รายงานสัมมนา : "สิทธิมนุษยชนศึกษากับการพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพกระบวนการยุติธรรมในสังคมไทย"

"วันนี้เรามาร่วมกันหาทางยกระดับกระบวนการยุติธรรมให้เป็นที่พึ่งหวังของประชาชนให้มากขึ้น ให้มีความชัดเจนโดยนำเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 มาใช้เป็นกลไกหลักในการทำความเข้าใจซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ทั้งยังต้องปรับกระบวนทัศน์เพื่อให้ปัญหาต่างๆ คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ขณะที่ประชาชนยังเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างแท้จริง" ผศ.ดร.สุทิน นพเกตุ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนศึกษา กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดงานสัมมนาเรื่อง "สิทธิมนุษยชนศึกษากับการพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพกระบวนการยุติธรรมในสังคมไทย" ที่โรงแรมสยามซิตี้ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา

 

งานสัมมนาดังกล่าว ร่วมจัดโดย คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนศึกษา(อสมส.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มูลนิธิ FES (Feredrich-Ebert-Stiftung) สถาบันพิทักษ์และพัฒนาสิทธิมนุษยชน(สพพส.) เครือข่ายเคลื่อนไหวสังคม(คคส.) โดยมีผู้แทนจากองค์กรหลักที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมเข้าร่วมสัมมนาด้วย ได้แก่ กระทรวงยุติธรรม ศาลยุติธรรมและองค์กรที่เกี่ยวข้อง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด สภาทนายความ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกระบวนการยุติธรรม และผู้แทนจากองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

พ.ญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์

ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์

หวังไทยตั้งศูนย์ข้อมูลคนหาย-ฐานข้อมูลดีเอ็นเอ-ระบบตรวจสอบกลาง

 

ปัจจุบันการทำงานของกระบวนการยุติธรรมมีหลายหน่วยงานที่รับผิดชอบ ซึ่งท้ายที่สุดทำให้การทำงานไร้เอกภาพ ส่งผลกระทบถึงประชาชนที่ควรจะได้รับความคุ้มครองหรือมีเป็นหลักประกันด้านสิทธิมนุษยชน ขณะเดียวกันประเทศไทยก็ยังขาดระบบฐานข้อมูลต่างๆ เพื่อรองรับกระบวนการทำงานอย่างแท้จริง

 

ทั้งนี้ พ.ญ.คุณหญิงพรทิพย์ กล่าวถึงประเด็นปัญหาของการทำงานกระบวนการยุติธรรมในปัจจุบัน ประการแรกคือ ความเป็นเจ้าภาพ ซึ่งที่ผ่านทำให้การตรวจพิสูจน์ทำได้ไม่เต็มที่ ตัวอย่างกรณีขี่จักรยานตกเขาแล้วเสียชีวิต ขณะที่ส่งแพทย์ในพื้นที่ตรวจระบุว่า เสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุจราจร แต่ญาติไม่เชื่อจึงส่งตรวจพิสูจน์สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ พบว่ามีบาดแผลบริเวณใบหน้า กะโหลกหน้าผากยุบ ผ่าพิสูจน์พบว่าผู้ตายถูกกระทบจากวัสดุ 3 อย่าง ซึ่งต้องมีผู้กระทำอย่างชัดเจน เป็นต้น

 

ประการต่อมา ปัญหาการขาดแคลนบุคลากร  ทำให้การตรวจสอบไม่น่าเชื่อถือ ขาดความรู้ความเชี่ยวชาญ กลายเป็นจุดอ่อนของกระบวนการพิสูจน์

 

และประการสุดท้ายคือส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้เสียหายหรือผู้ป่วยเอง ส่วนใหญ่ถ้าเป็นเด็กมักไม่พูดหรือพูดไม่หมด ประเทศไทยยังไม่สามารถยกเลิกระบบมูลนิธิได้ ซึ่งทางที่ดีไม่ควรไปยุ่งเกี่ยว ส่วนใหญ่เด็กที่มีบาดแผลตรวจร่างกายแล้วพบก็มักจะมุ่งไปที่พ่อเลี้ยงเป็นลำดับแรก ซึ่งความจริงแล้วอาจไม่ใช่ก็ได้ จำเป็นต้องมีหน่วยงานที่ต้องขึ้นทะเบียนและมีความรู้เฉพาะด้วย

 

ทั้งนี้ พ.ญ.คุณหญิงพรทิพย์ เสนอว่า การพัฒนาหน่วยงานนิติวิทยาศาสตร์นั้นจำเป็นต้องมีศูนย์พิสูจน์คนสูญหาย ที่ต้องตรวจพิสูจน์และต้องมีความเชี่ยวชาญพิเศษ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มี ขณะที่กระบวนการพิสูจน์ก็ไม่สามารถทำกันง่ายๆ อย่างกรณีญาติหายไป 7 ปี พบศพแล้ว พิสูจน์ดีเอ็นเอ ขณะกำลังเตรียมพิธีศพ ตรวจพบว่ากะโหลกคนละดีเอ็นเอกับศพ เป็นต้น

 

นอกจากนี้ ระบบฐานข้อมูลดีเอ็นเอ ต้องบูรณาการและมีมาตรฐานสากล เพื่อเก็บดีเอ็นดีให้เป็นระบบ ซึ่งได้เริ่มขึ้นเมื่อมีสถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ที่ปราศจากพยาน ก็ต้องพัฒนาระบบ รวมทั้งยังต้องพัฒนาระบบฐานข้อมูลกระสุนปืน และระบบฐานข้อมูลลายนิ้วมือด้วย ซึ่งขณะนี้ฐานข้อมูลต่างๆ มีกระจายอยู่ทั้งในสถานพินิจ กรมสวนสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กรมการปกรอง และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ทำให้ไม่มีเอกภาพในการทำงาน

 

ขณะนี้กระบวนการยุติธรรม จำเป็นต้องมีระบบค้นหาข้อเท็จจริงและมีมาตรฐาน โปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยในกรณีที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานภาครัฐต้องให้หน่วยงานอื่นเข้าตรวจสอบ เพื่อทำให้ระบบเป็นกลาง เช่นกรณีวิสามัญ หากตรวจพบว่ามีการจัดฉากตั้งแต่ต้น หรืออย่างกรณีผู้ตายถูกจับและเสียชีวิตใน 2 ชั่วโมง ขณะที่ยังไม่ได้พิสูจน์ว่าทำผิดจริง หรือไม่ พบว่าถูกระทืบจนหัวใจแตกและถูกลนด้วยของร้อนก่อนตาย ดังนั้นการมีองค์กรกลางตรวจสอบจึงสำคัญ หากเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องให้หน่วยงานอื่นเข้าไปตรวจสอบ ขณะที่สิทธิมนุษยชนในฐานะกระบวนการยุติธรรม ต้องการใช้หลักฐานที่ดี และกระบวนการที่ดีอย่างต่อเนื่อง

 

ยิ่งกว่านั้น ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เพิ่มเติมว่า ต่อไปจะต้องมีระบบเกณฑ์มาตรฐานที่เป็นกลางและแนวทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยต้องมีแรงจูงใจผลักดันให้ผู้ตรวจพิสูจน์ได้รับค่าตอบแทน มีคณะกรรมการมาตรฐาน และคณะกรรมการบริหารดูแลเรื่องเจ้าภาพ

 

"ขณะนี้หมอนิติวิทยาศาสตร์มีเพียง 50 คน โดย 40 คนกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ ขณะที่ใต้กรุงเทพฯ ลงไปไม่มีเลย ต้องเป็นมาตรฐานสากล บุคลากรที่ทำงานนิติศาสตร์ต้องมีคุณภาพจริง ผ่านกระบวนการทดสอบตลอด และอุปกรณ์ต้องครบครัน ต้องมีระบบต่อเนื่องรักษาพยานหลักฐาน" พ.ญ.คุณหญิงพรทิพย์ กล่าว

 

กรณีศึกษา:

อาเคอ หวุ่นเฌอกู่

กรณีออกหมายจับโดยไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงทำให้จับผู้ต้องหาผิดตัว

 

นายอาเคอ หวุ่นเฌอกู่ จ.เชียงราย ตกเป็นผู้ต้องหาคดียาเสพติด ครอบครองยาบ้ากว่า 2 หมื่นเม็ด ซึ่งมาตรวจพบภายหลังว่า ตำรวจจับผิดคน อาจเป็นเพราะคนไทยภูเขามักมีชื่อคล้ายๆ กัน ความจริงแล้วคือ ต้องจับคนที่ชื่อยาเคอ แต่ปรากฏชื่อของนายอาเคออยู่ในบัญชีดำ สภ.อ.แม่สรวย จึงต้องไปแสดงความบริสุทธิ์

 

ทั้งนี้ เหตุการณ์เกิดเมื่อปี 2542 ส่วนนายอาเคอถูกจับกุมเมื่อปี 2546 โดยตำรวจตระเวนชายแดน(ตชด.) ชี้ตัวภาพจากฐานทะเบียนราษฎร ขณะที่ชาวบ้านยืนยันว่าไม่ใช่นายอาเคอ แต่พนักงานอัยการก็ได้ส่งฟ้องศาล จนทำให้เขาต้องจำคุกที่เรือนจำเชียงรายรวม 218 วัน นับเป็นการจับกุมผู้บริสุทธิ์ และในที่สุดนายอาเคอก็ได้รับการถอนฟ้องและได้ค่าชดเชยด้วย

 

นายอาหลั่ง หวุ่นเฌอกู่ น้องชายอาเคอ เล่าว่า วันเกิดเหตุเมื่อปี 2541 ตำรวจจับกุมตัวคนร้ายไปได้ 4 คน ซึ่งชาวบ้านก็รู้กันดี พอมาถึงปี 2546 รัฐบาลประกาศสงครามกับยาเสพติด ปรากฏว่ามีชื่อของอาเคอขึ้นบัญชีดำที่ สภ.อ.แม่สรวย จ.เชียงราย อาเคอจึงไปแสดงตัวเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ และตำรวจไล่ให้กลับเพราะบอกว่าไม่ใช่หน้าตาแบบนี้ ขอให้สบายใจได้ แต่หลังจากนั้น ตำรวจบอกว่าช่วยไม่ได้เพราะมีหมายจับ จึงนำอาเคอไปฝากขังที่เรือนจำเชียงราย ต่อมา ตชด.มาชี้ตัวว่าอาเคอไม่ใช่คนร้าย แต่ร้อยเวรก็ไม่ได้ทำอะไร และยังบอกว่ามีเงิน 5-6 หมื่นก็พอช่วยไม่ให้ส่งฟ้องศาลได้

 

"ผมไปหาอัยการ ขอให้เอา ตชด.มายืนยัน อัยการบอกไม่เชื่อทั้ง ตชด.และตำรวจ ผมก็ถามไปว่าท่านคิดยังไงต่อคนไม่ผิดแล้วโดนจับ อัยการตอบผมว่า เป็นกรรมเก่าแต่ชาติปางก่อน คนไม่มีความผิดอยู่ในเรือนจำเยอะแยะไป ผมก็ไม่รู้จะทำยังไง จึงไปแจ้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จนในที่สุดก็มีการยกคำร้องเพราะพยานหลักฐานไม่เพียงพอ ซึ่งผมก็ได้ถามผู้พิพากษาไปอีกว่า ผู้บริสุทธิ์ถูกจำจองท่านคิดอย่างไร ท่านก็บอกว่าเป็นกรรมเก่าอีก ผมต้องขอบคุณไอทีวี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเกี่ยวกับคดีนี้" อาหลั่ง เล่าให้วงสัมมนารับรู้

 

นอกจากนี้ นายอาหลั่ง เล่าเพิ่มเติมว่า หลังจากที่อาเคอถูกจับกุมตัวแล้ว ได้ยืมเงินพี่น้องรวมกันได้ 2 หมื่นบาทเพื่อขอให้ทนายช่วย โดยทนายเรียกเงินตอนแรก 6 หมื่นแล้วลดลงเหลือ 4 หมื่น โดยให้เงินไปก่อน 2 หมื่นบาท แม้ว่าจ้างทนายไว้ แต่ไม่เคยทำอะไร บอกแต่เพียงว่ารอการไต่สวน ทั้งยังไม่รู้อีกว่า อาเคอถูกปล่อยตัวมาแล้ว

 

หลังจากนำเสนอกรณีศึกษาของอาเคอแล้ว ได้มีการสัมมนาต่อเนื่องในหัวข้อ "การพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพกระบวนการยุติธรรมในประเด็นสิทธิมนุษยชนและสิทธิมนุษยชนศึกษา" เพื่อให้ผู้คุณวุฒิในวงการกระบวนการยุติธรรมได้นำมาพูดคุยวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางออกต่อไป

 

พล.ต.ท.วันชัย ศรีนวลนัด

ผู้ช่วยผู้บัญชาตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

เมื่อสิทธิมนุษยชนคือห่าฝนของชีวิต

ด้าน พล.ต.ท.วันชัย ศรีนวลนัด แสดงความเห็นต่อกระบวนการยุติธรรมว่า ประกอบด้วยหลายองค์กร ทั้งตำรวจหรือพนักงานสอบสวน อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ นอกจากนี้ยังมีภาคเอกชนเช่นทนายความร่วมด้วย แต่ปัจจุบันมีหลายองค์กรที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นอีก เช่น นิติวิทยาศาสตร์ นิติเวช ซึ่งทุกส่วนต้องพัฒนาตัวเอง ดูว่ามีบทบาทแค่ไหนในกระบวนการยุติธรรม

 

ขณะที่กระบวนการยุติธรรมกับสิทธิมนุษยชนนั้นเป็นของคู่กันแยกไม่ได้ เอื้ออาทรต่อกัน แต่บางครั้งเป็นเหมือนลิ้นกับฟัน ลิ้นคือสิทธิมนุษยชนซึ่งมักจะถูกรังแกอยู่เสมอ แล้วจะทำอย่างไรไม่ให้ฟันหรือกระบวนการยุติธรรมกระทบกัน

 

"สิทธิมนุษยชนเหมือนฝนที่ตกลงมาปรากฏเป็นรูปเป็นร่างแตะต้องได้ก็คือส่วนที่กำหนดไว้ในกฎหมายโดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ แล้วก็แผ่ขยายการรองรับเป็นกฎหมายต่างๆ ซึ่งมีลักษณะเป็นตุ่ม กระถางเพื่อรับฝนเท่านั้น ดังนั้นกฎหมายก็เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชน ซึ่งยังมีอีกหลายส่วนที่ไม่มีกฎหมายมารองรับ ซึ่งอาจเข้าใจกว้างๆ ในรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์" พล.ต.ท.วันชัย กล่าว

 

นอกจากนี้ พล.ต.ท.วันชัย เห็นว่าต้องให้ความรู้แก่ประชาชนและเจ้าหน้าที่ด้วย เพื่อให้ทุกฝ่ายมีความรู้ความเข้าใจ ทำให้เกิดความรัก หวงแหน เรียกร้องสิทธิของตน รู้กติกา ซึ่งต้องทำอย่างต่อเนื่อง

 

สำหรับกรณีนายอาเคอ สิ่งสำคัญที่สุดที่ พล.ต.ท.วันชัย มองก็คือ อะไรพิสูจน์ว่าชื่อคนในหมายจับนั้นเป็นคนเดียวกับตำรวจไปจับกุม ซึ่งกรณีนี้แสดงให้เห็นว่ามีความหละหลวมผิดพลาดเกิดขึ้นได้ ถือเป็นจุดบกพร่องของกระบวนการยุติธรรม ขณะที่กฎหมายก็ไม่ได้ปิดปากหรือมองข้ามว่าการให้ติดคุกเป็นกรรมเก่า เพราะกระบวนการมีอยู่ซึ่งใช่ว่ากฎหมายจะทำไม่ได้ เพียงแต่จะหยิบขึ้นมาแก้ไขเพียงใด ต้องเริ่มจากเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน

 

ศาสตราจารย์วิชา มหาคุณ

แก้ด่วน!

กฎหมายรื้อฟื้นคดี

ศาสตราจารย์วิชา มหาคุณ กล่าวในตอนต้นว่า เรามักมองอย่างแยกส่วนโดยไม่บูรณาการสิทธิมนุษยชนกับกระบวนการยุติธรรมเลย ต่างคนต่างทำ ตอนนี้เชื่อมโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่เหมือนปะผุชั่วคราวไม่ถาวร ความคิดใช้อำนาจเป็นหลักยังอยู่ทุกภาคส่วนทุกระดับ โดยไม่ได้ดูพื้นฐานจิตวิญญาณ

 

"อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 เป็นพื้นฐานสำคัญที่สุดที่ผมว่าเป็นของใหม่ นั่นคือหลักศักดิ์ศรีของมนุษย์ซึ่งมักไม่พูดถึงกัน ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมมักมีอคติตั้งแต่แรก  เช่นมองว่าความจนอยู่ระดับล่างของสังคม คนที่ไม่ใช่คนไทยแต่กำเนิด เราคิดว่ายัดเยียดอะไรก็ได้ เช่น กรณีแม่อาย หน่วยราชการทอดทิ้งไม่ให้สิทธิเป็นคนไทย" อดีตประธานศาลอุทธรณ์ภาค1 กล่าว

 

ทั้งนี้ คนที่ถูกจับยังไม่ใช่จะหมายความว่าเป็นคนร้ายแท้จริง จับแบบขอไปที ไม่รวบรวมหลักฐานให้ดีก่อน และมักจะยกฟ้องภายหลัง แต่แถลงข่าวกันครึกโครมไปแล้ว ขณะที่สื่อปลุกระดมทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตีข่าว สิ่งเหล่านี้ควรระมัดระวัง และควรตระหนักว่า การที่เขาถูกจับกุมนั้นเท่ากับข้อสันนิษฐานของตำรวจเท่านั้น ยังไม่ใช่การตัดสิน

 

อย่างไรก็ตาม ศ.วิชา มองต่อไปว่า "กระบวนการตรวจสอบสำนวนน่าจะรอบคอบและละเอียดให้มากขึ้น เมื่อเราปล่อยปละละเลย ตำรวจมุ่งแต่ติดตามหลักฐานต่อพยานบุคคลเป็นสำคัญซึ่งโบราณแล้ว แต่ว่าเป็นเรื่องที่ง่ายที่สุดและก็น่ารังเกียจที่สุดในปัจจุบันด้วย แล้วอะไรคือความจริง วิทยาศาสตร์เท่านั้นที่จริงแท้แน่นอน

 

"วิทยาศาสตร์ไม่คาดคะเนว่าควรเป็นเช่นนั้น เป็นหลักเหตุปัจจัยเช่นเดียวกับพุทธศาสนา แต่คนไทยชอบคิดคาดเดา คาดคะเนเอาเอง เห็นว่าพยานหลายปากคือความน่าเชื่อถือ แต่ผมว่ามันไร้สาระ ถ้าไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นก็ปล่อย คำให้การของพยานบุคคลคือคำเบิกความที่ไม่ได้วิเคราะห์ตั้งแต่ต้น

 

"ตำรวจต้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน แต่ก็ยังมีข้อสงสัยต้องปิดจุดข้อสงสัยให้ได้ ไม่ใช่ซ้อม ส่วนใหญ่เอาจำเลยมารับสารภาพให้ได้ ผมยืนยัน เป็นไปไม่ได้เลยในปัจจุบัน ทั้งตำรวจและศาลทำงานน้อยกว่าที่ควรจะเป็น และเชื่อว่าเกินครึ่งศาลยกฟ้องเพราะพยานหลักฐานไม่เพียงพอ"

 

นอกจากนี้ศ.วิชา มั่นใจว่า ทุกวันนี้กระบวนการยุติธรรมที่อยู่ได้เพราะคำสารภาพของจำเลย ต่อไปจะยากขึ้น เพราะคนมีการศึกษาสูงขึ้น จะลุกขึ้นสู้ เมื่อมีเหตุสงสัยตามสมควรก็จะปิดจุดของเขาเอง

 

ยิ่งไปกว่านั้น ได้ศ.วิชา ยังได้เน้นเกี่ยวกับกฎหมายรื้อฟื้นคดีฯ ว่า "ผมยืนยันว่าผู้ร่างไม่ประสงค์ให้พ.ร.บ.ฉบับนี้มีกระทรวงยุติธรรมเป็นเจ้าภาพ ไม่งั้นปัญหาจะเกิดขึ้นมามากมายที่จะต้องแก้ไข ผมฟันธงว่ากฎหมายนี้ไม่แก้ไม่ได้ ต้องแก้โดยยกร่างใหม่ โดยให้โอกาสผู้เกี่ยวข้องมายกให้ รวมถึงองค์กรอิสระต่างๆ ด้วย ผมอึดอัดกับร่างจำนวนมากที่ไม่ได้ใช้ แค่พอเป็นหน้าเป็นตาว่าเรามีแล้วเท่านั้น"

 

"ผมมองว่ากฎหมายทั้งภายในและภายนอกประเทศยังไม่ได้นำมาปรับใช้ หรือออกเป็นกฎหมายไทย ผมจึงเสนอให้มีกฎหมายสิทธิมนุษยชนมาใช้ในประเทศไทยด้วย" ศ.วิชา กล่าวเพิ่มเติม

 

ขณะที่นายกุลพล พลวัน อัยการอาวุโส เห็นด้วยว่าการจับผิดตัวเกิดขึ้นน้อยมาก ที่เกิดขึ้นเป็นประจำก็คือ จับถูกตัวแต่ไม่ได้ทำผิดตามที่ถูกกล่าวหา การป้องกันในเรื่องเหล่านี้ ต้องเริ่มที่กฎระเบียบซึ่งต้องรองรับให้ดีก่อน รวมถึงศาลต้องไต่สวนให้ดี ทำอย่างไรให้ศาลไต่สวนแล้วเชื่อ ส่วนใหญ่ไม่ไต่สวนแต่ออกหมายเรียกเลย

 

อย่างไรก็ตาม อัยการอาวุโส เห็นว่าหากจับผู้ต้องหาถูกตัว แต่เขาไม่ได้กระทำผิดจะทำอย่างไร กระบวนการพิสูจน์ย้อนหลังของไทยไม่มี การรื้อฟื้นไทยไม่มีเลยแม้แต่คดีเดียว เพราะเป็นไปไม่ได้ ขั้นตอนทางกฎหมายสร้างให้ยากมาก จำเลยต้องรื้อฟื้นเอง ค่าใช้จ่ายสูงมาก ต้องแก้ที่กฎหมายตรงนี้ ซึ่งประเทศไทยมักมีกฎหมายให้ดูหรูหราแต่ไม่เคยนำมาใช้เลย

 

พรพิตร นรภูมิพิภัชน์

ผู้อำนวยการสำนักทัณฑวิทยา กรมราชทัณฑ์

คุกเต็มคือการละเมิดสิทธิของผู้ต้องหา

สำหรับกระบวนการยุติธรรม ที่กรมราชทัณฑ์ ถือเป็นกระบวนการขั้นปลายทาง แต่ก็กำลังประสบปัญหาเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ นางสาวพรพิตร นรภูมิพิภัชน์ ผู้อำนวยการสำนักทัณฑวิทยา กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ผู้กระทำผิดก็ใช้หลักสิทธิมนุษยชนเป็นทางออกด้วยเช่นกัน ซึ่งที่กรมราชทัณฑ์เองก็ประสบปัญหาการละเมิดสิทธิฯ อยู่ แต่พบว่าผู้ต้องขังที่ร้องเรียนคือผู้ทำจริง เป็นพวกมีอิทธิพล แต่ผู้ต้องขังจริงๆ ไม่รู้เรื่อง นั่นแสดงว่าคนเลวมักใช้ช่องทางที่เปิดอยู่เสมอ

 

"เรือนจำนั้นเป็นปลายทาง มีนักโทษมา จำเป็นต้องรับ ไม่มีสิทธิบอกว่าเต็มแล้ว อย่างกรณีอาเคอขณะนั้นเรือนจำเชียงรายรองรับผู้ต้องขังได้ 2,400 คน แต่ขณะที่อาเคอเข้าไป มีอยู่ถึง 3,800 คน เท่ากับว่าเขาถูกละเมิดที่ถูกคุมขังอย่างหนาแน่น แออัดและรวมแบบจับฉ่าย  จำเป็นต้องมีกระบวนการตรวจสอบก่อนหน้านี้ เช่นผู้ที่บริสุทธิ์ใจอาจเข้ามอบตัว อย่างนี้น่าจะมีมาตรการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นต้น" นางสาวพรพิตร แสดงความเห็น

 

พล.ต.อ.สุนทร ซ้ายขวัญ

รองผู้บัญชาการตำรวจ ว่าที่ ผบ.ตร.

ผู้ร้ายเต็มเมือง เห็นใจตำรวจบ้าง

หลังจากที่วงสัมมนาพูดคุยเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน พล.ต.อ.สุนทร ซ้ายขวัญ แสดงความเห็นว่า มีคดีเกิดขึ้นเป็น100 แต่แจ้งตำรวจเพียง 40 ส่วน และ 30 ส่วนส่งฟ้องศาล 20 ส่วนถึงศาล และสุดท้ายอีก 10 ส่วนที่ผู้ร้ายจะถูกลงโทษหรือไม่ลงโทษ เท่ากับที่เหลือกลายเป็นปัญหาสังคม การมีผู้ต้องหาหรือผู้ถูกกล่าวหาทำให้เป็นปัญหาที่หนักใจของผู้รักษากฎหมาย ขณะที่สังคมต้องการความสงบสุข แต่คนทำผิดส่วนใหญ่เล็ดรอดไปได้ ทำให้คนร้ายเต็มบ้านเต็มเมือง ดังนั้นจะใช้กฎหมายอย่างเดียวไม่ได้

 

"อยากให้มองในแง่มุมของเจ้าหน้าที่ด้วย ตำรวจก็คงไม่อยากย่ำยีความเป็นมนุษย์ มีหน้าที่อยู่ในกรอบก็ต้องหาเครื่องมือให้เขาหน่อย หากมีคนทำร้ายเราจะทำใจได้ไหม จึงจำเป็นต้องไต่สวนและรวบรวมพยานหลักฐานให้ชัดแจ้งก็ต้องเห็นใจเพื่อนตำรวจบ้าง" ว่าที่ ผบ.ตร.กล่าว

 

......................

หลังจากจบวงสัมมนาระดมความเห็นดังกล่าวแล้ว การวางแนวทางเพื่อหาบทสรุปในการเชื่อมร้อยระหว่างสิทธิมนุษยชนกับกระบวนการยุติธรรมที่เริ่มจากการเก็บความเห็นที่หลากหลายนี้ เพื่อให้การทำงานที่ความถูกต้องชอบธรรมแก่ประชาชนและบทบาทของเจ้าหน้าที่ไปในทางเดียวกัน ทั้งนี้ทุกคนต่างไม่ต้องการให้เหตุการณ์อย่างกรณีศึกษาของนายอาเคอเกิดขึ้นอีก รวมไปถึงการพัฒนาต่อยอดเพื่อปรับปรุงคุณภาพของกระบวนการยุติธรรมต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท