Skip to main content
sharethis


วันศุกร์ที่ 2 ธันวาคม 2005 17:51น. 


นาซือเราะ เจะฮะ, สมศักดิ์ หุ่นงาม : ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


ข่าวระทึกขวัญกรณีชาวบ้านนับร้อยคน ล้อมกรอบเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ภายหลังนำกำลังเข้าไปยังหมู่บ้านปากาลือซง ต.ตุยง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เพื่อควบคุมตัว นายฮาเล็ง แวสุหลง ผู้ต้องสงสัยคดีก่อความไม่สงบ เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมานั้น นับว่าไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


 


อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่าการรวมตัวกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนของชาวบ้าน จะสร้างความหวาดวิตกให้กับเจ้าหน้าที่รัฐอย่างหนัก นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์สลดที่บ้านตันหยงลิมอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เมื่อเกือบ 3 เดือนที่แล้ว ซึ่งในครั้งนั้นมีการจับนาวิกโยธิน 2 นายเป็นตัวประกัน และสุดท้ายจบลงด้วยความสูญเสีย


 


การรวมกลุ่มกันของชาวบ้านที่เกิดขึ้นตั้งแต่ครั้งนั้นเป็นต้นมา จึงมักถูกเจ้าหน้าที่รัฐมองว่า มีกลุ่มก่อความไม่สงบอยู่เบื้องหลัง คอยยุยงปลุกปั่นให้ชาวบ้านออกมาก่อเหตุคล้ายที่บ้านตันหยงลิมอ


 


แม้แต่หลังเหตุการณ์สังหารหมู่ 9 ศพ ที่บ้านกะทอง ต.บองอ อ.ระแงะ เมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งมีชาวบ้านนับร้อยคนออกมาจับกลุ่มมุงดูเหตุการณ์ ก็มีการให้ข่าวลักษณะเดียวกันนี้จากฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐในช่วงแรก กระทั่งต้องออกมาแก้ข่าวในภายหลังว่ากลุ่มชาวบ้านไม่ได้รวมตัวกันเพื่อขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่


 


ความสับสนของข้อมูลข่าวสารในลักษณะนี้ ย่อมส่งผลให้ความไว้วางใจระหว่างชาวบ้านกับคนของภาครัฐซึ่งมีอยู่น้อยนิดอยู่แล้ว ลดต่ำลงไปอีก


 


ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ.ปัตตานี) มองว่า เหตุการณ์แบบนี้คงไม่จบลงง่ายๆ เนื่องจากความไม่ไว้วางใจเจ้าหน้าที่รัฐฝังลึกอยู่ในจิตใจของชาวบ้าน


 


"ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่รัฐก็สร้างปัญหาไว้มาก โดยเฉพาะการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และไม่ให้ความเป็นธรรมกับประชาชนในพื้นที่ ส่งผลให้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในปัจจุบัน ไม่ประสบผลร้อยเปอร์เซ็นต์"


 


ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวต่อว่า ทางออกของปัญหานี้มีเพียงทางเดียว คือรัฐจะต้องสร้างความไว้วางใจในกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบให้ได้ ซึ่งก็คงต้องใช้เวลาพอสมควร แต่หากทำได้จริง ก็เชื่อว่าทุกอย่างจะดีขึ้น


 


"เท่าที่ผมติดตามข่าว หลายๆ ครั้งการรวมตัวของกลุ่มชาวบ้านก็ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ เพียงแต่ชาวบ้านเขาไม่ไว้ใจ กลัวว่าเจ้าหน้าที่จะทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง ก็ออกมามุงดูกัน ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา และไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างที่นครศรีธรรมราช ก็เคยเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ ในช่วงที่ประชาชนไม่พอใจการทำหน้าที่ของตำรวจจราจร"


 


อย่างไรก็ดี นักวิชาการผู้นี้ เห็นว่า หากเหตุการณ์ชุลมุนในแต่ละจุดผ่านพ้นไปแล้ว ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่ควรออกมาให้ข่าวหรือตั้งข้อสังเกตอะไรอีก เนื่องจากจะสร้างความสับสนมากขึ้น และจะทำให้ประชาชนไม่ให้ความร่วมมือ ขณะที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่เอง โดยเฉพาะตำรวจ และทหาร จะต้องเข้าหาประชาชนให้มากกว่าปัจจุบัน เพื่อลดช่องว่างของความไม่ไว้วางใจ


 


ขณะเดียวกัน ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ส่งผู้สื่อข่าวลงพื้นที่บ้านปะกาลือซง และบ้านตากอง ต.ตุยง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เพื่อตรวจสอบข่าวที่ระบุว่า ชาวบ้านนับร้อยออกมารุมล้อมตำรวจ ทหาร ขณะเข้าไปปฏิบัติหน้าที่


 


ชาวบ้านรายหนึ่ง ให้ข้อมูลว่า จริงๆ แล้วทหารเข้ามาล้อมชาวบ้าน ไม่ใช่ชาวบ้านออกไปล้อมเจ้าหน้าที่  เพราะกำลังเจ้าหน้าที่ที่เข้ามานั้น มีถึง 400-500 นาย มากกว่าชาวบ้านทั้งหมดในหมู่บ้านเสียอีก คิดจากตรงนี้ก็น่าจะเดาคำตอบได้ถูกแล้ว แต่ข่าวที่ออกไปมันเกินจริง


 


"พวกเรารู้สึกตกใจที่เห็นเจ้าหน้าที่เข้ามามากมายขนาดนั้น จึงออกมารวมตัวกันเพื่อสังเกตการณ์ และป้องกันไม่ให้มีการกระทำที่นอกเหนือกฎหมาย เหมือนกับที่เคยมีข่าวเกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆ"


 


เป๊าะดิง ชายวัยกลางคนซึ่งมีอาชีพเย็บกระเป๋าหนัง เล่าว่า ทุกวันนี้บ้านตากองกลายเป็นที่จับตาจากหลายฝ่าย เพราะชาวบ้านถูกกล่าวหาว่าร่วมมือกับคนร้าย และซ่อนคนร้ายไว้ในหมู่บ้าน  ทั้งๆ ที่ชาวบ้านไม่รู้เรื่องอะไรเลย พวกเราไม่เคยคิดที่จะต่อสู้ เรามีเพียง 10 นิ้ว สู้ไปก็ตาย เรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะเจ้าหน้าที่ไม่ไว้วางใจชาวบ้าน


 


"พวกเราไม่จำเป็นต้องออกมารวมตัวกันเหมือนที่บ้านตันหยงลิมอ ข่าวที่เสนอไปผิดพลาดอย่างมาก เพราะฝ่ายเจ้าหน้าที่ทั้งนั้นที่ทำให้เราเดือดร้อนวุ่นวายไปหมด เข้ามาจับคนๆ เดียว กลับนำกำลังมามากมายขนาดนั้น" เป๊าะดิง ระบุ


 


ขณะที่ชายวัยกลางคนอีกรายหนึ่ง กล่าวเสริมว่า แทบไม่น่าเชื่อเลยว่าเจ้าหน้าที่ทั้งหมดจะเข้ามาจับคนเพียงคนเดียว เพราะมากันมากมายเหมือนกับจะเข้ามาจับชาวบ้านทั้งหมู่บ้าน


 


ส่วนหญิงวัยกลางคน ซึ่งเป็นแม่บ้าน และเห็นพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ บอกว่า การเข้ามาตรวจค้นของตำรวจ ทหาร ยังมีบางคนที่ไม่เข้าใจวัฒนธรรมของชาวมุสลิม จึงอยากขอให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่ระมัดระวังด้วย


 


เหตุการณ์นี้นับเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ข้อมูลจากฝั่งชาวบ้าน ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งในที่นี้ไม่ได้ต้องการตัดสินว่าใครผิดหรือถูก แต่ทั้งหมดก็เป็นบทพิสูจน์ประการหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า งานจิตวิทยามวลชนของภาครัฐ ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร!


 


กลับหน้าแรกประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net