ยธ.รับต้องรอบคอบ ตรากฎหมายลดโทษแนวร่วมป่วนใต้

วันศุกร์ที่ 9 ธันวาคม 2005 18:00น. 


อาทิตย์ เคนมี, ปกรณ์ พึ่งเนตร : ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

 

ผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) ยอมรับว่า แนวคิดของ พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ยุติธรรม ที่จะให้ยกร่างกฎหมายเพื่อลดโทษให้กับแนวร่วมกลุ่มก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ออกมามอบตัวหรือให้ความร่วมมือทางราชการนั้น เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะส่งผลกระทบหลายด้านในกระบวนการยุติธรรม

 

นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า  แนวคิดในเรื่องนี้มีมานานแล้ว ตั้งแต่ช่วงก่อนการแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ด้วยซ้ำ โดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่มเด็กและเยาวชนที่หลบหนีข้ามไปยังฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน เพราะกลัวจะถูกทางการจับกุม

 

"เราอยากให้เด็กๆ และเยาวชนพวกนี้กลับมา เพราะบางคนก็ไม่ได้ทำความผิดอะไรมากมาย สาเหตุที่หลบหนีไปก็เพราะกลัว ทาง กอส.เองก็เคยตั้งวงหารือเรื่องนี้กันหลายหน และท่านชิดชัย ก็เป็นกรรมการอยู่ใน กอส.ด้วย ก็หารือกันมานาน แต่รูปแบบที่จะยกร่างเป็นกฎหมายยังไม่ลงตัว เพราะสามารถทำได้หลายรูปแบบ"

 

นายชาญเชาวน์ อธิบายต่อว่า ประเด็นที่ต้องนำมาพิจารณาในการยกร่างกฎหมายลักษณะนี้มีหลายประการ ขึ้นอยู่กับขอบเขตและรูปแบบว่าจะลดโทษหรือนิรโทษกรรมให้แค่ไหน  และแต่ละรูปแบบ ก็จะกระทบกับขอบเขตอำนาจของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ฉะนั้นจึงต้องมีความชัดเจนกันพอสมควร

 

เขายกตัวอย่างว่า หากจะออกกฎหมายเพื่อยกเลิกคดีความของผู้ที่ออกมามอบตัวกับทางราชการ ก็ต้องพิจารณาด้วยว่า ดุลยพินิจของอัยการในการสั่งฟ้องจะเป็นอย่างไร ถ้าการกระทำของผู้ต้องหาครบองค์ประกอบความผิด ยังจะต้องสั่งฟ้องหรือไม่ หรือหากมีหมายจับอยู่แล้ว จะยกเลิกหมายจับหรือเปล่า เป็นต้น 

 

อย่างไรก็ดี หากคดีเข้าสู่อำนาจศาล ซึ่งหมายถึงคดีที่ฟ้องร้องต่อศาลแล้ว ฝ่ายบริหารคงเข้าไปเกี่ยวข้องไม่ได้ ฉะนั้นกฎหมายที่ยกร่างออกมา จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวในส่วนนี้

 

อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กล่าวอีกว่า จริงๆ แล้วกฎหมายลักษณะเดียวกันนี้ในต่างประเทศมีใช้อยู่หลายรูปแบบ ซึ่งไม่ได้มีขอบเขตกว้างขวางถึงการนิรโทษกรรม เช่น กฎหมายต่อรองคำรับสารภาพ และกฎหมายชะลอการฟ้อง เป็นต้น ทว่าขณะนี้ นโยบายของ พล.ต.อ.ชิดชัย ยังไม่ชัดเจนว่าจะให้ใช้รูปแบบใด จึงต้องรอความชัดเจนก่อน

 

"ผมอยากจะขอร้องสื่อมวลชนว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก ฉะนั้นการจะนำเสนอข่าวต้องระมัดระวัง และควรรอให้มีความชัดเจนเสียก่อน เพราะปัจจุบันนี้ เวลาที่สังคมรับรู้ข่าวสารอะไรไปแล้ว จะฝังใจในเรื่องนั้นไปเลย ฉะนั้นหากไปเสนอข่าวในเชิงลบ นโยบายในเรื่องนั้นๆ ก็จะเสียไป ขณะที่นักกฎหมายก็ไม่ควรใจร้อนให้ความเห็นในเรื่องนี้เร็วเกินไป" นายชาญเชาวน์ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท