กลุ่มชาติพันธุ์พม่าออกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

สำนักข่าว S.H.A.N รายงานเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2548 ว่า เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในพม่าได้ร่วมกันออกหนังสือร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อันเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่ได้มาจากความเห็นของทุกฝ่าย โดยมีความแตกต่างจากรัฐธรรมนูญดั้งเดิม และแตกต่างกับรัฐธรรมนูญพม่าที่กำลังร่างอยู่ในปัจจุบัน คือเป็นร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้สิทธิเท่าเทียมแก่กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในพม่า

 

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการประสานงานร่างรัฐธรรมนูญสหพันธรัฐ FCDCC [Federal Constitution Draft Coordinating Committee] ซึ่งอยู่ภายใต้สภากลุ่มชาติพันธุ์ หรือ ENC [Ethnic National Council] มีทั้งหมด 58 หน้า 14 บท และ 189 มาตรา เป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรก และไม่เกี่ยวข้องกับการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญจากสมัชชาแห่งชาติพม่าที่กำลังดำเนินอยู่ แต่เป็นร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดการเจรจาหลายฝ่าย ซึ่งได้มาจากความเห็นชอบของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในพม่า อันเป็นไปตามหลักการขั้นพื้นฐาน 8 ข้อ จากการประชุมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่ว่า

 

1. อำนาจอธิปไตยต้องมาจากประชาชน

2. ทุกชนชาติมีสิทธิเท่าเทียมกัน

3. ทุกชนชาติมีสิทธิกำหนดตนเอง (สิทธิอัตตวินิจฉัย)

4. สหพันธรัฐต้องจัดตั้งโดยรัฐที่มีสิทธิตัดสินและกำหนดตนเอง

5. ชนกลุ่มต่างๆ ในทุกๆ รัฐ จะต้องมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญกำหนด

6. ต้องไม่แบ่งแยกศาสนา ชนชาติ เพศ

7. สหพันธรัฐต้องไม่อยู่ภายใต้การปกครองของศาสนาใด ศาสนาหนึ่ง

8. ใช้ระบบปกครองประชาธิปไตยจากหลายพรรค

 

ทั้งนี้ ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีความแตกต่างจากร่างรัฐธรรมนูญรัฐบาลทหารพม่าดังนี้คือ พม่ามีการแบ่งการปกครองประเทศไว้เป็น 7 รัฐ กับอีก 7 ภาค ส่วนร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้จัดไว้ 10 รัฐ โดยได้รวมเอาภาคบางภาคมาจัดเป็นรัฐด้วย ได้แก่ รัฐชิน รัฐกะเหรี่ยง รัฐคะยา รัฐชิน รัฐมอญ รัฐอาระกัน รัฐฉาน รัฐพม่า รัฐตะนาวศรี และรัฐอิรวดี เนื่องจากว่าทั้งสามรัฐหลังมีความจำเป็นที่ต้องจัดตั้งให้เป็นรัฐเพิ่ม เพราะมีชนหลายชนเผ่าอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก

 

อย่างไรก็ตาม ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้ระบุไว้ว่า การจัดตั้งรัฐใหม่จะต้องเป็นไปตามกฎหมายกำหนด  ตามมาตราที่ 46 - 47 นอกจากนี้ ได้เปิดโอกาสให้แต่ละรัฐส่งสมาชิกเข้าในสภา 6 คน เท่ากัน ส่วนการปกครองมีนายกรัฐมนตรีที่ได้มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้นำรัฐบาล และข้าราชการทางการเมืองต้องได้มาจากการเลือกตั้งหรือได้รับแต่งตั้งจากผู้ที่ได้มาจากการเลือกตั้งแล้วเท่านั้น ซึ่งตามร่างรัฐธรรมนูญของพม่าในปัจจุบัน 1 ใน 4 ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

 

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวยังระบุอีกว่า อำนาจการปกครองต้องกระจายอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมทุกระดับชั้น โดยจะไม่ใช้ระบบการรวมศูนย์อำนาจ อีกทั้งสมาชิกทหารก็จะไม่มีสิทธิเข้าร่วมพรรคการเมือง และจะต้องไม่เข้าเป็นข้าราชการทางการเมือง ส่วนกองทัพจะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของพลเรือนเป็นหลัก ขณะที่หน่วยข่าวกรองแห่งชาติก็จะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมบริหารของพลเรือนเช่นเดียวกัน

 

ทั้งนี้ คณะกรรมการประสานงานร่างรัฐธรรมนูญสหพันธรัฐ FCDCC จะมีการประชุมกันอีกครั้งในเดือนมกราคม ปีหน้านี้ เพื่อหาข้อสรุปถึงความชัดเจนอีกทั้งจะร่วมกันพิจารณาเสียงสะท้อนจากหลายฝ่ายๆ

 




ข่าวทั้งหมดแปลและสรุปความโดยสำนักข่าวเชื่อม เป็นหน่วยงานข่าวภาคภาษาไทยของสำนักข่าว S.H.A.N (Shan Herald Agency for News) ซึ่งเป็นเครือข่ายของศูนย์ข่าวสาละวิน (Salween News Network) ท่านสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ chuem@cm.ksc.co.th และ snn_news@cm.ksc.co.th พร้อมติดตามอ่านข่าวสารย้อนหลังรวมทั้งเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศพม่าภาคภาษาไทยได้ที่ www.salweennews.org ภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org และภาคภาษาไทยใหญ่ได้ที่ www.mongloi.org   

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท