Skip to main content
sharethis



 


ประชาไท—14 พ.ย.48      อภิสิทธิ์ เปิดเวทีต้าน กฟผ.เข้าตลาดหุ้น เรียกร้องให้รัฐบาลตั้งองค์กรอิสระกำกับกิจการไฟฟ้า พร้อมประกาศถ้าได้เป็นรัฐบาล จะเอาสมบัติชาติที่ขายไปกลับมาให้หมด ขณะที่รองปลัดกระทรวงพลังงานยืนยันเตรียมตั้งคณะกรรมการอิสระแล้ว ด้านนักวิชาการแนะควรแบ่งแยกกิจการที่เข้าตลาดหุ้นกับส่วนที่เป็นของรัฐ


 


คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้านได้จัดเวทีสาธารณะเรื่อง "แปรรูปกิจการไฟฟ้า: ประชาชนได้อะไร" ที่รัฐสภา โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายนิกร จำนง รองหัวหน้าพรรคชาติไทย นายณอคุณ สิทธิพงศ์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะตัวแทนนายวิเศษ จูภิบาล รมว.พลังงาน นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกรรมการบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย จำกัด นายศิริชัย ไม้งาม เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ นายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ เลขาธิการมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ และนายสุวิทย์ วัดหนู คณะกรรมการพัฒนาที่อยู่อาศัย


      


นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ฝ่ายค้านไม่ได้ค้านการแปรรูปแบบหัวชนฝา เพราะจำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างกิจการสาธารณะ แต่สิ่งที่ขอตั้งข้อสังเกตคือ รัฐบาลต้องมีการดำเนินการให้เกิดความพร้อม และให้ความมั่นใจว่าจะไม่แปรรูปอำนาจการผูกขาดของภาครัฐไปอยู่ในมือของเอกชน ซึ่งสิ่งที่เรียกร้องมาโดยตลอดคือให้มีการออกกฎหมายตั้งองค์กรอิสระให้เข้ามากำกับกิจการที่เป็นสาธารณะ แต่ปรากฏว่า 4 ปีที่ผ่านมาไม่มีความคืบหน้าในการผลักดันกฎหมายนี้ แต่นโยบายของการพัฒนากิจการไฟฟ้าเป็นเพียงนโยบายที่ไปรับใช้เป้าหมายของการขยายตัวตลาดทุนเท่านั้น


      


หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตอนนี้ยังมีความไม่ชัดเจนของโครงสร้างกิจการไฟฟ้าภายหลังจากที่มีการแปรรูปและกระจายหุ้น ซึ่งไม่เพียงเกิดปัญหาให้แง่ของผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าเท่านั้น แต่จะกระทบถึงความสัมพันธ์กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้านครหลวงด้วย โดยสิ่งที่เป็นส่วนหนึ่งที่มีการไปร้องต่อศาลปกครองคือ การดำเนินการที่ปราศจากการจัดโครงสร้างและกติกาใหม่ เพราะ กฟผ.มีทรัพย์สินหลายส่วน ซึ่งได้มาจากการเวนคืนและเป็นทรัพย์สินของชาติ แต่กำลังถูกถ่ายโอนไปยังรูปแบบขององค์กรที่เป็นเอกชน


      


นอกจากนี้นายอภิสิทธิ์ยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในภาวะที่คาดการณ์ได้ว่าประชาชนมีความต้องการหุ้นมากเกินกว่าที่จำนวนหุ้นที่ กฟผ.จะมีให้มีความจำเป็นอะไรที่ต้องให้ชาวต่างชาติเข้ามาถือหุ้น และอยากถามว่าการลงทุนผ่านธนาคารต่างชาตินั้น หมายความว่าชาวต่างชาติจะเป็นผู้ถือหุ้นหรือเป็นเพียงคนไทยที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ได้เปรียบคนอื่นสามารถใช้ช่องทางเหล่านี้เข้ามาถือครองหุ้นส่วนนี้ใช่หรือไม่ และนอกเหนือจากกิจการไฟฟ้า กิจการพลังงานแล้ว การลงทุนของ กฟผ.ที่มีเครือข่ายใยแก้วนำแสง ซึ่งอาจนำไปใช้ในการประกอบกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการโทรคมนาคมมีวาระซ่อนเร้นหรือไม่ ในการเร่งรัดแปรรูป กฟผ.


 


อย่างไรก็ตาม นายอภิสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ศาลปกครองจะมีคำพิพากษาอย่างไรนั้น ฝ่ายบริหารก็ต้องปฏิบัติตาม แต่ถ้าศาลปกครองมีคำพิพากษาไม่รับพิจารณา สิ่งที่ฝ่ายนิติบัญญัติต้องทำ คือ ตรวจสอบเชิงนโยบายต่อไป จนกว่าจะมีความโปร่งใสชัดเจนในการนำ กฟผ.เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์


 


นอกจากนี้ฝ่ายค้านยังไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลนำความเชื่อมั่นของนักลงทุนมาประกันเรื่องนี้ ดังนั้น เมื่อได้ประกาศแล้วว่าไม่ต้องการให้อำนาจการผูกขาดอยู่ในมือของเอกชน ตนก็ต้องเอาคืนภายใต้หลักของนิติรัฐ และขอยืนยันว่าจะต้องเอาสมบัติของชาติกลับคืนมาอยู่ในการดูแลของรัฐตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ


      


"ผมไม่ตั้งใจที่จะเป็นฝ่ายค้านไปตลอด แต่เชื่อว่า ในวันข้างหน้าจะได้มาเป็นผู้กำหนดนโยบาย ผมพูดเรื่องนี้และจงใจพูดเรื่องนี้ในวันที่ไป ก.ล.ต. (สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์)เพราะผมต้องการให้ความเป็นธรรมกับนักลงทุน ซึ่งเขาควรจะรู้ว่ามีฝ่ายนโยบายและมีพรรคการเมืองที่คิดอย่างนี้อยู่ และถ้าจะลงทุนตรงนี้ก็ต้องเผื่อใจไว้เลยว่า วันข้างหน้าจะมีการใช้กฎหมายในการทำความถูกต้อง หรือทำความสมดุลให้เกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจเสรีที่เป็นธรรม ดังนั้น อะไรที่มีการโอนอำนาจการผูกขาดโดยธรรมชาติไปอยู่ในมือของเอกชนที่เป็นการขัดกับรัฐธรรมนูญ ผมยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์จะนำกลับมาคืนให้ประชาชนทั้งหมด"นายอภิสิทธิ์ กล่าว


 


ด้านนายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ เลขาธิการมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่การแปรรูปหรือไม่แปรรูป แต่อยู่ที่โครงสร้างการบริหารกิจการการผลิตไฟฟ้าที่รัฐบาลเลือก ซึ่งระบบดังกล่าว กฟผ.ก็ยังเป็นผู้ผูกขาดการซื้อขายไฟฟ้าเพียงรายเดียวเหมือนก่อนการแปรรูป ทำให้ยังไม่มีการแข่งขัน ซึ่งจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้คนบางกลุ่ม ไม่ว่าจะซื้อจากผู้ผลิตรายย่อย หรือซื้อจากผู้ผลิตในต่างประเทศ หรือซื้อจาก กฟผ.เอง


 


ดังนั้น เท่ากับเป็นการบังคับว่า ร้อยละ 50 ของโรงไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหลังปี 2554 จะถูกดำเนินการโดย กฟผ. ส่วนอีกร้อยละ 50 ที่ต้องเปิดประมูลในการซื้อไฟฟ้านั้นก็ยังเปิดโอกาสให้บริษัทลูกของ กฟผ.เข้าประมูลได้อีก ถือเป็นการเอื้อให้เกิดการผลิตไฟฟ้าเกินความจำเป็น เพราะ กฟผ.ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ย่อมต้องการกำไรที่ตอบสนองผู้ถือหุ้นเป็นหลัก โดยไม่มีหลักประกันว่าจะรักษาสิทธิที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมแต่อย่างใด


      


"เป็นที่น่าสังเกตว่า ระบบดำเนินการดังกล่าว เหตุใดการแปรรูป กฟผ.ถึงไม่มีการแยกระบบสายส่งออกจากการผลิต เพราะสายส่งเป็นทรัพย์สินที่ถูกผูกขาดโดยธรรมชาติ เพราะคงไม่มีใครที่จะมาเป็นคู่แข่งในเรื่องของสายส่งแน่นอน และจะทำไม่เอื้อให้เกิดการแข่งขันแม้จะอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เพราะผู้ที่มีอำนาจในการกำกับย่อมสามารถผูกขาดกิจการเพื่อสร้างกำไรและมูลค่าหุ้นได้ ซึ่งจะทำให้การตรวจสอบทำได้ยาก โดยประเด็นเรื่องการผูกขาดก็ยังมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าศาลปกครองจะตัดสินอย่างไร" นายวิฑูรย์ กล่าว


      


นายวิฑูรย์ กล่าวต่อว่า ขอยืนยันว่ารัฐบาลสามารถเลือกได้ว่าส่วนใดของกิจการการผลิตไฟฟ้าที่ควรอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้เกิดการแข่งขันมีประสิทธิภาพในการให้บริการต่อประชาชน หรือส่วนใดควรยังอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐ เพื่อความเป็นธรรมต่อประชาชนผู้บริโภคและบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งรัฐบาลควรเลือกแนวทางที่ทุกฝ่ายรับได้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาผลประโยชน์ที่มีการคัดค้านเช่นในปัจจุบัน


      


ขณะที่ นายณอคุณ สิทธิพงศ์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน  กล่าวถึงเจตนารมณ์ของรัฐบาลในการแปรรูป กฟผ.ว่า การนำ กฟผ.เข้าตลาดหลักทรัพย์นั้น เป็นไปตามนโยบายที่รัฐบาลได้ชี้แจงต่อสภา ซึ่งสาเหตุหลักของการแปรสภาพ กฟผ. คือ ต้องการระดมทุนเพื่อแบ่งเบาภาระหนี้สินของประเทศ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการนำเงินไปใช้ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า


 


ดังนั้น เชื่อว่า ถ้า กฟผ.เข้าตลาดหลักทรัพย์แล้วจะสามารถนำเงินที่ได้นำไปใช้ในกิจการอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศได้  นอกจากนี้ภายหลังการกระจายหุ้นแล้ว รัฐก็ยังเป็นหุ้นส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 75 ผ่านกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นการยืนยันว่า ในการแปรรูปรัฐก็ยังเป็นเจ้าของอยู่ เพราะกิจการไฟฟ้ายังคงเป็นกิจการสำคัญที่รัฐบาลต้องเข้ามาดูแล รวมทั้งประชาชนและพนักงาน กฟผ.สามารถเข้ามาเป็นเจ้าของผ่านการถือหุ้นในการแปรรูป และมีสิทธิตรวจสอบได้ด้วย


      


นายณอคุณ กล่าวอีกว่า ทางกระทรวงพลังงานจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการการไฟฟ้า (regulator) ซึ่งตอนนี้รูปแบบการบริหารงานดังกล่าวได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการยกร่างการกับกิจการ กฟผ.เป็น พ.ร.บ.เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยขั้นตอนต่อไปอยู่ในระหว่างการรับฟังความเห็นจากประชาชน ซึ่งจะมีขึ้นในช่วงเดือน ธ.ค.2548 นี้ และจะมีการเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป


      


"คณะกรรมการที่จะมากำกับกิจการ กฟผ.นั้น นายวิเศษ ประกาศจะดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนที่จะมีการแปรรูป โดยคณะกรรมการดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลกิจการ แนวพาดสายส่ง สายส่งการผลิตจากเขื่อน ส่วนประเด็นทรัพย์สินที่มีการพูดคุยกันมากนั้น กรณีเขื่อนที่เดิมเป็นของ กฟผ. ปัจจุบันได้โอนเป็นของกรมธนารักษ์ทั้งหมดแล้ว และให้ กฟผ.มีสถานะเป็นเพียงผู้เช่า โดยสัญญาเบื้องต้นมีระยะเวลา 30 ปี ส่วนสายส่งที่ กฟผ.ไปรอนสิทธิ หรือเข้าไปใช้สายส่ง กฟผ.ก็มีการจ่ายค่ารอนสิทธิให้กับทางภาครัฐอยู่แล้ว"นายณอคุณกล่าว


 


รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ส่วนน้ำจากเขื่อนที่ใช้เฉพาะการชลประทาน จะเป็นอำนาจของกรมชลประทานร่วมกับคณะกรรมการกำกับกิจการ กฟผ.ในการดูแลปริมาณน้ำที่ออกจากเขื่อนเพื่อการชลประทาน แต่ยังสามารถนำมาผลิตไฟฟ้าได้ โดยไม่ได้นำมาเป็นหลักเกณฑ์ในการกำหนดการปล่อยน้ำจากเขื่อน


 


ด้านนายศิริชัย ไม้งาม เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ มั่นใจว่าการที่รัฐบาลเร่งรีบขายหุ้น กฟผ. เป็นเพราะหมดเงินอัดฉีดในระบบแล้ว ทั้งยังมองว่าการปรับปรุงโครงสร้างเป็นคนละเรื่องกับการขายในตลาดหลักทรัพย์ นอกจากนี้รัฐบาลยังใช้ความรุนแรงเช่นเดิม แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะมีหลักประกันในเรื่องของสิทธิเสรีภาพอยู่ก็ตาม


      


      


      

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net