หนึ่งช่วงชีวิตที่หายไปของเอเชีย : 4.แล้วเด็กอาเจ๊ะห์จะเป็นอย่างไรต่อไป

หนึ่งช่วงชีวิตที่หายไปของเอเชีย (4)

 

รายงานชิ้นนี้ เป็นการเรียบเรียงจากการทำงานของเครือข่ายผู้สื่อข่าวเอเชีย (Asia News Network-ANN) ที่เฝ้าดู ติดตามสถานการณ์เกิดขึ้นในบางพื้นที่ของเอเชีย และได้เห็นว่า ความขัดแย้งและสงครามได้ทำลายชีวิตของเด็กลงไปเป็นจำนวนมาก เหยื่อเหล่านี้ไม่มีสิทธิมีเสียงใดๆ และถูกบังคับให้ต้องเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก่อนวัยอันควร และเด็กๆ ยังคงถูกเอาเปรียบและถูกใช้ประโยชน์ต่อไป ไม่ว่าจะโดยความสมัครใจหรือถูกบังคับ ด้วยสาเหตุนานาประการที่เด็กเองก็อาจไม่เข้าใจ เนื้อหาของรายงานชิ้นนี้จัดแบ่งออกเป็น 4 ตอน เริ่มจาก เรื่องราวของเด็กผู้ลี้ภัยสงครามจากพม่า ในเรื่อง "ดาวดวงใหม่" ต่อด้วย "เสียงครวญจากบัตติคาโลอา" จากศรีลังกา และ "ขอความเป็นธรรมให้เด็กมินดาเนา" จากฟิลิปินส์ สุดท้าย "แล้วเด็กอาเจ๊ะห์จะเป็นอย่างไรต่อไป" จากอินโดนีเซีย

 

 

4. แล้วเด็กอาเจ๊ะห์จะเป็นอย่างไรต่อไป

 

"ไม่รู้จะทางไปไหนหรอก ทั้งหมดของความคิดก็มีเพียงว่าต้องการหนีออกจากบ้านที่ไฟกำลังไหม้อยู่เท่านั้น" ชั่วพริบตา ชาวอาเจ๊ะห์ก็กลายเป็นผู้ลี้ภัยในบ้านเกิดของตนเอง

 

พวกเขาอยู่ค่ายผู้ลี้ภัยในระหว่างที่รอให้การปะทะระหว่างกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนกับกองกำลังของรัฐบาลสิ้นสุดลง ถึงกระนั้น ความขัดแย้งก็ดูเหมือนว่า จะไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงได้เลยจนกระทั่งเกือบเป็นเวลา 30 ปี

 

การลงนามในข้อตกลงสัญญาสันติภาพระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซียและขบวนการปลดปล่อยอาเจ๊ะห์ ( Free Aceh Movement-GAM) ที่มีขึ้นเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ได้คืนชีวิตและความหวังให้กับผู้ลี้ภัยอีกครั้ง หลายคนมีความหวังที่จะกลับบ้านเริ่มต้นชีวิตใหม่ ถึงแม้ว่าจะผ่านภายใต้กระบวนการสร้างชีวิตใหม่ที่สุดแสนจะอืดอาดและน่าเบื่อหน่าย

 

ท่ามกลางความปิติแห่งสันติภาพนี้ เรื่องทหารเด็กยังคงเป็นประเด็นสำคัญของจังหวัดนี้อยู่ ดูเหมือนว่าทั้งฝ่ายทหาร ตำรวจในอาเจ๊ะห์และ ทหารฝ่าย GAM ก็ยังคงใช้ทหารเด็กอยู่ นอกจากนั้นก็ยังไม่เข้มงวดกับเรื่องของการจัดหาเด็กมาใช้ในการต่อสู้ด้วยอาวุธ ข้อตกลงสันติภาพเองก็ยังไม่ถูกนำมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ

 

ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะยุติการสู้รบ แต่ GAM ก็ยังไม่ปลดอาวุธฝ่ายกบฏทั้งหมด การปลดอาวุธอย่างเป็นทางการเริ่มขึ้นเมื่อ 15 กันยายน และตั้งใจจะให้เสร็จสิ้นอย่างสมบูรณ์แบบก่อน 31 ธันวาคม 2005

 

ความพยายามที่จะยุติการสู้รบในอาเจ๊ะห์เกิดขึ้นหลังจากที่สึนามิเข้ามาถล่มจังหวัดในวันที่ 26 ธันวาคม 2004 ทำให้ผู้คนล้มตายไปกว่า 130,000 คน และทำให้คนกว่าครึ่งล้านต้องไร้ที่อยู่อาศัย

 

ถ้าหากว่าข้อตกลงสันติภาพในครั้งนี้เหลวเหมือนเมื่อสองครั้งก่อนหน้านี้ ทหารเด็ก รวมทั้งผู้ใหญ่คงจะต้องหันมาจับอาวุธขึ้นสู้เพื่อเอกราชของอาเจะห์อีกแน่นอน

 

ยังไม่ใช่คำตอบ

ณ ขณะนี้ทหารเด็กต่างวางอาวุธและเข้าร่วมกับกลุ่มที่ไม่ใช่นักรบและทำงานต่อไปในบทบาทของคนแจ้งข่าว สอดแนม ทำอาหารให้กับทหารที่เป็นผู้ใหญ่ที่ยังอยู่ในป่าห่างไกลตัวจังหวัด

 

แหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ที่คุ้นเคยกับการนำเด็กมาใช้ในการสู้รบกล่าวว่า สถานการณ์ในอาเจ๊ะห์ยังคงไม่มั่นคงเนื่องจากแต่ละฝ่ายยังไม่ได้สร้างความไว้วางใจให้แก่กันและกันในการปฏิบัติตามข้อตกลงสันติภาพ

 

สถานการณ์เริ่มเลวร้ายมากขึ้นในตอนที่เด็กจำนวนนับพันคนไม่สามารถไปโรงเรียนได้เนื่องจากโรงเรียนถูกเผาในช่วงสัปดาห์แรกๆ ของการใช้กฎอัยการศึกในปี 2003 ซึ่งทำให้เกิดการสู้รบตามมาทันที รวมทั้งเมื่อมีการทำลายล้างเนื่องจากคลื่นยักษ์สึนามิเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม

 

ทหารและตำรวจในท้องถิ่นเองซึ่งอยู่ภายใต้กองกำลังพลเรือนติดอาวุธก็จ้างเด็กมาทำงานในส่วนที่ไม่ใช่นักรบเช่นกันโดยให้เป็นเด็กเดินสาร เพื่อว่าจะได้จับตามองความเคลื่อนไหวของ GAM ได้อย่างใกล้ชิด

เด็กชาวอาเจ๊ะห์ยังคงต้องเสี่ยงกับการถูกทำร้ายและได้รับผลกระทบจากการสู้รบเนื่องจากไม่มีมาตรการที่จริงจังที่จะป้องกันอาชญากรรมที่เกิดกับมนุษยชาติ

 

อินโดนีเซียได้ลงนามรับรองอนุสัญญาเจนีวาปี 1949 และ อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศของ 182 และลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก รวมทั้ง พิธีสารต่อท้ายอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กปี 2000 ซึ่งทั้งหมดนี้ให้การรับประกันสิทธิของเด็กว่าจะไม่ถูกนำมามีส่วนร่วมกับสงคราม แต่อินโดนีเซียก็ไม่แสดงให้เห็นถึงความแน่วแน่ที่ปฎิบัติตามพันธสัญญาที่ให้ไว้ในข้อที่ว่าจะป้องกันเด็กจากการเข้าร่วมกับกลุ่มติดอาวุธเลย

 

สภาผู้แทนราษฎรได้ออกกฎหมายมาจำนวนมากรวมทั้งกฎหมายข้อที่ 39 ที่ว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน และ ข้อที่ 23/2002 ว่าด้วยเรื่องการคุ้มครองเด็ก แต่ก็ไม่ได้ทำให้กลุ่มบุคคลหรือพรรคใดๆ ที่จัดหาเด็กไปทำงานในกลุ่มติดอาวุธหรือใช้เด็กในสงครามหรือกิจกรรมรุนแรงอื่นๆ เป็นอาชญากรรม หรือผิดกฎหมายเลย

 

แทนที่จะรับรองพระราชบัญญัติโรม 1998 ว่าด้วย ศาลยุติธรรมนานาชาติ ซึ่งได้จัดให้ การใช้ทหารเด็กในสงครามเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ รัฐบาลอินโดนีเซียกลับมีกฏหมายข้อ 26-200 ว่าด้วย ศาลการละเมิดสิทธิมนุษยชนแทน แต่ก็มีมาตรการลงโทษต่อผู้ที่ใช้ทหารเด็กเพียงสถานเบาเท่านั้น

 

กฎหมายไม่สามารถเอาผิดกับการจัดหาทหารเด็กได้และจัดเรื่องนี้ให้ไปอยู่กับหมวดการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรวมแทน ที่น่ารำคาญใจมากกว่านั้นก็คือ รัฐบาลอินโดนีเซียจำคุกทหารเด็กแทนที่จะส่งเขากลับไปอยู่กับชุมชน และปฎิบัติกับพวกเขาเช่นเดียวกับกลุ่มกบฏที่เป็นผู้ใหญ่และตั้งข้อกล่าวหาว่าเป็นกบฏต่อชาติ

 

จากจำนวนนักโทษ GAM ได้รับการนิรโทษกรรมออกมากว่า 1,400 คน ในนั้นมีหลายสิบคนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี

 

การฟื้นฟูสภาพและคืนสู่สังคม

บรรดาทหารเด็กและผู้ที่ได้รับการนิรโทษกรรมออกมานั้นยังต้องเผชิญกับอนาคตที่ไร้ความหวังหลังจากที่สนธิสัญญาไม่ได้หยิบยกปัญหาที่เกี่ยวข้องกับแผนการคืนสู่สังคมของเด็ก ( และ ผู้หญิง) มาพูดถึงเลย

 

ดังนั้นคำมั่นสัญญาของรัฐบาลที่ว่าจะจริงใจในการแก้ปัญหาอาเจะห์อย่างรอบด้านนั้นก็คงจะต้องรอการทดสอบ เพราะว่าสนธิสัญญาไม่ได้พูดถึงปัญหาทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการคืนสู่สังคมและการฟื้นฟูสภาพจิตใจของกลุ่มอดีตกบฏรวมทั้งอดีตทหารเด็กด้วย

 

ในสนธิสัญญาระบุว่า รัฐบาลจะพยายามที่จะช่วยให้กลุ่มอดีตกบฏคืนสู่สังคมและจัดสรรที่ทำกินให้และให้เงินก้อนหนึ่ง แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่า กระบวนการคืนสู่สังคมและการฟื้นฟูสภาพจิตใจนั้นจะนำมาปฎิบัติในพื้นที่อย่างไร และน่าจะสรุปล่วงหน้าไว้ก่อนได้เลยว่าคงจะไม่ได้ให้ที่ดินทำกินและเงินแก่เด็กๆ

 

รัฐบาลพึงจะต้องตระหนักว่า เด็กหลายๆ คนที่เข้าร่วมกับกลุ่มติดอาวุธเหล่านี้ก็เพราะต้องการที่จะแก้แค้นรัฐบาลของเขา หรือกบฏเพราะคนในครอบครัวถูกฆ่าตายในสงครามเลือดอันยาวนาน

 

การคืนสู่สังคมและและการฟื้นฟูสภาพจิตใจนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการบูรณการการปลดอาวุธและถอนกำลังของฝ่ายกบฎและทหารเด็ก และทั้งสองอย่างนี้ควรปฎิบัติด้วยความระมัดระวังยิ่งในความพยายามที่จะสร้างสันติภาพที่จะให้เกิดขึ้นอย่างถาวรในอาเจ๊ะห์

 

ดังนั้นรัฐบาลจะต้องแสดงให้เห็นถึงเจตจำนงที่ดีโดยการใช้มาตรการที่จำเป็นและก้าวย่างอย่างเป็นรูปธรรมที่จะตกลงกับกบฏผู้ใหญ่ ผู้หญิง และเด็กที่เคยเข้าร่วมในการสู้รบ

 

เพื่อให้กระบวนการคืนสู่สังคมและการฟื้นฟูประสบความสำเร็จ รัฐบาลไม่ควรจะทำแค่ออกคำสั่งในเรื่องจะต้องการจะให้ทำ แต่จะต้องใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของกลุ่มประชาสังคม อย่างเช่น เอ็นจีโอ สถาบันศาสนา หรือฝ่ายที่สามอื่นๆ

 

รัฐบาลควรจะเริ่มต้นที่ร่วมมือกับเอ็นจีโอ โรงเรียนประจำมุสลิม และองค์กรศาสนา เพื่อให้การศึกษาอย่างรอบด้านครบวงจร รวมทั้งการให้คำปรึกษาทางจิตวิทยาและให้การศึกษาเรื่องสันติวิถีแก่อดีตทหารเด็ก เพื่อให้แน่ใจว่าการเปลี่ยนผ่านกลับมาสู่สังคมที่สันติของพวกเขาจะเป็นไปด้วยความราบรื่น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท