Skip to main content
sharethis


 


หากนึกถึงสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาอันดับต้นๆ ของเมืองไทย คำตอบในใจของใครหลายคนคงไม่พ้นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหากให้ลองนึกถึงกิจกรรมที่องอาจยืนหยัดอยู่คู่กับ 2 สถาบัน ก็คงหนีไม่พ้นกิจกรรมฟุตบอลประเพณี ซึ่งในวันที่ 21 มกราคม 2549 จะจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 62


 


แน่นอนว่า นอกจากเชียร์ลีดเดอร์หนุ่มหล่อสาวสวยของทั้ง  2  มหาวิทยาลัย สัญลักษณ์อีกประการหนึ่งของงานบอลฯ คงต้องเป็นเสื้อเชียร์ที่อ้างอิงกับสีประจำสถาบัน ชมพูคู่จุฬาฯ  เหลือง-แดงหนาคู่ธรรมศาสตร์


 


สีเหลือง กับการเฉลิมฉลองการครองราชย์


จากเดิมที่เสื้อเชียร์ของธรรมศาสตร์เคยเน้นสีแดง แล้วแซมด้วยเหลือง แต่ในปีนี้โทนสีของเสื้อเชียร์กลับเปลี่ยนไปโดยการเน้นสีเหลืองข่มแดง จนทำให้ศิษย์เก่าหลายท่านเคลือบแคลงใจว่า น่าจะมีที่มาที่ไปไม่ใช่ธรรมดา


                                                                                                         


ธนาชัย สุนทรอนันตชัย นายกองค์กรนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) อธิบายถึงสาเหตุที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะต้องชูความเป็นเหลืองนำหน้าแดง ว่า "เนื่องคอนเซ็บต์ของงานฟุตบอลประเพณีในปีหน้าจะเน้นเรื่องของการทำความดี และการครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของในหลวง


 


"เพราะส่วนใหญ่ที่ผ่านมาเวลาพูดถึงงานฟุตบอลประเพณี จะคิดว่าเป็นเพียงเรื่องความร่วมมือของ 2 สถาบัน ตอนที่ประชุมกันรู้สึกว่าในครั้งนี้เราอยากให้มองไกลไปกว่าเรื่องของ 2 สถาบันจึงได้นำเรื่องการทำความดีมาเป็นคอนเซ็บต์ของงาน


 


 


 


"และอีกส่วนหนึ่งในปีหน้าก็เป็นโอกาสอันดีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นศูนย์กลางแห่งศรัทธา และความเชื่อมั่นของประชาชน เราจึงชูประเด็นเรื่องการทำความดีเพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ


 


"นั่นคือสาเหตุที่ทำให้เสื้อเชียร์ของธรรมศาสตร์ในปีนี้ เน้นสีเหลือง เพราะธรรมศาสตร์เองก็มีสีประจำมหาวิทยาลัยเป็นเหลืองแดงอยู่แล้ว"


 


ด้าน จามร ฉัตรเสถียรพงศ์ ประธานชมรมเชียร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ซึ่งดูแลเรื่องการคัดเลือกแบบเสื้อที่ส่งเข้าประกวด กล่าวว่า "สาเหตุที่เสื้อเชียร์ปีนี้เป็นสีเหลือง คงไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองที่มีการใช้สีเหลืองในลักษณะต่อต้านรัฐบาล เพราะว่าเรามีคอนเซ็ปต์เสื้อเชียร์ในปีนี้ว่า "เหลืองของเราคือธรรมประจำจิต" แล้วอีกส่วนหนึ่งคือปีหน้า จะเป็นวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครองราชย์ครบ 60 ปี เราก็ควรที่จะพูดถึงเรื่องการครองราชย์"


 


สีเหลืองตามเทรนด์ เน้นยอดขาย


นิติพล โยธินอุปมัย ประธานกองกิจการนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความเห็นในเรื่องเสื้อเชียร์สีเหลืองว่า "จริงๆ มหาวิทยาลัยมีสีเหลืองแดงเป็นสีประจำมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนสีเสื้อเชียร์จากที่เคยเน้นสีแดง เป็นเน้นสีเหลือง อาจเป็นแค่เรื่องอยากเปลี่ยนสไตล์ เป็นเรื่องของการเปิดตลาด เพราะแต่ก่อนมักจะเป็นพื้นสีแดง แล้วมีสีเหลืองเล็กน้อย บางคนเขาเห็นว่าซ้ำๆ กันทุกปีเขาก็ไม่อยากซื้อ"


 


ด้าน อุปสงค์ สถิตมั่งคั่ง นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า "การเปลี่ยนสีเสื้อเชียร์เป็นเรื่องปกติ ที่จะเปลี่ยนสีไปตามเทรนด์ เพื่อทำให้ดูแตกต่าง"


 


สีเหลือง กับความเป็นธรรมศาสตร์ฉบับ "กุ๊กกิ๊ก"


เหมวัส ชาญชัยวานิช ผู้ประสานงานศูนย์ประชาสัมพันธ์ Cheer Club ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า "ปีนี้แบบเสื้อจะไม่ค่อยซีเรียส เพราะอย่างทุกปีจะเป็นธรรมศาสตร์จ๋า แต่ปีนี้จะดูกุ๊กกิ๊กส่วนตัวคิดว่าเราแตกต่างบ้างก็ได้"



 


         


 


สีเหลืองกับการมีส่วนร่วมของนักศึกษา มธ.


สรพล จรัสโชติพินิต นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความเห็นว่า "จริงๆ ก็เคยมีอยู่ครั้งหนึ่งที่เสื้อเชียร์ไม่ใช่สีเหลืองแดง ถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็นงานฟุตบอลประเพณีครั้งที่ 2 เพราะฉะนั้นการที่เสื้อเชียร์ปีนี้เป็นสีเหลืองก็ไม่ได้ซีเรียสอะไร แต่อยากให้เรื่องของการออกแบบเสื้อเป็นเรื่องสาธารณะมากกว่านี้ อยากให้เป็นเรื่องการตัดสินใจร่วมของชาวธรรมศาสตร์ทั้งหมด ไม่ใช่เป็นเรื่องของคนเพียงกลุ่มเดียวคัดเลือก"


 


สีเหลืองกับความลับที่บอกใครไม่ได้


ข้อมูลความคิดเห็นของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่นำเสนอไปข้างต้น อาจทำให้เห็นว่า ความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องของนานาทัศนะ แต่ข้อมูลที่นักศึกษาอีกกลุ่มหนึ่งเปิดเผยให้รับทราบ อาจทำให้เห็นว่า "สีเหลือง" อาจไม่ใช่นานาทัศนะอย่างที่ใครคิดกัน


 


"จริงๆ ที่ทราบมาคือ ตอนแรกสีของเสื้อเชียร์ไม่ใช่สีเหลือง จนวันที่มีการขึ้นเปิดตัวเสื้อเชียร์คนที่เขาออกแบบเขาก็ไม่ค่อยอยากขึ้น เพราะมันไม่ใช่แบบที่เขาส่งประกวดแล้วได้รับคัดเลือก แต่เขาจำเป็นต้องขึ้นไปพูดตามที่มีคนเขียนไว้ให้พูด ซึ่งแบบที่ออกมาอย่างที่เห็นกันเป็นการกำหนดจากสปอนเซอร์ ซึ่งก็คือสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


"อย่างปีที่แล้วในงานฟุตบอลประเพณีนักศึกษาก็ทะเลาะกันเรื่องที่ทางสมาคมศิษย์เก่าฯ ไม่ยอมให้นำหุ่นล้อการเมืองเข้าสนามฟุตบอล ขณะที่กลุ่มอิสระที่ทำหุ่นล้อการเมืองก็เห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา


โดยหุ่นที่มีปัญหาในวันนั้นคือ หุ่นยุงที่มีปากเป็นโดมกำลังจิกนักศึกษา ซึ่งสื่อว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กำลังสูบเลือดจากนักศึกษา ทาง อมธ.กับชุมนุมเชียร์ก็เข้ามาไกล่เกลี่ย แต่วันจริงกลับไม่ให้นำเข้า จนเกิดการกระทบกระทั่ง โดยส่วนตัวเห็นว่านักศึกษาต้องมาทะเลาะกันเพราะทางสมาคมศิษย์เก่าเข้ามาชี้นำมากเกินไป"


 


ด้าน นักศึกษาสาว อีกรายหนึ่งซึ่งได้พูดคุยกับเจ้าของแบบเสื้อ ยืนยันว่า "คนที่ออกแบบ เขาบอกว่าเสื้อเชียร์ที่เขาออกแบบไม่ได้เป็นอย่างที่เห็นกัน แต่มันถูกดัดแปลงทั้งสี และโลโก้"


 


จิตวิญญาณธรรมศาสตร์ ในวันที่อะไรๆ ก็เปลี่ยนไป


นอกจากสีเสื้อที่เปลี่ยนไป ความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่กว่า ในปีการศึกษา 2549 คือ นักศึกษาระดับปริญญาตรีภาคปกติของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่ชั้นปีที่ 1-4 จะต้องย้ายไปเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต ส่วนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ จะจัดการเรียนการสอนเฉพาะนักศึกษาภาคอินเตอร์ หรือหลักสูตรนานาชาติ นักศึกษาโครงการพิเศษ และนักศึกษาระดับปริญญาโท ซึ่งค่าหน่วยกิจของทั้ง 3 ภาค มีราคาสูงมากกว่าภาคปกติประมาณ 2-3 เท่า จนก่อให้เกิดคำถามถึงความเหมาะสมทั้งในแง่ของการสูญเสียจิตวิญญาณทางสังคม ตลอดจนการคัดเลือกเฉพาะเผ่าพันธุ์ที่มีฐานะให้คงอยู่ในพื้นที่ที่กำลังทุ่มงบมหาศาลเพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์


 


ในมุมมองของนักศึกษาปัจจุบันเขาคิดยังไงกับเรื่องดังกล่าว?


 


"การย้ายนักศึกษาภาคปกติไปเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยส่วนตัวไม่ค่อยคัดค้าน หรือเห็นด้วย จริงๆ อยากให้ทั้ง 4 ชั้นปีได้เรียนอยู่ที่เดียวกัน แล้วให้เหลือเฉพาะปริญญาโท เพราะคำว่าจิตวิญญาณมันขึ้นอยู่กับตัวบุคคล มันอยู่ที่ว่าเราจะสร้างมันขึ้นมาอย่างไรมากกว่า ผมเชื่อว่าตอนก่อตั้งธรรมศาตร์ท่าพระจันทร์ ก็คงไม่ได้มีจิตวิญญาณมาตั้งแต่แรกเริ่ม" จามร ฉัตรเสถียรพงศ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว


 


สรพล จรัสโชติพินิต นักศึกษาชั้นปีที่ 4  คณะเศรษฐศาสตร์ แสดงความเห็นว่า "การย้ายนักศึกษาภาคปกติไปเรียนที่ศูนย์รังสิต ทั้ง 4 ชั้นปี ดีแล้ว เพราะที่นี่คับแคบ ไม่น่าใช้งาน แต่อยากให้ย้ายไปทั้งหมด รวมทั้งภาคอินเตอร์ด้วย


 


"การใช้ชีวิตที่รังสิตจะเป็นชีวิตที่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย ทำให้เราไม่เห็นความเป็นไปทางสังคม อย่างเวลาอยู่ที่นี่ ถึงไม่อยากรู้ก็ต้องรู้ว่า ทำไมรถต้องติด เพราะเขามีการประท้วง ชีวิตที่รังสิตจึงเหมือนเป็นโลกแห่งความฝัน จริงๆ เด็กปี 1 ปี 2 ไฟแรง แต่พวกเขาถูกผลักให้ไปอยู่ในโลกความฝันที่มีเฉพาะพวกเขา รุ่นพี่ที่จะแนะนำก็ไม่มี ทำให้เขาก็ไม่ค่อยสนใจประเด็นความเป็นไปของสังคมเท่าไหร่"


 


อุปสงค์ สถิตมั่งคั่ง นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า "การย้ายนักศึกษาไปเรียนที่รังสิต แล้วให้เฉพาะนักศึกษาภาคอินเตอร์ กับนักศึกษาปริญญาโทอยู่ที่ท่าพระจันทร์ เป็นเรื่องการหาเงินเข้ามหาวิทยาลัยรูปแบบหนึ่ง คิดว่าดีแล้วมหาวิทยาลัยจะได้มีเงิน เนื่องจากมหาวิทยาลัยจะต้องออกนอกระบบ จึงจำเป็นต้องหาเงินด้วยตัวเอง"


 


หากสังเกตรายละเอียดจากคำบอกเล่าของคนรุ่นใหม่ในรั้วแม่โดม จะพบว่า ในมุมมองของ จามร"คำว่าจิตวิญญาณมันขึ้นอยู่กับตัวบุคคล มันอยู่ที่ว่าเราจะสร้างมันขึ้นมาอย่างไรมากกว่า ผมเชื่อว่าตอนก่อตั้งธรรมศาตร์ท่าพระจันทร์ ก็คงไม่ได้มีจิตวิญญาณมาตั้งแต่แรกเริ่ม" แสดงให้เห็นถึงการยอมรับในความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นใหม่เกี่ยวกับความเป็นไปของสถาบันการศึกษาซึ่งผลิตเขาขึ้นมา


 


ในขณะที่ สรพล เห็นด้วยกับการย้ายนักศึกษาภาคปกติไปเรียนที่ศูนย์รังสิต เนื่องจากสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย แต่จากข้อมูลที่บอกว่า "การใช้ชีวิตที่รังสิตจะเป็นชีวิตที่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยทำให้เราไม่เห็นความเป็นไปทางสังคม อย่างเวลาอยู่ที่นี่ถึงไม่อยากรู้ก็ต้องรู้ว่าทำไมรถต้องติด เพราะเขามีการประท้วง ชีวิตที่รังสิตจึงเหมือนเป็นโลกแห่งความฝัน จริงๆ เด็กปี 1 ปี 2 ไฟแรง แต่พวกเขาถูกผลักให้ไปอยู่ในโลกความฝันที่มีเฉพาะพวกเขา รุ่นพี่ที่จะแนะนำก็ไม่มีทำให้เขาก็ไม่ค่อยสนใจประเด็นความเป็นไปของสังคมเท่าไหร่" แสดงให้เห็นว่าตัวเขาเองก็หวาดระแวงในสิ่งที่เขาเรียกว่าโลกความฝัน


 


ขณะเดียวกันมุมมองที่ว่า "การย้ายนักศึกษาไปเรียนที่รังสิต แล้วให้เฉพาะนักศึกษาภาคอินเตอร์ กับนักศึกษาปริญญาโทอยู่ที่ท่าพระจันทร์ เป็นเรื่องการหาเงินเข้ามหาวิทยาลัยรูปแบบหนึ่ง คิดว่าดีแล้วมหาวิทยาลัยจะได้มีเงิน เนื่องจากมหาวิทยาลัยจะต้องออกนอกระบบจึงจำเป็นต้องหาเงินด้วยตัวเอง" แสดงให้เห็นว่า สภาพความจำเป็นทางด้านเศรษฐกิจแบบที่ผู้ใหญ่พยายามยัดเหยียดข้อมูลให้ ก็มีผลต่อทัศนะคติในการยอมรับความเปลี่ยนแปลงของสถาบันที่ได้ชื่อว่า "มหาวิทยาลัย" หรือ "ที่อยู่ของความรู้อันยิ่งใหญ่"


 


ขณะที่คนหนึ่งเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติ และแต่ละบุคคลมีภูมิป้องกันทางปัญญาเป็นของตนเอง อีกคนก็หวาดระแวงต่อการเปลี่ยนแปลงตามประสบการณ์ที่เขาพบเจอ แต่อีกคนหนึ่งก็ฉาชินต่อการต่อสู้ เพราะเขาเชื่อตามที่ผู้ใหญ่อัดฉีดความคิดที่ว่า "เงิน" กับ "การศึกษา" เป็นของคู่กัน


 


ย้อนกลับไปเรื่องข้อมูลเสื้อเชียร์ หากข้อมูลที่ว่าเสื้อเชียร์ถูกเปลี่ยนสีโดยผู้ใหญ่บางคนเป็นเรื่องจริง ก็น่าเป็นห่วงว่า "นักศึกษา" ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงทางสังคม จะมีรูปร่างหน้าตาเป็นเช่นไร เมื่อพวกเขาถูกสอนให้ยอมรับวิธีคิดของผู้ใหญ่บางคนโดยไม่มีสิทธิ์วิพากษ์ บางครั้งเขาอาจยอมรับเพราะเชื่อว่ามันคงไม่เลวร้ายขนาดนั้น หรือบางทีเขาอาจมีสิทธิ์เพียงแค่หวาดระแวงแต่ปฏิเสธไม่ได้ หรือบางทีเขาอาจยอมรับว่าสุดท้ายก็เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ที่จะบงการให้ชีวิตของพวกเขาขับเคลื่อนไป


 


"แล้วมันจะมีอิสระอะไรในเรื่องความคิด หรือคุณต้องการให้คนเป็นแบบนั้นเหรอ คุณต้องการให้คนเป็นเหมือนสัตว์เลี้ยงในบ้านเหรอ...แล้ววิธีคิดแบบธรรมศาสตร์หายไปไหน" (บทสัมภาษณ์ อ.ปฐมฤกษ์ เกตุทัต. วารสารล้าหลัง ปีที่ 2 ฉบับที่ 2  ตุลาคม 2548 หน้า 8)


 


หรือวันนี้ธรรมศาสตร์จะเปลี่ยนไป ด้วยน้ำมือของผู้ใหญ่ที่ชอบป้าย และเปลี่ยนสีให้เยาวชน แล้วจริงๆ ?

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net