Skip to main content
sharethis

นอกจากจะคุ้นตากับถังแก๊สที่วางอยู่ในครัว ติดป้ายสัญลักษณ์หยดน้ำมันเปลวเพลิงระบุชื่อปตท.อย่างชัดเจนแล้ว คงไม่ต้องสงสัยว่าบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) คือเจ้าของธุรกิจก๊าซหุงต้มรายใหญ่ของไทย นอกจากนี้ยังรวมไปถึงพลังงานไฟฟ้าด้วย แม้เป็นที่ทราบกันดีว่าการไฟฟ้าทั้งสาม คือการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) จะเป็นผู้ดำเนินกิจการไฟฟ้าทั้งหมดก็ตาม หากแต่หลายคนยังไม่ทราบว่าเบื้องหลังกำไรมหาศาลจากกิจการไฟฟ้าอย่างแท้จริงนั้นคือ ปตท.


 


การที่ ปตท.มีกำไรมหาศาลนั้นเป็นเพราะว่า ปตท.คือผู้ผูกขาดก๊าซธรรมชาติรายแรกรายเดียวของไทย และลูกค้าที่ผูกติดกับ ปตท.มาตลอดก็คือ บริษัท กฟผ.จำกัด (มหาชน) นั่นเอง และกล่าวอย่างรวบรัด การที่กำไรของ ปตท.ในปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้นถึง 5 เท่า ก็เนื่องมาจากการแปรรูปและทำการซื้อขายหุ้นเมื่อปลายปี 2544 อาจอนุมานได้ว่ากำไรมหาศาลจำนวนนี้ก็คือเงินของประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าที่จ่ายผ่านทาง กฟผ.นั่นเอง


 


ก๊าซธรรมชาติของ ปตท. เบื้องหลังพลังงานไฟฟ้าของ กฟผ.


โครงสร้างการดำเนินกิจการพลังงานไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติของประเทศไทยในปัจจุบัน ถือเป็นกิจการที่ผูกขาดอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทที่ได้รับสัมปทาน เช่น บริษัทยูโนแคล ปตท.สพ. และเชฟรอน เป็นต้น โดย ปตท.ทำหน้าที่เป็นคนกลางในการจัดหาก๊าซเพื่อจำหน่ายภายในประเทศแต่เพียงผู้เดียว ทั้งยังอาศัยอำนาจในการผูกขาดการขนส่งก๊าซผ่านท่อก๊าซธรรมชาติของตนอีกด้วย


 


จากเอกสารของกลุ่มพลังไท กลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคต อธิบายว่า หลังจากที่ ปตท. รับซื้อก๊าซจากบริษัทสัมปทานแหล่งก๊าซแล้ว จะนำมาขายต่อให้ผู้ใช้ก๊าซ โดยจะบวกค่า Margin (ค่าหัวคิว) เพิ่มเข้าไปในราคาเนื้อก๊าซ ในอัตรา 1.75-9.33% และค่าผ่านท่อก๊าซ ซึ่งกำหนดโดยอัตราผลตอบแทนการลงทุน (Internal Rate of Return, IRR) ที่ประมาณ 18% ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นค่าประกันกำไรของ ปตท.นั่นเอง


 


ยิ่งกว่านั้นสูตรราคาซื้อขายก๊าซ ปตท.กำหนดให้ผันแปรตามราคาน้ำมันโลก รวมทั้งยังผลักความเสี่ยงต่างๆ ตามอัตราแลกเปลี่ยน อัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยอีกด้วย ซึ่งการที่ ปตท.กำหนดสูตรการคำนวณราคาก๊าซผันแปรตามราคาน้ำมันดังกล่าวนั้น นางสาวชื่นชม สง่าราศรี กรีเซน ผู้จัดการกลุ่มพลังไท เห็นว่า "ราคาก๊าซธรรมชาติไม่จำเป็นต้องผูกพันกับราคาน้ำมัน เพราะการที่ราคาน้ำมันลอยตัวเท่ากับส้มหล่นของ ปตท.ขณะที่เดิมทีกำไรจากก๊าซธรรมชาติก็กำหนดตายตัวไว้สูงอยู่แล้ว"


 


ดังนั้น ราคาน้ำมันที่กำลังถีบตัวสูงขึ้นอย่างไม่หยุดหย่อนอยู่ในขณะนี้ ก็จะส่งผลให้ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยมีราคาสูงขึ้นตามไปด้วย และในเมื่อก๊าซธรรมชาติเป็นต้นทุนการผลิตพลังงานไฟฟ้าของไทยถึง 80%ทำให้นอกจากประชาชนต้องแบกรับน้ำมันที่แพงขึ้นแล้ว ยังต้องควักเงินจ่ายค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นด้วย


 


นางชื่นชม เห็นว่า ราคาน้ำมันโลกที่ปรับราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ นั้น ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ ปตท.จะต้องลอยตัวก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยตามด้วย เพราะถือเป็นทรัพยากรของคนไทยทั้งประเทศ โดยไฟฟ้าที่นำส่งถึงผู้ใช้ไฟฟ้านั้นผลิตมาจากก๊าซธรรมชาติกว่า 80%


 


ขณะที่ กฟผ.เป็นลูกค้าผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของ ปตท.โดยมีความต้องการก๊าซกว่า 60% ของความต้องการรวม แต่กลับไม่มีอภิสิทธิ์ใดๆ ทั้งยังต้องยอมจ่ายค่าหัวคิวให้กับปตท. เช่นเดียวกับลูกค้ารายอื่นๆ แม้ว่ากระบวนการผลิตไฟฟ้าแทบทั้งหมดล้วนแล้วแต่ดำเนินการโดยบริษัทลูกต่างๆ ทั้งของ ปตท.และ กฟผ.แทบทั้งสิ้น


 


ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า กิจการไฟฟ้าทั้งหมดจึงเป็นการดำเนินการที่ร่วมกันผูกขาดอย่างไม่มีการแข่งขัน  ทำให้การคิดต้นทุนค่าไฟฟ้าเป็นเพียงเรื่องของการส่งผ่านต้นทุนต่างๆ ที่สะสมมาตั้งแต่ต้นบวกด้วยต้นทุนของตนพร้อมกำไรที่ต้องการแล้วส่งต่อให้หน่วยงานสุดท้าย นั่นหมายความว่าภาระและความเสี่ยงต่างๆเหล่านี้จึงตกอยู่ที่ผู้ใช้ไฟฟ้าในที่สุด


 


นอกจากนี้ยังพบว่าภายใต้ราคาที่ประกันกำไรอยู่แล้วในห่วงโซ่การผูกขาดทั้งก๊าซธรรมชาติและระบบไฟฟ้าของประเทศไทย โดยต้นทุนที่เกิดจากค่าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติและน้ำมันกว่า 40% ได้ปรากฏอยู่ในบิลค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากผู้บริโภคนั่นเอง


 


กล่าวคือ ประมาณ 42.9% ของเงินค่าไฟฟ้าที่ผู้บริโภคจ่าย จะเข้ากระเป๋าของ ปตท. และอีกประมาณ 30% จะเป็นรายได้ของ กฟผ. ส่วนแบ่งที่น้อยที่สุดก็คือผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อยที่มีอยู่ประปรายในประเทศไทย แต่ร้อยทั้งร้อยประชาชนคือผู้ที่ถูกขูดรีดขูดเนื้อและไม่เคยได้รับส่วนแบ่งอันใดนอกจากภาระที่ตกทอดมาอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว


 


กว่า กฟผ.จะเอาไฟฟ้าจะมาถึงหัวกะไดบ้าน


สำหรับกิจการไฟฟ้านั้น แม้ว่า ปตท.จะยังไม่ถึงกับผูกขาด100% แต่กิจการทั้งหมดอยู่ในมือของการไฟฟ้าทั้ง 3 ของไทย นั่นคือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (บริษัท กฟผ.จำกัด (มหาชน)) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) โดยปัจจุบันได้ส่งกระแสไฟฟ้าครอบคลุมไปถึงผู้บริโภคแบบทุกหัวบันไดบ้าน


 


ที่ผ่านมา กฟผ. ได้ดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ เพื่อผลิตไฟฟ้า ทั้งการนำเชื้อเพลิงมาปั่นเป็นไฟฟ้า โดย กฟผ.เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเองประมาณ 60% และส่วนที่รับซื้อจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรวมถึงการนำเข้าจากต่างประเทศ ประมาณ 40% และ กฟผ.ยังรับผิดชอบกระบวนการขนส่งไฟฟ้าด้วย ส่วนการจำหน่ายและค้าปลีกไฟฟ้ารวมถึงค่าบริการต่างๆ นั้นจะเป็นหน้าที่ของ กฟภ.และ กฟน.


 


ทั้งนี้ จากกการศึกษาของกลุ่มพลังไท อธิบายให้เห็นว่า ค่าใช้จ่ายในการลงทุน ดำเนินการ และค่าเชื้อเพลิงต่างๆ กฟผ.สามารถส่งผ่านไปยังผู้ใช้ไฟฟ้าได้ โดยเกณฑ์ของ กฟผ.ได้กำหนดไว้ว่าจะต้องมีกำไรไม่ต่ำกว่า 25% ของงบลงทุนที่ใช้ขยายระบบ  ถึงแม้ กฟผ.จะผลิตไฟฟ้าเองเพียง 60% แต่ กฟผ.ก็ผูกขาดการจัดหาไฟฟ้าในระดับส่ง หรือเป็นผู้ซื้อรายเดียว (Single หรือ Monopsony Buyer) เช่นเดียวกับ ปตท.ที่ผูกขาดก๊าซธรรมชาติ ดังนั้นการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนจะมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ารองรับในลักษณะคล้ายกับสัญญา Take-or-pay ของก๊าซธรรมชาติ ที่มีการประกันปริมาณการรับซื้อ และส่งผ่านความเสี่ยงต่างๆ ไปยังผู้บริโภค อาทิ อัตราแลกเปลี่ยน เงินเฟ้อ ราคาเชื้อเพลิง


 


สำหรับการส่งไฟฟ้าของ กฟผ.นั้น ใช้หลักเกณฑ์ทางการเงิน คือ  Self-financing ratio (SFR) และ Debt service coverage ratio (DSCR) เป็นเกณฑ์ เพื่อให้ กฟผ.มีรายได้เพียงพอในการลงทุนขยายกิจการ และชำระหนี้  ส่วนการจำหน่ายและค้าปลีกไฟฟ้า ดำเนินการโดยการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย (กฟน. และ กฟภ.) โดยมีหลักการคิดค่าไฟในส่วนนี้ คล้ายคลึงกับกิจการของ กฟผ.


 


ด้วยโครงสร้างและกระบวนการดังกล่าว ทำให้ในที่สุดค่าไฟฟ้าที่ตกถึงผู้บริโภคจึงเป็นตัวเลขที่ดูสวยงามสำหรับ กฟผ. โดยมีสัดส่วนของเงินค่าไฟฟ้าที่ตกเข้ากระเป๋า ปตท. เกือบครึ่งหนึ่งของค่าไฟฟ้าทั้งหมด


 


ค่าไฟฟ้าถูก แต่ต้องจ่ายแพง


สำหรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทยในปัจจุบัน ประกอบด้วย อัตราค่าไฟฟ้าฐาน ซึ่งเป็นอัตราคงที่โดยมีการทบทวนเป็นระยะๆ และค่าตัวประกอบการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ หรือที่นิยมเรียกกันว่าค่าเอฟที ซึ่งเป็นสิ่งที่พูดถึงกันหนาหูว่าจะทำให้ค่าไฟฟ้าถีบตัวสูงขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะจะกระทบกับผู้ใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่อยู่ในระดับครัวเรือนคือประมาณ 73%(น้อยกว่า 150 หน่วยต่อเดือน)


จากเว็บไซต์ของ กฟผ. อธิบายไว้ว่า อัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ หรือที่เรียกกันสั้นๆว่าค่าFt เดิมหมายถึง Fuel Adjustment Charge หรือการปรับค่าไฟฟ้าตามราคาเชื้อเพลิง ที่มีผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้า ปัจจุบันกำหนดให้มีความหมายกว้างขึ้น คือ Energy Adjustment Charge เพื่อให้ครอบคลุมถึงปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต การจัดส่ง และการจำหน่ายไฟฟ้า ตัว t (subscript) หมายถึง การเปลี่ยนแปลงตามระยะเวลา


โดยค่าเอฟทีเป็นค่าไฟฟ้าผันแปรที่ปรับทุกๆ 4 เดือนตามต้นทุนที่เปลี่ยนแปลง โดยผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาค่าเอฟทีคือ คณะอนุกรรมการกำกับสูตรอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ ซึ่งคิดคำนวณจากต้นทุนที่เปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของการไฟฟ้าทั้งกระบวนการ ค่าเอฟทีจึงเท่ากับการผลักความเสี่ยงต่างๆ ไปยังผู้บริโภค ทั้งภาระจากการลงทุนเกิน ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน  อัตราเงินเฟ้อที่ต่างไปจากที่คาดการณ์  เป็นต้น


 


องค์ประกอบของค่าเอฟที ในปัจจุบัน มีดังนี้ Ft = FAC + FX + NF + MR + DC +AF ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง และค่าซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน / ต่างประเทศ (FAC) ผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยน (FX) ผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อเฉพาะส่วนที่ไม่ใช่ค่าเชื้อเพลิง/ซื้อไฟฟ้า (Non - Fuel cost  ; NF) รายได้ที่เปลี่ยนแปลงไปของการไฟฟ้า (MR) ผลกระทบจากยอดขายที่ไม่เป็นไปตามคาดการณ์ (DC) และค่าสะสมที่เกิดจากการตรึงค่าเอฟที(AF) (ค่าเอฟทีที่เรียกเก็บไม่เป็นไปตามที่คำนวณ)


 


จากเอกสารของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค(สอบ.) ระบุว่า ปัจจุบันค่าเฉลี่ยอัตราค่าไฟฟ้าฐานอยู่ที่ 2.25 บาท/หน่วย และค่าเอฟทีขายปลีกอยู่ที่ 0.4683 บาท/หน่วย นอกจากนี้ผู้ใช้ไฟฟ้ายังต้องชำระค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) อีก 7% จากตัวเลขดังกล่าว โดยกลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคตได้ยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นสัดส่วนของค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือนให้ชัดเจนขึ้น โดยนำส่วนประกอบค่าไฟฟ้าสำหรับบ้านที่ใช้ไฟฟ้า 59 หน่วย/เดือนมาแสดง ซึ่งค่าเฉลี่ยดังกล่าวเป็นของผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านขนาดเล็ก จำนวน 9.33 ล้านราย จากทั้งหมดประมาณ 14 ล้านราย จะพบว่าค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 186.30 บาท โดยจะเป็นค่าพลังงานไฟฟ้าประมาณ 106.48 บาท (57%) ค่าบริการรายเดือน 40.00 บาท (21%)  ค่าเอฟที 27.63 บาท (15%) และค่า VAT 7% เป็นเงิน 12.19 บาท


 


จะเห็นได้ว่า ค่าไฟฟ้าในครัวเรือนมีสัดส่วนของค่าบริการ ค่าเอฟทีและอื่นๆ เป็นครึ่งต่อครึ่งของค่าพลังงานไฟฟ้าเลยทีเดียว ซึ่งตัวเลขที่ปรากฏในบิลค่าไฟฟ้าทั้งหมดนี้จะเป็นทั้งส่วนกำไรของ กฟผ.และยังรวมถึงการส่งผ่านกำไรให้ ปตท.อีกด้วย โดยตัวเลขดังกล่าวได้ผ่านการบวกกำไรและหักลบต้นทุนทั้งหมดมาแล้ว และในที่สุดได้เดินทางมาอยู่ในมือของประชาชนนั่นเอง


 


เอฟที เรื่องเล็ก ROIC สิ เรื่องใหญ่


นอกจากนี้ ข่าวการปรับค่าเอฟทีใหม่ที่จะนำไปรวมกับค่าไฟฟ้าฐานนั้น แม้จะกระทบกระเทือนผู้บริโภคอยู่บ้างแต่ก็ยังไม่หนักหนาสาหัสนัก เพราะตัวเลขดังกล่าวจะไม่แน่นอนและแปรผันตามสภาวการณ์ แต่ที่น่าวิตกกังวลยิ่งกว่าก็คือ ประเด็นที่สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค(สอบ.) ได้ตีแผ่ว่า มติครม.เมื่อ 30 สิงหาคม 2548 ที่กำหนดให้มีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การกำหนดค่าไฟฟ้าจากเดิมนั้น เป็นเรื่องที่น่ากังวลมากกว่า


 


หลักเกณฑ์การกำหนดค่าไฟฟ้าจากเดิมที่อ้างอิงความจำเป็นของการไฟฟ้าในการลงทุนขยายระบบและชำระหนี้นั้น ได้เปลี่ยนเป็นการใช้เกณฑ์ประกันผลตอบแทนการลงทุน (Return on Invested Capilet: ROIC) แทน ซึ่งการใช้เกณฑ์นี้มีนัยสำคัญต่อการเกลี่ยรายได้ระหว่าง 3 การไฟฟ้า และส่งผลถึงค่าไฟฟ้าโดยตรงด้วย ทาง สอบ.เชื่อว่าเกณฑ์ดังกล่าวมีความไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคแต่เอื้อประโยชน์ต่อการกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของ กฟผ.


 


ปัจจุบัน หากคำนวณค่า ROIC ของ กฟผ.นั้นจะตกอยู่ที่ร้อย 9.17 ในขณะที่ กฟน.และ กฟภ.อยู่ที่ 4.37 และ 2.41 ตามลำดับ ตัวเลขดังกล่าวมีความแตกต่างกันอยู่มากเนื่องจาก โครงสร้างค่าไฟฟ้าขายส่งในปัจจุบันได้กำหนดราคาไว้สูงกว่าที่ควรจะเป็นอยู่แล้ว


 


ทั้งนี้ นางสายรุ้ง ทองปลอน ผู้จัดการ สอบ. กล่าวว่า การเกลี่ยรายได้ของทั้ง 3 การไฟฟ้า จะเป็นไปตามที่ที่ปรึกษาการกระจายหุ้นของ กฟผ.ซึ่งแนะนำว่าควรมี ROIC อย่างน้อยร้อยละ  8.7 เป็นเวลา 3 ปี นั่นจะทำให้อีก 2 การไฟฟ้าต้องรับภาระหากไม่ขึ้นค่าไฟฟ้า ซึ่งในที่สุดแล้วผลเสียหายจะตกอยู่ที่ผู้บริโภคอีกทอดหนึ่งอย่างแน่นอน  ขณะที่การศึกษาของกระทรวงพลังงาน พบว่า ในต่างประเทศนั้นโดยเฉลี่ยแล้วค่า ROIC จะอยู่ที่ประมาณ 4.2 เท่านั้น ส่วนการตั้งตัวเลขที่สูงขึ้นนี้ยังมีข้อกังขาว่าจะเป็นการเอาใจนักลงทุนหรือไม่


 


สถานการณ์การเกลี่ยรายได้ดังกล่าว เริ่มส่งสัญญาณการคุกคามผู้บริโภค ทั้งๆ ที่ผู้บริโภคเองกำลังประสบกับค่าเอฟทีที่สูงขึ้นตามราคาก๊าซธรรมชาติอยู่แล้ว จากการศึกษาของนางชื่นชม สง่าราศี กรีเซน กลุ่มพลังไท พบว่าการคำนวณค่าเอฟทีในปัจจุบันจะทำให้ค่าไฟจะสูงขึ้น 30,000 ล้านบาท/ปี หรือประมาณ 25 สต./หน่วย โดยที่กำไรส่วนใหญ่เข้ากระเป๋า ปตท.


 


โดยเฉพาะในช่วงที่น้ำมันราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นทุกวันนี้ ทำให้ก๊าซธรรมชาติของ ปตท.พลอยฟ้าพลอยฝนดีดตัวสูงขึ้นตามไปด้วย และในเมื่อ กฟผ.จำเป็นต้องใช้ก๊าซเพื่อผลิตไฟฟ้า จึงทำให้กำไรไหลเข้า ปตท.อย่างสูงลิบ ดังจะเห็นจากกำไรสุทธิในครึ่งแรกของปี 2548 ที่สูงถึง 44,351 ล้านบาท


 


จากการวิเคราะห์ตัวเลขดังกล่าวของกองบรรณาธิการไทยโพสต์ เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ชี้ว่าหากกำไรของ ปตท.ในครึ่งหลังเท่ากับครึ่งปีแรกปี 2548 จะสามารถนำมาลดค่าเอฟที (จากปัจจุบัน 0.4683 บาท/หน่วย) ให้เหลือเป็น 0 บาท/หน่วย ได้ถึง 9.5 เดือน โดยที่ผู้บริโภคจะไม่ต้องรับภาระค่าเอฟทีอันหนักอึ้งแต่อย่างใด


 


บทเรียนราคาแพง ที่สังคมไม่เคยเรียนรู้


สำหรับกำหนดการที่จะนำ กฟผ.เข้าสู่ตลาดหุ้นนั้น ล่าสุดมีข่าวว่านำเริ่มกระจายหุ้นในสิ้นเดือนพฤศจิกายนปีนี้ หากย้อนกลับไปมองภาพของ ปตท.จะพบว่าเป็นการก้าวตามกันของรัฐวิสาหกิจทั้งสองของไทยที่มุ่งสร้างกำไรอย่างมหาศาลนั่นเอง


 


ดังจะพบว่า ภายหลังจากการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย แปรรูปเป็น บมจ.โดยมีทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 20,000 ล้านบาท ได้ทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยวันแรกเมื่อ 6 ธันวาคม 2544 โดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ แต่ปัจจุบันพบว่ากระทรวงการคลังถือหุ้น 48.55% เท่านั้น


 


นางชื่นชม อธิบายว่า นับแต่แปรรูป ปตท.มีกำไรจำนวน 190,284 ล้านบาท ทั้งๆ ที่ควรตกเป็นของรัฐทั้งหมดแต่ก็ต้องแบ่งให้เอกชนกึ่งหนึ่ง ซึ่งผลประโยชน์เข้ากระเป๋าเอกชนรวมแล้วกว่า  251,000 ล้านบาท โดยอยู่ในรูปของเงินปันผลที่จ่ายให้นักลงทุนจำนวนกว่า 17,000 ล้านบาท และราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นจาก 35 เป็น 208 บาท/หุ้น (3 มีนาคม 2548) คิดเป็นมูลค่าประมาณ 234,000 ล้านบาท จากตัวเลขดังกล่าวแสดงว่า หลังจากที่ปตท.แปรรูปเพียง 3 ปี มีกำไรพุ่งสูงขึ้นถึง 5 เท่าตัว เมื่อเทียบกับปีก่อนแปรรูป (ปี 2543)


 


บทเรียนของการเฟื่องฟูของ ปตท.นั้น ดูเหมือนจะเป็นของหวานที่นักลงทุนต่างต้องการ โดยไม่มีเศษขนมตกถึงประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศแม้แต่น้อย แต่กลับยิ่งสร้างความเดือดร้อนโดยไม่เหลือช่องทางสำหรับการต่อสู้เรียกร้องแม้แต่น้อย


 


เส้นทางสายเดิม แต่อันตรายกว่าเดิม


หลังจากที่ ปตท.กระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้พลังงานไฟฟ้าซึ่งส่วนใหญ่ผลิตมาจากก๊าซธรรมชาติอ่าวไทย ตกอยู่ในกำมือของนักธุรกิจที่ถือหุ้นของ ปตท. ขณะที่ผลกำไรส่วนใหญ่ของ ปตท.นั้น เกิดขึ้นจากธุรกิจซื้อขายระหว่าง กฟผ. ซึ่งวันนี้ถือว่าโชคดีที่ กฟผ.ยังมีรัฐดูแล และรับผิดชอบต่อความเสียหายหากประชาชนเดือดร้อนหรือได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้น


 


"โดยปกติแล้วรัฐวิสาหกิจจะต้องดูดซับความยากลำบากของประชาชน ซึ่งความจริงแล้วรัฐวิสาหกิจก็สามารถแปรรูปเป็นบริษัทได้ แต่รัฐจะต้องถือหุ้น 100% เพื่อที่จะสามารถกำหนดนโยบายผ่านบริษัทเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนเอาไว้ แต่ถ้าเข้าตลาดหลักทรัพย์เมื่อไรก็เท่ากับเปิดช่องให้มีคนเข้ามาเทคโอเวอร์ และรัฐก็จะทำอะไรไม่ได้เพราะอ้างว่าเป็นบริษัท" นางสาวรสนา โตสิตระกูล เลขาธิการมูลนิธิสุขภาพไทย กล่าว


 


ด้านนางสาวสายรุ้ง เห็นว่า ตอนนี้ทั้ง 3 การไฟฟ้ายังเกลี่ยรายได้ไม่เสร็จ ซึ่งเป็นเรื่องของการรักษาผลประโยชน์ของการไฟฟ้า แต่สำหรับการรักษาผลประโยชน์ของประชาชนกลับยังไม่เคยพูดถึง ที่สำคัญก็คือยังไม่ตั้งองค์กรกำกับกิจการไฟฟ้าขึ้นมา ส่วนโครงสร้างค่าไฟฟ้าก็ยังไม่ได้สร้างมั่นใจแก่ประชาชนแต่อย่างใด จึงเป็นเรื่องที่น่ากลัวมากสำหรับการที่ กฟผ.จะเข้าสู่ตลาดหุ้นในตอนนี้


 


สำหรับสิ่งที่น่ากลัวที่กำลังเกิดขึ้น อย่างที่นางชื่นชม กลุ่มพลังไท กล่าวอย่างไม่ค่อยชื่นชมนักกับวิธีการของ กฟผ.ว่า "การแปรรูป กฟผ.เท่ากับการขายผ้าเอาหน้ารอดเป็นเรื่องของการทำตามใบสั่งเท่านั้น ขณะที่รายละเอียดต่างๆ ยังคงซุกซ่อนไว้ ซึ่งสถานการณ์แบบนี้จะทำให้ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม"


 


0          0          0


 


ผลกำไรของ ปตท.ภายหลังการกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ นับเป็นสิ่งที่เย้ายวนใจนักลงทุนอย่างดี ขณะเดียวกันก็เป็นบทเรียนที่ย่ำแย่ต่อการขูดรีดเงินจากประชาชนไปอย่างโหดร้ายด้วยเช่นกัน แต่สิ่งที่น่ากลัวที่สุดก็คือ กฟผ.กำลังลอกบทเรียนราคาแพงนี้อยู่


 


วันนี้ กฟผ.กำลังมุ่งหน้าเดินทางเส้นเดียวกับปตท.อย่างรีบเร่ง โดยมีคนไทยเป็นผู้ค้ำประกันความเสี่ยงทั้งหมดอยู่เบื้องหลัง แล้วอะไรจะเกิดขึ้นกับคนไทย เมื่อวิถีทางนี้ยังไม่มีอะไรพร้อมสำหรับรองรับความเสี่ยงของประชาชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net