่อยืนยันความเป็นคนไทยได้ และยังสามารถประสานข้อมูลกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อตรวจสอบข้อมูลของบุคคลสองสัญชาติได้อีกด้วย



อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวระดับสูงจากหน่วยงานด้านความมั่นคง เผยว่า เป็นการยากหากรัฐบาลจะใช้สมาร์ทการ์ดเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบบุคคลสองสัญชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะบุคคลเหล่านั้นถืออีกสัญชาติหนึ่งโดยไม่ได้ใช้ชื่อ-นามสกุลเดียวกับที่ถือสัญชาติไทย


นางวรรณา ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่มาขอรับบัตรสมาร์ทการ์ด เปิดเผยว่า ตนมีชื่อยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดปัตตานี แต่ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และเดินทางมารอรับสมาร์ทการ์ดตั้งแต่เช้า ก็รู้สึกผิดหวังแต่ไม่โทษสำนักทะเบียน เพราะเข้าใจดีว่าเป็นสิ่งใหม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net