อุบลฯ เจอปัญหาคลาสสิก เงินกู้เพื่อการศึกษา งบหด กู้แล้วไม่คืน

โดย โชคชัย ศิลารักษ์ ศูนย์ข่าวประชาสังคม จ.อุบลราชธานี

 

มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เผย งบประมาณกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ลดลง ขณะที่นักศึกษากู้ยืมไปใช้จ่ายฟุ่มเฟือย และไม่มาชำระตรงตามกำหนด ส่งผลให้มีคดีฟ้องร้องนักศึกษาค้างศาลหลายพันราย

 

ผศ.นภดล จันทร์เพ็ญ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เปิดเผยว่า ในแต่ละปีจำมีนักศึกษาของ มรภ.อุบลราชธานี กว่า 4,000 ราย ยื่นประสงค์ขอกู้ยืมเงินจากมหาวิทยาลัย แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือจำนวนผู้ขอกู้มีมาก จึงหาทางออกโดยลดเพดานเงินกู้ต่อหัวลง เพื่อนำส่วนที่เหลือไปเฉลี่ยให้แก่นักศึกษารายอื่นๆ จึงทำให้ระยะหลังจำนวนหนี้เงินกู้ของนักศึกษาต่อหัวต่อปีมียอดลดลงจากเดิมคนละ 30,000 บาท เหลือประมาณคนละ 23,500 บาทต่อปี ทั้งนี้ งบประมาณ กยศ. ของมหาวิทยาลัยปีนี้มีทั้งสิ้น 95 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนที่ลดลงจากปีที่ผ่านมา

 

ผศ.นภดล ระบุว่า จากการสำรวจพบว่ามีนักศึกษาส่วนหนึ่งที่ครอบครัวไม่ได้จนจริง แต่ต้องการนำเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาไปใช้สอยในทางที่ไม่จำเป็น มหาวิทยาลัยจึ่งได้งดให้กู้ยืมไปแล้วหลายร้อยราย

 

นอกจากนี้ ยังพบกรณีที่ผู้ปกครองบางครอบครัวมีปัญหาด้านเศรษฐกิจ ต้องอาศัยเงินกู้ยืมของบุตรหลานแทน ซึ่งมหาวิทยาลัยก็ได้ทำการตรวจสอบเฝ้าติดตามอย่างรอบคอบ อย่างไรก็ตาม ผศ. นภดลย้ำว่าทางมหาวิทยาลัยจะไม่ด่วนตัดโอกาสในการกู้ยืมแต่อย่างใด

 

"นักศึกษาบางคนเมื่อได้เงินมาก็จะใช้จ่ายไปกับสิ่งฟุ่มเฟือย เช่น โทรศัพท์ เข้าร้านเสริมสวย เดินห้าง เวลาใช้คืนจึงลำบากมาก ส่งผลให้เงินที่จะให้ผู้กู้ซึ่งเป็นรุ่นน้องไม่เพียงพอ ซึ่งก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่รัฐจัดสรรงบประมาณมาให้ลดลง แต่ผมคิดว่าก็เพียงพอสำหรับการใช้จ่ายระหว่างเรียน สำหรับผู้ที่ไม่ชำระคืนเวลาทำนิติกรรมในอนาคตจะลำบาก"

 

รองอธิการบดีคนเดิมกล่าวต่อไปว่า การแก้ปัญหาดังกล่าว กองพัฒนานักศึกษา ได้ปลูกฝังได้นักศึกษามีความตระหนักถึงความรับผิดชอบ โดยให้ใช้จ่ายอย่างประหยัด และต้องอาศัยความร่วมมือจากอาจารย์ที่ปรึกษา รวมทั้งให้จัดกิจกรรมสร้างแรงจูงใจให้นักศึกษามีจิตสำนึกกับเงินกองทุนนี้ โดยคณาจารย์ได้บริจาคเงินจำนวนหนึ่งจัดสรรให้เป็นรางวัลกับผู้กู้ยืมที่ดีทุกปีปีละ 6 ทุน ๆ ละ 5,000 บาท ซึ่งผู้ที่จะได้รับรางวัลจะต้องมีผลการเรียนดี ความประพฤติดี โดยการสอบถามจากเพื่อนๆ อีกด้วย และเพื่อให้เป็นตัวอย่างที่ดีกับรุ่นน้องๆ

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อ ศูนย์ข่าวประชาสังคมฯ ได้สอบถามจากอดีตนักศึกษารายหนึ่งซึ่งไม่ประสงค์ที่จะเปิดเผยชื่อ กล่าวว่า ตนได้กู้ยืมเงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาของรัฐบาล หรือ (กยศ.) เป็นจำนวนเงิน 120,000 บาท ซึ่งได้เริ่มกู้ในระหว่างที่ตนศึกษาอยู่ที่สถาบันอุดมศึกษาแห่งหนึ่ง เนื่องจากได้คำนึงถึงการใช้จ่ายที่ไม่เพียงพอในระหว่างศึกษา ประกอบกับผู้ปกครองมีอาชีพทำนา หลังจากนั้นเมื่อจบเป็นเวลา 2 ปี ทางผู้ให้กู้ได้มีหนังสือมาถึงตนโดยมีรายละเอียดให้ไปผ่อนชำระเงินงวดแรก ซึ่งมียอดการชำระรวมดอกเบี้ยทั้งสิ้น 1,810 บาท แต่ตนเห็นว่าในช่วงเวลาดังกล่าวยังไม่พร้อมที่จะชำระคืนได้ เนื่องจากยังไม่มีงานทำ ประกอบกับในตอนท้ายของหนังสือดังกล่าว ระบุถึงกรณีที่ผู้กู้ในกรณีที่ยังไม่มีรายได้ หรือรายได้น้อย ให้แจ้งผ่อนผันชำระหนี้ หรือขอชะลอการชำระหนี้ได้ ตนจึงทำหนังสือขอผ่อนผันกับทางธนาคาร แต่เมื่อประมาณ 5 เดือนผ่านไป ทางธนาคารได้ส่งหนังสือแจ้งผลการพิจารณาขอผ่อนผันการชำระหนี้กลับคืนมาว่า การขอผ่อนผันไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ (กยศ.) กำหนด พร้อมทั้งให้ตนดำเนินการชำระคืนมาปกติ พร้อมทั้งเบี้ยค่าปรับที่เกิดขึ้นจากวันที่ผิดนัดจนถึงวันชำระ ในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี จากเงินที่จะต้องชำระในงวดแรกอีกด้วย

 

"ไม่ใช่ว่า ต้องการที่จะหนีไม่จ่ายคืน แต่อย่างไร ซึ่งผมคิดเอาไว้เสมอว่าเมื่อจบไปแล้วหากมีงานทำ มีรายได้ที่มั่นคง ผมต้องชำระคืนแน่นอน เพราะเข้าใจว่าน้องๆ รุ่นต่อไปยังรอความหวังจากเรา เช่นกับที่เราก็รอความหวังจากรุ่นพี่ แต่ขณะนี้ผมยังไม่รายได้เพียงพอที่จำชำระได้จริงๆ ซึ่งผมก็ได้ทำตามขั้นตอนการผ่อนผันทุกอย่างแต่กลับได้คำตอบจากธนาคารให้ชำระคืนเช่นเคย โดยขณะนี้ยังไม่มีหนังสือแจ้งใดมา

จากธนาคารอีก จากที่ได้ติดตามข่าวว่ามีการฟ้องศาลให้นักเรียนทุนกู้ยืมชำระหนี้คืนนั้น ผมคิดว่าคนที่มีปัญหาเช่นเดียวกับผม ไม่น้อยเหมือนกัน ตามที่ผมสังเกตจากการปล่อยกู้เงินในโครงการนี้ มีการขอกู้ได้ง่ายมาก บางคนมีการปลอมลายเซ็นต์ของพ่อแม่ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันให้เพื่อนระหว่างทำเรื่องขอ แต่ก็ผ่าน ทำให้มีผู้ได้กู้เป็นจำนวนมาก ซึ่งยากที่จะให้ทุกคนมาชำระคืนได้ และยังมีปัญหาอีกมากที่ผมยังไม่เห็นด้วยตนเอง ดังนั้นอยากให้รัฐทบทวนขั้นตอนการให้กู้ใหม่ด้วย ไม่ใช่ว่าจะมาไล่บี้กับผู้กู้ฝ่ายเดียว"

 

ด้านแหล่งข่าวจากธนาคารกรุงไทย สาขาจังหวัดอุบลราชธานี ในฐานะผู้บริหารและจัดการเงินให้กู้ยืม กองทุนเงินให้กู้ยืมเพิ่มการศึกษา (กยศ.) ได้เปิดเผยถึงข้อมูลการชำระคืนของนักเรียน นักศึกษาที่กู้ยืมเงินกองทุนว่า ขณะนี้มีนักเรียนที่เข้ามาติดต่อเพื่อขอชำระคืนทุกวัน วันละ ประมาณ 4-5 คน โดยช่วงเวลาที่นักเรียน นักศึกษาจะมาชำระมากคือในช่วงของสิ้นเดือน ซึ่งมีทั้งผู้ที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่จังหวัดอุบลฯ และคนต่างภูมิลำเนาที่มาทำงานในพื้นที่ จ.อุบลฯ ด้านจำนวนผู้ชำระคืนนั้นขณะนี้ทางธนาคารยังไม่ได้รวบรวมสถิติไว้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท