Skip to main content
sharethis


 



 


พิมที่รัก,       


 


ขณะที่พิมกำลังยุ่งอยู่กับงานในกรุงเทพฯ ผมกลับมานั่งนิ่งอยู่ริมแม่น้ำ เพื่อเป็นพยานการบรรจบกันของสายน้ำเมยและสาละวินอันสงบงาม  ณ ที่ที่เรียกกันว่า  "สบเมย"


 


จดหมายฉบับนี้อาจแปลกไปสักนิดนะพิม มันเป็นการ "สบ" กันของพื้นที่ส่วนตัวกับพื้นที่สาธารณะของคนเล่าเรื่องที่หาอะไรเล่นไปเรื่อย แต่พูดก็พูดเถอะ เรื่องที่จะเล่านี้ เป็นการต่อสู้เพื่อต่อลมหายใจของสายน้ำ-ผู้คนตามแนวชายแดนไทย-พม่า ยิ่งใหญ่และลึกซึ้ง จนไม่แน่ใจว่าวิธีนี้เป็นการฆ่าตัวตายหรือไม่ !


 


จริงๆ โครงการสร้าง "เขื่อนสาละวิน" มีมาตลอด 2 ทศวรรษแล้ว เมื่อ 2 ปีที่แล้วก็เป็นข่าวใหญ่โต เพราะมีการดันโครงการเขื่อนสาละวินชายแดนไทย-พม่า ในระดับนโยบาย  กลางปีที่ผ่านมา มีข่าวอีกแล้วว่า กฟผ.เตรียมเดินหน้าลงทุน 2 เขื่อนตรงแนวชายแดน และในพม่าอีก 3 แห่ง รวมแล้ว 400,000 แสนล้านบาท รัฐบาลสองประเทศเซ็นเอ็มโอยูกันแล้วเรียบร้อย และมียักษ์ใหญ่อย่างจีนสนใจร่วมทุนด้วย


 


ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ การเดินทางครั้งนี้จึงถูกจัดขึ้นโดยเครือข่ายต่างๆ ที่ทำงานเกี่ยวพันกับแม่น้ำ และกลุ่มชาติพันธุ์ริมสาละวิน  เพื่อให้ผู้คนในสังคมได้รับรู้การมีอยู่ ได้เรียนรู้คุณค่าอีกชนิดหนึ่งของคนริมฝั่งน้ำ โดยอาศัย "การวิจัย" เป็นเครื่องมือสำคัญ


 


จุดหมายปลายทางคือ บ้านสบเมย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นชุมชนของ "ปกากญอ" กะเหรี่ยงเชื้อสายหนึ่งที่อาศัยอยู่ริมฝั่งสาละวินทั้งในเขตไทยและพม่า พวกเขาเป็นพี่น้องเครือญาติกันมานมนาน ก่อนที่ต้องแยกขาดจากกันด้วยเขตพรมแดนของรัฐชาติ และปัญหาทางการเมือง


 


ชาวปกากญอมีชีวิตง่ายๆ กับการปลูกผักริมฝั่งน้ำในหน้าแล้ง ทำไร่หมุนเวียน และจับปลา แต่เพื่อรักษาวิถีเช่นนี้ของพวกเขาไว้ เลยต้องกลายเป็นนักวิจัยจำเป็นด้วยอีกทาง ถ้าจำไม่ผิด พวกเขาเริ่มศึกษาวิจัยเกี่ยวกับวิถีชีวิตตัวเองและทรัพยากรท้องถิ่นมาตลอด 2 ปี 7 เดือน คงหวังว่าองค์ความรู้แบบมาตรฐานจะทำให้สังคมเห็นอะไรบางอย่าง รูปแบบคล้ายๆ งาน "วิจัยไทบ้าน" นั่นแหละ


 


แม้เส้นทางเข้าพื้นที่จะยากลำบาก แต่ทริปนี้ไม่เล็กเลยพิม มีคนร่วมเกือบ 100 ชีวิต ทั้งสื่อมวลชน-ชาวบ้าน-ส.ว.-กรรมการสิทธิ ส่วนใหญ่เป็นผู้กระหายจะเยี่ยมเยือนสาละวินสักครั้งหนึ่งในชีวิตทั้งนั้น


 


เราเดินทางจากเชียงใหม่กันตั้งแต่เช้า ผ่านถนนไม่รู้กี่ร้อยโค้งซึ่งพังเป็นระยะๆ คงเพราะน้ำท่วมภาคเหนือหลายรอบเมื่อเร็วๆ นี้ละมัง จนมาถึงท่าเรือที่บ้านแม่สามแลบ จ. แม่ฮ่องสอน ตอนบ่ายแก่


 


เป็นที่แรกที่ผมได้เห็น "สาละวิน" เต็มตา และพูดได้เต็มปากว่ามันคือ รักแรกพบ


 


สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้นทำความรู้จักโลกได้ไม่นาน แม่น้ำสายนี้ดูสวยแปลกตา สายน้ำเชี่ยววนๆ เป็นวงเล็กวงน้อยเต็มผืนน้ำสีน้ำตาล ไม่ใช่ไหลเรื่อยเป็นริ้วคลื่นเหมือนเจ้าพระยา คนแถวนี้เล่าว่า แม่น้ำสาละวินไม่เคยวัดความลึกได้เลย เพราะกระแสน้ำเชี่ยวไม่เคยอนุญาตให้สายดิ่งได้หยั่งถึงก้นแม่น้ำสักครั้ง แถมยังมีเรื่องเล่าที่ไม่ให้ผู้มาเยือนสาละวินพูดถึงแม่น้ำโขงด้วย เพราะสองแม่น้ำนี้มีตำนานไม่ถูกกัน


 


การล่องเรือ 1 ชั่วโมง ดูเหมือนเป็นเศษเสี้ยวแห่งการทำความรู้จัก "สาละวิน" ชื่อนี้เป็นชื่อที่ชาวอังกฤษเรียกเพี้ยนมาจากเสียงเรียกของชาวพม่าว่า "ตาลวิน" แต่สำหรับกลุ่มชาติพันธุ์เก่าแก่ราว 13 กลุ่มริมสายน้ำนี้ ทั้งไทยใหญ่ ว้า คะเรนนี ปะหล่อง อาข่า ลีซู ปกากญอ ฯลฯ พวกเขาเรียกแม่น้ำสายนี้ว่า แม่น้ำคง


 


แม่น้ำคงสายเก่าแก่นี้ ไหลมาจากเทือกเขาหิมาลัยในธิเบต มีเส้นทางที่ผ่านป่าเขา โตรกผาชัน ราว 2,800 กิโลเมตร โดยไหลผ่านพื้นที่ราบเพียงเล็กน้อย ทำให้สายน้ำนี้เย็นเยียบและเขียวใส ยิ่งใหญ่เป็นอันดับสองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองมาจากแม่น้ำโขง มีช่วงที่คดโค้งผ่านประเทศไทยประมาณ 118 กิโลเมตรกลายเป็นพรมแดนธรรมชาติกั้นไทย-พม่า ซึ่งบางพื้นที่ในฝั่งพม่ายังมีกองกำลังต่างๆ สู้รบกันอยู่ พี่ๆ ที่เดินทางด้วยกันเล่าให้ฟังว่าหลัง 6 โมงเย็นแผ่นน้ำจะนิ่งสงบ ไม่มีการคมนาคมใดๆ เพื่อความปลอดภัยในชีวิต


 


แล้วเราก็มาถึง สบเมย (เสียที) มันเป็นหมู่บ้านเล็กๆ  มีตำแหน่งที่ตั้งน่าอัศจรรย์มากพิม เพราะเป็นแหลมยื่นไปในเวิ้งน้ำบริเวณที่แม่น้ำเมยไหลเรื่อยสู่แม่น้ำสาละวิน จากน้ำคนละสีขมวดเกลียวรวมเป็นสายเดียวกันก่อนไหลวกหายลับเข้าไปในเขตป่าเขาลึกลับของพม่า


 


ขณะที่เดินเลาะริมหาดทรายขาวของแหลมที่อยู่ระหว่างสองลำน้ำนี้ เท้าของผมสามารถสัมผัสอุณหภูมิที่แตกต่างกันลิบลับระหว่างแม่น้ำเมยกับแม่น้ำสาละวินได้อย่างดี  มันน่าตื่นเต้นมากนะ เมื่อพบว่าบนเส้นทางเดินเดียวนั้น จู่ๆ ก้าวอุ่นๆ ก็เปลี่ยนเป็นก้าวที่เย็นเฉียบแบบไม่รู้ตัว


 


เดินจนเท้าเปื่อย จึงกลับมาบนฝั่งฟังเวทีงานวิจัย มีล่ามช่วยแปลเรื่องราวจากปากของนักวิจัยปกากญอที่เล่าอย่างสบายๆ  บรรยากาศเป็นไปด้วยความอบอุ่นน่าชื่นใจ นักวิชาการชื่อดังหลายคน กลุ่มศิลปิน ตลอดจนชาวบ้านหลายกลุ่มร่วมเดินทางมาให้กำลังใจ ติชม แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับชาวบ้านตลอดทั้งวัน รวมทั้งผู้ว่าฯ แม่ฮ่องสอนคนใหม่ ที่อุตส่าห์เดินทางไกลมาพร้อมทหาร อส. อาวุธครบมือคอยอารักขาเป็นสิบคน ทั้งนี้ทั้งนั้น เพราะสามีครูแดง-ส.ว.เตือนใจ ดีเทศน์ ขอร้องให้มา


 


จะว่านินทาผู้ว่าฯ ก็ไม่ผิดนัก ท่านโชว์วิสัยทัศน์ในท่วงทำนองที่คล้ายนายกฯ ทักษิณอย่างเหลือเชื่อ ผสมกับเนื้อหาแบบซีอีโอด้วยแล้ว ทำให้เราสบายใจได้ว่า ผู้ว่าฯ ก็คือ ผู้ว่าฯ ไม่เคยและไม่เห็นทางเปลี่ยนแปลง


 


กลางคืนมีแต่แสงคบไฟ บนเวทีมีการแสดงของเด็กๆ กลุ่มแม่บ้าน และการแสดงดนตรีพื้นบ้าน ซึ่ง "เต๊ะนา" เครื่องดนตรีประเภทสายของปกากญอกลายเป็นนางเอกที่ทำให้ใครหลายคนหลงใหล บทเพลงของปกากญอส่วนใหญ่สะท้อนชีวิตเรียบง่ายของพวกเขา ปลุกสำนึกเคารพเผ่าพันธุ์และธรรมชาติ มีนักร้องจากฝั่งพม่ามาร่วมขับร้องหลายเพลง ฟังแล้วชวนเศร้าบอกไม่ถูก ชีวิตมนุษย์บางมุมโลก มันก็ย่ำแย่จน....


 


เราอยู่ที่นั่น 2 วัน 2 คืน ด้วยรอยยิ้ม เต็มอิ่มกับความสวยงามของธรรมชาติและผู้คน (ปนความหวาดหวั่นเล็กๆ เกี่ยวกับมาลาเรียที่เริ่มระบาด) มีการพูดถึงปัญหาที่รุกเข้ามาประชิดหมู่บ้านอยู่บ้าง แต่ก็เพียงแผ่วเบา ปล่อยให้ความเศร้า ความหวาดหวั่นทั้งหลาย ลอยกรุ่นอยู่ในอากาศ ในแววตาของผู้คน


 


หนังสือ "เขื่อนสาละวิน โศกนาฏกรรมสองแผ่นดิน" นั้นเอง ที่ช่วยเฉลยบางอย่างที่ห้อมล้อมหมู่บ้าน- เผ่าพันธุ์ริมสายน้ำ ซึ่งกั้นขวางความสุขของผู้คนตัวเล็กๆ ไว้


 


ตัวเลขโครงการในหนังสือทำผมนิ่งอึ้ง แม่น้ำสายอาภัพนี้มีแผนการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ที่ศึกษาไว้ 12 เขื่อน โครงการผันน้ำมากกว่า 7 โครงการ โดยนักสร้างเขื่อนจากญี่ปุ่น ไทย ออสเตรเลีย พม่า เป็นตัวหลัก มีธนาคารโลก (เจ้าเก่า) เป็นแหล่งทุนสำคัญ


 


ในจำนวนนี้มี 2 เขื่อนที่เกี่ยวพันกับ กฟผ.โดยตรง ใน "โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำสาละวินชายแดนไทย-พม่า" บริเวณอ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน คือ เขื่อนตอนบนตั้งอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า "เว่ยจี" กับเขื่อนตอนล่าง ตั้งอยู่บริเวณที่เรียกว่า "ดา-กวิน" หรือ ท่าตาฝั่ง (ชื่อหมู่บ้านกะเหรี่ยงฝั่งไทย) กำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวมกัน 5,332 เมกะวัตต์ มูลค่าการลงทุนราว 2.7 แสนล้านบาท (ใครบางคนว่าใหญ่กว่าเขื่อนภูมิพล 5 เท่า)


 


เหตุผลที่ได้รับการผลักดันหนักเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เพราะหวังจะได้ไฟราคาถูก และบริเวณที่จะสร้างเขื่อนก็ไม่มีคนอยู่!


 


ว่าก็ว่า การโฆษณาเรื่องค่าไฟราคาถูกนี้ ทำให้ กฟผ.ได้รับการคำถามกลับมามากมาย เพราะราคาถูกที่ว่าตั้งอยู่บนการคำนวณต้นทุนในแผ่นกระดาษ นอกจากจะไม่ครบถ้วนรอบด้านแล้ว ข้อกล่าวหายังไปไกลถึงขั้นไม่เป็นจริงทั้งด้านงบประมาณ และการคำนวณไฟฟ้าสำรองที่เว่อร์อย่างไม่สิ้นสุด เรื่องนี้อธิบายกันยาว ไว้วันหลังผมจะส่ง "โลกสีเขียว" ฉบับ กรกฎา-สิงหา 46 ไปให้อ่าน


 


สำหรับเหตุผลหลัง ถึงวันนี้ชัดเจนแล้วว่ามีคนที่พึ่งพิงและรักษาแม่น้ำอาศัยอยู่จำนวนมาก การสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำจะทำให้น้ำท่วมพื้นที่กว้างขวางทั้งในเขตไทยและพม่า ซึ่งกระทบต่อผู้คนที่อาศัยอยู่แน่นอน ติดที่ว่าพวกเขาไม่มีสิทธิ์เลือกตั้ง และเชื่อเถอะว่า นั่นจะยิ่งทำให้พวกเขาตัวเล็กกว่าที่เคยเล็ก


 


นอกจากมีเขื่อนบริเวณชายแดนแล้ว ในเขตพม่าก็จะมีการสร้างเขื่อนสำคัญอีกหลายแห่ง โดยเฉพาะ "เขื่อนทางซาง" ที่มีคนพูดถึงมาก นั่นทำให้เกิดข้อกังวลใหญ่หลวง  เพราะจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า ทั้งนโยบายบังคับโยกย้ายถิ่น การบังคับใช้แรงงาน การข่มขืนผู้หญิงกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ฯลฯ และลืมไปได้เลยเรื่องสิ่งแวดล้อม


 


แต่ก็เคยมีคนเล่าให้ฟังว่า นักข่าวอาวุโสผู้เคี่ยวกรำกับข่าวคราวของสาละวินมายาวนาน เคยวิเคราะห์ไว้ "เขาคงไม่ได้เห็นเขื่อนสาละวินในชั่วชีวิตนี้" เพราะมันตั้งอยู่บนแนวรอยเลื่อนเปลือกโลก ซึ่งไม่มีใครรับประกันได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น และหากจะสร้างจริงการลงทุนก็คงสูงลิบ ที่เป็นมาและเป็นไปก็คือ เราจะได้ทำมาหากินกับงานวิจัยเขื่อนต่อไป !


 


พิม จดหมายฉบับนี้ยาวมาก จนผมไม่แน่ใจว่ามันรบกวนเวลาอันมีค่าของพิมเกินไปหรือไม่ ผมเพียงแต่อยากบอกเล่าสิ่งที่ตัวเองพบเห็นและรู้สึก เราเจ็บปวดมามากแล้วกับการที่คอนกรีตถมทับต้นไม้-ผู้คนโดยไม่เคยไถ่ถาม ต้นแล้วต้นเล่า คนแล้วคนเล่า ทุกคนน่าจะมีสิทธิมีชีวิตตามเส้นทางของตัวเอง บนตึกสูง ในป่าเขา ริมฝั่งน้ำ


 


เหมือนเราสองคน สายน้ำสองสายที่ไหลไปคนละทิศละทาง.... น่าเสียดายที่มันไม่วนมาบรรจบกันเหมือน สบเมย


 


รัก


เด่นชัย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net