Skip to main content
sharethis


 








 
อุสมาน โซะลาแน

 


วันเสาร์ที่ 24 ธันวาคม 2005 19:51น.


ณรรธราวุธ เมืองสุข : ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


เวลา 20.30 น.ของวันที่ 26 ตุลาคม 2548 หลายคนคงยังไม่ลืมเหตุการณ์ "ปล้นปืน" อย่างอุกอาจพร้อมกัน 59 จุดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยปืนทั้งหมด 90 กระบอกที่คนร้ายได้ไป ล้วนเป็นของ "ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน" หรือ "ชรบ." และจนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะได้ปืนเหล่านั้นกลับคืน


 


หลังจากเหตุการณ์ร้ายผ่านพ้นไป มีข่าวออกมาว่า ชรบ.ชุดที่ถูกปล้นปืนหลายคนถูกออกหมายจับจากทางราชการ และตกเป็นผู้ต้องสงสัยเป็น "แนวร่วม" ของกลุ่มก่อความไม่สงบ


 


การถูกมองในแง่ลบจากทางราชการ สร้างความงุนงงสงสัยจนเกิดเป็นความไม่พอใจให้แก่ ชรบ. และชาวบ้านในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างยิ่ง


 


ถนนลาดยางเล็กๆ สายยะหา-บาโร๊ะ เลี้ยวลดคดเคี้ยวผ่านสวนยางและหุบเขาเข้าไปสู่หมู่บ้านแห่งหนึ่งซึ่งถูกกากบาทจากทางการให้เป็นพื้นที่สีแดง จากเหตุการณ์ผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งถูกยิงเสียชีวิต ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นฝีมือของกลุ่มก่อความไม่สงบ


 


หลังจากนั้นทางราชการก็ได้ระดมอาสาสมัครเพื่อจัดตั้งเป็นชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน หรือ ชรบ.ขึ้นมา กระทั่งเกิดเหตุการณ์ปล้นปืนเมื่อ 2 เดือนก่อน สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชีวิต ชรบ.หลายคนในหมู่บ้าน "กูวิง" แห่งนี้ 


 


"ผมออกจาก ชรบ. แล้วครับ" อุสมาน โซะลาแน อายุ 31 ปี อดีต ชรบ.บ้านกูวิง ต.บาโร๊ะ อ.ยะหา จ.ยะลา เปิดใจเป็นครั้งแรก พร้อมรอยยิ้มเจือความเหนื่อยหน่ายที่มุมปาก


 


"ผมเพิ่งถูกปล่อยกลับมาจากโรงเรียนตำรวจภูธร 9 (ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า) เมื่อ 4 วันที่แล้วนี้เอง ตอนนี้ยังเลื่อนลอยอยู่ ยังไม่รู้เหมือนกันว่าจะทำอะไรต่อไป" อุสมานบอกเล่าวิถีชีวิตปัจจุบันให้ฟัง ก่อนจะถอนหายใจเฮือกใหญ่ และเริ่มย้อนความทรงจำในวัน "อัปยศ" ที่สุดในชีวิตให้ฟัง


 


"ตอนนั้นเวลาประมาณทุ่มครึ่ง ผมกำลังนั่งกินข้าวอยู่ในครัวกับภรรยาและลูก ขณะจะตักข้าวคำสุดท้ายเข้าปากก็ได้ยินเสียงคนเดินขึ้นบันไดบ้าน เมียก็ลุกออกไปดู ก็เห็นชายชุดดำ 2 คน สวมไอ้โม่งก้าวสวนขึ้นมา พร้อมปืนลูกซองยาวในมือ"


 


"เมียกับลูกผมตกใจมากเลยกระโดดสวนลงไปเป็นลมสลบอยู่ตรงเชิงบันไดบ้าน ผมก็ตกใจทำอะไรไม่ถูก จะลุกไปหยิบปืนก็ไม่ทัน มันเข้ามาแล้วเอาปืนจ่อ ก่อนจะบอกเป็นภาษามลายูว่า มันจะไม่ทำร้ายคนถ้าไม่ขัดขืน มันแค่มาเอาปืน ไม่อยากทำร้ายใคร"


 


"แล้วพวกมันก็เดินไปหยิบปืนเอง เพราะผมไม่ได้ซ่อน เนื่องจากกำลังจะไปเข้าเวรรักษาความปลอดภัยในหมู่บ้านพอดี มันเอาปืนเสร็จก็เดินลงบันไดหายลับไป ผมรีบลงไปอุ้มเมียกับลูกขึ้นบ้าน ก่อนจะวิ่งไปแจ้งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แต่ปรากฏว่าที่นั่นก็เพิ่งโดนปล้นสดๆ ร้อนๆ เหมือนกัน และเพื่อน ชรบ.อีกหลายคนก็ถูกปล้นในเวลาไล่เลี่ยกัน ก็เลยไปแจ้งความพร้อมกันที่อำเภอ" อุสมาน กล่าว


 


อุสมาน เล่าให้ฟังต่อไปว่า เมื่อเขากับเพื่อน ชรบ.และผู้นำหมู่บ้านเดินทางไปถึงอำเภอ จึงเพิ่งรู้ว่าในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หลายสิบจุดโดนปล้นเหมือนกันหมดในเวลาไล่เลี่ยกัน นับเป็นสิ่งที่เขาและเพื่อนไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น


 


"ผมก็ตกใจว่า เฮ้ย! มันนัดกันนี่หว่า ทำงานเป็นระบบมาก ต้องมีการวางแผนอย่างแยบยลทีเดียว พอผมแจ้งความเสร็จก็กลับบ้าน แต่หลังจากนั้นไม่กี่วันเขาก็เรียกไปสอบสวน ผมก็ไปนะ เพราะเราต้องให้ความร่วมมือกับทางการ แต่การสอบสวนครั้งแรก ผมเจอกับคำถามที่ไม่คาดคิดว่าจะเจอ"


 


"เขาถามว่าผมรู้จักคนปล้นปืนหรือเปล่า ผมปฏิเสธว่าไม่รู้จัก เสียงก็ไม่คุ้น เพราะถ้าคนรู้จักกัน เสียงมันต้องคุ้นเคยบ้าง ผมยืนยันกับเขาว่าไม่ใช่คนในหมู่บ้านแน่นอน เขาก็เงียบไปก่อนจะถามต่อว่าผมสงสัยใครบ้าง ผมส่ายหน้า แล้วบอกว่าไม่รู้ เพราะถ้าผมสงสัย ผมก็ต้องรู้จักสิ นี่ผมไม่รู้จัก ไม่รู้จะสงสัยใคร"


 


"ผมเลยสวนกลับไปว่า ถ้าเกิดเหตุปล้นพร้อมกันอย่างนี้ หากคนในหมู่บ้านเป็นแนวร่วมด้วย คงไม่มาก่อเหตุในหมู่บ้านตัวเองหรอก เพราะคนต้องรู้จักและจำกันได้ มันต้องเป็นคนจากที่อื่นมาก่อเหตุ และผมก็ไม่รู้จัก เขาก็เงียบไป"


 


เหตุการณ์ปล้นปืนในคืนนั้น นอกจากคนไทยทั่วประเทศจะตกตะลึงกับความอุกอาจของคนร้ายแล้ว ยังนำความเปลี่ยนแปลงบางอย่างมาสู่ชีวิตของอุสมาน เมื่อเขาบอกว่า เขาต้องถูกสอบสวนหลายครั้ง กระทั่งครั้งสุดท้ายผ่านไป 1 เดือน ก็มีบางอย่างเข้ามาซ้ำเติมความรู้สึกของเขา นั่นก็คือ "หมายจับ" จากทางการ


 


"ผมกำลังเสียใจกับการกระทำของทางการและยังตกใจกับความอุกอาจของคนร้าย แทนที่ทางการจะลงมาให้กำลังใจ กลับมีหมายจับลงมาถึงผม ผมก็ตกใจมาก ไปปรึกษากับผู้ใหญ่บ้าน ก็ได้รับคำแนะนำว่าให้ไปมอบตัว ผมก็ไป ก็ถูกนำไปกักกันที่โรงเรียนตำรวจภูธร 9 ถูกสอบสวนอย่างเดียวอยู่ 10 วัน ถามคำถามซ้ำๆ อยู่นั่นแหละว่าผมรู้จักคนร้ายหรือไม่ ผมก็ตอบอย่างเดียวว่าไม่ จนกระทั่งเขาปล่อยออกมาเมื่อวันที่ 21 ธันวาคมนี้เอง"


 


อุสมานเปิดใจว่า เขาเสียใจมาก เพราะถูกกระทำเหมือนเป็นคนร้ายเสียเอง ทั้งที่พยายามให้ความร่วมมือกับทางการในการแก้ปัญหาความไม่สงบในบ้านเกิดเมืองนอนอย่างสุดความสามารถ แต่กลับไม่ได้รับการตอบสนองที่ดีจากฝ่ายที่เขาไว้วางใจเลย และนั่นจึงส่งผลให้ทัศนคติบางอย่างของเขาต่อทางราชการเปลี่ยนไปด้วย


 


"ไม่ได้หมายถึงผมจะไปเห็นด้วยกับฝ่ายแนวร่วมนะ แต่มันทำให้ผมท้อมาก หันกลับมาถามตัวเองว่า สิ่งที่เราทำมันให้ผลดีกับเรายังไงบ้าง เป็น ชรบ.เพื่อความสันติสุขของหมู่บ้าน แต่กลับถูกเรียกไปสอบสวนแล้วถูกนำไปกักกัน"


 


"มิหนำซ้ำช่วงที่ผมไม่อยู่ เมียกับลูกต้องมาทุกข์ใจมากเพราะเกรงว่าผมจะไม่ได้กลับมา  ไหนจะเรื่องปากท้องและความเป็นอยู่ที่ต้องลำบากแสนสาหัส ไปหยิบยืมเงินจากคนอื่นมาเลี้ยงตัวเอง วัวตายไป 1 ตัว การถูกกักตัวตอนแรกเขาบอกว่าจะให้เบี้ยเลี้ยงวันละ 100 บาท สุดท้ายก็ไม่ได้รับ นั่นแหละที่ทำให้ผมรู้สึกว่าผมต้องเลิก แล้วเป็นชาวบ้านอย่างเดียวดีกว่า ไม่ต้องไปเปลืองตัวใดๆอีกแล้ว"


 


คำบอกเล่าอย่างตรงไปตรงมาของอุสมาน ไม่ได้เกิดเพราะความเหนื่อยหน่ายจากการกระทำโดยภาครัฐเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เขาบอกว่า ภาพที่คนทั่วประเทศมอง ชรบ. อย่างพวกเขาว่าเป็น "หนอนบ่อนไส้" หรือแนวร่วมผู้ก่อความไม่สงบด้วยแทบทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ปล้นปืน ก็ทำให้เขาเกิดความน้อยใจด้วยเช่นกัน


 


"อาจจะเป็นเพราะการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนด้วยอย่างหนึ่ง ประกอบกับการทำงานของทางการ ทำให้คนไทยทั่วประเทศมองว่าพวกผมคือคนเลว ความจริงมันไม่ใช่อย่างนั้น คุณลองคิดดูว่า คุณถูกเอาปืนจ่อหัว แล้วจะให้เราสู้กับปืนหรือ ถ้าผมตายลูกเมียผมจะอยู่กับใคร ใครจะดูแลเขาได้"


 


"ไม่มีใครต้องการให้หมู่บ้านตนเองเกิดความเดือดร้อนแน่นอน ผมเชื่อว่าทุกคนอยากอยู่อย่างสันติสุขด้วยกันทั้งนั้น ส่วนพวกโจรใต้คืออีกพวกหนึ่งที่ทางรัฐบาลต้องบอกให้ได้ว่าเขาคือใคร ไม่ใช่พอเกิดเหตุทุกครั้งก็เหวี่ยงแหสุ่มไปมั่วๆ ไม่สนใจว่าใครจะรู้สึกอย่างไร"



ทุกวันนี้ อุสมาน โซะสาแน ไม่ได้เป็น ชรบ.อีกต่อไป เขาหวังจะทำงานหาเลี้ยงครอบครัวและใช้ชีวิตอย่างชาวบ้านธรรมดา แต่ก็ต้องมาเผชิญกับอุทกภัยอย่างหนักหน่วงในพื้นที่บ้านเกิดของตนเอง สวนยางพาราที่เขารับจ้างกรีดก็ไม่สามารถกรีดได้ จนกว่าฤดูมรสุมอันโหดร้ายนี้จะผ่านพ้นไป


 


และเมื่อถามย้ำว่า หากเกิดเหตุร้ายขึ้นในหมู่บ้านแล้วทางการขอให้เขาช่วยอีกครั้งเขาจะตัดสินใจอย่างไร อุสมานยิ้มยักไหล่ก่อนตอบ


 


"ยอมรับว่าเข็ด แต่ถ้าเขาอยากให้กลับไปจริงๆ ก็อาจจะไป"


 


ทางด้าน อามาน เจ๊ะแวดอเล๊าะ เด็กหนุ่มวัย 21 ปี ซึ่งเป็นชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านกูวิงชุดปัจจุบัน เปิดใจให้ฟังว่า เขาตัดสินใจเป็น ชรบ. ด้วยความฝันที่ต้องการให้หมู่บ้านสงบสุข ถึงแม้จะรู้ว่ามันเสี่ยงแค่ไหน แต่เขาก็ต้องทำ จึงชักชวนเด็กหนุ่มวัยเดียวกันในหมู่บ้านไปสมัครฝึกอบรมกับทางการเมื่อ 1 ปีก่อน


 


"อยากให้คนในหมู่บ้านปลอดภัย ไปไหนมาไหนได้อย่างสบายใจ" อามานบอก


 


แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ปล้นปืนเมื่อหลายเดือนก่อน ทำให้ความฮึกเหิมของเขาถูกบั่นทอนลงไปพอสมควร ถึงแม้ปืนของเขาจะไม่ได้ถูกปล้น แต่เพื่อน ชรบ.หลายคนก็เจอกับเหตุการณ์นี้ และเมื่อผู้ใหญ่บ้านสั่งให้ทุกคนเอาปืนไปคืนกับทางการเพราะเกรงเหตุร้ายจะเกิดขึ้นซ้ำอีก นั่นยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า ชรบ. ที่แท้ก็คือชาวบ้านธรรมดา ไม่ใช่ทหารหรือตำรวจที่มีศักยภาพต่อสู้กับโจรใต้ได้อย่างแท้จริง


 


อามานบอกว่า จุดอ่อนของ ชรบ. คือความเป็นชาวบ้านที่ต้องผูกพันกับวิถีชีวิต ไม่มีวิญญาณนักฆ่าอยู่ในตัว ผิดกับทหารตำรวจหรือแม้แต่กลุ่มคนร้าย ซึ่งมีจิตใจที่แข็งแกร่งกว่า และนั่นคือความเสี่ยงที่ ชรบ. ทุกคนต้องเผชิญ


 


"เราเพียงแต่รักษาความสงบให้เกิดขึ้น ไม่ได้ถูกฝึกให้ไปต่อสู้กับใคร แต่ตอนเหตุการณ์ปล้นปืน ใครคนหนึ่งบอกว่า "มีปืนกับตัวไม่รู้จักใช้ ปล่อยให้คนอื่นเอาไปได้ยังไง" ผมเสียใจกับคำพูดนั้นมาก เขาพูดเหมือน ชรบ. ทุกคนโง่ ซึ่งเขาไม่เข้าใจรายละเอียดในวิถีชีวิตของเราเลย"


 


"ความจริงคือ วันที่เกิดเหตุปล้นปืน ตรงกับวันละศีลอด (ปอซอ) ของชาวมุสลิม แล้วตามหลักศาสนาเขาห้ามถือปืนไปมัสยิด ซึ่งปกติทุกวันที่ไปละหมาดก็นำไปไม่ได้ ต้องเสร็จพิธีแล้วค่อยกลับไปหยิบปืนเพื่อเข้าเวร"


 


"คนที่ถูกปล้นปืนวันนั้น ส่วนใหญ่ปืนไม่ได้อยู่กับตัว ส่วนหนึ่งก็ไปปล้นจากเมียที่อยู่บ้าน แต่เขาไม่เข้าใจ กลับพูดไปอีกอย่าง คนที่ไม่รู้ก็เชื่อไปด้วย มีสักกี่คนที่มาสนใจความรู้สึกของพวกเรา" อามานกล่าวด้วยน้ำเสียงบ่งบอกถึงความเบื่อหน่าย


 


อามานบอกว่า เขาคือ ชรบ.ชุดสุดท้ายของหมู่บ้านนี้แล้ว เพราะต่อไปทางราชการจะยุบ ชรบ. แล้วจัดตั้ง อรบ. หรือ "อาสาสมัครรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน" ขึ้นมาแทนที่ ซึ่งขณะนี้เด็กหนุ่มและชายฉกรรจ์หลายคนในหมู่บ้านกำลังเดินทางไปเข้าร่วมอบรมเพื่อเป็นอาสาสมัครชุดใหม่


 


"ผมยังไม่เข้าใจว่า ชรบ. กับ อรบ.มันจะแตกต่างกันอย่างไรเพราะคืออาสาสมัครเหมือนกัน" อามานเปิดใจ


 


หลังจากเหตุการณ์ปล้นปืนครั้งนั้น ผู้ใหญ่บ้านสั่งให้ ชรบ.ทุกคนนำปืนไปคืนให้ทางการเพราะเกรงว่าจะเกิดเหตุร้ายขึ้นซ้ำอีก ซึ่งทุกวันนี้ ชรบ.ที่เหลืออยู่ไม่มีอาวุธปืนอยู่ในมือ ต้องใช้มีดพร้าเป็นอาวุธประจำกายในทุกค่ำคืน อามานและเพื่อนจึงต้องระมัดระวังตัวเป็นพิเศษ...


 


และถึงแม้จะต้องการปืนเพื่อความอุ่นใจ แต่ใจหนึ่งก็เห็นด้วยกับผู้ใหญ่บ้านที่บอกว่าพอปืนถูกปล้น แทนที่ทางการจะดำเนินการสืบสวนอย่างเป็นธรรม หรือไปตามหาปืนกลับมาให้ได้ กลับหาแพะรับบาปแทน ซึ่งนั่นก็คือ ชรบ.


 


"ทุกวันนี้ผมยอมใช้มีดพร้ารักษาความปลอดภัยให้หมู่บ้านดีกว่า ไม่ว่าจะเกิดเหตุอะไรขึ้นอีกก็ตาม แต่ผมจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ถ้าโจรมันจะมาปล้นมีดพร้าอีกก็ไม่รู้จะทำอย่างไรแล้ว เพราะมีดพร้าก็สู้ปืนไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็ไม่ต้องถูกเพ่งเล็งจากทางการว่า ชรบ.เป็นแนวร่วมเหมือนที่แล้วมา" อามานกล่าวส่งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net