Skip to main content
sharethis


วันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม 2005 18:13น. 


ปกรณ์ พึ่งเนตร : ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


8 เดือนกับการทำงานของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) แม้ผลงานดับไฟใต้ด้วยแนวทางสันติวิธีจะได้รับการยอมรับจากผู้คนจำนวนไม่น้อย ทว่าก็มีอีกหลายเสียงที่ติติงบทบาทของ กอส.ด้วยความไม่เข้าใจ


 


โดยเฉพาะข้อกล่าวหาที่ว่า กอส.เข้าข้างมุสลิม และแนวทางสันติวิธี คือการสยบยอมการกระทำของกลุ่มก่อความไม่สงบที่ก่อเหตุรุนแรงรายวัน โดยไม่เลือกว่านับถือศาสนาใด เป็นชายหรือหญิง เด็กหรือคนชรา แม้แต่นักบวช


 


แรงกดดันทั้งมวลทำให้ กอส.ต้องปรับยุทธศาสตร์ และเน้นการทำความเข้าใจกับสังคมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะความเข้าใจในเรื่อง "แนวทางสันติวิธี"


 


สายๆ ของวันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม สำนักพัฒนาประชาสังคม ซึ่งเป็นองค์กรภาคีความร่วมมือระหว่างกลุ่มเพื่อนหญิงไทยมุสลิม และสำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้จัดงานสัมมนาเรื่อง "เครือข่ายสตรีมุสลิมกับสันติวิธี" ที่โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี


 


ภายในงาน ได้เชิญกรรมการ กอส. 3 ท่าน มาให้ความรู้เกี่ยวกับแนวทางสันติวิธีกับกลุ่มสตรีใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีทั้งที่เป็นข้าราชการ ผู้นำชุมชน และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรง


 


นารี เจริญผลพิริยะ กรรมการ กอส. บรรยายเป็นคนแรกในหัวข้อ "สันติวิธีคืออะไร" โดยเธอได้ตั้งโจทย์เป็นเหตุการณ์จำลอง เพื่ออธิบายถึงการแก้ปัญหาความรุนแรงด้วยสันติวิธีว่า มีหญิงแก่คนหนึ่ง เดินกลับบ้านกลางดึก สองมือหิ้วถุงพะรุงพะรัง ระหว่างนั้นมีชายฉกรรจ์ท่าทางไม่น่าไว้วางใจเดินตามมา ซึ่งเธอคิดว่าน่าจะเป็นโจรที่ต้องการปล้นทรัพย์สินไปจากเธอ


 


นารี ตั้งคำถามว่า หากแทนตัวเองเป็นหญิงแก่รายนี้ จะแก้ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นได้อย่างไร วิธีที่ 1 ต่อสู้ด้วยการเอาของในมือฟาดหน้าชายผู้นั้น , วิธีที่ 2 ยืนเฉยๆ , วิธีที่ 3 ให้ของและทรัพย์สินทั้งหมดกับโจร เพื่อแลกกับความปลอดภัย และวิธีที่ 4 คือยืนกลัวตัวสั่น ปัสสาวะราด


 


เสียงเกรียวกราวทั้งห้องประชุมพอจับความได้ว่า ส่วนใหญ่เลือกวิธีที่ 3  เพื่อให้ตัวเองรอดพ้นจากภัยที่กำลังมาถึง


 


นารี อธิบายว่า วิธีที่ 3 เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาแบบสันติวิธี แต่ก็ต้องเสียของและทรัพย์สินไป ก่อนจะตั้งคำถามใหม่ว่า แล้วถ้าหญิงแก่หยุดเดิน หันกลับมายิ้มให้ชายหนุ่ม ก่อนจะบอกว่า "โชคดีจัง กำลังอยากได้คนช่วยถือของให้อยู่พอดี พ่อหนุ่มสงสารคนแก่หน่อยนะ" จากนั้นก็ยื่นถุงให้ทั้งสองมือ ทำให้โจรคนนั้นจำใจยอมเป็นสุภาพบุรุษ  และเดินไปส่งหญิงแก่ถึงบ้าน...วิธีการเช่นนี้จะดีกว่าหรือไม่ เพราะไม่เสียทั้งทรัพย์สินและชีวิต


 


นารี สรุปว่า สันติวิธีคือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ไม่เป็นธรรมของอีกฝ่ายหนึ่ง ให้ปฏิบัติกับเราอย่างชอบธรรม ซึ่งนอกจากการเปลี่ยนพฤติกรรมแล้ว ยังรวมไปถึงการเปลี่ยนวิธีคิดและจิตใจของอีกฝ่ายหนึ่งด้วย


 


"ถ้าหญิงแก่เลือกเอาของฟาดหน้า ก็หมายถึงการใช้กำลังตอบโต้ ซึ่งก็จะถูกตอบโต้กลับมาด้วยความรุนแรงเช่นกัน แต่ถ้าเราเลือกยืนนิ่งๆ หรือยืนตัวสั่น ก็ไม่สามารถทำให้เรารอดพ้นพฤติกรรมที่ไม่เป็นธรรมของอีกฝ่ายหนึ่งได้"


 


เมื่ออธิบายถึงตอนนี้ ก็มีเสียงถามแทรกขึ้นว่า "ถ้าหญิงแก่เลือกวิ่งหนีล่ะ ถือเป็นการแก้ไขปัญหาแบบสันติวิธีหรือไม่"  นารี ตอบว่า การวิ่งหนีไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหา แต่เป็นเพียงการถอยหนีและยอมจำนนเท่านั้น


 


กรรมการ กอส. ยกตัวอย่างต่อไปว่า หากมองในมุมที่กว้างกว่านั้น เป็นระดับชุมชน แนวทางสันติวิธีก็สามารถใช้แก้ปัญหาความขัดแย้งได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นวิธีการรวมตัวเรียกร้องความเป็นธรรม หรือใช้การ "สานเสวนา"  เช่น ชาวประมงชายฝั่งที่ได้รับความเดือดร้อนจากเรืออวนรุน อวนลากที่เข้ามาแย่งจับปลา ซึ่งกลุ่มประมงชายฝั่งแก้ปัญหาด้วยการรวมตัวกันเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐกำหนดแนวเขตทำประมงที่ชัดเจน


 


"แนวทางนี้ก็ถือเป็นสันติวิธีรูปแบบหนึ่งในระดับชุมชน  เพราะถ้าเลือกใช้ความรุนแรง ก็จะมีแต่ความรุนแรงตามมา เช่น ถ้านำอาวุธไปประหัตประหารกัน ก็จะยิ่งไปกันใหญ่ การรวมตัวร้องเรียน จะทำให้ภาคราชการหันมาสนใจด้วย"


 


ส่วนการสานเสวนานั้น คือการนำผู้พิพาททั้ง 2 ฝ่ายมานั่งคุยกันแบบมีเงื่อนไข ซึ่งแม้จะแก้ปัญหาให้จบไม่ได้ในครั้งเดียว แต่อย่างน้อยก็จะทำให้ทั้งสองฝ่ายได้พบกัน รับรู้ปัญหาของกันและกัน และเริ่มเห็นอกเห็นใจกัน


 


นารี ยังเล่าต่ออีกว่า แนวทางสันติวิธีสามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งในระดับประเทศได้อีกด้วย อย่างในสมัยที่ "ราชินีอุงงู"  ปกครองรัฐปัตตานี (ค.ศ.1624-1635) ได้ทำสงครามกับสยามประเทศ โดยฝ่ายสยามได้เกณฑ์ทหารจากหัวเมืองตอนใต้มารบ ราชินีอุงงูจึงคิดแผนส่งทหารจำนวนหนึ่งปลอมเข้าไปเป็นทหารที่ถูกเกณฑ์ แล้วให้ไปกินข้าวและทำลายเสบียงของฝ่ายสยามจนหมด กระทั่งต้องยกทัพกลับไปโดยไม่ต้องรบกัน


 


จากนั้น ราชินีอุงงู ได้เดินทางไปเจรจากับสยามด้วยพระองค์เอง แล้วตกลงส่งดอกไม้เงินดอกไม้ทองไปให้ เพื่อจะได้ไม่ต้องรบกับสยาม


 


วิธีการส่งดอกไม้เงินดอกไม้ทองนี้ ถือเป็นแนวทางสันติวิธีของเมืองที่เล็กกว่า เพื่อไม่ต้องสู้รบกับอาณาจักรที่ใหญ่กว่า โดยไม่ได้หมายความว่าเป็นการสยบยอมหรือเป็นเมืองขึ้น และสยามก็ใช้วิธีเดียวกันนี้กับอาณาจักรจีน ซึ่งเป็นอาณาจักรที่ใหญ่กว่า โดยไม่ได้เป็นเมืองขึ้นของจีนเช่นกัน


 


"คนส่วนใหญ่คิดว่า การต่อสู้ต้องใช้ความรุนแรงเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วการต่อสู้มีหลายวิธี และไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรง" นารี สรุป


 


เธอยังบอกว่า แนวทางสันติวิธีประกอบด้วยหลัก 3 ประการ คือ 1.เป้าหมายต้องเป็นธรรม ซึ่งหมายความว่า เป้าหมายของการใช้แนวทางสันติวิธี จะต้องไม่นำไปสู่เป้าหมายที่เบียดเบียนอีกฝ่ายหนึ่ง 2.เคารพความเป็นมนุษย์ของคู่กรณี และ 3.อำนาจไม่ได้เกิดจากอาวุธ แต่เกิดจากการยอมรับ


 


จากนั้น รศ.ดร.ชัยวัฒน์  สถาอานันท์ กรรมการ กอส.อีกท่านหนึ่ง ได้บรรยายในหัวข้อ "สันติวิธีในอิสลาม" โดยบอกว่า การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธีนั้น เป็นแนวทางและหลักการของศาสนาอิสลามอย่างชัดเจน


 


ทั้งนี้ รศ.ดร.ชัยวัฒน์ ได้ยกคำสอนของศาสดาขึ้นมาอธิบายเปรียบเทียบว่า "ถ้ารู้ว่าเพื่อนบ้านยังหิวอยู่ จะไม่สามารถนอนหลับในฐานะมุสลิมได้" ซึ่งคำสอนข้อนี้ บอกเล่าแง่มุมได้ถึง 4 ด้านคือ 1.อิสลามมองว่าความหิวเป็นปัญหาใหญ่ 2.ความหิวที่เป็นปัญหา คือความหิวของเพื่อนบ้าน ซึ่งไม่ได้บอกว่าจะต้องเป็นมุสลิมด้วยกัน หรือเป็นพุทธ คริสต์ หรือ ยิว  3.ถ้ารู้ว่าเพื่อนบ้านหิว ต้องแก้ปัญหา และ 4.ความหิวของเพื่อนบ้านไม่ใช่เรื่องเล็ก แต่เป็นปัญหาของเราด้วย


 


"คำสอนในเรื่องนี้ บอกให้เรารู้ว่า เมื่อเจอปัญหา มุสลิมจะไม่ดูดาย แม้จะไม่ใช่ปัญหาของตนเอง อีกทั้งยังขยายพื้นที่ปัญหาให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมแก้ไข แต่หลักก็คือ จะต้องรับฟังทุกคน และให้ทุกคนมีความสำคัญเท่าเทียมกัน"


 


รศ.ดร.ชัยวัฒน์ สรุปว่า ศาสนาอิสลามนั้น สอนหลักการใหญ่ๆ เกี่ยวกับสันติวิธี 2 ประการ คือ 1.ความยุติธรรม ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเมื่อเจอปัญหาก็ให้ยอมๆ ไปเถอะ กับ 2.ความเมตตาปราณี ซึ่งไม่ได้หมายความเฉพาะกับมุสลิมด้วยกันเท่านั้น


 


ขณะที่ โสภณ สุภาพงษ์ กรรมการ กอส. และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กรุงเทพมหานคร กล่าวในหัวข้อ "วิถีสันติในชุมชนชายแดนใต้" โดยระบุว่า การยิ้มเป็นสิ่งแรกของแนวทางสันติวิธี เพราะสันติวิธีไม่ได้มาจากการแยกเขี้ยว  และการยิ้มคือการเริ่มต้นเป็นมิตรกัน


 


"ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรง ผมลงพื้นที่นับครั้งไม่ถ้วน ได้ไปเยี่ยมผู้หญิงมุสลิมหลายคนที่ต้องสูญเสียพ่อ หรือสูญเสียสามีไป ผมก็ไปถามความรู้สึกของพวกเธอว่าเศร้ามั้ย โกรธแค้นมั้ย แต่ทุกคนตอบเหมือนๆ กันว่า ไม่โกรธ ไม่เคียดแค้น เพราะเป็นประสงค์ของพระเจ้า"


 


โสภณ บอกว่า แนวคิดเช่นนี้ถือเป็นความงามของศาสนา เป็นแนวคิดสันติวิธีแท้ๆ เพราะถ้าเราไปจมอยู่กับความหลัง ความเศร้า และความเคียดแค้น ปัญหาก็ไม่มีวันจบ


 


ส.ว.โสภณ ยังเล่าถึงอีกครอบครัวหนึ่ง ที่ต้องสูญเสียสามีจากเหตุการณ์รุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วต้องรับภาระเลี้ยงลูกแฝดที่เพิ่งลืมตาดูโลก กับลูกๆ อีก 4 คนที่เกิดมาก่อนหน้านั้น


 


"ผมก็ถามเธอแบบเดียวกับคนอื่นๆ เธอตอบผมว่า ไม่เป็นไร และไม่ได้รู้สึกลำบาก เมื่อพระเจ้าให้เรามาแค่นี้ เราก็อยู่ไปแค่นี้ เพราะยังมีคนอื่นที่พระเจ้าให้น้อยกว่าเราอีก"


 


กลับหน้าแรกประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net