Skip to main content
sharethis


 


 


การประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งที่  6 ขององค์การการค้าโลก หรือ WTO ได้เริ่มขึ้นแล้วเมื่อเวลา 15.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ที่ศูนย์ประชุมและนิทรรศการฮ่องกง หรือ Hong Kong Convention & Exhibition Center ท่ามกลางความหวังที่ริบหรี่ที่จะทำให้การเจรจารอบโดฮาจบลงได้ รวมถึงการประท้วงทั้งในและนอกห้องประชุม


 


นายปาสคาล ลามี่ ผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก กล่าวในพิธีเปิดระบุว่า การประชุมที่ฮ่องกงครั้งนี้เป็นของทุกคน ฉะนั้นอยากให้แต่ละประเทศได้อะไรติดไม้ติดมือกลับไป และร่วมฉลองชัยชนะที่สามารถตกลงได้ร่วมกัน "จริงอยู่ ความเสี่ยงจากการเปิดเสรีด้านต่างๆ อาจจะมีบ้าง แต่อยากให้เรียนรู้คำสุภาษิตจีนที่ว่า ไม่เข้าถ้ำเสือแล้วจะได้ลูกเสือได้อย่างไร ดังนั้น หากเป็นความเสี่ยงที่อยู่ในการคาดการณ์ก็น่าจะยอมรับกัน"


 


ผู้อำนวยการ WTO ต้องกล่าวในพิธีเปิดท่ามกลางการประท้วงขององค์กรพัฒนาเอกชนกว่า 50 คน ซึ่งลุกขึ้นชูป้ายประท้วงขนาดใหญ่เขียนด้วย 13 ภาษาว่า "No deal is better than bad deal" นั่นคือ "ไม่มีข้อตกลงเสียดีกว่า หากได้ข้อตกลงที่เลว"  และป้ายประท้วงขนาดเล็ก ที่เขียนด้วยภาษาอังกฤษ จีน และสเปน ว่า "WTO ฆ่าชาวนา, ทำลายสิ่งแวดล้อม, ทำลายการจ้างงาน ทำลายประชาธิปไตย, ล้าหลังตกสมัย, จงปฏิเสธ "ชุดต่อต้านการพัฒนาของโดฮา" และ ขอให้ยืนเคียงข้างประชาชน"


 


ผู้ประท้วงกว่า 50 คนลุกขึ้นชูป้ายพร้อมกัน และตะโกนว่า "หยุดโกหกได้แล้ว ลามี่", "WTO จงล้มไป" "เปิดทางให้กับทางเลือกเดี๋ยวนี้" การประท้วงดำเนินไปนานกว่า 10 นาที แกนนำผู้ประท้วงคือ ดร.วอลเดน เบลโล ในนามของ "เครือข่ายโลกไม่ได้มีไว้ขาย" (Our World is not for sale) ได้ออกมาแถลงข่าวถึงจุดยืนที่ไม่ต้องการให้การเจรจาดำเนินต่อไป เพราะการเจรจาครั้งนี้ไม่ใช่รอบของการพัฒนา แต่เป็นรอบทำลายการพัฒนาเสียมากกว่า


 


ทั้งนี้การแถลงข่าวมีภาคประชาสังคมจากทวีปต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งเกษตรกรจากประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาแล้ว แรงงาน ผู้หญิง และเครือข่ายนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมาแสดงจุดยืนต่อต้านองค์การการค้าโลก


 


ตัวแทนเกษตรกรจากแคนาดา กล่าวว่า 10 ปีขององค์การการค้าโลก ไม่ได้ทำให้ชีวิตเกษตรกรในแคนาดาดีขึ้น มีแต่เลวลงติดหนี้สิน รวมถึงเทคโนโลยีชีวภาพ เช่น พืชตัดต่อพันธุกรรมที่ทำให้เกษตรกรตกอยู่ในมือของบรรษัทข้ามชาติอย่างเบ็ดเสร็จ


 


ไม่เพียงการประท้วงด้านในห้องประชุมเท่านั้น ที่อ่าวด้านหน้าศูนย์ประชุม ชาวประมงพื้นบ้านจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ร่วมกันลอยเรือประมงประท้วง เมื่อมาถึงบริเวณหน้าศูนย์ประชุม ชาวประมงจากฟิลิปปินส์ 2 รายได้กระโดดน้ำมุ่งหน้าเข้ามาที่ศูนย์ประชุม แต่ถูกสกัดไว้ จากนั้นที่เหลือจึงได้ไปร่วมเดินขบวนกับสหพันธ์ชาวนาโลก หลายพันคนเดินรณรงค์จากสวนวิคตอเรีย ด้านตะวันออกของเกาะฮ่องกงมาที่ศูนย์ประชุม ก่อนที่จะถูกตำรวจสกัดไว้ประมาณ 1 กิโลเมตรก่อนถึงที่ประชุม


 


อย่างไรก็ตาม แม้การเดินรณรงค์ประท้วงจะเป็นไปอย่างสันติ แต่ก็มีการกระทบทระทั่งกับเจ้าหน้าที่ในช่วงที่ผู้ชุมนุมพยายามดันแนวกั้นของตำรวจ ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ฉีดสเปรย์พริกไทยใส่ผู้ชุมนุม แต่ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ ขณะเดียวกันผู้ชุมนุมจากเกาหลีใต้กว่า 10 คนได้พยายามว่ายน้ำเข้าไปยังด้านหน้าของศูนย์ประชุม มีเพียง 3 คนเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงตึกที่ประชุม แต่ถูกเจ้าหน้าที่สกัดกั้นและปล่อยตัวกลับมาในที่สุด ส่วนอีก 2 รายถูกนำส่งโรงพยาบาลเนื่องจากไม่สามารถทนความหนาวเย็นของน้ำ และความเหนื่อยล้าได้


 


สำหรับการเจรจาในเนื้อหานั้น จากความเห็นแตกต่างในประเด็นหลักๆ คือ สินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรม และการบริการ โดยสหรัฐฯ เสนอที่จะลดการอุดหนุนการส่งออก พร้อมๆ กับกดดันประเทศอื่นๆ ให้เปิดตลาดให้กับสินค้าและบริการของสหรัฐมากขึ้น แต่ถูกประเทศกำลังพัฒนานำโดย อินเดียและภาคประชาสังคมวิจารณ์ว่า ไม่ได้ลดจริง เพราะยักย้ายการอุดหนุนไปใส่ในกล่อง (box) อื่นๆ ขณะที่สหภาพยุโรปไม่ยอมลดการอุดหนุน หรือเปิดตลาดสินค้าเกษตรมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ยังกดดันให้ประเทศกำลังพัฒนาเปิดตลาดสินค้าอุตสาหกรรม และบริการด้วยสูตรการต่อรองใหม่ๆ


 


นาย คามาล นาถ รัฐมนตรีการค้าของอินเดีย แถลงข่าวระบุว่า อินเดียจะไม่ยอมทั้งในประเด็นสินค้าอุตสาหกรรมและการบริการ ตราบใดที่ประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหภาพยุโรป และสหรัฐ ไม่ยกเลิกการอุดหนุนซึ่งเป็นตัวแปรของการเบี่ยงเบนราคาสินค้า ขณะเดียวกันก็เริ่มมีความเห็นแตกต่างจากทางบราซิลและอาร์เจนติน่า ที่อาจจะยอมรับเงื่อนไขในเรื่องของการบริการและสินค้าอุตสาหกรรมของสหรัฐฯและ สหภาพยุโรปได้บ้าง หากแลกกับการเข้าถึงตลาดมากขึ้น


 


ดังนั้นขณะนี้ การประชุม WTO ที่ฮ่องกงรอบนี้ ประเด็นจึงอยู่ที่จะทำอย่างไรให้การประชุมไม่จบลงด้วยความล้มเหลว โดยแต่ละประเทศต้องช่วยกันพยายามรักษาหน้า โดยในเวลา 22.00 น.ของวันนี้จะมีการประชุมห้องเขียว (Green Room) โดยมีตัวแทนประเทศ 30 ประเทศเท่านั้นที่ได้รับเชิญ ซึ่งตัวแทนผู้เจรจาของไทยได้เข้าประชุมด้วย


 


ก่อนการประชุมจะเริ่มขึ้นในช่วง 48 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีความพยายามที่จะ "ขายของดี" ที่พอมีอยู่บ้างในการเจรจารอบโดฮา ที่จะพอได้ข้อสรุปที่ฮ่องกงนี้ คือ สิ่งที่เรียกว่า "ชุดข้อตกลงเรื่องการพัฒนา" หรือ Development Package เช่น การทำให้คำประกาศเมื่อเดือนสิงหาคม 2546 ว่าด้วยทริปส์และสาธารณสุข โดยเฉพาะในส่วนมาตรการยืดหยุ่นต่างๆ ที่อนุญาตให้แต่ละประเทศสามารถละเมิดสิทธิบัตรเพื่อการผลิตหรือนำเข้ายาในกรณีต่างๆ ได้ หรือที่เรียกว่า "มาตรการบังคับใช้สิทธิ" ให้เป็นข้อตกลงถาวร


 


แต่ข้อวิจารณ์อยู่ที่ การทำให้ "มาตรการบังคับใช้สิทธิ" เป็นมาตรการถาวรนั้นดี แต่เพราะเหตุใดจึงต้องเลื่อนระยะเวลาออกไป เพราะตามที่ระบุในเนื้อหากำหนดกรอบให้ประเทศสมาชิกให้สัตยาบันจนถึงปลายปี 2550 หรืออาจจะช้ากว่านั้นก็ได้ 


 


นอกจากนี้ประเด็นที่เลื่อนเวลาให้กับประเทศด้อยพัฒนาในการปรับตัวเข้ากับข้อตกลงไปอีก 7 ปีครึ่งนั้น แม้จะดูเหมือนดี แต่ก็ไม่มีหลักประกันที่จะสร้างความมั่นใจให้กับประเทศที่กฎหมายภายในถูกเปลี่ยนด้วยเงื่อนไขต่างๆ ให้เข้มงวดไม่แพ้ในประเทศัฒนาแล้ว การถอยหลังกลับไปเพื่อประโยชน์ของประเทศตัวเอง กลายเป็นเรื่องที่ไม่มีใครกล้าทำ เพราะกลัวว่าจะถูกแซงชั่นจากประเทศร่ำรวย


 


ในชุดข้อตกลงเรื่องการพัฒนา หรือ Development Package ที่มีประเด็นว่าด้วยเรื่อง Aid for Trade หรือการให้ความช่วยเหลือทางด้านการค้านั้น นายจักรชัย โฉมทองดี จากโครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา ระบุว่า น่าจะเรียก "ข้อเสนอการพัฒนาจอมปลอม" เพราะเอาเข้าจริงแล้ว เนื้อในน่าจะเป็น Debt for Trade มากกว่า นั่นคือ ไม่ใช่การให้ความช่วยเหลือ แต่เป็นการให้เงินกู้ "พูดง่ายๆ ว่าเป็นเรื่องการอำนวยความสะดวกทางด้านการค้ามากกว่าที่จะเป็นการเสริมสร้างศักยภาพทางด้านการค้าและการแข่งขันให้กับประเทศนั้นๆ


 


"ฉะนั้นการจะขายประเด็นเหล่านี้เพื่อแลกกับการเร่งเครื่องเรื่องบริการหรือ GATS ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะข้อเสนอนี้ดูเหมือนดูดีกับประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะกลุ่มเอพีซี หรือแอฟริกา แคริบเบียน แปซิฟิค แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ดีเท่าไร"


 


ประเด็นที่น่าจับตาขณะนี้ คือ ข้อเสนอของกลุ่มอาเซียนในประเด็นการบริการที่ต้องการคงการเปิดเสรีอย่างค่อยเป็นค่อยไป ให้ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละประเทศ และไม่ต้องการรับการเจรจารวมกลุ่ม (plurilateral approach) ซึ่งต่างจากข้อเสนอของสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ที่ต้องการให้มีมาตรการขั้นต่ำในการเปิดเสรีเป็นมาตรฐานเดียว ไม่ขึ้นกับความพร้อมของประเทศต่างๆ อีกทั้ง กลุ่มอาเซียนมีอำนาจต่อรองมากกว่ากลุ่มแอฟริกา หากกลุ่มอาเซียนมั่นคงในจุดยืนนี้ เชื่อว่า อาจทำให้ประเทศพัฒนาอาจจะต้องยอมถอยการรุกไล่ลง


  กลับหน้าแรกประชาไท 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net