แรงงานข้ามชาติที่เสียชีวิตจากสึนามิ (2) : หนึ่งปีของการรอคอย

 

 

แม้เหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิจะผ่านไปหนึ่งปีแล้ว ภาครัฐประกาศจัดงานด้วยการเชิญญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิตจากประเทศต่างๆ เข้าร่วมพิธีรำลึกเหตุการณ์ภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิที่ผ่านมา และเป็นหนึ่งปี ที่ข่าวความขัดแย้งในเรื่องการรื้อฟื้นเรื่องการตรวจสอบศพผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติสึนามิของทีมจากกระทรวงยุติธรรมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะหวนกลับมาอีกครั้ง

 

แต่อีกด้านหนึ่งกลุ่มคนอีกกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยและสูญเสียญาติพี่น้อง สามีภรรยาหรือลูก ยังคงเฝ้ารอว่าเมื่อใดพวกเขาถึงจะได้รับศพคนที่พวกเขารัก เพื่อจะได้ทำพิธีอุทิศส่วนกุศลให้แก่พวกเขาเหล่านั้นให้ไปสู่สุขคติ

 

กลุ่มแรงงานข้ามชาติที่เสียชีวิตจากภัยพิบัติสึนามิ ยังเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังไม่สามารถจะระบุจำนวนที่แท้จริงได้ ตัวเลขที่กระทรวงแรงงานรับรายงานจากพื้นที่ต่างๆ มีแรงงานข้ามชาติที่เสียชีวิตเพียง  9 คน ในพื้นที่จังหวัดระนอง (อำเภอกะเปอร์) 4 คน จังหวัดพังงา (อำเภอตะกั่วป่า) 3 คน และจังหวัดภูเก็ต 2 คน (อำเภอเมือง 1 คน และอำเภอกระทู้ 1 คน) สูญหาย 2 คนในพื้นที่จังหวัดกระบี่

 

แต่ตัวเลขขององค์กรพัฒนาเอกชนที่พยายามเข้าไปติดต่อประสานงานเพื่อแสวงหาญาติของผู้เสียชีวิตพบว่า ในเฉพาะพื้นที่อำเภอตะกั่วป่า เขตตำบลที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก เช่น ตำบลคึกคัก  ตำบลบางม่วงและเขาหลัก มีแรงงานข้ามชาติที่เสียชีวิตโดยมีญาติมาแจ้งและให้ข้อมูลมากถึง 300 คน และพบศพที่ยืนยันได้ว่าเป็นแรงงานข้ามชาติแล้วในเบื้องต้นประมาณ 100 ศพ

 

ตัวเลขที่แตกต่างกันเช่นนี้  ส่วนหนึ่งนั้นเกิดจากการที่แรงงานข้ามชาติที่เป็นญาติของผู้เสียชีวิตไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการในการแจ้งและขอรับศพผู้เสียชีวิตในช่วงแรกได้ ทั้งนี้เนื่องจากปัญหาในการสื่อสารระหว่างแรงงานข้ามชาติกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ความปลอดภัยของแรงงานข้ามชาติที่หวั่นเกรงว่าตนเองจะถูกจับกุม ปัจจัยเหล่านี้เป็นสาเหตุสำคัญที่กีดกันแรงงานข้ามชาติออกจากระบวนการในการตามหาญาติพี่น้องของตนเองที่เสียชีวิต ดังนั้นจึงทำให้ไม่น่าแปลกใจนักเมื่อตัวเลขในเบื้องต้นจะปรากฏผู้เสียชีวิตเพียง 9 คน

 

ตัวอย่างที่ชัดเจนในเรื่องนี้คือ การกรอกแบบฟอร์มจากญาติผู้เสียชีวิตที่หนาราว 20 หน้า และเป็นเอกสารที่เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีล่ามสื่อภาษาที่จะคอยสอบถามและอธิบายให้แรงงานข้ามชาติที่มีปัญหาทั้งในการสื่อสารโดยการอ่านภาษาไทยและอังกฤษได้เข้าใจ หลายครั้งการพยายามเข้าไปสอบถามและประสานงานกับญาติผู้เสียชีวิตก็ไม่ได้รับความร่วมมือจากนายจ้างเท่าที่ควร รวมทั้งการนำเอกสารสำคัญที่เป็นหลักฐานในการพิสูจน์ศพผู้เสียชีวิต เช่น ลายพิมพ์นิ้วมือในการติดต่อประสานกับหน่วยงานรัฐเพื่อขอสำเนาเอกสารที่มีรายพิมพ์นิ้วมือ หลายครั้งก็ได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่อย่างดี แต่หลายครั้งคำตอบที่ได้รับคือ ต้องให้นายจ้างมาขอรับเท่านั้น แม้จะให้เหตุผลต่างๆนานาก็ได้รับคำยืนยันเช่นเดิม ราวกับว่าแรงงานข้ามชาติเหล่านี้เป็นสมบัติชิ้นหนึ่งของนายจ้าง มิได้มีตัวตนแห่งความเป็นมนุษย์ดำรงอยู่แต่อย่างใด

 

ขณะเดียวกันแม้จะพบศพของผู้เสียชีวิตและมีญาติมารับศพแล้ว ก็ยังไม่สามารถรับศพออกไปได้ เนื่องจากทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยืนยันว่า มีแนวทางการปฏิบัติที่ต้องให้สถานฑูตของประเทศต้นทางมายืนยันว่า ผู้เสียชีวิตเป็นคนของประเทศนั้นจริง ญาติถึงจะสามารถรับศพออกไปได้

 

แต่ในความเป็นจริงแล้วแรงงานข้ามชาติเหล่านี้เป็นแรงงานที่ออกจากประเทศโดยไม่ผ่านช่องทางทางกฎหมายและเข้าประเทศไทยด้วยวิธีการเดียวกัน ฐานข้อมูลในการยืนยันการเดินทางจึงไม่มี อีกส่วนหนึ่งแรงงานเหล่านี้หลายคนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายแดนของประเทศต้นทางโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีพม่า หลักฐานในเชิงเอกสารทางทะเบียนราษฎรจึงอาจจะไม่มี บางพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์กับรัฐบาลทหารพม่า ก็จะยิ่งยากขึ้นในกรณีหาหลักฐานพิสูจน์ตน

 

ที่สำคัญเราเคยมีบทเรียนเรื่องการประสานงานกับประเทศต้นทางโดยเฉพาะกรณีประเทศพม่าในเรื่องการส่งกลับแรงงานข้ามชาติ ซึ่งทางพม่าขอให้มีการพิสูจน์หลักฐานว่าเป็นคนพม่าจริง เวลาล่วงเลยไปหลายเดือนกระบวนการดังกล่าวก็ยังไม่เสร็จสิ้น จนทำให้มีแรงงานข้ามชาติที่ถูกกักตัวอยู่ป่วยและเสียชีวิตไปในที่สุด

 

ดังนั้นจึงเป็นไปได้ยากในกรณีนี้ที่จะให้รอคำรับรองจากประเทศต้นทาง ซึ่งข้อเสนอขององค์กรพัฒนาเอกชนคือการใช้หลักฐานที่ทางราชการไทยเป็นผู้ออกให้มายืนยัน แต่กว่าเรื่องราวต่างๆ จะดำเนินไปได้ตามข้อเสนอก็ล่วงเลยมาถึงเดือนพฤศจิกายน และจนกระทั่งขณะนี้ซึ่งครบรอบหนึ่งปีของเหตุการณ์แล้วก็ยังไม่มีญาติของผู้เสียชีวิตได้รับศพของผู้เสียชีวิต มีเพียงกรณีที่ได้รับตั้งแต่หลังเหตุการณ์ไม่นานนัก และกรณีที่มีนายจ้างที่เป็นผู้มีชื่อเสียงมาขอรับเท่านั้น

 

ขิ่น โช พี่สาวของ ตี ดา ซึ่งเสียชีวิตจากภัยพิบัติครั้งนั้นได้พูดถึงความรู้สึกว่า

 

"ตอนนี้ที่อยากได้คืออยากได้ศพของเขามาเผาและทำพิธีตามประเพณีเท่านั้น อยากให้เขาไปสบาย" และเมื่อถามว่าหนึ่งปีที่ผ่านมาหลังจากการสูญเสียน้องสาวรู้สึกอย่างไร เธอก็บอกว่า "เสียใจและสับสน เพราะตอนแรกมีคนเห็นว่าน้องสาวโดนคลื่นพัดไปแล้ว ก็ให้สามีและเพื่อนออกตามดูตามชายหาดก็หาไม่เจอ คิดว่าน่าจะตายไปแล้ว แต่อีกใจหนึ่งเราก็ยังมีความหวังว่าจะมีคนช่วยเหลือเขาได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานก็เริ่มทำใจว่าน้องสาวน่าจะตายไปแล้ว ก็ยังหวังว่าน่าจะได้เจอศพเขาจะได้ทำบุญให้เขา จนมีคนมาถามว่าใครมีญาติที่ตาย เขาจะพาไปหาศพให้ เราก็ไป เขาก็มาถามและจดอะไรไป และเขาก็มานัดไปให้หมอตรวจ (พิสูจน์ DNA) ตอนนี้เขาก็มาบอกว่าเจอศพแล้วให้เตรียมตัวไปรับได้ ก็ดีใจเพราะรอมาปีหนึ่งแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับสักที ทุกวันนี้ก็สวดมนต์ทำบุญให้เขาตลอด"

 

หนึ่งปีแห่งการรอคอยว่าพวกเขาจะได้รับศพของคนที่ตนเองรัก ก็ยังต้องรอไปอีก เพียงแต่หวังว่าอีกไม่นานพวกเขาคงจะได้มีโอกาสนั้นเสียที แม้วันนี้พวกเขาจะไม่ได้รับเชิญไปเป็นแขกของรัฐบาลเพื่อร่วมงานก็ตาม

 

กลับหน้าแรกประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท