Skip to main content
sharethis



 


ประชาไท—31 ตุลาคม 2548 ไทยเตรียมลงทุนทำคอนแทคฟาร์มมิ่งในพืชผลเกษตรในการประชุมผู้นำ ACMECS ทั้งเตรียมเจรจาลดอุปสรรคการออกใบรับรองถิ่นกำเนิดและการให้สิทธิยกเว้นภาษีการนำเข้าตามแนวชายแดน


 


คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในการประชุมระดับผู้นำกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ครั้งที่ 2 (Irrawaddy-Chao Phraya-Mekhong Economic Cooperation Strategy หรือ ACMECS) ที่จะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 1-3 พ.ย.นี้ โดยมีประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ  และพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะประชุมร่วมกับผู้นำของประเทศสมาชิกอีก 4 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนามนั้น จะมีประเด็นหารือที่กระทรวงเกษตรฯ จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมผู้นำ ACMECS ประการแรกคือ ความร่วมมือในการลงทุนทำคอนแทคฟาร์มมิ่ง (Contact Farming) ในพืชผลการเกษตร ซึ่งจะสนองต่อความต้องการของทั้งสองฝ่าย และจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร โดยที่ฝ่ายไทยจะรับประกันในการรับซื้อผลผลิตการเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้าน ประการต่อมา คือ การเจรจาลดอุปสรรคในการออกใบรับรองถิ่นกำเนิด (Certificate of Origin : CO) และการให้สิทธิการยกเว้นภาษีการนำเข้า (ASEAN Integration System of Preferences : AISP) ตามแนวชายแดน


 


สำหรับประเด็นสุดท้าย รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่าคือ การเจรจาปัญหาในการจัดทำคอนแทคฟาร์มมิ่งของทั้งระบบราชการของไทยและของประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่สอดคล้องกัน จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจและสั่งการให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติแก้ไข



"การดำเนินการที่ผ่านมาภายใต้ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในกลุ่ม ACMECS กระทรวงเกษตรฯ ได้มีการจัดทำยุทธศาสตร์เพื่อยกระดับการผลิตภาคการเกษตรและสนับสนุนการลงทุนคอนแทคฟาร์มมิ่งกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งพืชพลังงานทดแทน และได้จัดประชุมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมทั้งในภูมิภาคกับจังหวัดชายแดนติดกับประเทศลาว พม่า และกัมพูชา มาโดยตลอด" คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าว


 


นอกจากนี้ ในปี 2549 กระทรวงเกษตรฯ มีแผนที่จะให้ความช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้าน โดยเน้นสินค้าเกษตรที่สำคัญ 10 ชนิด และกลุ่มพืชพลังงานทดแทนด้วย ขณะเดียวกันยังได้จัดส่งคณะสำรวจเดินทางไปประเทศกัมพูชา ลาว และพม่า เพื่อสร้างความมั่นใจในการทำคอนแทคฟาร์มมิ่ง รวมทั้งสำรวจสภาพของดินเพื่อหาความเหมาะสมต่อการผลิตสินค้าเกษตรก่อนที่จะจับคู่กับภาคเอกชนหรือนักลงทุน


 


อย่างไรก็ดี คุณหญิงสุดารัตน์ เห็นว่า หากการประชุมหารือมีข้อตกลงที่สามารถเป็นไปได้อย่างที่ฝ่ายไทยเสนอ จะส่งผลต่อความเข็มแข็งในการพัฒนาศักยภาพการผลิตสินค้าเกษตร ซึ่งจะทำให้รายได้ของเกษตรกรของกลุ่มประเทศสมาชิกสูงขึ้นตามไปด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net