นักรัฐศาสตร์ติง ยุทธวิธีรัฐ "กวนน้ำให้ขุ่น" ทำไฟใต้บานปลาย

วันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม 2005 17:59น. 

ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

 

 

"วิเคราะห์ไฟใต้ "49" ตอนที่ 2 ในวันนี้ เป็นมุมมองของนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์อย่าง ผศ.ชิดชนก ราฮิมมูลา รักษาการรองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี โดยเธอเห็นว่ายุทธวิธี "กวนน้ำให้ขุ่น" ซึ่งฝ่ายความมั่นคงกำลังใช้อยู่อย่างขะมักเขม้น เพื่อ "จับปลา" อันหมายถึงแกนนำกลุ่มก่อความไม่สงบนั้น จะทำให้สถานการณ์ยิ่งบานปลาย และสร้างปัญหาอย่างไม่จบสิ้น

 

ผศ.ชิดชนก กล่าวว่า การจะประเมินสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปีหน้าได้นั้น จะต้องมองย้อนกลับไปดูการทำงานของภาครัฐตลอดปีที่ผ่านมา  เพื่อประกอบการพิจารณา

 

ทั้งนี้ ในรอบปี 2548 มีการเปลี่ยนตัวแม่ทัพภาคที่ 4 จาก พล.ท.ขวัญชาติ กล้าหาญ เป็น พล.ท.องค์กร ทองประสม ซึ่งการทำงานของ พล.ท.ขวัญชาตินั้น ถึงแม้จะดูว่าไม่ใช่เชิงรุก ไม่ใช่สายเหยี่ยว แต่ก็ได้รับการยอมรับจากคนในพื้นที่ เพราะเป็นการทำงานในลักษณะให้คนในพื้นที่ทำและแก้ไขปัญหากันเอง

 

อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายของ พล.ท.ขวัญชาติ ยังไม่ทันปรากฏผลชัดเจน ก็ถูกเปลี่ยนตัวเสียก่อน ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า เป็นการเปลี่ยนตัวภายหลังการเข้าดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ของ พล.อ.สนธิ บุณยรัตนกลิน

 

กล่าวสำหรับ พล.อ.สนธิ นั้น ถือว่าเป็นนายทหารที่ได้รับการยอมรับจากคนในกองทัพมากพอสมควร เพราะมาจากสายนักรบโดยตรง 

 

ทว่าปัญหาก็คือ การนำประสบการณ์การรบในสงครามเวียดนาม หรือการรบแบบจรยุทธ์  อันเป็นแนวทางของหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ มาใช้แก้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ถูกต้องและเหมาะสมหรือไม่

 

"ต้องยอมรับว่า ผบ.ทบ.มาจากหน่วยรบพิเศษ ซึ่งแนวทางของหน่วยนี้ถูกฝึกมาให้เอาชนะคู่ต่อสู้ด้วยยุทธวิธีต่างๆ โดยเน้นว่าต้องชนะ ต้องได้เปรียบในเชิงกำลัง แต่สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นสงครามรูปแบบใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในประเทศไทย คือสงครามจากคนในประเทศด้วยกันเอง ไม่ใช่สงครามจากคนนอกประเทศ ฉะนั้นช่วงแรกที่นักรบเหล่านี้ลงมา จึงทำอะไรไม่ถูก เพราะไม่เห็นแนวรบของตนเอง" ผศ.ชิดชนก วิเคราะห์

 

เธอลำดับความต่อว่า หลังจากใช้เวลาอยู่ระยะหนึ่ง ฝ่ายทหารก็เริ่มปรับตัวได้ แล้วหันมาใช้นโยบาย "สลายแกน" โดยมุ่งตีไปที่โครงสร้างของกลุ่มผู้ก่อการโดยตรง แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือ โครงสร้างของกลุ่มผู้ก่อการ โดยเฉพาะในระดับแกนนั้น มองไม่เห็นชัดเจน เห็นแต่เค้าลางว่า น่าจะมาจากมวลชนและเยาวชนในพื้นที่

 

ดังนั้นวิธีการที่จะ "สลายแกน" ได้ ก็คือต้องกระแทกไปที่โครงสร้างโดยตรง ด้วยการใช้ยุทธวิธี "กวนน้ำให้ขุ่น" เพื่อให้ปลาขึ้นมาหาอากาศหายใจ แล้วก็จะได้จับปลา ซึ่งหมายถึงแกนนำของผู้ก่อการ โดยมีพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นเครื่องมือที่สำคัญ

 

"วิธีการของฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ก็คือการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก. เชิญตัวบุคคลที่คาดว่าจะเป็นแนวร่วมในโครงสร้าง มาสอบปากคำ มาซักถาม ถ้าไม่ผิดก็ปล่อยไป แต่ถ้ามีแนวคิดในการก่อความไม่สงบ แต่ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะเอาผิด ก็จะส่งเข้าฝึกอบรมในโรงเรียนวิวัฒน์พลเมือง"

 

"และตรงนี้เองคือปัจจัยสำคัญที่จะบ่งชี้ว่า สถานการณ์ในปีหน้าจะเป็นอย่างไร" ผศ.ชิดชนก ตั้งประเด็น

 

เธออธิบายว่า ยุทธวิธีกวนน้ำให้ขุ่นนั้น เป็นยุทธวิธีที่ทำให้ประชาชนบอบช้ำ การใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เชิญตัวบุคคลมาซักถาม สิ่งสำคัญคือความแม่นยำต้องสูง ถ้าเรียกมาถูกตัว มีหลักฐานชัดเจนก็ไม่เป็นไร เพราะชาวบ้านรับได้อยู่แล้ว แต่ถ้าเรียกมาผิดตัวเมื่อไหร่ล่ะก็ จะสร้างปัญหาทันที

 

"ที่ผ่านมามีรัฐมนตรีบางคนพยายามสร้างผลงาน ด้วยการบีบเจ้าหน้าที่ระดับล่างให้ทำเป้า ทำยอดผู้เข้ารายงานตัวกับทางราชการให้มากที่สุด ซึ่งถ้าถูกตัว ถูกจุด ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเร่งทำตัวเลขมากเกินไป แล้วตรวจสอบไม่ชัดเจน ก็จะเกิดปัญหาอย่างที่เห็นๆ กันอยู่"

 

ผศ.ชิดชนก กล่าวว่า จริงๆ แล้วหมายเชิญตัวมาให้ปากคำโดยใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯนั้น ต้องลงนามร่วมกัน 3 ฝ่าย คือฝ่ายปกครอง ทหาร และตำรวจ แต่ที่ผ่านมาก็ปรากฏหลายกรณีว่า กอ.สสส.จชต.ในระดับอำเภอ (กองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขอำเภอ) มีการออกหมายโดยลงนามเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งเรื่องแบบนี้ถือว่าอันตรายต่อภาพรวมในพื้นที่อย่างมาก

 

นอกจากนั้น ยังมีอีกหลายกรณีที่ชาวบ้านเข้ารายงานตัวกับทางราชการ และเข้าฝึกอบรมในโรงเรียนวิวัฒน์พลเมืองแล้ว แต่สุดท้ายยังมาถูกตำรวจจับกุมอีก สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าแม้ระดับนโยบายจะเริ่มมีความเป็นเอกภาพ แต่ในระดับปฏิบัติ ยังยึดกฎหมายคนละฉบับ

 

โดยฝ่ายทหารกับฝ่ายปกครองยึดกฎหมายความมั่นคง ไม่เน้นการจับกุมดำเนินคดี แต่เน้นไปที่การสร้างมวลชน ขณะที่ฝ่ายตำรวจยังยึดประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอยู่

 

"เหล่านี้ล้วนนำไปสู่การสร้างเงื่อนไขในพื้นที่ทั้งสิ้น ซึ่งทางออกก็คือต้องทำคู่มือแจกจ่ายประชาชน เพื่อให้เข้าใจว่าขั้นตอนและกระบวนการทั้งหมดเป็นอย่างไร จะได้ไม่เกิดความสับสน" เธอแนะ

 

ผศ.ชิดชนก กล่าวต่ออีกว่า จุดอ่อนอีกประการหนึ่งของยุทธวิธี "กวนน้ำให้ขุ่น" ก็คืออาจจะเป็นช่องทางทำให้เกิดการฟอกตัวของอาชญากรเพื่อให้พ้นผิด หรือพ้นจากการจับตาของฝ่ายรัฐ  ขณะเดียวกันก็จะเป็นการสร้างความขัดแย้งกันเองในพื้นที่ มีการใส่ร้ายป้ายสีกันเพื่อผลบางประการ เช่น ผลทางการเมืองระดับท้องถิ่น ซึ่งกรณีเหล่านี้ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

 

"สรุปว่ายุทธวิธีกวนน้ำให้ขุ่นนั้น มันทำให้ขุ่นจริงๆ และขุ่นไปหมดเลย" นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ผู้นี้กล่าว

 

อย่างไรก็ดี เธอเสนอแนวทางแก้ไขว่า ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ต้องใช้ยุทธวิธี "ทำให้น้ำใสและนิ่ง" ซึ่งสามารถสร้างได้ด้วยการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ใช้ความเป็นธรรม ชัดเจน และโปร่งใส

 

"อย่าลืมว่าถ้าเมื่อไหร่เราทำน้ำให้ใสได้ ก็สามารถจับปลาได้เหมือนกัน" ผศ.ชิดชนก ระบุ

 

เธออธิบายต่ออีกว่า ยุทธวิธีทำน้ำให้ใสนั้น ต้องใช้ฝ่ายกิจการพลเรือนเข้าไปในพื้นที่ เชิญตัวบุคคลต้องสงสัย หรือคนที่อยู่ในเป้าหมายให้มาทำกิจกรรมร่วมกับฝ่ายรัฐเป็นการส่วนตัว โดยไม่ควรไปทำให้เขารู้สึกว่าต้องอับอายหรือตกเป็นเป้าของเจ้าหน้าที่

 

"ที่ผ่านมา การทำงานของฝ่ายความมั่นคง มันทำให้เกิดภาพว่า คนที่ถูกเชิญตัวไปเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ เป็นพวกหลงผิด แล้วถูกเจ้าหน้าที่รัฐดึงไปล้างสมอง ดังนั้นการแก้ปัญหาต้องใช้ฝ่ายกิจการพลเรือนนำ แล้วใช้ยุทธวิธีตามหลัง"

 

ผศ.ชิดชนก บอกอีกว่า จากการเข้าไปตรวจสอบข้อมูลของผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมจากโรงเรียนวิวัฒน์พลเมือง หรือหลักสูตรอื่นๆ ของภาครัฐทั้งหลาย พบว่าความคิดนั้นเปลี่ยนกันไม่ได้ แต่ความเชื่อใจ จะทำให้อยู่ด้วยกันได้

 

"มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่อุดมการณ์หรือแนวคิดที่ปลูกฝังกันมาหลายทศวรรษ จะมลายหายไปหลังจากเข้าอบรมแค่ 1 เดือน ฉะนั้นการสร้างความเชื่อใจ และสร้างความรู้สึกว่าเราอยู่ร่วมกันได้ จึงสำคัญกว่า"

 

ผศ.ชิดชนก สรุปว่า ในมุมมองของเธอ สถานการณ์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปีหน้านั้น ปัจจัยสำคัญขึ้นอยู่กับนโยบายและกลไกของภาครัฐทุกส่วน โดยหากยังใช้นโยบายสลายแกน และมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯเป็นเครื่องมือดังที่ผ่านมา จะเกิดปัญหาอย่างแน่นอน

 

"อย่าลืมว่าที่ประชาชนยอมเข้ารายงานตัว ส่วนใหญ่จะเกิดจากความหวาดกลัว และเกรงว่าจะถูกออกหมายจับ ดังนั้นถ้ารัฐยังดำเนินการในรูปแบบนี้ จะทำให้ประชาชนต่อต้าน และขยายความไม่พอใจไปในวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ" เธอย้ำ

 

สำหรับยุทธวิธีอีกประการหนึ่งที่ ผศ.ชิดชนก กำลังจับตามองอย่างสนใจก็คือ ยุทธวิธี "ปลากัดกัน" ซึ่งกำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

 

โดยยุทธวิธีดังกล่าวก็คือ การที่เจ้าหน้าที่รัฐบางกลุ่ม พยายามหนุนให้ประชาชนในพื้นที่ต่อสู้กันเอง โดยมีคนของรัฐคอยกำกับอยู่เบื้องหลัง

 

"ดิฉันไม่ทราบว่ารัฐใช้นโยบายนี้จริงหรือไม่ แต่ถ้าใช้ก็ถือว่าอันตรายมาก และในอนาคตจะเกิดนักฆ่าผิดกฎหมายขึ้นมากมาย ทำให้พื้นที่นี้เหมือนกับเป็นดินแดนที่ไม่มีกฎหมาย และผลักดันให้สังคมขัดแย้งกันในแนวราบอย่างรุนแรง"

กลับหน้าแรกประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท