Skip to main content
sharethis

ประชาไท - รัฐดาหน้าช่วยน้ำท่วมใต้ สาธารณสุขระดมหมอลงพื้นที่ สถานการณ์น้ำท่วมสงขลายังแรง คนหาดใหญ่โวยช่วยแต่เขตธุรกิจ ปล่อยน้ำท่วมรอบนอกอ่วม นักวิชาการแนะรัฐจ่ายค่าชดเชยคนน้ำท่วม ในฐานะผู้รับกรรมแทนคนเมือง


 


ผู้สื่อข่าวรายงานจากภาคใต้ว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมยังคงรุนแรงในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา มีเด็กนักเรียนโรงเรียนเทพา ถูกกระแสน้ำพัดเสียชีวิต 2 ราย อีก 1 คน ช่วยชีวิตไว้ได้


 


ส่วนการค้นหาผู้ประสบเหตุดินถล่มที่ตำบลบาโหย อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2548 พบร่างผู้เสียชีวิตอีก 1 คน เป็นเด็กอายุ 2 ขวบ ยังไม่พบอีก 1 ราย จากทั้งหมด 5 ราย


 


4 อำเภอปัตตานีอันตราย


สำหรับจังหวัดปัตตานี ระดับน้ำเริ่มลดลง แต่ระดับน้ำในแม่น้ำปัตตานียังขึ้นลงตามระดับน้ำทะเล เป็นอุปสรรคอย่างมากในการระบายน้ำ โดยกรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งเตือนว่า วันที่ 25 ธันวาคม 2548 จะมีฝนตกหนักทั่วไปในจังหวัดปัตตานี แต่ปริมาณไม่มากนัก หากฝนตกหนักมี 4 อำเภอ ที่ต้องเตรียมรับมือได้แก่ อำเภอยะรัง อำเภอแม่ลาน อำเภอหนองจิก และอำเภอเมืองปัตตานี


 


นายสันติ์ จันทรวงศ์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตรัง สรุปความเสียหายจากเหตุน้ำท่วมล่าสุดว่า ประกอบด้วยพื้นที่ 9 อำเภอ 69 ตำบล 422 หมู่บ้าน ประชาชนเดือดร้อน 35,952 ครอบครัว พื้นที่เกษตรเสียหาย แยกเป็น นาข้าว 11,678 ไร่ ผักและพืชไร่ 6,957 ไร่ พืชสวน เช่น ยางพารา ผลไม้ ปาล์มน้ำมัน เสียหายรวม 112,131 ไร่ ปศุสัตว์ 13,342 ตัว และบ่อเลี้ยงปลาเสียหาย 3,641 แห่ง ส่วนมูลค่าความเสียเฉพาะใน 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอวังวิเศษ, อำเภอห้วยยอด, อำเภอปะเหลียน และอำเภอสิเกา รวมความเสียหายเบื้องต้น 47,404,900 บาท


 


นายสุทิน ศรีเผด็จ เกษตรจังหวัดตรัง สรุปความเสียหายอย่างไม่เป็นทางการว่า มีพื้นที่เกษตรเสียหายจาก 9 อำเภอ ประมาณ 1 แสนไร่ มูลค่ากว่า 51 ล้านบาท


 


ส่วนจังหวัดยะลา เกือบทุกพื้นที่ได้รับความเสียหาย มีถนนชำรุดประมาณ 500 สาย ประชาชนเสียชีวิต 3 ราย สะพานเสียหายประมาณ 97 แห่ง ทรัพย์สินทางราชการ และพื้นที่เกษตรเสียหายอีกหลายรายการ มูลค่าความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท


 


ระดมช่วยน้ำท่วม


พล.อ.อ.คงศักดิ์ วันทนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการปรับแผนรับมือสถานการณ์น้ำระลอกใหม่ เพื่อป้องกันความเสียหายจากปริมาณน้ำ ที่อาจเพิ่มสูงขึ้นจากฝนตกหนักระลอกใหม่


 


นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า มีนักเรียนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยภาคใต้ประมาณ 558,671 คน สถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีอยู่ 2,241 แห่ง ปิดเรียนไปแล้ว 1,731 แห่ง


 


ส่งทีมแพทย์ลงพื้นที่


ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งงบประมาณ 50 ล้านบาท ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม และระดมหน่วยแพทย์จากสุราษฎร์ธานี 5 ทีม ไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในจังหวัดสงขลาแล้ว นอกจากนี้ ยังได้จัดส่งยาสามัญประจำบ้าน และยาแก้น้ำกัดเท้าอย่างละ 1 แสนชุด พร้อมถุงดำ 1 ล้านใบ เพื่อใส่สิ่งปฏิกูลลดการปนเปื้อนในน้ำป้องกันโรคระบาดไปยัง 7 จังหวัดพัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส นครศรีธรรมราช และตรัง


 


นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้พบผู้ป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจมากที่สุดถึง 80% ตามด้วยโรคน้ำกัดเท้า จึงได้สั่งการให้กรมอนามัย กรมควบคุมโรคติดต่อ กรมสุขภาพจิต กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เฝ้าระวังไม่ไห้เกิดโรคระแวง


 


พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นห่วงสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ ได้สั่งการทางโทรศัพท์โดยตลอด รวมทั้งได้กำชับให้ทุกฝ่ายดูแลอย่างใกล้ชิด และให้รายงานให้ทราบทุก2 - 3 ชั่วโมง หากมีความจำเป็นจะหาเวลาลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ด้วยตนเอง


 


หาดใหญ่เครียด


นายแพทย์อนันต์ บุญโสภณ แกนนำประชาคมสงขลา กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ที่น้ำจากอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เอ่อล้นกำแพงกั้นน้ำคลองอู่ตะเภา เข้าท่วมขังฝั่งหาดใหญ่ใน ขณะที่พื้นที่ชั้นใน ซึ่งเป็นพื้นที่ธุรกิจ ได้รับการดูแลไม่ให้น้ำท่วมอย่างเต็มที่ ทำให้ประชาชนฝั่งหาดใหญ่ในมองว่า การสร้างกำแพงกั้นคลองอู่ตะเภาทั้ง 2 ฝั่ง โดยฝั่งพื้นที่ธุรกิจสูงกว่าฝั่งหาดใหญ่ใน 90 เซนติเมตร เป็นการจงใจให้น้ำท่วมฝั่งหาดใหญ่ใน เพื่อรักษาพื้นที่ธุรกิจไว้ แต่ก็มีข้อดีตรงที่ประชาชนทางพื้นที่ธุรกิจ สามารถระดมความช่วยเหลือผู้เดือดร้อน ทางฝั่งหาดใหญ่ในได้


 


นายแพทย์อนันต์ กล่าวต่อไปว่า ส่วนการขุดคลองระบายน้ำ ร.1 เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมหาดใหญ่ ที่ยังไม่แล้วเสร็จ เพราะมีปัญหาค่าเวนคืนที่ดิน ที่ชาวบ้านจำนวนหนึ่งมองว่า พวกตนไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะมีเจ้าของที่ดิน ซึ่งเป็นญาติกับเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน ได้ค่าเวนคืนสูงกว่าที่ดินในบริเวณใกล้เคียง ตนเห็นว่า ถนนสายลพบุรีราเมศวร์ ซึ่งขวางทางน้ำควรปรับเป็นทางยกระดับ แม้จะมีค่าใช้จ่ายสูง แต่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้


           


แนะชดเชยชาวบ้านรับน้ำท่วม


ส่วนนายฉัตรไชย รัตนไชย คณบดีคณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า การกันพื้นที่ธุรกิจกิจในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ ไม่ให้ถูกน้ำท่วม โดยผลักน้ำไปท่วมพื้นที่รอบนอก โดยภาพรวมเป็นเรื่องที่ดี เพราะถ้าเศรษฐกิจหาดใหญ่ได้รับผลกระทบ ชาวบ้านรอบนอกจะเดือดร้อนไปด้วย แต่เมื่อชาวบ้านรอบนอกได้รับความเดือดร้อน จากมาตรการป้องกันพื้นที่ธุรกิจ ก็ควรจะจ่ายค่าเสียหาย หรือค่าเสียโอกาสให้กับชาวบ้านรอบนอกด้วย เพราะพื้นที่ดังกล่าวมีความเสี่ยงที่จะถูกน้ำท่วมสูงขึ้น โอกาสที่ทรัพย์สินจะเสียหายมีมากขึ้น


 


"เหตุที่เสนอเช่นนี้ เพราะสังเกตผู้ที่แจ้งความเดือดร้อนจากน้ำท่วมผ่านทางสถานีวิทยุ มอ.88 มักได้ยินเสียงบ่นว่าคนในเมืองอยู่สบายแต่คนรอบนอกเดือดร้อน" นายฉัตรไชย กล่าว


 


นายฉัตรไชย กล่าวว่า แนวทางแก้ปัญหาที่กระทบชาวบ้านน้อยที่สุด แต่ต้องลงทุนมาก คือการสร้างอุโมงค์ระบายน้ำไปออกที่อ่าวไทย ซึ่งบางประเทศในยุโรปใช้วิธีนี้แก้ปัญหาน้ำท่วมเมือง สาเหตุที่น้ำท่วมรุนแรงขึ้น เพราะพื้นที่รับน้ำมีน้อยลง เฉพาะพื้นที่ 21 ตารางกิโลเมตรของเทศบาลนครหาดใหญ่ มีพื้นที่ก่อสร้างเพิ่มขึ้นทุกปี เช่นเดียวกับเมืองใหญ่อื่นๆ ทำให้มีบริเวณที่น้ำซึมลงดินน้อยลง


 


"ปัจจัยที่ทำให้เกิดภัยพิบัติในระดับโลก คือ ภาวะโลกร้อน ทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลาย สงผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น เหตุที่โลกร้อนเพราะมีการปล่อยก๊าซพิษขึ้นสู่บรรยากาศ ทำให้สภาวะอากาศทั่วโลกแปรปรวน คนส่วนใหญ่มักจะโทษประเทศอุตสาหกรรม ทั้งที่คนทั่วโลกมีส่วนทำให้อากาศแปรปรวนด้วย ยกตัวอย่างเช่น คนไทย 1 คน ซื้อรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่น 1 คัน ญี่ปุ่นจึงผลิตเพิ่มขึ้นอีก 1 คัน ก๊าซพิษจากการผลิตรถยนต์ จึงถูกปล่อยขึ้นสู่บรรยากาศมากขึ้น ฉะนั้น สิ่งที่ทำได้ตอนนี้ คือ ชะลอการปล่อยก๊าซพิษขึ้นสู่บรรยากาศ ส่วนความแปรปรวนที่จะเกิดขึ้นคงหยุดไม่ได้ เพราะขณะนี้ในบรรยากาศเต็มไปด้วยก๊าซพิษเสียแล้ว" นายฉัตรไชย กล่าว


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net