Skip to main content
sharethis


"รัฐบาลทักษิณ ณ ไทยรักไทย อาศัยสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐฯ เพื่อสิ่งใด? ไม่ใช่เพื่อต่อต้านภัยคุกคามจากการก่อการร้าย หากแต่เพื่อบั่นทอนพลังการเมืองภาคประชาชนและบ่อนทำลายฐานการเงินกับอำนาจของกลุ่มเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นหัวเมือง ซึ่งขัดขวางโครงการบูรณาการทางการเมืองต่างหาก"

 


การประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 6 ซึ่งจัดขึ้นที่ รร.โลตัสปางสวนแก้ว จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 7-8 ธ.ค.ที่ผ่านมา มีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศเข้าร่วมแลกเปลี่ยนทางวิชาการในหัวข้อเรื่อง "โลก รัฐ ท้องถิ่นในศตวรรษที่ 21 : การปะทะทางอารยธรรม ธรรมาภิบาล และท้องถิ่นนิยม" รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำเสนองานวิชาการเรื่อง "ยุทธศาสตร์อเมริกันต่อโลก เอเชียอาคเนย์ และไทย" ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้


 


0 0 0


 


ในห้วงขณะนี้ สหรัฐอเมริกามีความพยายามจะรื้อฟื้นยืนกรานอำนาจนำในเอเชียอาคเนย์ขึ้นมาใหม่ มีการพยายามเหนี่ยวรั้งปิดกั้นการรุกล้ำและการขยายอำนาจของจีน ในฐานะมหาอำนาจประเทศถัดไปที่จะกลายเป็นภัยคุกคามท้าทายอำนาจนำของสหรัฐทั้งในเอเชียอาคเนย์และโลก มีการปกป้องและเสริมสร้างผลประโยชน์และโอกาสทางเศรษฐกิจของอเมริกาในภูมิภาคนี้ที่เศรษฐกิจมีพลวัตสูงและลู่ทางสดใส


 


นอกจากนั้น ยังมีการพยายามควบคุม "จุดอุดตัน" ของเส้นทางเดินเรือทางทะเลที่สำคัญต่อการค้าภูมิภาคและการเคลื่อนกำลังทางทหารสหรัฐฯ ทั้ง 4 เส้นทาง ได้แก่ ช่องแคบมะละกา ซุนดา ลอมบอคหรือมากัสซาร์ รวมทั้งท่อส่งก๊าซผ่านทะเลน้ำตื้น เพื่อช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพและบูรณาภาพภายในของประเทศต่างๆ ในภูมิภาค เพื่อป้องกันไม่ให้ภูมิภาคขาดเสถียรภาพ จนกระทบต่อจุดมุ่งหมายของสหรัฐฯ เพื่อการนี้ สหรัฐฯ ต้องการเพิ่มทหารเข้ามาตั้งประจำในภูมิภาคมากขึ้น ทั้งในประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และประเทศไทย


 


ในด้านของกระแสอิสลามสู้รบในภูมิภาค ถูกเอ่ยถึงบ้างเล็กน้อยว่า ให้พึงจับตาดู แต่ไม่ได้ถูกเน้นย้ำเป็นหลักสำคัญแต่อย่างใด แสดงว่า มันไม่เกี่ยวกับการวางแนวทางยุทธศาสตร์หลัก เหตุการณ์ 9/11 เป็นเพียงแค่เปิดจังหวะให้ฝ่ายนีโอคอนส์ใช้มันเป็นข้ออ้างมาทำตามแผนยุทธศาสตร์ที่วางไว้ก่อนแล้ว


 


แต่โครงการจักรวรรดินิยมใหม่ของสหรัฐอเมริกา ที่แฝงเข้ามาในเอเชียอาคเนย์ในนามสงครามต่อต้านการก่อการ้ายสากลนั้น ต้องดำเนินงานผ่านและผสมผเสกับ โครงการอันหลากหลายของชนชั้นนำชาติต่างๆ ในเอเชียอาคเนย์ ผลที่ปรากฏออกมาจึงแตกต่างกันไป ไม่ว่าในกรณีฟิลิปปินส์ กับความสัมพันธ์แบบอาณานิคมใหม่ กรณีอินโดนีเซีย กับพันธมิตรอนุจักรวรรดินิยม หรือกรณีไทย กับการสวมรอยอำนาจนำ


 


กรณีฟิลิปปินส์ กับความสัมพันธ์แบบอาณานิคมใหม่


ฟิลิปปินส์มีมรดกตกค้างทางประวัติศาสตร์ จากระบอบอาณานิคมและอาณานิคมใหม่ รัฐบาลสหรัฐฯ จึงยังทรงอำนาจและมีทรงอิทธิพลในมะนิลา ชนชั้นนำและเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ต่างตกอยู่ในสภาพต้องพึ่งพาการลงทุนโดยตรงจากชาติตะวันตก และการเข้าถึงตลาดสหรัฐฯ


 


เหตุการณ์ 9/11 ให้ข้ออ้างแก่ชนชั้นนำสหรัฐฯ ที่จะยืนกรานส่งทหารกลับเข้ามาและดำเนินการต่างๆ ที่ละเมิดกฎหมายและอำนาจอธิปไตยที่ฟิลิปปินส์เยี่ยงอาณานิคมใหม่เพื่อ "ต่อสู้การก่อการร้ายสากล" ทั้งที่โดยเนื้อแท้แล้ว ก็เพื่อรับใช้ยุทธศาสตร์อเมริกันในภูมิภาคนั้นเอง


 


ในขณะเดียวกัน เหตุการณ์ 9/11 ก็ให้โอกาสแก่ชนชั้นนำฟิลิปปินส์ที่จะบอกขายและยัดเยียดการสมคบกับอเมริกันแก่ประชาชน ว่าเป็นไปเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติ โดยกดปราบและทวนกระแสคัดค้านแบบชาตินิยมอันกว้างขวางในประเทศเอาไว้


 


กรณีกลุ่มอาบูไซยาฟ (Abu Sayyaf Group) และการวางระเบิดก่อการร้ายครั้งต่างๆ ในฟิลิปปินส์ น่าสงสัยว่าจะเป็นการสร้างสถานการณ์ร่วมของซีไอเอ เพ็นตากอน เพื่อสหรัฐฯ ดำเนินแผนยุทธศาสตร์ได้ตามประสงค์ กับนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของฟิลิปปินส์ เพื่อหารายได้จากการลักลอบขายอาวุธให้ผู้ก่อการร้ายและจะได้รับความช่วยเหลือ "ต่อต้านการก่อการร้าย" จากสหรัฐอเมริกามากขึ้น


 


อินโดนีเซีย : พันธมิตรอนุจักรวรรดินิยม


ยากที่จะอเมริกันจะหวังมาตั้งฐานทัพในอินโดนีเซีย เพราะกระแสชาตินิยมดุเดือดรุนแรง อีกทั้งความที่ประชากรและกองทัพอินโดนีเซียส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ทำให้อ้างเหตุการณ์ 9/11 เพื่อการนี้จึงลำบาก


 


การดำเนินแผนยุทธศาสตร์ของอเมริกันในอินโดนีเซีย จึงออกมาในลักษณะกระชับความสัมพันธ์ทางทหาร และให้การหนุนช่วยอย่างแนบแน่นแก่กองทัพอินโดนีเซีย เพื่อโครงการยุทธศาสตร์จักรวรรดินิยมใหม่ในภูมิภาคของอเมริกัน และปล่อยให้กองทัพอินโดนีเซียดึงการสนับสนุนทางทหารของสหรัฐฯ ไปรับใช้โครงการอนุจักรวรรดินิยม (sub-imperrialism) ในประเทศของตนเอง เพื่อปราบกบฏแยกดินแดนในอาเจะห์และปาปัวตะวันตก ด้วยการก่อการร้ายโดยรัฐ (state terrorism)


 


องค์การเจไอ (Jemaah Islamiyah) นั้นมีมาแต่ก่อนนมนาน ไม่ใช่ลูกแล่งของอัลเคด้า ซึ่งมีหลากหลายแนวคิดและแตกแยกกันเองภายใน ไม่ได้เป็นปฏิปักษ์ต่อกองทัพหรือแม้แต่ชนชั้นนำอินโดนีเซียเอง หากมีการคบหารับใช้ใกล้ชิดกันด้วยซ้ำไป


 


เอาเข้าจริง องค์การเจไอจึงเป็นเป้าลวง งานปราบปรามองค์การเจไอของทางการของอินโดนีเซียจึงเดินหน้าไปไม่ถึงไหน แต่ขบวนการกบฏแบ่งแยกดินแดน Gerakan Aceh Merdeka- GAM) ในอาเจะห์ และขบวนการ Free Papua Movement - OPM) ในปาปัวตะวันตกต่างหาก ที่เป็นเป้าโจมตีอย่างแข็งขันเอาการเอางานอย่างแท้จริงของกองทัพอินโดนีเซีย


 


ไทย : กับการสวมรอยอำนาจนำ


ขอยกสงคราม 3 กรณีในประเทศไทยมาพิจารณา คือ สงครามกับผู้ก่อความไม่สงบภาคใต้ สงครามต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติด และสงครามต่อสู้เพื่อเอาชนะผู้มีอิทธิพล


 


กรณีสงครามกับผู้ก่อความไม่สงบภาคใต้ พบว่า อเมริกาอยากดึงไทยเข้าร่วมสงครามต่อต้านการก่อการร้ายสากล ขอความร่วมมือทางการไทยจับกุมและลักตัวฮัมบาลีไปดื้อๆ อีกทั้งสร้างกระแสกดดันปล่อยข่าวเรื่องภัยคุกคามจากการก่อการร้ายสากลขององค์การเจไอในไทย


 


กองทัพไทยต้องการปราบขบวนการแยกดินแดน ในแง่นี้ การโยงปัญหาการก่อความไม่สงบภาคใต้เข้ากับสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐฯ อาจทำให้ได้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ จากสหรัฐฯ


 


รัฐบาลทักษิณ ด้านหนึ่งมีท่าทีฉวยใช้สงครามต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐฯ ให้เป็นประโยชน์โดยส่งทหารไทยไปอิรักเพื่อแลกเปลี่ยนกับความช่วยเหลือทางทหารและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากสหรัฐฯ แต่อีกด้านหนึ่งก็ทัดทานยืนกรานว่า ปัญหาการก่อความไม่สงบภาคใต้ ไม่ใช่การก่อการร้ายสากล และวางตัวห่างระยะหนึ่งจากสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐฯ ในกรณีที่เกี่ยวกับภาคใต้ ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะเหตุผลทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว อีกทั้งเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงทางการเมืองและความมั่นคง หากผูกติดใกล้ชิดสหรัฐฯ มากเกินไป


 


ทว่าเมื่อดูกรณี "สงครามต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติด" และ "สงครามต่อสู้เพื่อเอาชนะผู้มีอิทธิพล" แล้ว จะพบว่า รัฐบาลทักษิณ ณ ไทยรักไทย อาศัยสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐฯ มาเป็นบริบทและวาทกรรม สวมรอยเข้าร่วมขบวนแถวพันธมิตรต่อต้านการก่อการร้ายภายใต้อำนาจนำของวอชิงตัน เพื่อสิ่งใด?


 


ไม่ใช่เพื่อต่อต้านภัยคุกคามจากการก่อการร้ายสากลตามที่วอชิงตันประกาศแต่อย่างใด หากเพื่อบั่นทอนพลังการเมืองภาคประชาชนและบ่อนทำลายฐานการเงินกับอำนาจของกลุ่มเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นหัวเมือง ซึ่งขัดขวางโครงการบูรณาการทางการเมืองแบบอำนาจนิยมของตนเองต่างหาก


 


ในความหมายนี้ แบบอย่างลัทธิทหารนิยม อำนาจนิยมของสหรัฐฯ จึงมีส่วนเปิดช่องสนองความชอบธรรมให้ชนชั้นนายทุนไทยรื้อฟื้นรัฐเพื่อความมั่นคงแห่งชาติขึ้นมาใหม่ และไปลิดรอนสิทธิมนุษยชนในนาม "ผลประโยชน์แห่งชาติ" มีการออกกฎหมายและมาตรการทหารนิยมที่ต่อต้านสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยออกมาตามรูปลักษณ์อเมริกันนั่นเอง


กลับหน้าแรกประชาไท


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net