ม็อบราษี บุกศาลากลาง ทวงหลักประกันปิดเขื่อน

 

   

 

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน  2548 เวลา 10.00 น. เครือข่ายผู้เดือดร้อน 3 จังหวัด จากกรณีเขื่อนราษีไศล จำนวนกว่า 2,000 คน เข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เนื่องจากวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา กรมชลประทานกับจังหวัดศรีสะเกษร่วมกันลักไก่ปิดประตูน้ำเขื่อนราษีไศลทั้ง 7 บาน หมายถึงพื้นที่กว่า 100,000 ไร่ พร้อมป่าทามที่เริ่มฟื้นตัวมาเป็นเวลา 5 ปี และเป็นแหล่งอาหาร เป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์และทำการเกษตร จะต้องจมลงใต้อ่างเก็บน้ำเขื่อนราษีไศลอย่างไร้คุณค่า อีกครั้งหนึ่ง

 

จากนั้นเวลา 12.20 น.นายพีรศักดิ์  หินเมืองเก่า รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษได้ลงมาเยี่ยมพบปะพูดคุย ก่อนให้กลุ่มผู้เดือดร้อนส่งตัวแทนเข้าเจรจา โดยชี้แจงว่า ผู้ว่าฯไปราชการที่กรุงเทพมหานคร และตนรักษาการแทน มีอำนาจเต็มในการตัดสินใจเท่ากับผู้ว่าฯ    

 

เวลา 13.00 น. ตัวแทนจากเครือข่ายผู้เดือดร้อนกว่า 30 คน นำโดยนายพุฒ  บุญเต็ม,นายไพฑูรย์  โถทอง ,นายประดิษฐ์  โกศล ได้เข้าเจรจาร่วมกับจังหวัด โดยมีรองผู้ว่าฯเป็นประธาน ซึ่งมีประเด็นการเจรจา ดังนี้

 

1. เรื่องการปิดประตูระบายน้ำเมื่อวันที่ 19 เดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยละเมิดมติคณะรัฐมนตรี 2 พฤศจิกายน 2547 คือ ให้มีการปิดประตูระบายน้ำเป็นเวลา 8 เดือน และเปิดประตูระบายน้ำเป็นเวลา 4 เดือน เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง แต่กรมชลก็ลักไก่ปิดประตูระบายน้ำ โดยใช้คำว่า  "ทดลอง"  ก่อน รอมติ ครม. ภายในอีก 2 สัปดาห์

 

2. เรื่องการเร่งรัดการทำงานของคณะกรรมการชุดใหญ่ ที่มีพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นประธาน โดยละเมิดมติคณะรัฐมนตรี 1 กุมภาพันธ์ 2543 ว่าด้วยเรื่องการตรวจสอบสิทธิ์และพื้นที่การทำประโยชน์ ให้หมายความรวมถึง พื้นที่ที่มีการครอบครองและยึดถือเพื่อตนและทำประโยชน์ในที่ดินตามสภาพท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นการเพาะปลูกพืชล้มลุก ไม้ผลยืนต้น เก็บฟืน การเก็บหาของป่า การเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ที่เป็นทุ่งหญ้าธรรมชาติหรือพื้นที่พุ่มไม้ ซึ่งได้เคยมีการทำประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังกล่าวข้างต้นมาแล้ว เว้นแต่เป็นพื้นที่ป่าสมบูรณ์  รวมทั้งให้มีการตรวจสอบการทำประโยชน์เพิ่มเติมด้วย

 

3. เรื่องการติดตามรายงานการศึกษาผลกระทบโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าจะดำเนินการต่ออย่างไร ทางกรมชลประทานชี้แจงว่า รายงานยังไม่แล้วเสร็จ จะแล้วเสร็จในปีงบประมาณนี้ และเบื้องต้นรองผู้ว่าฯ รับปากว่าจะดำเนินการ ติดตามความคืบหน้าต่อไป

 

ขณะที่ผู้ชุมนุมกำลังรอฟังผลการเจรจาจากตัวแทนผู้เดือดร้อนนั้น บรรยากาศในลานบริเวณด้านหน้าศาลากลาง ก็มีการเปิดอภิปรายของแกนนำอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีพี่น้องจากผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีเขื่อนปากมูล  เขื่อนหัวนา มาร่วมให้กำลังใจกว่า 500 คน

 

หลังจากการเจรจานานกว่า 3 ชั่วโมง ก็ได้ข้อสรุปที่ทางฝ่ายผู้เดือดร้อนก็มีความหวังว่าปัญหาของตนจะได้รับการแก้ไข ส่วนทางรองผู้ว่าฯได้รับปาก ด้านนางศุภมาส  ปราบภัย  ตัวแทนกลุ่มผู้เดือดร้อนได้อ่านคำแถลงการณ์  โดยยืนยันว่า การแก้ไขปัญหาเขื่อนราษีไศลจะคลี่คลายไปได้ด้วยดี หากกรมชลประทานกลับตัวกลับใจไม่ตั้งตัวเป็นรัฐอิสระ ยอมดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2543 และมติคณะรัฐมนตรี 2 พฤศจิกายน  2547

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท