Skip to main content
sharethis

       


ตลอดเวลา 13 ปี หลังการลงนามเป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กสหประชาชาติ เมื่อปี 2535 ประเทศไทยใจกว้างให้เด็กเข้าร่วมการจัดทำรายงานอีกฉบับควบคู่กับฉบับที่หน่วยงานรัฐจัดทำ เพื่อให้เด็กได้สะท้อนปัญหาและเสนอความคิดเห็น อันจะเป็นแนวทางเพื่อให้เกิดการตระหนักและการปฏิบัติต่อเด็กทุกส่วน โดยเคารพในสิทธิและความเป็นมนุษย์ของเด็กทุกคน


 


คณะทำงานจัดทำรายงานสิทธิเด็ก ฉบับเด็ก และสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มอบรายงานสิทธิเด็ก ฉบับเด็ก ฉบับแรกของประเทศไทยแก่ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ


 


เพื่อให้กระทรวงต่างประเทศส่งมอบรายงานฉบับดังกล่าวแก่คณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติในเดือนมกราคม 2549


 


รายงานสิทธิเด็ก ฉบับเด็ก ถูกจัดทำขึ้นตามข้อเสนอของเด็กจากการชุมนุมเด็กเมื่อปี 2544 และในฐานะประเทศไทยได้ลงนามเป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ (Convention on the Rights of the Child: CRC) เมื่อปี 2535


 


โดยทุกประเทศที่ลงนามในอนุสัญญานี้ต้องจัดทำรายงานส่งสหประชาชาติทุก 5 ปี โดยขณะนี้ประเทศไทยได้จัดทำรายงานสิทธิเด็กตามอนุสัญญาไปแล้ว 2 ฉบับ โดยฉบับที่ 2 ได้รายงานไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2546 และเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยต้องไปตอบข้อซักถามจากคณะกรรมการสิทธิเด็กสหประชาชาติในเดือนมกราคม 2549 นี้


 


"การจัดทำรายงานฉบับนี้ ใช้เวลาจัดทำทั้งหมด 4 ปี โดยเกิดจากการรวมกลุ่มของเยาวชนจากทั่วประเทศ และหลากหลายกลุ่มงานชุมนุมเด็กเมื่อปี 2544 ได้แก่ เด็กในระบบโรงเรียน เด็กนอกระบบโรงเรียน เด็กพิการ เด็กเร่ร่อน เด็กชาวเขา และโสเภณีเด็ก


           


"รายงานสิทธิเด็ก ฉบับเด็กริเริ่มโดยเด็กที่ต้องการสะท้อนมุมมอง ความคิดเห็นและปัญหาของตัวเอง วิธีการจัดทำคือ ใช้แบบสอบถามสำหรับเด็กโต และใช้การวาดภาพสำหรับเด็กเล็ก" นายพงษ์ชยนต์ อักษรสวาสดิ์ ตัวแทนคณะจัดทำรายงานสิทธิเด็ก ฉบับเด็ก กล่าว


 


ด้าน นางสาวอิเนส ซาลิทิส ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีเด็กจำนวน 800,000 คนที่อยู่ในวัยเรียนชั้นประถมศึกษา ยังไม่มีโอกาสเข้าโรงเรียน และมีเด็กเพียงครึ่งหนึ่งของประชากรเด็กทั้งหมดในประเทศนี้ ที่ได้เข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษา


 


นอกจากนี้ ยังมีเด็กเกือบ 1 ล้านคนไม่ได้จดทะเบียนการเกิด ดังนั้น เด็กเหล่านี้อาจต้องตกอยู่สถานการณ์ที่ยากลำบากต่อไปในอนาคต อาทิ ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาล การศึกษาขั้นพื้นฐาน และการคุ้มครองทางกฎหมาย


 


ด้าน นายกิตติ สมานไทย ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็กฯ พม. กล่าวว่า ภายหลังที่ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีในซีอาร์ซี จึงทำให้เกิดพรบ.คุ้มครองเด็ก 2546 และขณะนี้ร่างพรบ.ค้ามนุษย์ได้ผ่านมติคณะรัฐมนตรีแล้ว ส่วนร่างพรบ.หนังสือและสื่อลามกกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำ


 


การจัดทำรายงานสิทธิเด็ก ฉบับเด็ก มีความประสงค์ให้เด็กได้สะท้อนปัญหาที่แท้จริง และสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดทำนโยบาย เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาและจัดทำนโยบายให้ตรงกับสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น           

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net