Skip to main content
sharethis


ประชาไท - 7 จังหวัดภาคใต้ฝั่งตะวันออกสุดอันตราย เสี่ยงภัยน้ำท่วม - ดินถล่ม - ดินยุบ - หินไหล  เตือนให้เตรียมพร้อมอพยพ "กรมทรัพย์" เร่งตั้งเครือข่ายแจ้งเหตุธรณีพิบัติภัย แจงพื้นที่ป่าไม้ลด กลายเป็นสวนยาง - สวนปาล์ม - ถนนขวางทางน้ำ การวางผังเมือง การขยายชุมชน ต้นเหตุใหญ่ภัยพิบัติ

 


เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 26 พฤศจิกายน 2548 ที่โรงแรมเดอะทวินโลตัส อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดสัมมนาเรื่อง "เครือข่ายแจ้งเหตุธรณีพิบัติภัย" เพื่อสร้างเครือข่ายการเฝ้าระวังในระดับชุมชน โดยมีผู้นำชุมชน และชาวบ้านใน 11 อำเภอของจังหวัดนครศรีธรรมราชเข้าร่วมประมาณ 600 คน


 


นายคทาวุฒิ มาลัยโรจน์ศิริ หัวหน้าเวรพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา บรรยายเรื่อง ความถี่ของพายุฝนในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราชว่า ค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำฝนทุกแห่งในพื้นที่ภาคใต้ อยู่ที่ 2,500 มิลลิเมตรต่อปี ถ้ามีปริมาณน้ำสูงเกินจากนี้ จะเกิดทำท่วมและดินถล่ม ประเด็นที่ต้องเฝ้าระวังก็คือ ปี 2548 นี้ มีแนวโน้มว่า ทุกพื้นที่ในภาคใต้ปริมาณน้ำจะเกิน 2,500 มิลลิเมตร  ในส่วนของจังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งแต่เดือนมกราคม 2548 เป็นต้นมา มีปริมาณน้ำฝนประมาณ 1,900 มิลเมตรแล้ว เนื่องจากปีนี้ฤดูฝนมาช้ากว่าปีที่ผ่านมา เพราะฉะนั้น ขณะนี้พบหย่อมความกดอากาศต่ำในทะเลจีนใต้ คาดว่าในวันที่ 29 - 30 พฤศจิกายน 2548 ฝนจะตกหนักอีก


 


นายคทาวุฒิ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า สำหรับพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมและดินถล่มในพื้นที่ภาคใต้ คือ ภาคใต้ฝั่งตะวันออก 7 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดพัทลุง จังหวัดสงขลา จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส


 


นายสมใจ เย็นสบาย นักวิชาการ 8 กรมทรัพยากรธรณี ให้สัมภาษณ์ว่า ทั้ง 7 จังหวัดข้างต้น มีโอกาสสูงมากที่จะเกิดเหตุการณ์ดินถล่ม ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปัจจัย 4 อย่าง คือ มีปริมาณน้ำฝนประมาณ 170 มิลลิเมตร ภายใน 24 ชั่วโมง, ลักษณะดินและหิน, ความชัน และสภาพแวดล้อมในบริเวณภูเขาที่มีการเปิดหน้าดิน เพื่อทำเกษตรกรรม หรืออยู่อาศัย หรือสร้างถนน


 


นายสมศักดิ์ โพธิ์สัตย์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี แถลงว่า กรมทรัพยากรธรณีกำลังสร้างเครือข่ายแจ้งเหตุธรณีพิบัติภัย เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมแจ้งเหตุดินถล่ม และเป็นอาสาสมัครเฝ้าระวังภัยพิบัติ นอกจากนี้ ทางกรมทรัพยากรธรณีกำลังจัดทำแผนที่เสี่ยงภัยในพื้นที่ต่างๆ ประกอบด้วยจุดเสี่ยงต่อการเกิดดินถล่มและหินไหล และจุดเสี่ยงต่อการเกิดหลุมยุบ ขณะนี้เจ้าหน้าที่ของกรมทรัพยากรธรรณได้เข้าไปสำรวจตามหมู่บ้านต่างๆ แล้ว รวมทั้งยังกำหนดแผนการอพยพหนีภัยเมื่อเกิดเหตุดินถล่ม และยังได้จัดหากระบอกวัดปริมาณน้ำฝนให้กับชุมชนต่างที่อยู่ตามพื้นที่สูง หรือพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดดินถล่ม


 


นายสมศักดิ์ แถลงต่อไปว่า ปัจจุบันปัญหาธรณีพิบัติภัยมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น สาเหตุมาจากปัญหาโลกร้อน ทำให้น้ำทะเลมีระดับสูงขึ้น ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล และเกิดปัญหาฝนทิ้งช่วง ซึ่งล้วนมีผลทำให้เกิดดินถล่ม นอกจากนี้ จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีการย้ายขึ้นไปอยู่อาศัยในพื้นที่สูง มีการเปิดหน้าดินเพื่อใช้ประโยชน์ เช่น การปลูกพืชเชิงเดี่ยว ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดดินถล่มมากขึ้น


 


นายสุวัช สิงหพันธุ์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวต่อที่สัมมนา "เครือข่ายแจ้งเหตุธรณีพิบัติภัย" ว่า ขณะนี้กระทวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำลังจัดระบบการใช้ประโยชน์ที่ดินทั่วประเทศ โดยได้จัดทำแผนที่ขนาดมาตราส่วน 1 ต่อ 50,000 เสร็จแล้ว โดยในปีงบประมาณ 2549 จะจัดทำแผนที่ขนาดมาตราส่วน 1 ต่อ 4,000 ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ นอกจากจะใช้เพื่อแก้ปัญหาการประกาศเขตที่ดินทับซ้อนแล้ว ยังจะนำมาใช้ในการวางแผนรับมือกับธรณีพิบัติภัยด้วย


 


นายสุวัช กล่าวอีกว่า ในจังหวัดนครศรีธรรมราช มีประชากรเข้าไปอยู่อาศัยในพื้นที่สูงจำนวนมาก มีหลายแห่งไม่ควรเป็นที่อยู่อาศัย ส่งผลให้พื้นที่ป่าไม้ลดลง เพราะมีการแผ้วถางเพื่อทำปลูกยางพาราและสวนปาล์ม ทำให้ดูดซับน้ำได้ไม่ดีเท่ากับป่าธรรมชาติ การทำถนนขวางทางน้ำเป็นปัญหามาจากการวางผังเมือง การขยายตัวของชุมชน ทำให้พื้นที่ซับน้ำบางส่วนหายไป เป็นเหตุให้เกิดธรณีพิบัติภัย หรือเสี่ยงต่อการเกิดธรณีพิบัติภัยขึ้น เมื่อเกิดธรณีพิบัติภัยขึ้นมาแล้ว จะส่งผลกระทบต่อชุมชนและสภาพแวดล้อมอย่างมาก เช่น กรณีดินถล่มในอำเภอกะทูน และอำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อปี 2531 ที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก


 


นายวิชิต มณีโลกย์ หัวหน้าฝ่ายป้องกันและปฏิบัติการ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวต่อที่สัมมนาว่า การจัดระบบป้องกันและเตือนภัยจากสาธารณภัยฝ่ายพลเรือน จะต้องเตรียมความพร้อมทั้งวัสดุ และเครื่องมือให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งการฟื้นฟูสภาพจิตใจ และร่างกายของผู้ประสบภัย กรมอุตุนิยมวิทยาต้องรายงานให้ประชาชนทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน เพื่อให้ประชาชนเตรียมตัวอพยพ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net