Skip to main content
sharethis



 


ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


ศ. ดร.ปาลานีซามี รามาซามี  ชาวมาเลเซียเชื้อสายอินเดีย เป็นนักวิชาการด้านทฤษฎีการเมืองการปกครองที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซียมา ร่วม 25  ปี จบการศึกษาด้านรัฐศาสตร์จากเยอรมนี ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์พิเศษ มหาวิทยาลัยคาสเซล ประเทศเยอรมนี  เขาเคยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ประสานการเจรจาความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม พยัคฆ์ทมิฬอีแลมกับรัฐบาลศรีลังกา และร่วมการเจรจาระหว่างกลุ่มอาเจ๊ะห์กับรัฐบาลอินโดนีเซีย ที่สำคัญเขาให้ความสนใจปัญหา  3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยเป็นพิเศษ


 


ศ.รามาซามี เห็นว่าพัฒนาการของปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เปลี่ยนไปมาก จากยุคแรกที่มีตัวบุคคลเป็นแกนนำ ต่อมาจึงมีกลุ่มองค์กรชัดเจน แต่ปัจจุบันผู้ก่อความไม่สงบไม่ปรากฏตัวตนหรือองค์กรที่ชัดเจน 


 


ข้อเสนอของเขา ก็คือ รัฐบาลไทยควรจะเปิดใจเพื่อให้มีการตั้งตัวแทนพูดคุยกับกลุ่มที่กำลังก่อเหตุใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น กลุ่มของ ดร.วันกาเดร์ เจ๊ะมาน อดีตผู้นำกลุ่มเบอร์ซาตู  (ปัจจุบันพำนักอยู่ที่สวีเดน) เป็นต้น  แต่ในการเจรจานั้นจะต้องใช้ประเทศเป็นกลาง เช่นเดียวกับกรณีของติมอร์ตะวันออกหรืออาเจ๊ะห์ ทั้งนี้ ศ.ปาลานีซามีเชื่อว่าคน 3 จังหวัดเองก็อาจจะไม่ยอมรับประเทศมาเลเซียในการเป็นผู้ไกล่เกลี่ยเพื่อแก้ ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น


 


ด้วย ประสบการณ์ที่เคยเป็นผู้ประสานการเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้งกับกลุ่มต่อต้าน รัฐบาลประเทศต่างๆ มาแล้วนั้น เขาเห็นว่า ลำพังแค่มีรองนายกรัฐมนตรีหรือระดับเจ้าหน้าที่ไปเจรจากันไม่เพียงพอ เพราะคนไทยมุสลิมใน 3 จังหวัดไม่ไว้ใจรัฐบาลไทย และไม่เชื่อในความสมัครใจของประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย อันจะนำมาซึ่งความขัดแย้งอย่างไม่สิ้นสุด


 


"ผมเชื่อ ว่าในตอนเริ่มต้น รัฐบาลไทยอาจจะปฏิเสธองค์กรที่เป็นกลาง เพราะมองว่านี่เป็นปัญหาภายใน แต่ผมมองว่านี่ไม่ใช่ปัญหาภายใน แต่เป็นปัญหาระหว่างประเทศไปแล้ว เพราะเป็นปัญหาที่คล้ายๆ กับที่เกิดขึ้นในศรีลังกา ติมอร์ตะวันออก ปาปัวนิวกินี ไอร์แลนด์เหนือ ซูดาน อาเจะห์ ซึ่งเป็นปัญหาที่โลกรับรู้ ขณะเดียวกันผมไม่อยากให้สหรัฐอเมริกาเข้ามาแทรกแซงในเรื่องเหล่านี้ เพราะทั่วโลกไม่ยอมรับอเมริกา ผมมีแผนที่จะเป็นตัวประสานให้กับทั้งสองฝ่าย แต่จะไม่ทำการใดๆ หากไม่ได้รับการติดต่อประสานงานจากองค์กรของคนใน 3 จังหวัด"


 


อย่างไรก็ตาม ศ.รามาซามีก็ยังไม่สามารถอธิบายได้ว่าเป้าหมายของผู้ก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดภาคใต้คืออะไร และประเด็นการแบ่งแยกดินแดนเป็นเป้าหมายหลักของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบจริงหรือไม่ เพราะทุกครั้งที่เกิดเหตุความไม่สงบก็ไม่มีใครออกมาอ้างความรับผิดชอบ และไม่ปรากฏหลักฐานที่โยงใยไปถึงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ในแง่นี้ ศ.ปาลานีซามีกล่าวว่าต่างจากในอดีต ซึ่งมีขบวนการพูโลออกมาอ้างความรับผิดชอบหลังเกิดเหตุการณ์


 


"ใน อดีตการต่อสู้ของกลุ่มพวกนี้เรียกร้องความอิสระในการนับถือศาสนา ในการศึกษาเล่าเรียน อิสระในการดำเนินชีวิตตามวัฒนธรรมความเชื่อ แต่ปัจจุบันไม่เห็นสิ่งเหล่านี้ ทุกครั้งที่ก่อเหตุก็ไม่มีการบ่งบอกว่าพวกเขาต้องการอะไร ผมอยากจะถามแนวร่วมผู้ก่อการทั้งหลายว่า ตกลงเป้าหมายของคุณคืออะไร คุณจะมาปิดบังตัวเองไม่ได้แล้ว ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเปิดเผยตัวเอง เพราะการที่คุณทำลับๆ ทำให้ประชาชนเดือดร้อน"


 


เขาบอกด้วยว่าอยากจะติดต่อ วันกาเดร์ แต่ไม่ทราบที่อยู่ที่แน่ชัด หากเขาได้รับการติดต่อจากกลุ่มเหล่านี้ ก็คงจะเกิดความหวังที่จะเป็นประโยชน์กับคนมลายูมุสลิมใน 3 จังหวัดเพื่อชัยชนะร่วมกันของทุกฝ่าย


 


ศ.รามาซามีกล่าวต่อไปว่า ขั้นตอนที่จะนำไปสู่การเปิดเจรจาระหว่างรัฐบาลไทย และกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบนั้น ควรจะมีองค์กรซึ่งเป็นกลางและมีรูปแบบคล้าย ๆ พรรคการเมืองซึ่งเป็นตัวแทนของคน 3 จังหวัด เพื่อพูดคุยกับรัฐบาลไทย หลังจากนั้นค่อยหาประเทศที่สามมาพูดคุย เช่น ที่สวีเดน ฟินแลนด์หรือนอร์เวย์ เพราะทั้ง 3 ประเทศได้รับการยอมรับจากทั่วโลก สำหรับประเทศมาเลเซียและไทยนั้นไม่ใช่ประเทศที่เป็นกลางอีกแล้ว


 


"องค์กรต้องเป็นที่ยอมรับเพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนใน 3 และรัฐบาลไทยก็ให้การรับรอง เป็นองค์กรร่วมที่จะมีคนหลายๆ กลุ่มอยู่ภายใต้องค์กรหลักดังกล่าวนี้ เช่น องค์กรของวันกาเดร์ ก็เป็นองค์กรหนึ่ง แต่หากดูในประวัติศาสตร์ ผู้นำเก่าๆ ที่ยังหลงเหลืออยู่ จะไม่ได้รับการยอมรับจากคนในปัจจุบัน จึงอาจตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมาเป็นตัวแทนเจรจาในเรื่องของสิทธิของคน 3 จังหวัด เพราะหากไม่มีองค์กรขึ้นมารัฐบาลไทยเองก็สับสนว่าใครเป็นแกนนำที่แท้จริง"


 


สำหรับรากเหง้าของปัญหาความไม่สงบใน 3จังหวัดภาคใต้ของไทยนั้น เขาวิเคราะห์ว่า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีทั้งปัญหาประวัติศาสตร์ทางการเมือง ปัญหาเศรษฐกิจ และสังคม จากเดิมคนมลายูมุสลิมที่นี่เป็นรัฐอิสระหรือรัฐปัตตานี แต่หลังจากที่อังกฤษได้ทำสัญญากับสยามทำให้ 3 จังหวัดตกอยู่ภายใต้การปกครองของสยาม


 


"การที่เขาอยู่ภายใต้การปกครองของสยามในฐานะที่เป็นชนกลุ่มน้อย ทำให้พวกเขาไม่มีสิทธิในแผ่นดินของตัวเอง" เขาตั้งข้อสังเกตต่อไปด้วยว่าการต่อสู้ของผู้ก่อความไม่สงบระยะหลังมีการนำศาสนามาเป็นข้ออ้าง


ทาง


 


ออกที่เขาเห็นก็คือ ระบบการเมืองน่าจะมีแนวทางให้ผู้ที่เป็นชนกลุ่มน้อยสามารถมีอิสระในการ ประกอบศาสนกิจและดำเนินชีวิตในวิถีที่เขาเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวัฒนธรรม ความเชื่อ ซึ่งจะต้องได้รับการเคารพ ในฐานะที่เป็นคนไทย


 


"คนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู เหล่านี้มีอัตลักษณ์ต่างกับคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งสิ่งเหล่านี้รัฐบาลไทยไม่ได้ให้ความเคารพในอัตลักษณ์ของพวกเขา"


 


ศ. รามาซามีระบุว่า ความขัดแย้งในภาคใต้ว่าเป็นกรณีเดียวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในศรีลังกา ที่คนชาติตามีลก็ไม่ได้รับความเคารพจากรัฐบาลกลาง เขาบอกว่า สิ่งที่รัฐไทยควรคำนึงให้มาก็คือ ความเป็นคนมลายูมุสลิมที่เป็นชนกลุ่มน้อย คนเหล่านี้มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ชัดเจน มีศาสนา วัฒนธรรมของตัวเอง เมื่อผนวกกับปัญหาความยากจน ไม่มีโอกาสทางเศรษฐกิจ ไม่มีโอกาสในการทำงาน คนเหล่านี้จึงคิดว่ารัฐบาลไทยไม่ดูแลและไม่ให้ความเคารพในสิทธิเหล่านี้


 


"การไม่ให้ความเคารพทำให้เกิดความไม่พอใจ ซึ่งสามารถที่จะดูได้จากเหตุการณ์ความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ หรือกรณีเหตุการณ์ที่ สภ.อ.ตากใบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีใช้ทหารในการแก้ปัญหา ไม่ใช้การเมือง การใช้กองกำลังทางทหารและตำรวจ ไม่สามารถแก้ปัญหาความรุนแรงได้ จะต้องใช้การเมืองนำการทหาร หรือพ.ต.ท.ทักษิณควรจะต้องให้คน 3 จังหวัดมีการปกครองตัวเอง แต่ให้ผ่านระบบการเมือง"


 


แนว ทางแก้ปัญหาโดยให้การเมืองนำการทหารในความเห็นของเขานั้น ศ. ปาลานีซามี เห็นว่ารัฐบาลไทย โดยพ.ต.ท.ทักษิณควรเปิดการเจรจาทางการเมือง สิ่งแรกคือ หาผู้นำซึ่งเป็นตัวแทนของคนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู เพื่อเป็นตัวแทนเจรจากับฝ่ายรัฐบาล ในการเจรจาดังกล่าว ตัวแทนของมุสลิมสามารถนำเสนอข้อเรียกร้องต่างๆ ที่จะร่วมกันแก้ปัญหา นี่คือจุดเริ่มต้นในการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


 


"ถ้าทักษิณทำอย่างที่ว่าด้วยการถอนทหารออกจากพื้นที่ทั้งหมดในระยะแรก เขาอาจจะชนะใจประชาชนใน 3 จังหวัดก็ได้ เพราะจะสร้างความสบายใจให้กับประชาชน จากนั้นก็ทำการเจรจาจนกว่าปัญหาจะยุติ"


 


ศ. รามาซามีกล่าวว่าเขาไม่เห็นด้วยกับวิธีการแก้ปัญหาของพ.ต.ท.ทักษิณซึ่งเริ่มต้นด้วยการใช้ความรุนแรงมาตั้งแต่แรก ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิต ทั้งชาวไทยพุทธและไทยมุสลิม เขาเห็นว่านโยบายของรัฐบาลทักษิณที่ออกมาส่วนใหญ่เป็นนโยบายที่แข็งกร้าว นำไปสู่การสูญเสียชีวิต


 


สำหรับ ท่าที่ของมาเลเซียต่อสถานการณ์ชายแดนภาคใต้ของไทย ศ. รามาซามีคิดว่ารัฐบาลมาเลเซียรับรู้ในปัญหาของมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์  ปัญหาของอาเจะห์ ในอินโดนีเซีย ทำให้ค่อนข้างจริงจังกับปัญหาภาคใต้ด้วย เนื่องจากทั้งหมดเป็นประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลาม


 


แต่ ในทางตรงกันข้ามเขาเห็นว่าท่าทีการให้ความช่วยเหลือของมาเลเซียก็มีนัยยะการเมืองภายในของมาเลเซียแอบแฝง ไม่ได้ช่วยด้วยความจริงใจ ซึ่งสะท้อนได้จากปฏิกิริยาของรัฐบาลไทย


 


 "การ ที่มาเลเซียให้ความช่วยเหลือกับคน 3 จังหวัดภาคใต้ของไทย ถูกรัฐบาลทักษิณมองว่าเป็นการก้าวก่ายเรื่องภายในของไทย ซึ่งรัฐบาลไทยมองว่ารัฐบาลมาเลเซียไม่จริงใจในการแก้ปัญหาคนมุสลิม 131 คนที่ข้ามแดนไปยังประเทศมาเลเซีย นี่เป็นเรื่องที่ยากที่จะแก้ปัญหาให้กับคน 3 จังหวัด สรุปแล้วทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งไทยและมาเลเซียไม่สามารถร่วมมือกันแก้ปัญหา 3 จังหวัดได้"


 


เขาวิเคราะห์อีกว่า หากมองภาพรวมของอาเซียนต่อการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาติมอร์ตะวันออก ปัญหามินดาเนา ปัญหาอาเจะห์ ก็จะพบว่าประเทศในกลุ่มอาเซียนก็ไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาติมอร์ตะวันออก ต้องมีออสเตรเลียเข้ามาเป็นตัวกลาง ปัญหาอาเจะห์ มีกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป(อียู) เป็นตัวกลาง ในกรณี  3 จังหวัดภาคใต้ก็เช่นกัน เพราะบนพื้นฐานนโยบายของประเทศอาเซียน มาเลเซียไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายปัญหาภายในของประเทศเพื่อนบ้านได้ แต่หากมองให้ลึกซึ้งไปกว่ากรอบของอาเซียน ศ.รามาซามี คิดว่ามาเลเซียอาจจะมีเป้าหมายอื่นก็ได้


 


ท้ายที่สุด ศ.รามาซามี ทิ้งท้ายเน้นย้ำต่อรัฐบาลไทยว่า การใช้กองกำลังในการแก้ปัญหาจะยิ่งสร้างความเคียดแค้น ความเดือดร้อนเพิ่มขึ้น และจะเป็นการทำลายภาพพจน์ของประเทศไทย


 


"ผมคิดว่าทุกปัญหาในโลกนี้จะจบลงได้ด้วยการเจรจา ไม่ว่าที่ใดก็ตาม หนทางนี้เป็นวิธีการแก้ปัญหาในทางการเมืองที่ดีที่สุด และในกรณีความขัดแย้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนหนึ่งเป็นปัญหาของคนมุสลิมที่จะต้องลุกขึ้นมาแก้ปัญหาเองด้วย" ศ.รามาซามีกล่าวในที่สุด


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net