Skip to main content
sharethis


 


เมื่อพูดถึงโลกทั้งใบคงยากเกินไปที่มนุษย์จะจินตนาการ แต่คงไม่ใหญ่เกินกว่าที่เจ้าเชื้อโรคตัวเล็กๆ จะครอบครองด้วยการทำให้ผู้คนทั้งโลกแตกตื่นหวาดผวา อย่างเชื้อไวรัสเอชไอวีที่กำเริบเสิบสานมานานนักหนาและยังคงแตกหน่อก่อตัวต่อเนื่อง โดยอาศัยเล่ห์กลที่ทำให้มนุษย์ตกเป็นทาสทางสังคมอย่างแยบยล


 


ช่วงเวลาที่ผ่านมา 20 ปี สถานการณ์ผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ยังคงไม่หมดไปจากสังคมไทย จนถึงขณะนี้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วนับแสนรายและมีตัวเลขที่ยังไม่ถูกเปิดเผยอีกนับไม่ถ้วน หลังจากพบผู้ป่วยรายแรกในชายรักร่วมเพศตั้งแต่ปี 2527 จวบจนปัจจุบันปัญหาโรคเอดส์ได้ขยายวงออกไปอย่างกว้างขวาง แม้ปัจจุบันจะสามารถคิดค้นยาต้านเชื้อไวรัสได้แล้ว แต่สิ่งสำคัญยิ่งกว่าซึ่งยังไม่สามารถทุเลาเบาบางลงได้ก็คือทัศนคติเดิมๆ ที่ไม่เคยจางหายไปจากสังคมไทย แม้แต่ในสังคมเล็กๆ อย่างในวัด


 


(1)


 


"ผมเจอกับตัวเองมาแล้ว ผมจะไปบวชพระ แต่เจ้าอาวาสบอกว่า ถ้าใครเป็นเอดส์ไม่อนุญาตให้บวชวัดนี้ ผมอยากจะบอกไว้ตรงนี้ว่า แม้แต่พระก็รังเกียจพวกเรา ทั้งๆ ที่พระต้องเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์" ตัวแทนจากเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์แห่งประเทศไทย เอ่ยขึ้นด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจที่ตนเองถูกกีดกันไม่ให้อุปสมบท


 


เสียงสะท้อนข้างต้น อาจตีความได้ว่า แม้แต่พระสงฆ์องค์เจ้ายังเลือกปฏิบัติเช่นนี้ แล้วสังคมไทยจะเป็นอย่างไร หรืออาจเป็นเพราะว่า ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยโรคเอดส์นั้นมีบัญญัติห้ามอุปสมบทไว้ในพระวินัยทางพุทธศาสนา


 


จากกัณฑ์ที่ 27หนังสือวิชาวินัยมุข เล่ม 3 น.ธ.เอก ที่รวบรวมเรียบเรียงโดย พระครุสมุห์โพธิ์ จนฺทสีโล อธิบายไว้ว่า บุคคลที่สงฆ์จะพึงรับให้อุปสมบทเพื่อให้เข้าอยู่ในหมู่ภิกษุนั้นต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้ คือ ต้องเป็นผู้ชายที่มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์และไม่ใช่อภัพพบุคคลที่ถูกห้ามเด็ดขาด


 


เมื่อพิจารณา "อภัพพบุคคล" ที่ถูกห้ามโดยเด็ดขาดนั้น หมายถึงบุคคลที่ไม่ควรแก่การอุปสมบท ซึ่งจะทำให้อุปสมบทไม่ขึ้นไปตลอดชีวิตมีอยู่3 ประการ ได้แก่ คนที่มีเพศบกพร่อง คนประพฤติผิดธรรมวินัย และคนทำผิดต่อกำเนิดของตน เช่น ฆ่าบิดา มารดา เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ปรากฏพระวินัยใดที่บัญญัติห้ามเด็ดขาดสำหรับผู้ที่มีโรคต่างๆ บวชเป็นพระสงฆ์


 


อภัพพบุคคลที่ไม่ถูกห้ามเด็ดขาดนั้น หมายถึงอาการไม่สมควรแต่ก็ไม่ต้องให้สึก แต่ให้มีการปรับอาบัติ โดยเบื้องแรกมี 8 จำพวกที่ถูกห้ามไม่ให้บรรพชาและอุปสมบท ได้แก่ 1.คนที่มีโรคที่จะติดต่อกันได้ เป็นโรคไม่รู้จักหาย โรคเรื้อรัง 2.คนที่มีอวัยวะบกพร่อง 3.คนมีอวัยวะไม่สมประกอบ 4.คนพิการ 5.คนทุรพล 6.คนมีเกี่ยวข้องคือ คนอันบิดามารดายังไม่อนุญาต เป็นต้น 7.คนเคยถูกอาชญาหลวง 8.คนประทุษร้ายความสงบ ซึ่งคนเหล่านี้ห้ามบรรพชาแล้วก็เป็นอันถูกห้ามอุปสมบทด้วย


 


ดังนั้นลักษณะที่ไม่ถูกห้ามโดยเด็ดขาดนั้น จึงถือเป็นเรื่องของความเห็นท่านเจ้าอาวาสด้วย ซึ่งสามารถชี้ชะตาชายผู้ประสงค์ที่จะบวชพระในแต่ละวัด


 


แล้วสำหรับคนที่มีโรคที่ติดต่อกันได้ เป็นโรคไม่รู้จักหาย หรือโรคเรื้อรังนั้น เหล่าพระสงฆ์ได้มองว่าโรคเอดส์เป็นหนึ่งในนั้นด้วยหรือไม่


 


(2)


 


กระทรวงสาธารณสุขได้นิยามโรคเอดส์ (AIDS หรือ Acquired Immune Deficiency Syndromes) ไว้ว่า คือโรคที่ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายบกพร่องจนไม่สามารถต่อสู้เชื้อโรค หรือสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ที่เข้าสู่ร่างกาย ทำให้เกิดโรคต่างๆ ที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ง่ายกว่าคนปกติ  ทั้งนี้ เชื้อเอดส์มีมากที่สุดในเลือด รองลงมาคือน้ำอสุจิและน้ำในช่องคลอด ซึ่งผู้ที่มีความเสี่ยงนั้นก็ต่อเมื่อมีพฤติกรรมตามปัจจัยดังกล่าว


 


ดังนั้น หากพิจารณาตามข้อความดังกล่าว ไม่ปรากฎคำใดที่ระบุว่าผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยโรคเอดส์เป็นผู้ที่มีโรคอันติดต่อกันได้ ไม่รู้จักหาย หรือแม้แต่โรคเรื้อรัง ยิ่งไปกว่านั้น พระสงฆ์ผู้ประพฤติธรรมก็ไม่น่าที่จะมีปัจจัยเสี่ยงใดๆ ที่นำพาตนเองเข้าไปเกี่ยวข้องกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ จนถึงกับต้องห้ามบวชเป็นภิกษุ หรือว่าสุดท้ายก็คือคำชี้ขาดของเจ้าอาวาสหรือพระอุปัชฌาย์ของแต่ละวัดนั่นเอง


 


พระไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ บอกว่า การอนุญาตให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีอุปสมบทหรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่แล้วแต่วัด เพราะไม่มีนโยบายหรือคำสั่งใดออกมา ซึ่งเราจะพบว่าบางวัดถึงกับต้องตรวจเลือดก่อนบวชกันเลยทีเดียว


 


เหตุผลตามหลักวินัยทางพุทธศาสนาที่กำหนดไว้ว่าคนที่มีโรคบางโรคห้ามบวชนั้น พระไพศาล อธิบายว่า เนื่องจากเกรงว่าคนที่ป่วยเป็นโรคต่างๆ นั้น พอไม่มีที่ไปแล้วจะแห่กันมาบวชหมดจนทำให้วัดไม่เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมอีกต่อไป จะมีแต่พวกที่มาขออาศัยอยู่ แต่คนที่ป่วยภายหลังการบวชนั้นถือว่าไม่เป็นไร ทุกวันนี้จะเห็นได้ว่ามีพระบางรูปเคร่งมาก เพราะมองว่าโรคเอดส์เป็นโรคระบาด แต่บางวัดก็อนุญาตให้ผู้ที่ติดเชื้อบวชได้


 


"จริงๆ แล้วคนที่ป่วยเป็นโรคเอดส์ก็ไม่ได้ถือว่าเป็นภาระ คงกลัวกันว่าพระจะติดต่อกันเฉยๆ เช่น การโกนหัวที่ใช้มีดโกนอันเดียวกัน แต่หลายวัดยังให้บวชอยู่เพราะไม่มีมาตรฐานใดกำหนดตายตัว ซึ่งที่ห้ามมีไม่กี่วัดหรอก" พระไพศาล กล่าว


 


แม้ว่าความจริงแล้วโรคเอดส์ยังไม่ถือเป็นโรคร้ายแรง เพราะในสมัยก่อนยังไม่มีบัญญัติไว้ แต่สำหรับโรคที่เป็นที่รังเกียจก็จะห้ามบวชเด็ดขาด เหตุผลหนึ่งก็คือภิกษุถือเป็น1 ใน 4 พุทธบริษัทในการสืบทอดพุทธศาสนา แม้ว่าโรคเอดส์ไมใช่โรคที่ติดต่อง่ายแต่ก็ทำให้ร่างกายไม่แข็งแรงซึ่งอาจจะเป็นอุปสรรคต่อการศึกษาพระธรรม


 


นายชัยนาท จิตตวัฒนะ อดีตเจ้าหน้าที่สำนักนโยบายและแผนสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข และอาจารย์ประจำภาควิชาบริหารงานสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหิดล เห็นว่า "แม้แต่ติดหนี้ก็ห้ามบวช เพราะไม่อยากให้พระถูกตำหนิ ต้องเป็นผู้บริสุทธิ์จริงๆ จะได้ไม่ถูกครหา หากตัวเองรู้ตัวว่าไม่สบายก็ไม่ควรมาขอบวช เพราะจะติดต่อกับพระด้วยกันได้ เนื่องจากในวัดมีการกินอาหารร่วมกัน ดูแลกันยามเจ็บป่วยด้วย"


 


อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าวัดในต่างจังหวัดมักไม่มีเกณฑ์กำหนดที่เคร่งครัดนัก เนื่องจากขาดเจ้าอาวาสบ้าง มีพระประจำวัดน้อยบ้าง คนที่มาขอบวชก็จะได้รับความอะลุ่มอล่วยมากขึ้น


 


(3)


 


ข้อมูลจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติระบุว่า สถานการณ์โรคเอดส์ในประเทศไทย จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2548  มีผู้ติดเชื้อที่มีอาการรวมทั้งสิ้น 368,886 ราย และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 90,292 ราย นอกจากนี้ยังพบว่าปี 2541 มีจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคเอดส์มากที่สุดถึง 27,662 ราย โดยในปี 2542 มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด 8,685 ราย โดยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยทำงานที่มีอายุระหว่าง 30-34  ปี (ร้อยละ 25.83) ทั้งนี้ เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์สูงถึงร้อยละ 83.7


 


จากตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า เจ้าเชื้อไวรัสตัวเล็กๆ ที่มีชื่อว่าเอชไอวี ไม่เคยห่างหายไปจากสังคมไทยเลยแม้แต่น้อย ซ้ำร้ายยังคงจู่โจมและพรากชีวิตผู้คนเป็นว่าเล่นอีกด้วย ทว่าผู้ที่กำลังติดเชื้อและยังมีชีวิตอยู่นั้นมีจำนวนมากกว่าผู้ที่เสียชีวิตแล้วหลายเท่านัก แต่พวกเขาได้ถูกสังคมตีตราว่าเป็นผู้ป่วยโรคเอดส์ที่กำลังจะตาย พร้อมๆ กับฉุดคนรอบข้างไปด้วยเสียแล้ว หรือว่าเพียงความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อนั้นไม่เคยมีอยู่ในสังคมไทย


 


นายนิมิตร เทียนอุดม  ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ อธิบายว่า ก่อนอื่นต้องเข้าใจระหว่างผู้ป่วยกับผู้ติดเชื้อ ต้องแยกแยะว่าผู้ติดเชื้อก็คือคนทั่วๆ ไปที่อยู่ในภาวะที่ไม่มีอาการป่วยแต่มีเชื้อเอชไอวีอยู่ในร่างกาย ส่วนผู้ป่วยเอดส์คือคนที่มีเชื้อเอชไอวีและภูมิคุ้มกันเริ่มบกพร่องจึงมีโรคแทรกซ้อนและแสดงอาการเจ็บป่วยขึ้น ซึ่งในกรณีคนป่วยควรได้รับการรักษา ส่วนในกรณีผู้ติดเชื้อก็ยังสามารถทำงานได้ตามปกติ


 


หากพูดถึงวัดที่ไม่ยอมให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีบวชนั้น นายนิมิต เห็นว่าเป็นเพราะพระกลัวติดเชื้อเนื่องจากเชื่อว่าพระจะต้องโกนผมและมีดโกนจะทำให้ติดเชื้อ แต่จริงๆ แล้วโอกาสติดเชื้อไม่มี เพราะพระจะใช้มีดโกนของใครของมัน โดยน้ำสบู่อ่อนๆ จะทำให้เชื้อมีฤทธิ์อ่อนลง อีกทั้งไม่ได้โกนติดต่อกันทันทีทันใดด้วย


 


อย่างไรก็ตาม เนื่องจากไม่มีใครให้ข้อเท็จจริงในข้อมูลที่จะทำให้ไม่เกิดมิจฉาทิฐิแก่พระสงฆ์เพื่อลดความกังวลลงในส่วนนี้ จึงทำให้วัดปฏิเสธที่จะรับชายที่ติดเชื้อเอชไอวีอุปสมบท ขณะที่การติดเชื้อนั้นไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการแสวงหาทางธรรมแม้แต่น้อย


 


"ที่สำคัญการบวชเป็นพระน่าจะช่วยให้ผู้ติดเชื้อมีความสงบ มีเวลาศึกษาพระธรรม อยู่กับตัวเอง อาจทำให้ระบบคุ้มกันดีขึ้นก็ได้" ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวสนับสนุนให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีเลือกที่จะบวชเป็นภิกษุ


 


แม้แต่ผู้ที่ต้องการศึกษาพระธรรมก็ยังไม่สามารถบวชเรียนในวัดซึ่งถือเป็นสถาบันหลักของสังคมได้โดยยังพบว่ามีระเบียบและทัศนคติที่กีดกันผู้ติดเชื้อเอชไอวีอย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน แล้วในสถานที่ราชการ โรงเรียน หรือตามชุมชนต่างๆ คงไม่แปลกที่ผู้คนจะยังไม่เข้าใจและรังเกียจผู้ติดเชื้อซึ่งกำลังถูกมองว่าเขาเป็นคนอื่นในสังคม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net