Skip to main content
sharethis


ภาพจาก kanchanapisek.or.th


 


ดูเหมือนว่า รัฐบาลยังมีความพยายามที่จะผลักดันแผนและโครงการพัฒนาแหล่งน้ำตามนโยบายการจัดการทรัพยากรน้ำออกมาอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงความพยายามที่จะหาทางออก เช่น การออก พ.ร.บ.น้ำแห่งชาติ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ ได้ถูกตั้งข้อสังเกตและวิพากษ์วิจารณ์ว่า จะเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนโรงงาน มุ่งเน้นการแปรรูปทรัพยากรน้ำ โดยการให้สัมปทานแก่บริษัทเอกชนเข้าไปดำเนินการในกิจการน้ำทุกมิติในการจัดการน้ำ มากกว่าภาคประชาชนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรรายย่อยหรือคนยากจน ย่อมเสียเปรียบและเข้าถึงทรัพยากรน้ำได้ยากลำบากมากยิ่งขึ้น


 


นายมนตรี จันทวงศ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ กล่าวว่า นโยบายของประเทศในเรื่องการจัดการน้ำ ยังไม่เห็นเลยว่าจะจบได้โดยง่าย ตัวอย่างล่าสุด จะมีสองเรื่อง เรื่องแรก นโยบายการจัดการน้ำ ซึ่งเมื่อดูในนโยบาย เห็นบอกว่าการสร้างเขื่อนในไทยจะลดน้อยลง เพราะอ้างว่าพื้นที่เต็ม แต่เมื่อมาดูในแผนการจัดการลุ่มน้ำ 25 ลุ่มน้ำ กลับเห็นว่ายังมีแผนที่จะสร้างเขื่อนอีกจำนวนมาก


"สิ่งที่เพิ่งจะผ่านไป รัฐมีแผนในการลงทุนขนาดใหญ่ในหลายด้าน รวมทั้งเรื่องการพัฒนาแหล่งน้ำ มีการผ่านงบประมาณ 2 แสน 4 หมื่นล้านบาท ส่วนของการพัฒนาแหล่งน้ำที่ไม่เกี่ยวกับการบริหารจัดการ แต่เน้นเกี่ยวกับการสร้างเขื่อน ท่อส่งน้ำ เป็นจำนวนงบประมาณถึง 1 แสน 9 หมื่นล้านบาท หากคิดการลงทุน การหาน้ำครั้งแรกจะได้ 2,100 ล้านลูกบาศก์เมตร จะต้องลงทุนหาน้ำ 1 คิว ซึ่งสูงถึง 68 บาทต่อคิว ซึ่งเมื่อเทียบกับในอดีต ในโครงการที่สร้างมาแล้วอย่างมากก็ 10 - 20 บาท แสดงว่าการลงทุนของรัฐในอนาคตจะต้องมีการลงทุนมากขึ้น"


 


นายมนตรี กล่าวอีกว่า รัฐจะต้องมีการจ่ายต้นทุนทางสังคม ค่าเงินลดลง และส่วนนี้ก็ยังเกี่ยวกับหาแหล่งพลังงานจากต่างประเทศ เช่นโครงการผันน้ำจากเขื่อนน้ำงึม ประเทศลาว มายังลำน้ำซี เพราะเมื่อคิดต้นทุนถูกกว่า รัฐจึงเลือกทั้งสองทาง ทั้งการเอาน้ำจากต่างประเทศ และสร้างเขื่อนในประเทศ


 


ชี้ กก.ลุ่มน้ำ เป็นเพียงกลไกข้ออ้างจัดการน้ำโดยรัฐ


นายมนตรี ยังได้กล่าวถึงตัวโครงการ 1แสน 9 หมื่นล้านบาทที่ถูกเสนอภายใต้กรอบคณะกรรมการลุ่มน้ำที่ตั้งขึ้นมาหลอกๆ ตามแผนพัฒนา 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ เช่น ปิง วัง ยม น่าน แม่โลง น้ำสงคราม น้ำชี น้ำมูล เป็นต้น โดยกรมทรัพยากรน้ำ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เสนอว่า คณะกรรมการลุ่มน้ำจะเป็นตัวแทนของประชาชน และร่วมกันพิจารณาเสนอมาที่รัฐบาล เป็นเหมือนว่า การพัฒนาต่างๆ ที่รัฐมักอ้างว่า มาจากรากหญ้า หรือที่เรียกว่าคณะกรรมการลุ่มน้ำ แท้จริงแล้ว การคัดค้านของคนในคณะกรรมการลุ่มน้ำ อาจจะไม่ส่งผลอะไรเลย เพราะคนที่เขียนข้อสรุปคือคนของรัฐ และคณะกรรมการกลายเป็นเพียงกลไกสำคัญใน พ.ร.บ.น้ำ เท่านั้นเอง


 


ชำแหละ พ.ร.บ.น้ำ เพื่อใคร?


ผู้อำนวยการมูลนิธิโครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ กล่าวถึง พ.ร.บ.น้ำ ที่เพิ่งร่างออกมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ขณะนี้มีการร่าง พ.ร.บ.น้ำ ออกมาเรียบร้อยแล้ว ตอนนี้รอผ่านกระทรวง และคณะรัฐมนตรี ตัวกลไกสำคัญคือคณะกรรมการลุ่มน้ำที่มี 29 ชุด ใน 25 ลุ่มน้ำ โดยมีประเด็นสำคัญอย่างมาก ที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง


 


"เมื่อ พ.ร.บ.น้ำประกาศใช้ จะต้องมีการสรรหาคณะกรรมการลุ่มน้ำระดับชาติในพื้นที่ลุ่มน้ำหลัก แต่ต้องหลังการประกาศใช้ 2 ปี นั่นหมายความว่า ใครเป็นกรรมการลุ่มน้ำตอนนี้ ก็มีอำนาจตามกฎหมายทันที เนื่องจากบทเฉพาะกาล ไม่ได้ระบุการควบคุมอำนาจอย่างไร แต่ในกฎหมายมีการกำหนดให้ประชาชนเข้ามาทำการสรรหา"


 


ที่สำคัญของคณะกรรมการลุ่มน้ำจะทำหน้าที่ในการจัดสรรน้ำ น้ำตามกฏหมายน้ำจะถูกแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ หนึ่ง การใช้โดยไม่ต้องขออนุญาต หรือผู้ใช้น้ำรายย่อย สอง การใช้น้ำที่ต้องขออนุญาต และสาม การใช้น้ำขนาดใหญ่จะต้องขออนุญาต เช่น โรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น


 


"คนที่วางหน้าที่ หลักเกณฑ์ในการใช้น้ำ คือคณะกรรมการลุ่มน้ำ ยกตัวอย่างเช่น ที่เขื่อนอุบลรัตน์ มีผู้ใช้น้ำหลายกลุ่ม ทั้งชาวบ้าน โรงงาน ทำน้ำประปา คณะกรรมการลุ่มน้ำซีจะเป็นคนจัดสรรว่าโรงงาน ประปา และชาวบ้านที่ใช้น้ำในการทำงานเกษตรจะได้เท่าไหร่ และจะต้องมีน้ำเหลือในเขื่อนอุบลรัตน์เท่าไร ที่จะทำให้ชาวบ้านเลี้ยงปลาได้ การออกใบอนุญาตที่ออกให้ มีฐานะเหมือนสัญญาในการคุ้มครองการใช้น้ำเท่ากับปริมาณที่ตกลง และผู้ขออนุญาตจะต้องมีการจ่ายค่าธรรมเนียม"


 


ชี้ พ.ร.บ.น้ำ เอื้อจ่ายน้ำให้นายทุนโรงงาน ชาวบ้านไม่ได้รับคุ้มครอง


ในส่วนของชาวบ้านที่ได้ใช้น้ำจากเขื่อนมาทำการเกษตร ไม่ต้องขออนุญาต ไม่ต้องจ่ายเงินค่าขออนุญาตในการใช้น้ำ แต่มีสิ่งที่น่าสังเกตก็คือ กฎหมายดังกล่าวไม่ได้คุ้มครองว่าชาวบ้านรายย่อยจะได้รับสิทธิในการจัดสรรน้ำเป็นอันดับที่ 1 เพราะเราไม่มีสัญญา หากน้ำในเขื่อนแห้ง กรรมการลุ่มน้ำ จะต้องมีพันธะสัญญาจ่ายให้โรงงาน หรือคนที่ขอนุญาตก่อนตามกฎหมาย


 


"หากชาวบ้านอยากที่จะมีสิทธิในการคุ้มครองตามกฎหมาย จะต้องมีการรวมตัวกันไปขออนุญาต เพื่อให้ได้ใบอนุญาต ต้องจ่ายเงิน แต่ไม่มีการกำหนดว่าต้องจ่ายเท่าไหร่ เมื่อมีการประกาศใช้กฎหมายน้ำ ไม่ได้มีผลทีเดียวทั้งประเทศ แต่จะมีผลกับคนที่ใช้น้ำในระบบก่อน เช่น จากเขื่อน จากคลองชลประทานที่มีอยู่แล้ว เพราะระบบเหล่านี้มีการปิด-เปิดน้ำได้ง่าย อันดับสอง คือคนที่ใช้น้ำตามธรรมชาติ ตามลำคลอง จะต้องมีการขออนุญาตถัดไป"


 


นายมนตรี ยังได้ชี้ประเด็น พ.ร.บ.น้ำ ในเรื่องของใบอนุญาตใช้น้ำ ซึ่งสามารถที่จะทำการซื้อขายกันได้ เช่น กรณีโรงงานหนึ่ง ขอใบอนุญาตซื้อน้ำมาแล้ว แต่ไม่พอใช้ ก็สามารถไปซื้อสิทธิการใช้น้ำจากผู้อื่นมาเป็นของตนได้ โดยผู้ที่ทำหน้าที่ในการเป็นตัวกลางในการชื้อขาย เก็บเงิน ก็คือคณะกรรมการลุ่มน้ำนั่นเอง


 


เผยสัดส่วนกรรมการลุ่มน้ำเอียงข้างรัฐ


เมื่อพูดถึงสัดส่วนที่มาของคณะกรรมการลุ่มน้ำ จะมีคณะกรรมการที่เป็นตัวแทนชาวบ้านเพียง 1 คน ต่อ 1 ชุดเท่านั้น นอกนั้นจะมาจากส่วนอื่นๆ เช่น อบต. เทศบาล ซึ่งก็ไม่มีใครแน่ใจว่าจะอยู่ข้างรัฐหรือข้างชาวบ้าน


 


"การออกใบอนุญาตใช้น้ำ ตาม พ.ร.บ.น้ำ เมื่อดูแล้วจะต่างจากที่ดิน คือว่า กรณีที่ดินนั้น เราขายแล้วขายเลย แต่การขายใบอนุญาตน้ำจะเป็นการขายปีต่อปี ตามอายุสัญญาของใบอนุญาต"


 


กรณีที่ชาวบ้านไม่ได้มีการขอใบอนุญาตใช้น้ำ แต่ใช้น้ำจาก เหมืองฝาย อ่างเก็บน้ำ หรือน้ำจากเขื่อน จะมีการจำกัดสิทธิในการจัดการน้ำหรือไม่นั้น


 


นายมนตรีกล่าวว่า การให้ใบอนุญาตใช้น้ำ เป็นอำนาจของคณะกรรมการที่จะกำหนดว่าต้องใช้น้ำในปริมานเท่าไร ที่ไม่จำเป็นต้องขออนุญาต เช่น หากมีการกั้นฝาย ผันน้ำเข้าทำนากว่า 4 ร้อยไร่ ก็ตอบยาก แต่คิดว่า กลุ่มเหล่านี้อาจจะต้องมีการขออนุญาต เพราะจะมีผลในการใช้น้ำในหน้าแล้ง เช่น ข้างล่างมีอ่างเก็บน้ำ คนอื่นใช้ ก็จะต้องมีการเก็บน้ำจากข้างบน


 


"ยกตัวอย่าง กรณีน้ำแม่ขาน จ.เชียงใหม่ ในขณะนี้ไม่มีเขื่อน การควบคุมการใช้น้ำอาจจะไม่มาก แต่ถ้าเกิดมีการสร้างเขื่อนแม่ขาน ก็หมายความว่าจะต้องมีการใช้น้ำหลายพื้นที่ คนที่ใช้น้ำเหนือเขื่อนแม่ขาน ทางเขตอำเภอสะเมิง ก็อาจจะถูกควบคุมการใช้น้ำ เพื่อให้มีน้ำไหลเข้าเขื่อน"


 


หรือกรณีกลุ่มชาวบ้านผู้ใช้น้ำจากเขื่อนสิรินธร มีการใช้น้ำฟรีของคนข้างล่าง แต่ที่เขื่อนปากมูลใช้เครื่องสูบน้ำ ต้องจ่ายชั่วโมงละ 80 บาท หากกฎหมายนี้ออกมาจะมีการบังคับใช้เหมือนกันทั้งสองที่หรือไม่


 


หรือกรณีการสูบน้ำจากแม่น้ำมูลเป็นการจ่ายค่าไฟ ไม่ต้องขออนุญาต แต่การใช้น้ำจากเขื่อนสิรินธรไม่ต้องจ่ายเงินในการสูบน้ำ แต่ชาวบ้านที่อยู่เหนือเขื่อน หากสูบน้ำก็ต้องจ่ายค่าไฟ นั่นหมายความว่า ชาวบ้านจะต้องเสียทั้งค่าไฟในการสูบน้ำ และค่าขอใบอนุญาตใช้น้ำ


 


นายมนตรีกล่าวว่า ถ้าดูจากกฎหมายน้ำ เมื่อมีการสูบใช้ในพื้นที่กว่า 1,000 ไร่ คณะกรรมการลุ่มน้ำ ก็จะมาดูว่าเครื่องสูบน้ำจะต้องมีการขออนุญาตหรือไม่ หากให้ขออนุญาต ชาวบ้านจะต้องมีการรวมกลุ่มกันในการขอ หากมีการอขออนุญาตค่าไฟก็จ่ายเหมือนเดิม อีกทั้งมีการกำหนดว่าจะสูบได้เท่าไร คือคณะกรรมการลุ่มน้ำและคณะกรรมการลุ่มน้ำแห่งชาติ จะเป็นคนกำหนดหลักเกณฑ์ในการขออนุญาต และไม่มีการกำหนดว่าจะต้องใช้อย่างไร จ่ายเท่าไร


 


นายมนตรี กล่าวทิ้งท้ายว่า ที่พิเศษไปกว่านั้น คือกรณีน้ำเสีย ภายใต้ พ.ร.บ.น้ำ จะไปบังคับการดูแลโรงงานหรือคนปล่อยน้ำเสียไม่ได้ จึงเห็นชัดเจนว่า กฎหมายน้ำออกมาเพื่อทำให้มีการจัดสรรสิทธิการใช้น้ำของคนกลุ่มต่างๆ ใหม่ และเพื่อให้มีการเปลี่ยนมือถ่ายโอนมากขึ้น


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net