Skip to main content
sharethis



ประชาไท—29 พ.ย. 48     สหประชาชาติเปิดเวทีประชุมรับมือโลกร้อนครั้งแรกหลังพิธีสารเกียวโต ที่แคนาดา หวังลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตัวการทำน้ำแข็งขั้วโลกละลาย พร้อมกดดันสหรัฐฯ ให้เข้าร่วมข้อตกลงในฐานะผู้ก่อมลพิษมากที่สุดในโลก


 


สมาชิกสหประชาชาติ 189 ประเทศร่วม "ประชุมรับมือภาวการณ์โลกร้อน (UN Framework Convention on Climate Change : UNFCCC)" ระหว่างวันที่ 28 พ.ย. - 9 ธ.ค. นี้ ที่นครมอนทรีออล ประเทศแคนาดา โดยมีผู้ร่วมประชุมประมาณ 10,000 คน จากหน่วยงานของรัฐบาล กลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อม และภาคธุรกิจจากประเทศต่างๆ


 


การประชุมครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกหลังจากพิธีสารเกียวโตมีผลบังคับใช้เมื่อ16 ก.พ. 2548 โดยตั้งเป้าหมายและแนวทางดำเนินการที่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขสถานการณ์วิกฤติทางสภาพอากาศ อีกทั้งพยายามเกณฑ์ให้สหรัฐอเมริกา และประเทศยากจนอื่นๆ เข้าร่วมโครงการต่อสู้สถานการณ์อากาศผันผวนให้ได้ก่อนปี 2012


 


สำหรับพิธีสารเกียวโต หรือ (Kyoto Protocol) เป็นมาตรการทางกฎหมายที่ดำเนินการเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายในการรับมือกับภาวะโลกร้อน โดยประกาศในข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Framework Convention on Climate Change-UNFCCC) โดยประเทศที่ให้สัตยาบันในพิธีสารนี้จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่างๆ ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ ไอน้ำ โอโซน มีเทน ไนตรัสออกไซด์ และคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน (CFCs)


 


ทั้งนี้ หากพิธีสารนี้ได้รับการนำไปปฏิบัติและประสบความสำเร็จอย่างสมบูรณ์ คาดว่าจะสามารถลดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกได้ถึงประมาณ 0.02 - 0.028 องศาเซลเซียส ภายในปี 2050 ขณะที่สหรัฐอเมริกาตัวการสร้างมลพิษสูงสุดของโลก ได้ถอนตัวออกจากข้อตกลงพิธีสารนี้ตั้งแต่ปี 2001 โดยให้เหตุผลว่า หากจะให้ทำสำเร็จตามพิธีสารเกียวโตจะต้องใช้งบประมาณสูงมาก
      


อย่างไรก็ตาม การประชุมครั้งนี้มุ่งเน้นไปที่การดำเนินการของ 40 ชาติอุตสาหกรรมเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซที่ทำให้เกิดโลกร้อนซึ่งมีจุดหมายจะลดลงให้ได้ภายในปี 2012


 


อีกทั้งในการประชุมครั้งนี้ยังมีดารานักแสดงพร้อมด้วยเทปวิดีโอฉายภาพความอันตรายจากอุณหภูมิที่ผันผวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและถี่หนักกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็น เฮอริเคน พายุหิมะ เขตทะเลทรายขยายตัว ตั๊กแตนขยายพันธุ์ ไฟป่า น้ำท่วม รวมถึงน้ำแข็งละลาย


 


นายสเตฟาเน ดีออง (Stephane Dion) รมว.สิ่งแวดล้อม ประเทศแคนาดา กล่าวในวันเปิดประชุมว่า ต้องการให้เวทีนี้เป็นเวทีตั้งวิสัยทัศน์ในการหาหนทางที่มีประสิทธิภาพในการลดปริมาณก๊าซที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน เพื่อจะได้นำไปดำเนินการอย่าเร่งด่วน เนื่องจากปัญหาอากาศเปลี่ยนแปลงเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมสำคัญที่สุดของโลกในขณะนี้ โดยประเทศที่ถอนตัวออกจากพิธีสารเกียวโต (สหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย) เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ปัญหาโลกร้อนไม่สามารถคลี่คลายลงได้
       
อย่างไรก็ตาม นายดีออง กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้มีการคาดหวังว่าสหรัฐฯ จะยอมลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศด้วยความสมัครใจ ขณะที่ผู้แทนสหรัฐฯ ที่เข้าร่วมประชุมพยายามจะต่อรองขอเข้าร่วมการลดปริมาณก๊าซช่วงหลังปี 2012
       
ขณะเดียวกัน ลอร์ด เมย์ (Lord May) ประธานราชสมาคมแห่งอังกฤษ (Royal Society) กล่าวปาฐกถาในการประชุม เตือนว่าแม้ผลกระทบของภาวะโลกร้อนยังไม่มีข้อพิสูจน์ชัดเจน แต่สภาพเลวร้ายในปัจจุบันก็มองเห็นได้อยู่ ซึ่งมากมายและรุนแรงมาก พร้อมทั้งเปรียบเทียบว่าก๊าซเรือนกระจกอันตรายเหมือนอาวุธทำลายล้างขนาดใหญ่
       

ยิ่งไปกว่านั้น ลอร์ด เมย์ ยังเชื่อว่าในปี 2012 สถานการณ์มลพิษในอากาศจะรุนแรงมากยิ่งขึ้น และเมื่อนั้นสหรัฐฯ รวมถึงประเทศกำลังพัฒนาใหญ่ๆ อีกหลายประเทศจำเป็นจะต้องเข้าร่วมข้อตกลงตามพิธีสารเกียวโต ซึ่งการต่อรองเพื่อให้ทุกประเทศเหล่านี้เข้าร่วมลดภาวะโลกร้อนนี้คงต้องใช้เวลาอีกหลายปี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net