Skip to main content
sharethis


ประชาไท - 17 พ.ย. 48 ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก นายธนา เบญจาธิกุล ทนายความ ได้รับมอบอำนาจจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บริษัท ไทยเดย์ ด็อทคอม จำกัด, นายศุภชัย วงศ์วรเศรษฐ, นายจิตตนาถ ลิ้มทองกุล, นายพชร สมุทวณิช, นายขุนทอง ลอเสรีวานิช ซึ่งเป็นกรรมการบริหาร บ.ไทยเดย์ฯ, นายสนธิ ลิ้มทองกุล พิธีกรดำเนินรายการเมืองไทยรายสัปดาห์, น.ส.สโรชา พรอุดมศักดิ์ พิธีกรดำเนินรายการเมืองไทยรายสัปดาห์, บริษัท แมเนเจอร์มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), น.ส.เสาวลักษณ์ ธีรานุจรรยงค์ ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท, นายปัญจภัทร อังคสุวรรณ ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-10 ในความผิดเรื่องละเมิดสืบเนื่องจากกรณีหมิ่นประมาท ระหว่างเดือนกันยายน-พฤศจิกายน 2548 ได้กล่าวหาว่านายกรัฐมนตรีได้วิ่งเต้นเพื่อให้บริษัทครอบครัวได้รับสัมปทานดาวเทียมไทยคม โดยเรียกค่าเสียหายทุนทรัพย์จำนวน 1,000 ล้านบาท ซึ่งศาลแพ่งได้รับคำฟ้องไว้พิจารณา พร้อมนัดชี้สองสถานเพื่อกำหนดประเด็นนำสืบในคดีวันที่ 8 ก.พ.49

 


นอกจากนี้ นายธนายังได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวสั่งห้ามจำเลยที่ 1-10 ยุติการเผยแพร่หรือไขข่าวที่จะสร้างความเสียหายแก่โจทก์ โดยศาลพิเคราะห์คำร้องประกอบการไต่สวนพยานผู้ฟ้องแล้วเห็นว่า คำฟ้องของโจทก์มีมูลและเหตุผลเพียงพอที่จะนำวิธีคุ้มครองชั่วคราวมาใช้ในกรณีเหตุฉุกเฉินนี้


 


ศาลจึงมีคำสั่งห้ามจำเลยที่ 1-10 หยุดการกล่าว หรือไขข่าวแพร่หลายในทางที่เสียหายแก่โจทก์ และมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1-7 หยุดจำหน่ายหรือเผยแพร่วีซีดีที่บันทึกรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรครั้งที่ 1, 3, 4, 5 และ 7 และห้ามจำเลยที่ 8-10 เผยแพร่ หรือปล่อยให้มีการเผยแพร่ภาพ เสียง ข้อความตามฟ้อง ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตในเว็บไซต์ www.manager.co.th ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น


 


ในวันเดียวกัน ทางเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ อ้างแหล่งข่าวจาก บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) แจ้งว่า ได้มีผู้มีอำนาจสั่งการไปยัง บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ในฐานะรัฐวิสาหกิจที่รับผิดชอบดูแลการให้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย รวมทั้งบริษัท อินเทอร์เน็ต เซอร์วิส โปรไวเดอร์ โซลูชั่น จำกัด (ISSP) ในฐานะผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตที่ให้เช่าสัญญาณโครงข่ายแก่เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ ให้ทำการตัดวงจรการเชื่อมโยงเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์เข้าสู่เครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะทำให้ผู้ชมเว็บไซต์ไม่สามารถเข้าสู่เว็บไซต์ "ผู้จัดการออนไลน์" ได้อีกต่อไป โดยผู้มีอำนาจได้สั่งการให้ผู้บริหาร กสท ปิดเว็บไซต์ www.manager.co.th ให้ได้ภายในวันศุกร์นี้


 


ขณะที่นายบัณฑิต ว่องวัฒนะสิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทอร์เน็ต โซลูชั่น แอนด์ เซอร์วิส โพรวายเดอร์ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต หรือ ไอเอสพี ซึ่งให้เช่าพื้นที่ฝากเซิร์ฟเวอร์ของเว็บไซต์ www.manager.co.th เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับเอกสาร หรือคำสั่งใดๆ จากทุกหน่วยงานราชการ ให้ปิดเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ซึ่งหากมีคำสั่งอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ก็จะต้องแจ้งให้ลูกค้ารับทราบ


 


เนื่องจากโดยปกติเว็บไซต์ที่ขัดต่อข้อกฎหมาย เช่น หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ /เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ หมิ่นศาสนา ค้ายาเสพติด หน่วยงานราชการจะทำหนังสือขอความร่วมมือกับไอเอสพี ให้ปิดเว็บไซต์ได้ทันที แต่ขณะนี้ยังไม่แน่ใจว่าจะปิดเว็บไซต์ผู้จัดการได้หรือไม่ เพราะยังไม่รู้ว่าเข้าข่ายความผิดเรื่องใด เพียงแต่รู้ว่าผู้มีอำนาจสั่งคือศาลแพ่ง


 


ด้าน พล.อ.ชูชาติ พรหมพระสิทธิ์ ประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม  (กทช.) ยืนยันว่า ไม่เกี่ยวข้องกับคำสั่งปิดเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ แต่อย่างใด เพราะว่า กทช.ไม่มีอำนาจ ไม่มีสิทธิ์ที่จะดำเนินการเกี่ยวกับเว็บไซด์ ซึ่งที่ประชุมของ กทช.ก็ไม่เคยมีการพูดถึงเว็บไซด์ของผู้จัดการแม้แต่ครั้งเดียว


 


ขณะที่ น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การจะปิดเว็บไซต์ทั้งเว็บไซต์ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะในกระบวนการไม่สามารถส่งเพียงอีเมล์หรือสั่งให้ปิดในทันทีได้ แต่ต้องเริ่มจากการที่ฝ่ายกำกับดูแลพบข้อความหรือเนื้อหาที่ขัดต่อศีลธรรมหรือผลลบตามสัญญาที่เว็บมาสเตอร์ทำไว้กับบริษัท กสท โทรคมนาคมจึงได้ตักเตือนผ่านไปที่ กสท และ กสท ก็จะแจ้งให้เว็บมาสเตอร์ทราบ ก่อนที่จะดำเนินการอะไร


พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลไม่มีนโยบายตัดสินใจในเรื่องนี้ และไม่มีการส่งหนังสือในนามรัฐบาล รวมทั้งหากมีใครทำหนังสือเสนอไปยัง กสท ก็ไม่สามารถบังคับให้ กสท ดำเนินการปิดเว็บไซต์ได้ นอกจาก กสท จะเป็นผู้ตัดสินใจเอง ว่าเว็บไซต์ดังกล่าวมีความผิดตามสัญญาที่ทำไว้กับ กสท หรือไม่ อย่างเช่นในเรื่องขัดศีลธรรมอันดีของชาติ


 


ขณะที่อีกด้าน ประธานสภาสถาบันนักวิชาการสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (ส.ส.ม.ท.) ได้ออกแถลงการณ์ ลงนามโดย รศ.ดร.สุรัตน์ เมธีกุล ประธานสภาสถาบันฯ เรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐบาลยุติการแทรกแซงการทำงานของสื่อสารมวลชน หลังเกิดกรณีกรมประชาสัมพันธ์มีหนังสือขอความร่วมมือผู้ประกอบการเคเบิ้ลทีวีท้องถิ่นให้งดการออกอากาศรายการ 'เมืองไทยรายสัปดาห์" และนายทหารเพื่อนร่วมรุ่นนายกรัฐมนตรี แสดงท่าทีคุกคามนายสนธิ ลิ้มทองกุล โดยเนื้อหาในแถลงการณ์มีดังนี้


      


"จากเหตุการณ์ในระยะนี้ มีการใช้อำนาจรัฐในการแทรกแซงเสรีภาพการทำงานของสื่อสารมวลชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสภาสถาบันนักวิชาการสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย มีความวิตกกังวลต่อบทบาทของหน่วยงานรัฐดังกล่าวที่ดำเนินการต่อสื่อมวลชนในหลายลักษณะ กล่าวคือ


      


"1. กรณีผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานของรัฐในจังหวัดขอนแก่น เรียกประชุมผู้ประกอบการเคเบิ้ลทีวีในจังหวัด พิจารณาเรื่องการงดถ่ายทอด "รายการเมืองไทยรายสัปดาห์" ที่มีนายสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นผู้ดำเนินรายการ


      


"2. กรณีกรมประชาสัมพันธ์ทำหนังสือถึงผู้ประกอบการเคเบิ้ลทีวีที่อยู่ในความดูแลของกรมประชาสัมพันธ์ ขอความร่วมมืองดออกอากาศรายการ "เมืองไทยฯ สัญจร" ซึ่งจัดโดยนายสนธิ ลิ้มทองกุล


      


"3. กรณีผู้นำทหารหน่วยงานหนึ่ง ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับนายกรัฐมนตรีได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าตนเองและทหารบางส่วนไม่พอใจกรณีที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล ออกมากล่าวเกี่ยวกับพระราชอำนาจ และคำสัมภาษณ์ของนายทหารดังกล่าวมีลักษณะคุกคามต่อเสรีภาพของสื่อสารมวลชน


      


"จากเหตุการณ์ดังกล่าวสภาสถาบันนักวิชาการสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย เห็นว่า การกระทำข้างต้นสร้างผลทางลบต่อความเข้าใจและรู้สึกของผู้ประกอบวิชาชีพและประชาชนมากขึ้น ที่เห็นถึงการพยายามแทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อสารมวลชน ซึ่งรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยควรประณามและห้ามปรามหน่วยงานของรัฐที่มีส่วนในกรณีดังกล่าว เพื่อประโยชน์ในการสร้างสรรค์เสรีภาพสื่อสารมวลชนที่เป็นหลักประกันที่สำคัญเกี่ยวกับสิทธิในการรับรู้ข่าวสารของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย."

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net