Skip to main content
sharethis


ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่รุนแรงขึ้นเป็นระยะ นับวันจะยิ่งสร้างความหนักใจให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มี 2 หน่วยงานหลักเกี่ยวกับชายฝั่ง คือ "กรมทรัพยากรธรณี" กับ "กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง" จึงอยู่ในฐานะที่ต้องรับผิดชอบต่อปัญหา อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้

 


ต่อไปนี้ เป็นความคิดความเห็นสั้นๆ ของ 2 ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ผู้ดูแลในระดับนโยบายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง


 


หนึ่ง นายสมศักดิ์ โพธิ์สัตย์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี


สอง นายสุวัช สิงหพันธุ์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


....................................................


 


 


สมศักดิ์ โพธิ์สัตย์


"ชายฝั่งพังเพราะใช้ทรัพยากรธรรมชาติเกินสมดุล"


 


"การกัดเซาะชายฝั่ง เป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่ใดที่หนึ่ง พอเกิดการกัดเซาะขึ้นที่หนึ่ง ทรายก็จะไปถมอีกที่หนึ่ง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ เมื่อใช้ทรัพยากรธรรมชาติจนเกินจุดสมดุล ปัญหาที่เกิดจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น การกัดเซาะชายฝั่งมีหลายหน่วยงานดูแลอยู่ โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ดูภาพรวมทั้งหมด


 


สิ่งที่กรมทรัพยากรธรณีทำอยู่ คือการให้ความรู้กับประชาชน


 


เดิมกรมทรัพยากรธรณี ไม่ได้ดูแลเรื่องการกัดเซาะชายฝั่ง แต่มีหลายหน่วยงานร้องขอให้กรมทรัพยากรธรณีช่วย เพราะเรามีนักวิชาการธรณีวิทยาทางทะเลและชายฝั่ง


 


เราเข้ามาศึกษาดูว่า จุดไหนบ้างที่มีปัญหา จุดไหนเสี่ยงต่อการกัดเซาะรุนแรง จะใช้วิธีป้องกันอย่างไร จะมีวิธีการแก้ปัญหาแบบไหน


 


ส่วนคนแก้ปัญหาจริงๆ ก็คือ หน่วยงานที่เป็นเจ้าของพื้นที่


 


กรมทรัพยากรธรณีจะรับเหมาไปทำเองทั้งหมดไม่ได้ เพราะพื้นที่ชายฝั่งมีหลายหน่วยงานรับผิดชอบ บางพื้นที่ทับซ้อนกัน แต่ละหน่วยก็มีอำนาจตามกฎหมาย


 


ในบางพื้นที่ ถ้าหน่วยงานที่ดูแลอยู่อนุญาตให้เราเข้าไปช่วย เราจะใช้หลักวิชาการ ตามที่ศึกษามาเสนอให้เขานำไปใช้แก้ปัญหา บางแห่งที่มีการกัดเซาะชายฝั่ง เราเคยเสนอไปว่าน่าจะทำกำแพงกันคลื่น แต่ชาวบ้านในพื้นที่ไม่ต้องการก็มี ผมไม่ทราบว่าเป็นจุดไหนบ้างเพราะไม่ได้ลงพื้นที่เอง


 


เราจะศึกษาทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนที่ของคลื่น การกัดเซาะเป็นอย่างไร ใน 1 ชั่วโมงมีการกัดเซาะไปเท่าไหร่ ข้อมูลเหล่านี้เราจะนำมาใช้ในการหาวิธีการป้องกันและแก้ปัญหาที่เหมาะสม          แล้วมอบให้หน่วยงานที่รับผิดชอบนำไปแก้ปัญหาเอง เราเป็นแค่เพียงหน่วยงานที่เข้ามาศึกษาเท่านั้น


..................................................................


 


 



สุวัช สิงหพันธุ์


เราจะไม่รื้อสิ่งปลูกสร้างรุกทะเล


 


"การแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในระยะยาว จะต้องหยุดการตัดไม้ทำลายป่า แบ่งส่วนการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณชายหาดให้ชัดเจนว่า ตรงไหนจะใช้ปลูกต้นไม้เพื่อป้องกันการกัดเซาะ หรือใช้ประโยชน์ที่ดินในรูปแบบอื่น


 


สำหรับหน่วยงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ดูแลชายฝั่ง คือ กรมทรัพยากรธรณี ทำหน้าที่ให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับการกัดเซาะชายฝั่ง และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รับผิดชอบพื้นที่ป่าชายเลน


 


ป่าชายเลนจะเป็นตัวกันคลื่นลม และกันการกัดเซาะอย่างดี ตัวอย่างการเกิดคลื่นสึนามิ ถ้าตรงไหนมีป่าชายเลน สามารถป้องกันการกัดเซาะพังทลายของชายฝั่งได้ดี ความเสียหายที่เกิดขึ้น มาจากป่าชายเลนเหลือน้อยลง ซึ่งเป็นผลจากการตัดไม้ทำลายป่า


 


ต้องเข้าใจว่า มนุษย์ไม่สามารถเอาชนะธรรมชาติได้ เพราะฉะนั้น การสร้างสิ่งก่อสร้างกันคลื่น ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนตรงชายฝั่ง หรือถนนบนฝั่ง ไม่สามารถแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้ เราพูดกันมากว่า สิ่งที่จะพังเสียหายแน่นอน คือ ถนนที่สร้างเลียบชายฝั่งภาคใต้ ด้านตะวันออก เพราะสร้างชิดชายทะเล ทั้งที่จริงไม่ควรจะสร้างเข้ามาใกล้ชายหาดในรัศมี 1 กิโลเมตร แต่ถ้าจะให้รื้อสิ่งปลูกสร้างทั้งหมด ก็คงเป็นไปไม่ได้


           


พื้นที่บางแห่งเป็นที่ครอบครองของเอกชน เขามีสิทธิ์ก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น ซึ่งก็ช่วยได้ไม่ตลอด ส่วนวิธีแก้ปัญหาให้ยั่งยืน คิดว่าในอนาคตคงต้องมี อย่างในต่างประเทศ เขามีการสร้างแนวป้องกันคลื่นตลอดชายฝั่ง ซึ่งถ้าเราจะทำก็ต้องลงทุนมหาศาล


           


ในระบบทางทะเล (Marine System) เราสู้ธรรมชาติไม่ได้ การกัดเซาะชายฝั่งเป็นเรื่องของธรรมชาติ เมื่อมีการกัดเซาะที่หนึ่ง มันจะไปถมอีกที่หนึ่ง ธรรมชาติมันเป็นอย่างนี้ ส่วนสิ่งก่อสร้างล่วงล้ำลงไปในทะเลทั้งหลาย คงไม่ไปรื้อหรอก ต้องปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ


           


จุดไหนที่เดือดร้อน เราจะดูเป็นรายๆ ไป กรมทรัพยากรธรณีกำลังหาวิธีการแก้ปัญหาในระยะยาวอยู่ว่า จะมีวิธีการแก้ปัญหาให้ยั่งยืนได้อย่างไร เราจะไม่ปล่อยเลยตามเลย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net