เบื้องหลังเด็กโต๋ ชีวิตที่ต้องไปไกลกว่าทะเล เปิดใจ "ประยูร คำซ้าย" พ่อครูแห่งบ้านแม่โต๋

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

 

            "เด็กโต๋"  Innocent  ชีวิตบริสุทธิ์ระหว่างครูและนักเรียน  จากหลังเขาอำเภอสะเมิง จ.เชียงใหม่ ได้ปรากฏบนแผ่นฟิล์มด้วยฝีมือของนางสาวไทย ป๊อป อารียา

            แต่ "เด็กโต๋" พิสูจน์ตัวเองแล้วว่ามิได้เป็นภาพยนต์สารคดีคนสวยรักเด็ก   หากคือการนำเสนอความเป็นจริงที่ยืนยันได้ว่า  สิ่งที่ดีของสังคมยังพอมีหลงเหลืออยู่ แม้จะอยู่ในซอกหลืบหลังเขา….แสนไกล

            พ่อครูของเด็กโต๋  "ประยูร  คำซ้าย" คือบ่อเกิดความงดงามนั้น   เกือบ 20 ปีที่เขาทำโรงเรียนบ้านแม่โต๋ให้เป็นบ้านหลังที่ 2 ของเด็กชาวเขาที่ห่างไกล  เขาพาเด็กๆ ไปได้ไกลมิใช่แค่เพียงเห็นทะเล  และเพราะชีวิตของเด็กบ้านแม่โต๋ใช่ถึงเพียงแค่ ม.3    ความเป็นจริงนอกเหนือแผ่นฟิล์มมีมากกว่านั้น

            และเขาได้ให้สัมภาษณ์พิเศษแก่ "พลเมืองเหนือ" ไว้ ณ ที่นี้แล้ว

 

คุณครูเป็นคนเมืองบ้านเรานี่ใช่ไหมคะ

ประยูร : ครับ ผมเป็นคนบ้านลังกา ฟ้าฮ่าม เชียงใหม่นี่แหละ มีพี่น้อง 6 คน ชาย 2 หญิง 4 เรียนที่โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัยเชียงใหม่มาตั้งแต่ ป.1- .3 จากนั้นมาเรียนวิทยาลัยครูเชียงใหม่ในปี 2512 จบมาก็สอบบรรจุครูประถมบ้านแม่สาบ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ตั้งแต่ปี 2514 เริ่มเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารในปี 2525 เป็นครูใหญ่ย้ายมาอยู่โรงเรียนบ้านแม่โต๋ อ.สะเมิงในปี 2526 จนถึงปัจจุบัน   ตอนนี้อยู่บ้านพักที่บ้านแม่สบ อ.สะเมิงกับแม่บ้าน ส่วนลูก 2 คนโตมีงานทำกันแล้ว

 

จริงๆแล้ว "โต๋" แปลว่าอะไร ?

ประยูร: เป็นชื่อเรียกบ้านกระเหรี่ยงแม่โต๋  แต่ก็มีตามตำนานความเชื่อด้านพุทธศาสนา ที่พระธาตุม่อนเปี้ย ซึ่งมีชื่อเสียงของ ต.บ่อแก้ว อ.สะเมิง   เป็นชื่อท้ายของพญานาคด้วย

 

แต่ตอนนี้กลายเป็นคำฮิต ให้ความหมายเป็นความบริสุทธิ์ บางคนบอกว่า อย่าเพิ่งโต…มาโต๋ก่อนแล้วนะคะ !!…  ชีวิตของครูก็เปลี่ยนไปด้วย

ประยูร:  (หัวเราะ) ตอนนี้ไปไหนมาไหนคนก็มาทัก ถามว่าใช่อาจารย์ประยูรหรือเปล่า ก็รู้สึกดี เนื้อหาของเรื่องที่คุณป๊อบถ่ายทอดก็เป็นเรื่องความผูกพันช่วยเหลือกัน

 

โรงเรียนแม่โต๋ก่อตั้งก่อนครูไปอยู่

ประยูร : โรงเรียนตั้งเมื่อปี 2524 เป็นตูบเล็กๆ ไกลจากตัวเมืองราว 80 กม. มีแต่นักเรียนประถม มีครูอยู่คนเดียว  ผมมาเป็นครูใหญ่ในปี 2526 ก็เห็นว่านักเรียนอยู่ไกลโรงเรียน อย่างหย่อมบ้านหนึ่งที่บ้านขุนโต๋ ติดเขต อ.แม่วาง เด็กๆ ต้องใช้เวลากว่าครึ่งค่อนวันถึงจะเดินทางตามลำห้วยมาถึงโรงเรียน  ก็เลยชวนเด็กๆ มาอยู่เสียที่โรงเรียนตั้งแต่เล็กๆ เลยดีกว่า จะได้ลดปัญหาขาดโอกาสทางการศึกษาของเด็กๆ ลงได้  แต่ก็เป็นงานที่หนักเพราะต้องช่วยดูแลเขาทุกเรื่อง  จนปี 2535 สมาคมเพื่อนชาวโลก TPA   Kanagawa จากญี่ปุ่นก็มาเห็นแนวทางจัดการเลยช่วยเหลือเรื่องการสร้างอาคารที่พักเพิ่มเติมและเริ่มมีนักเรียนจากต่างหมู่บ้านมาเพิ่ม  จนขณะนี้มีมาจากต่างจังหวัดเช่น แม่ฮ่องสอน พะเยา เชียงรายด้วย ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนชาวเขา ม้ง กระเหรี่ยง ลีซอ และมีชาวไทยพื้นราบบ้าง

 

ตอนนี้มีนักเรียนกี่คนแล้วคะ

ประยูร: นักเรียนที่พักกินนอนเลย 233 คน ไม่นอน 110 คน สอนป.1-.3 มีครู 17 คน ค่าเล่าเรียน 600 บาท ถือเป็นค่าอาหาร เสื้อผ้า ยา 500 บาท อีก 100 บาทเป็นเงินประกัน ถ้าจบ ม.3 ไม่ทำหลอดไฟโรงเรียนแตกก็จะคืนให้ 100 บาท เรามีงบประมาณไม่มาก อยู่ที่นี่ก็ปลูกผัก เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู อยู่ด้วยกัน

 

แนวคิดให้เด็กๆ มากินนอนที่โรงเรียนเกิดขึ้นจากอะไร แล้วพ่อแม่เขาไม่อยากให้ลูกอยู่ช่วยทำไร่หรือ ?

ประยูร: ผมมาเห็นว่า เด็กบนดอยไม่รู้จะไปเรียนที่ไหน  โตขึ้นมาก็จะไม่มีความรู้ ก็ไปคุยกับพ่อแม่เขา พามาอยู่ตั้งแต่ยังเล็ก เรียนประถม ผู้ปกครองก็ไม่ว่าเพราะเขามีลูกกันมาก ช่วงเริ่มต้นมาอยู่ด้วยกัน 14 คน ซึ่งการที่เด็กมาอยู่กับเราตลอดอย่างนี้ทำให้การเรียนการสอนต่อเนื่อง  เขาพัฒนาได้เร็ว และปลูกฝังให้เขาเติบโตขึ้นมาเป็นคนอย่างไรได้มีประสิทธิภาพ

 

กลวิธีพาเด็กๆไปทะเลเริ่มต้นจากไหน

ประยูร: ผมอยากสร้างแรงจูงใจให้เด็กตั้งใจเรียนจนจบ  ถามพวกเขาว่าอยากได้อะไรมากที่สุดในชีวิต บ้างก็บอกว่าอยากเห็นทะเล บ้างก็บอกวัดพระแก้ว เขาได้ยินจากคนเล่า ได้เห็นจากภาพ จากโทรทัศน์บ้างว่ามันกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา เค็มด้วย เขาอยากสัมผัสว่ามันจริงหรือเปล่า และก็จากตัวผมเองด้วยกว่าจะได้เห็นทะเลก็อายุปาไป 20 กว่าแล้ว  เลยบอกเขาว่าถ้าตั้งใจเรียน จบม.3 ก็จะพาไป  เลยเริ่มพากันไปตั้งแต่ปี 2539 ปีนี้จะรุ่นที่ 10 แล้ว

 

ค่ารถคนละ 100 บาท

ประยูร: เป็นการสร้างการมีส่วนร่วม  สอนการให้และการรับด้วยมากกว่า ให้เขาได้รับผิดชอบตัวเองด้วย ไม่เป็นฝ่ายรับฝ่ายเดียว ปีแรกๆ ก็ขอความช่วยเหลือจากที่ต่างๆ แต่ 2-3 ปีหลังเราตั้งค่ารถจากงบราชการได้  ส่วนค่าอาหารก็จัดเตรียมกันไป  แต่ละรุ่นก็มีจบ ม.3 กันราว 60 คน

 

พารุ่นแรกไปทะเล ชะอำ รู้สึกอย่างไร

ประยูร: (หัวเราะ) พอรถจอดปุ๊บ  เขาตึงล่น (วิ่ง) ไปเล่นน้ำบ่รอ  ครูบอกว่ามาช่วยครูขนของก่อน ….ช่วยครูขนของก่อน  ไม่มีใครฟังแล้ว จะวิ่งไปเล่นน้ำทะเล จับปูกันใหญ่ เอาจนเหนื่อยนั่นแหละถึงกลับมาช่วยกันดูข้าวของ

 

แต่ครูก็ไม่ได้ไปกันเด็กๆ ทุกรุ่น

ประยูร: ช่วงปี 45 - 47 ผมไม่ได้ไป เพราะเป็นมะเร็งลำไส้ ต้องผ่าตัด 3  ครั้ง  ตอนนี้สุขภาพก็ดีขึ้นมากเรียกว่า 90 %  แต่ทุกวันนี้ต้องระวังเรื่องอาหารการกิน  จิตใจ และสภาพแวดล้อมอยู่

 

พบกับคุณป๊อบ (อารียา สิริโสดา) ได้อย่างไร

ประยูร: คุณป๊อปไปเห็นเด็กๆ เล่นน้ำทะเลที่ชะอำในปี 2544  ตอนนั้นผมเช่ารถบัสเก่าๆ จากแม่ฮ่องสอนมาเด็กๆ มา  เขามาพบก็ชอบ  จะเอาอะไรให้เด็กๆ ก้จะเข้าแถว ขอบคุณ เขาบอกว่าประทับใจ จากนั้นนิตยสารอะเดย์ จะมาสัมภาษณ์เด็กนักเรียน คุณป๊อปก็ไปกับคณะ ได้พูดคุยกับนักเรียนและครู และบอกว่าจะกลับมาอีก ก็มาจริงๆ และเขาบอกว่า ชื่นชอบความอ่อนน้อมถ่อมตน การช่วยเหลือกันของครูและนักเรียนรุ่นแล้วรุ่นเล่า จะไปเรียนต่อที่อื่นก็หาทุนให้ เขาประทับใจ บอกว่าไม่เคยเห็นในกรุงเทพหรือเมืองนอก  ขอเก็บภาพวีดิโอบรรยากาศที่นี่ไว้เป็นความทรงจำที่ดีจากบ้านโต๋  ไม่ได้คิดว่าจะให้เป็นหนังใหญ่โต  แต่ประมาณ 1-2 ปี คุณป๊อปเล่าเรื่องบ้านโต๋ให้คุณนิสา คงศรี เพื่อนอีกคนฟัง และตัวเองก็ไปเรียนด้านการเขียนบทที่นิวยอร์ค  กลับมาก็ขอเก็บภาพบรรยากาศที่บ้านโต๋ไปเรื่อยๆ  พวกเราทั้งครูและนักเรียนคุ้นเคยกับคุณป๊อปอยู่แล้วก็เลยไม่เขินกล้อง เห็นว่าเป็นเรื่องปกติที่เขาจะมาตั้งกล้องตามถ่ายพวกเรา เด็ก 3 คนที่เป็นคนเดินเรื่องคุณป๊อปเขาก็เลือกเอง ใช้เวลาถึง 10 เดือนมานอนอยู่ที่โรงเรียนนี้ เขาเป็นคนง่ายๆ อยู่ กิน นั่งซ้อนมอเตอร์ไซด์ไปตามเก็บบรรยากาศตั้งแต่การเริ่มเปิดเรียน เรามัดข้อมือผูกขวัญนักเรียน ไปจนถึงจบการศึกษา ไปเที่ยวทะเล  ทำเป็นภาพยนต์สารคดี  และนำไปฉายโชว์ที่เทศกาลภาพยนต์ปูซาน ประเทศเกากลี ผลตอบรับดีมาก ลองมาฉายที่กรุงเทพคนก็แน่นขนัด ได้เงินบริจาคให้โรงเรียนบ้านโต๋หลายแสน ก็จะจัดสรรใช้สอยเป็น 2 ส่วนคืออุดหนุนอาหาร และทุนการศึกษาให้นักเรียนในรุ่นต่อไป

 

ครูคิดว่าเพราะอะไร เรื่องราวในภาพยนต์สารคดีนี้จึงเป็นที่ถูกใจคนดู

ประยูร: ถ้าหนูได้ดูก็จะตอบคำถามนี้ได้ด้วยตัวเอง  ผมว่าเป็นสิ่งที่ดีของสังคมที่เหลืออยู่  ที่ไม่มีในกรุงเทพหรือเมืองนอก  ผู้ที่ชมเรื่องนี้แล้วเขียนความรู้สึกทางอินเตอร์เน็ตส่วนใหญ่จะบอกว่าไม่เคยเห็นครูและนักเรียนที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันเช่นนี้ ทั้งๆ ที่สิ่งที่เกิดขึ้นก็เป็นปกติของเรา เป็นสิ่งที่เราพยายามช่วยเหลือกันเอาชนะความยากจน เป็นความเป็นคนเมืองบ้านเรา ทุกข์ยากลำบากอย่างไร มาหาเราเราต้องช่วยเหลือ นักเรียนบางคนมาถึงมีเพียงแค่ถุงย่ามแดงเก่าๆ มาอยู่ เราก็จะช่วยพัฒนาเขา เป็นความภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือ  สิ่งเหล่านี้ผมได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่เป็นนักเรียนโรงเรียนปรินส์รอยฯ เราได้รับการสั่งสอนว่า ไม่ว่ายากดีมีจนอย่างไร เราต้องช่วยเหลือกัน

 

แล้วกับครูท่านอื่นที่ทำงานร่วมกัน ทำอย่างไรให้รู้สึกทุ่มเทและช่วยเหลือเด็กๆ เหมือนกับครู

ประยูร: ตัวเราเองต้องเป็นตัวอย่าง  ให้ความเมตตาช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสให้ครูท่านอื่นเห็น  สร้างบรรยากาศการทำงานให้อบอุ่น ที่สำคัญเราเป็นเพื่อนร่วมงานที่การตัดสินใจงานของโรงเรียนจะร่วมกันมิใช่เพียงอยู่ที่ครูใหญ่  ผมคิดว่าคนเป็นผู้บริหารจะต้องเป็นบุคคลที่ช่วยเหลือมากที่สุด ที่สำคัญคือความโปร่งใส  และต้องทำเพื่อส่วนรวม มิใช่ทำเพื่อตัวเรา 

 

มีคนตีความหนังเด็กโต๋ ว่า เด็กๆ เหล่านี้เดินทางได้ไกลที่สุดคือทะเล  ชีวิตของเขาก็เหมือนกัน จากหลังเขาอาจไปไกลได้เพียงแค่ ม.3 เป็นอย่างนั้นหรือเปล่าคะ?

ประยูร: เราส่งต่อให้เขาเรียนไปไกลกว่า ม.3 ครับ  เข้ามาเรียนต่อในตัวเมืองเชียงใหม่จนถึงปริญญาตรีก็มี   9 รุ่นนี้ได้เรียนต่อเกือบ 200 คน มีตั้งแต่ ปวช. ปวส. ปริญญาตรี งบประมาณต้องบอกว่าได้รับความช่วยเหลือจากหลายฝ่ายทั้งจากต่างชาติด้วย อย่างอาจารย์คมกฤษณ์ วงค์นาง จากมหาวิทยาลัยพายัพ ก็ประสานมูลนิธิริชาร์ด หวา จากประเทศสิงคโปร์ เป็นทุนจากมหาเศรษฐีที่เสียชีวิตและตั้งกองทุน เด็กของเรา 60 คนได้ทุนจากจุดนี้แต่ละเดือน  เด็กศิษย์เก่าจากบ้านโต๋แล้วไปจบ ม.6 โรงเรียนอื่นก็มีสิทธิ์รับทุนที่เราประสานช่วยเหลือ ซึ่งเรียกว่า ร้อยละ 80 จากบ้านโต๋แล้วได้เรียนต่อ

 

มีอะไรในความเป็นจริงที่โรงเรียนบ้านโต๋ แต่ไม่ปรากฏในแผ่นฟิลม์ของคุณป๊อป

ประยูร: ช่วงปลายปีแต่ละปีที่เมื่อเด็กเรียนจบ ม.3 แล้วจะต้องพากันลงมาหาที่เรียนหนังสือ และที่อยู่กัน เราจะต้องสำรวจความเป็นไปได้ของเด็กๆ ว่าจะไปที่ไหน ก็จะติดต่อไว้และนำเด็กขึ้นรถหกล้อลงมาหาหอพัก บ้านเช่า และที่เรียน ก็จะพิจารณามีกติการะเบียบวินัยที่คุยกัน  แต่ไกลหูไกลตาครู ก็มีบ้างที่ลงสู่เมืองแล้วด้วยวัยและความเป็นสังคมเมืองก็มีหลุดไปบ้าง อย่างปีนี้มีอยู่ 1 คน   ซึ่งเป็นสิ่งที่ครูเสียใจที่สุด

 

ครูยึดอะไรเป็นหลักการทำงาน และมองว่าการศึกษาของเราควรเป็นอย่างไรต่อไป

ประยูร: ผมตามรอยคำสอนของในหลวง พอเพียง สมถะ และเรียบง่าย มีโอกาสสร้างกุศลก็ให้สร้างไว้ ส่วนทิศทางของการศึกษาไทยผมอยากให้รัฐบาลมีความชัดเจนเรื่องการดูแลเด็กด้อยโอกาสมากกว่านี้  เพราะเอาแค่ค่าอาหารกลางวันเด็ก ก็ลดลงเรื่อยๆ แล้วครับ

 

..............................................................

เรื่องย่อ  เด็กโต๋ 

            ภาพยนต์สารคดี 100 นาทีที่ อารียา สิริโสดา หรือป๊อป อดีตนางสาวไทยผลิตร่วมกับเพื่อนนิสา คงศรี กำลังเป็นที่กล่าวขานถึงอย่างครึกโครม 

ผลตอบรับจากการฉายโชว์ในเทศกาลภาพยนต์ที่เมืองปูซาน ประเทศเกาหลี ทำให้เธอมีกำลังใจ   การลงโรงฉายที่โรงภาพยนต์สยามลิโด้ กรุงเทพฯ ยิ่งทำให้เธอปลื้มกับยอดเงินบริจาคที่จะกลับมาสนับสนุนโรงเรียนบ้านแม่โต๋ อ.สะเมิง  แต่กับพื้นที่เชียงใหม่ ยังไม่แน่ว่าจะได้รับชมหรือไม่ มีข่าวเพียงว่ากำลังมีการประสานงานอยู่โดยเครือวิสต้า

"เด็กโต๋" เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของครูและนักเรียนชาวเขาของโรงเรียนบ้านแม่โต๋  ที่เพื่อลดภาระการเดินทางของนักเรียน โรงเรียนจึงจัดการเรียนการสอนแบบโรงเรียนกินนอนซึ่งมีที่พักและอาหารสามมื้อให้แก่นักเรียน    

มีการเดินเรื่องโดยติดตามชีวิตของด็กชาวเขา 3 คน  เรียงใจ  เด็กม้งจากบ้านขุนสาใน อ.ปาย  .แม่ฮ่องสอน พ่อของเธอถูกยิงตายในขณะที่ออกไปล่าสัตว์ในป่า  พี่สาวเรียนไม่จบเพราะต้องแต่งงาน ทำให้เรียงใจกลายเป็นพี่สาวคนโตที่มีน้องอีก 3 คน เธอจึงเป็นความหวังเดียวของครอบครัว

อำไพ เด็กม้งจากบ้านห้วยเต่ารู อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ที่ต้องการแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าการทำไร่ที่มีรายได้น้อยมาก   และวรุฒ เด็กกระเหรี่ยง จากบ้านแม่ขอ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ วรุฒพัฒนาการทางสมองค่อนข้างช้า  ชอบหนีเที่ยว ทำให้ครูใหญ่ต้องเข้าไปดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด

            เมื่อ ครูใหญ่คือประยูร คำชัย  ย้ายมา  พบปัญหาการด้อยโอกาศทางการศึกษาของเด็กชาวเขา  เริ่มพัฒนานำเด็กมาอยู่โรงเรียนกินนอน ปลูกผัก เลี้ยงหมู ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ที่นี่จึงกลายเป็นบ้านหลังที่สองของเด็กๆ กลเม็ดหนึ่งที่ประยูรกำหนดเป็นประเพณีคือ "ไปทะเล" เมื่อก่อนจะจบการศึกษาในระดับชั้น ม.3  เพื่อเติมความฝันและเปิดโลกทัศน์ให้กับเด็กๆ   โดยโรงเรียนจะเก็บค่าใช้จ่ายจากนักเรียนคนละ100บาท ช่วงปิดภาคเรียนเด็กๆจะไปทำงาน เช่น ทำไร่ ทำสวนหรือรับจ้างต่างๆ เพื่อให้ตนเองมีเงินเก็บ  

            ในหนังเรื่องนี้มีสิ่งที่ตอกย้ำความผูกพันธ์ของครูและนักเรียนได้เด่นชัดคือ ฉากแรก ครูแดงจะต้องย้ายออกจากโรงเรียนแห่งนี้ เพราะว่าต้องส่งเสียลูกให้เรียนในระดับสูงขึ้นทำให้รายได้ไม่เพียงพอ...นักเรียนต่างร้องไห้กันใหญ่ ไม่อยากให้ครูจากไป และอีกฉากหนึ่งคือฉากที่ครูใหญ่ต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อผ่าตัดรักษาโรคมะเร็ง   เด็กๆ และเพื่อนครูต่างภาวนาให้เสาหลักของโรงเรียนบ้านแม่โต๋ปลอดภัย

ไฮไลท์ของเรื่องอยู่ที่การไปเที่ยวทะเล ที่เด็กๆ จะตื่นเต้น ถูกครูอำ ทำนองว่านั่นไงทะเล แต่ที่จริงเป็นแค่ต้นมะพร้าว  และรอยยิ้มความตื่นเต้นยินดีที่ได้โถมตัวเองเข้าสู่ทะเล สร้างรอยยิ้มและน้ำตาจากความประทับใจให้ผู้ชมมาแล้ว

 

.............................................................

หมายเหตุ  ผู้สนใจบริจาคทุนการศึกษาให้เด็กโต๋ได้ที่  ธนาคารกรุงเทพ สาขาสะเมิง จ.เชียงใหม่ ชื่อบัญชี ทุนการศึกษา "เด็กโต๋" เลขที่บัญชี 544-0-11992-2

 

 

 กลับหน้าแรกประชาไท

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท