ระบบการรับมือกับภัยพิบัติสึนามิด้านสังคมและการจัดการปกครอง

เอกสารสรุปชิ้นนี้มาจากโครงการวิจัยล่าสุด "ระบบการรับมือกับภัยพิบัติสึนามิ ด้านสังคมและการจัดการปกครอง : ถอดประสบการณ์เชิงระบบ" ในส่วนที่ว่าด้วย "ระบบการรับมือกับภัยพิบัติสึนามิด้านสังคมและการจัดการปกครอง : บทสรุปและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย" โดยคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ คณะวิจัยประกอบด้วย สุริชัย หวันแก้ว, สุภาพร โพธิ์แก้ว, กนกพรรณ อยู่ชา, บุญยง ชื่นสุวิมล, ภาวิกา ศรีรัตน์บัลล์, และฐิติพล ภักดีวานิช ในความสนับสนุนของมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ

 

"ประชาไท" เห็นว่าเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายอย่างเป็นระบบและรอบด้านที่สุดในเวลานี้ จึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่

 

0 0 0

 

ภัยพิบัติสึนามิเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 นำมาซึ่งความสูญเสียจำนวนมาก สำหรับสังคมไทยแล้ว กระบวนการจัดการรับมือแก้ไขปัญหาอันสืบเนื่องจากภัยพิบัติดังกล่าว นับเป็นประสบการณ์ที่สำคัญที่ทำให้สังคมไทยได้เรียนรู้ถึงทั้งจุดเด่นที่ควรส่งเสริมในหลายด้านและข้ออ่อนที่ควรมีการทบทวนและปรับปรุง ระบบการรับมือกับภัยพิบัติในที่นี้ กินความกว้าง โดยหมายถึง กระบวนการในการรับมือและจัดการกับภัยพิบัติที่สืบเนื่องกัน 3 ช่วง ได้แก่ หนึ่ง ช่วงภาวะฉุกเฉิน ซึ่งเป็นช่วงประมาณสัปดาห์แรกถึงเดือนแรกหลังเหตุการณ์ สอง ช่วงกอบกู้ ที่แต่ละฝ่ายพอจะตั้งสติ ร่วมมือกับจัดกระบวนเพื่อกอบกู้สถานการณ์ให้ผ่อนหนักเป็นเบา อันเป็นช่วงเวลาหลังเหตุการณ์ผ่านเป็นประมาณ 1-3 เดือน และ สามช่วงฟื้นฟูและพัฒนา อันเป็นช่วงที่ต้องคิดวางแผนระยะยาวในการแก้ไขปัญหาต่างๆอย่างเป็นระบบและรอบด้าน ตลอดจนเตรียมรับมือกับรอบใหม่ของภัยพิบัติที่ไม่มีใครคาดการณ์ได้ประสบการณ์การรับมือภัยพิบัติของสังคมไทยจากเหตุการณ์สึนามิครั้งที่ผ่านมานี้ มีจุดเด่นที่น่าสนใจอย่างน้อย 2 ประการ ได้แก่

 

1) ความฉับไวของรัฐบาลที่สามารถตอบสนองต่อสภาวะการณ์ได้อย่างรวดเร็ว เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นที่ประสบภัยสึนามิด้วยกัน ทั้งด้านการจัดการระบบใหญ่ของส่วนกลางในการรับมือช่วงฉุกเฉิน ภาวะการนำของรัฐบาล การตั้งคณะกรรมการและอนุกรรมการด้านต่างๆเพื่อจัดการกับปัญหาอย่างรอบด้าน รวมทั้งการสนับสนุนด้านงบประมาณ ตลอดจนการประสานงานกับนานาชาติ บทบาทการรับมือกับภัยพิบัติของภาครัฐในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสที่ดีในการทดสอบและประเมินประสิทธิผลของการปฏิรูประบบราชการในช่วงที่ผ่านมา

2) บทบาทการรับมือภัยพิบัติของภาคประชาสังคมและชุมชน ที่แม้จะไม่เป็นข่าวเด่นเท่าการทำงานของภาครัฐ แต่เห็นได้ชัดเจนโดยเฉพาะช่วง 6-10 เดือนให้หลัง ว่าดูจะมีความหนักแน่นและตรงเป้ามากกว่า ทั้งนี้เพราะมิได้นั่งรอคอยความช่วยเหลือเพียงอย่างเดียว หากแต่ได้ร่วมมือกันเกิดเป็นการจัดระบบตนเอง (self-organizing) เพื่อดำเนินการทั้งในการตอบสนองไขปัญหาเฉพาะหน้าในช่วงฉุกเฉิน การตั้งสติร่วมกันคิดร่วมกันจัดกระบวนระบบเพื่อกอบกู้สถานการณ์ ตลอดจนการวางแผนการพัฒนาชุมชนผู้ประสบภัยในช่วงฟื้นฟูระยะยาว

 

ในส่วนข้ออ่อนด้านการรับมือภัยพิบัติของสังคมไทยจากประสบการณ์ที่ผ่านมา หากมองผ่านห้วงเวลา 3 ห้วงดังกล่าวข้างต้นแล้ว จะทำให้เห็นได้ว่าเมื่อผลกระทบชั้นที่ 1 อันได้แก่ความสูญเสียโดยตรงจากภัยพิบัติสึนามิ ผ่านพ้นไปแล้ว ยังมีการเกิดขึ้นของปัญหาผลกระทบชั้นที่ 2 จากวิธีการดำเนินการช่วยเหลือแล้วกลายเป็นสร้างปัญหาใหม่ และผลกระทบชั้นที่ 3 อันสืบเนื่องจากการจัดการที่ขาดความยั่งยืนและเป็นองค์รวม โดยสามารถสรุปได้ดังนี้

 

1) เครื่องชี้วัดที่สำคัญที่บ่งบอกถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของระบบการรับมือภัยพิบัติ คือการเอาผู้ประสบภัยเป็นตัวตั้ง จะเห็นได้ว่าแม้เวลาผ่านไป 1 ปีแล้ว แต่ยังคงมีคนชายขอบที่ตกสำรวจ ไม่อยู่ในจอภาพการให้ความช่วยเหลือของระบบอยู่ไม่น้อย นี้แสดงให้เห็นว่านโยบายการรับมือภัยพิบัตินั้นแม้มีข้อดีอยู่มาก แต่ก็ยังมีข้ออ่อนอยู่ไม่น้อยที่จำเป็นต้องมีการปรับปรุง

 

2) ระบบการให้ความช่วยเหลือของราชการ แม้จะนับได้ว่ามีการปรับตัวอยู่สูงมากภายใต้สภาพการณ์ที่ผ่านมา แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่ายังมีช่องว่างในเรื่องขาดความทั่วถึงของการช่วยเหลือ เนื่องจาก "ขาลอย" เพราะไม่ได้โยงกับเครือข่ายการทำงานของชุมชน คนชายขอบ หรือคนไร้สัญชาติมากนัก ช่องว่างดังกล่าวสามารถเสริมได้ด้วยบทบาทของภาคประชาสังคมและภาคชุมชน

 

3) กระบวนการนโยบายการรับมือภัยพิบัตินั้น แม้มีจุดแข็งอยู่ที่การตอบสนองในภาวะฉุกเฉินเฉพาะหน้าได้ดี แต่ยังขาดการให้น้ำหนักกับมิติที่เอื้อให้เกิดการฟื้นฟูอย่างยั่งยืนในช่วงกอบกู้และช่วงฟื้นฟู กระทั่งกลายเป็นการเปิดช่องว่างให้นายทุนมาแสวงประโยชน์หรือ "โอกาส" จาก "วิกฤต" ของผู้ประสบภัยได้ ดังจะเห็นได้อย่างu3594 .ัดเจนจากปัญหาความขัดแย้งเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดิน เป็นอาทิ

 

อันที่จริงแล้ว นโยบายการรับมือกับภัยพิบัติควรให้ความใส่ใจในกระบวนการฟื้นฟูชีวิตอย่างเป็นองค์รวม แต่กลับกลายเป็นนโยบายแบบเอาความฉุกเฉินและความจำเป็นทางการเมืองที่ "ขาลอย" เป็นตัวตั้ง ทำให้เกิดการทุ่มงบประมาณลงไปในมิติเดียว คือ การสร้างข่าวประชาสัมพันธ์และการช่วยเหลือเฉพาะหน้า แต่มิได้ช่วยเหลือด้านการฟื้นฟูชีวิตอย่างยั่งยืนบนฐานของปัญหาและความเป็นจริงในพื้นที่ กระทั่งทำให้สาธารณชนเข้าใจผิดว่าปัญหาต่างๆได้รับการแก้ไขลุล่วงไปหมดแล้ว ลักษณะนโยบายการช่วยเหลือดังกล่าว จึงกลายเป็นการเลือกช่วยเหลือเฉพาะด้านที่สะดวกต่อมิติเบื้องสูง แต่ละเลยการดำเนินการฟื้นฟูแบบองค์รวมและอย่างยั่งยืนของชีวิตชุมชนผู้ประสบภัย

 

4) การสื่อสารว่าด้วยเรื่องภัยพิบัตินั้น แม้ตลอดห้วงเวลาที่ผ่านมา หลายส่วนมีการปรับตัวและเรียนรู้เรื่องภัยพิบัติอย่างใหม่นี้ แต่ส่วนใหญ่ดูจะเน้นที่การสื่อสารให้คนทั่วไปได้รับรู้เหตุการณ์มากกว่า โดยมิได้ให้น้ำหนักกับชุมชนผู้ประสบภัยเป็นตัวตั้ง นอกจากนี้ แม้ในเรื่องระบบเตือนภัยก็ค่อนข้างกลายเป็นเรื่องเครื่องจักรเครื่องกลในภาพระดับใหญ่ไป แต่กลับเกิดความพิกลพิการในด้านประสิทธิภาพในระดับชุมชนท้องถิ่น

จากจุดเด่นและข้ออ่อนของการจัดระบบรับมือภัยพิบัติสึนามิที่ผ่านมาดังกล่าว ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อการจัดระบบรับมือภัยพิบัติในมิติด้านสังคมและการจัดการปกครองนั้น สามารถแบ่งได้ตามช่วงเวลาเป็น 3 ช่วง ได้แก่ 1) ช่วงฉุกเฉิน-ช่วงกอบกู้ 2) ช่วงกอบกู้-ช่วงฟื้นฟูและพัฒนา 3) ช่วงการเตรียมการเตรียมพร้อมกับรอบใหม่ของภัยพิบัติ ดังนี้

 

1. ช่วงฉุกเฉิน-ช่วงกอบกู้

1.1. การจัดระบบตนเอง (self-organizing) และการประคับประคองระบบ

ในภาวะวิกฤตที่เกิดปัญหาจำนวนมากผุดขึ้นตลอดเวลา และเกินกว่าความสามารถของระบบเดิมจะรองรับไว้ได้นั้น จะเกิดปรากฏการณ์ที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ริเริ่มกระทำการจัดระบบรับมือกันขึ้นมาเอง ทุกฝ่ายต่างช่วยเหลือกันโดยมีมนุษยธรรมเป็นหลัก ไม่คิดเล็กคิดน้อย ทั้งนี้เพื่อตอบสนองกับปริมาณปัญหาดังกล่าว

 

การชี้ประเด็นร่วมเพื่อลดความขัดแย้ง ในช่วงรอยต่อระหว่างภาวะฉุกเฉินกับระยะตั้งหลักเพื่อกอบกู้นั้น จำเป็นต้องมีการชี้ให้เห็นประเด็นปัญหาที่ยังคงมีอยู่และต้องดำเนินการสืบเนื่องร่วมกัน เพื่อป้องกันความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นจากการเริ่มมีอัตตาขององค์กรมากขึ้น จนขยายลุกลามใหญ่โต ดังกรณีการกระทบกระทั่งกันระหว่างสถาบันนิติวิทยาศาสตร์กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติจนทำให้การจัดการศพสะดุดล่าช้าไป

อย่างไรก็ตาม หากมีความขัดแย้งเกิดขึ้นแล้ว ควรแปรให้กลายเป็น "ความขัดแย้งเชิงสร้างสรรค์" โดยการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ทางสังคมและมีท่าทีร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน เพื่อความร่วมไม้ร่วมมือใหม่ภายใต้ทุนทางสังคมหรือความไว้วางใจกันและกัน

 

นอกจากนี้ การเร่งร้อนดำเนินการต่างๆควรหลีกเลี่ยงการกระทำด้วยหวังดี แต่กลายเป็นการทำลายระบบที่จัดตั้งกันขึ้นมาเองนี้โดยไม่ตั้งใจ เช่น การกำหนดเส้นตายให้ดำเนินการด้านนั้นๆ เสร็จในเวลาหนึ่งๆ โดยไม่เปิดพื้นที่และเวลาให้เกิดการร่วมคิดจากผู้ประสบภัย เพื่อให้การดำเนินการมีความเหมาะสมสอดคล้อง เป็นต้น

 

1.2. ระบบการสื่อสาร

เทคโนโลยีการสื่อสาร : จากกรณีบทบาทการทำงานของสวท.ภูเก็ตในช่วงต้น สะท้อนให้เห็นว่า เมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติขึ้นจริง เครื่องมือการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ มิใช่เทคโนโลยีชั้นสูง อย่างโทรศัพท์มือถือ หรือโทรทัศน์ แต่เป็นโทรศัพท์พื้นฐานและวิทยุกระจายเสียงในท้องถิ่น ที่คนในท้องถิ่นใช้โทรศัพท์ โทรเข้าไปในรายการวิทยุท้องถิ่น ทั้งเพื่อขอความช่วยเหลือและประกาศข่าว ดังนั้น ควรมีการทดลองจัดตั้งวิทยุชุมชนในพื้นที่เสียหายเพื่อเป็นช่องทางการสื่อสารของผู้ประสบภัยและเป็นกลไกหนึ่งในการเตือนภัย บรรเทาทุกข์ กอบกู้ เยียวยา ตลอดจนฟื้นฟูชีวิตและชุมชน

 

วิธีการสื่อสาร : ในการสื่อสารกับภายนอก ผู้ประสบภัยควรมีส่วนร่วมเป็น "ผู้ลงมือกระทำ" การสื่อสารเชิงรุก ทั้งบอกเล่า ถ่ายทอดความรู้สึก แสดงความคิดเห็น สะท้อนความต้องการ เพื่อให้ผู้ประสบภัยเป็นผู้ร่วมรับรู้และร่วมกำหนดวิธีการช่วยเหลือ ตลอดจนร่วมตัดสินใจและกำหนดอนาคตของตัวเองอย่างมีสิทธิและมีศักดิ์ศรี ตัวอย่างความริเริ่มของวิทยุชุมชนบ้านทับตะวันนับเป็นความพยายามที่น่าสนใจไม่น้อย นอกจากนี้ การสื่อสารระหว่างบุคคลและการสื่อสารภายในกลุ่ม เป็นรูปแบบการสื่อสารที่ผู้ประสบภัยจำเป็นต้อu3591 .พึ่งพามากที่สุดในการเยียวยาและฟื้นฟูหลังภัยพิบัติ

 

เนื้อหาการสื่อสาร : ผู้ประสบภัยควรมีสิทธิที่จะได้รู้ และสิทธิเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร (right to know & to access information) ดังนั้น เนื้อหาและการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารจึงไม่ควรเน้นเพียงเพื่อชนชั้นกลางในเมืองหรือส่วนอื่นๆเท่านั้น ดังที่มักพบในสื่อสารมวลชนขนาดใหญ่ของประเทศโดยเฉพาะโทรทัศน์ช่องต่างๆ แต่ควรมีเป้าหมายให้ผู้ประสบภัยได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่มีคุณภาพ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภัยพิบัติ ความเป็นไปของเหตุการณ์ รวมทั้งข้อมูลเพื่อบรรเทาความทุกข์ร้อน ทั้งต่อชีวิตที่สูญสิ้น สูญหาย และชีวิตที่เหลือรอด อย่างทั่วถึง เพราะมีความสำคัญต่อการเยียวยาและฟื้นฟูเป็นอย่างยิ่ง ตลอดจนบางครั้งก็มีความสำคัญถึงชีวิตของผู้ประสบภัยเลยทีเดียว

 

1.3. ระบบการบริหารจัดการอาสาสมัคร

จากประสบการณ์การบริหารจัดการอาสาสมัครในช่วงแรกๆของศูนย์อาสาสมัครสึนามิ ณ เขาหลัก ทำให้ได้ข้อคิดว่าระบบการจัดการอาสาสมัครจำเป็นต้องมีความยืดหยุ่น โดยยึดมั่นในการเน้นงานหรือปัญหาในพื้นที่ประสบภัยเป็นตัวตั้ง (problem-oriented) หรือ "การช่วยเหลือผู้อื่นเป็นตัวตั้ง" แล้วจับคู่กับอาสาสมัครที่เหมาะสมเท่าที่เป็นไปได้ ในขณะเดียวกัน ควรหลีกเลี่ยงการเอาทักษะความสามารถของอาสาสมัครเป็นตัวตั้ง เพราะจะทำให้ปัญหาในพื้นที่ประสบภัยที่มากมายอยู่แล้ว วุ่นวายขึ้นไปอีก

 

2. ช่วงกอบกู้-ช่วงฟื้นฟูและพัฒนา

2.1. การบริหารภาครัฐ : ปัญหาอำนาจการเมืองและอำนาจการบริหาร

ในช่วงกอบกู้อันเป็นรอยต่อเปลี่ยนผ่านระหว่างภาวะฉุกเฉินกับช่วงฟื้นฟูนั้น มักปรากฏว่าหลังจากหน่วยงานในพื้นที่ดำเนินการลุล่วงจัดตั้งระบบขึ้นมาได้ระดับหนึ่งแล้ว เมื่อนักการเมืองจากส่วนกลางลงไปในพื้นที่เพียงช่วงสั้นๆ ดำเนินการสั่งการด้านต่างๆอย่างขาดความเข้าใจถึงบริบทในพื้นที่ ทำให้ระบบที่กำลังก่อรูปต้องรวนเรเสียระบบไป นอกจากนี้ ในหลายครั้ง ยังพบปรากฏการณ์ที่เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ไม่มีเวลาสานต่องานได้อย่างต่อเนื่อง เพราะต้องคอยต้อนรับนักการเมืองจำนวนมากที่ลงไปในพื้นที่ที่เป็นจุดสนใจของสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องสร้างชัดเจนในอำนาจสั่งการระหว่างอำนาจของฝ่ายการเมืองจากส่วนกลางที่ลงไปในพื้นที่ กับอำนาจการบริหารเดิมในพื้นที่ เพื่อให้ไม่เกิดภาวะขาดอิสระและความสับสนในการตัดสินใจ การสั่งการ และปฏิบัติงาน

 

2.2. การประสานงานระหว่างหน่วยงาน

แม้หน่วยงานภาครัฐหลายส่วน โดยเฉพาะด้านสาธารณสุข จะมีการปรับตัวตอบรับกับสภาวะการณ์ที่ผ่านมาสูงมาก แต่การให้ความช่วยเหลือที่ยังไม่ทั่วถึงก็เป็นสิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ดังปรากฏว่า แม้ผ่านไปกว่า 10 เดือนแล้ว แต่ก็ยังพบกรณีตกหล่นที่ญาติในภูมิลำเนาห่างไกล ไม่มีเงินเพียงพอจะเดินทางเข้าถึงจุดบริการของรัฐเพื่อขอความช่วยเหลือติดต่อผู้ประสบภัยหรือตามหาผู้เสียชีวิตได้ เป็นต้น ดังนั้น ควรมีการจัดตั้งหน่วยบริการเคลื่อนที่ ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือในลักษณะบูรณาการและทำงานเชิงรุกเข้าหาผู้ประสบภัยที่ไม่สามารถติดต่อหรือเข้าถึงบริการความช่วยเหลือของภาครัฐได้ ในด้านต่างๆ ตามแต่ละช่วงเวลาหลังภัยพิบัติ เช่น อาชีพ สุขภาพและการสาธารณสุข การติดตามญาติที่สูญหาย เป็นต้น

 

นอกจากนี้ จากปัญหาการไม่มีเจ้าภาพในพื้นที่เป็นผู้ประสานการดำเนินการด้านต่างๆ ทำให้เกิดการทำงานในลักษณะต่างคนต่างทำเท่าที่ศักยภาพจะเอื้อ ดังนั้น ควรมีการตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจในลักษณะคณะกรรมการร่วม จากภาคีหลายฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคชุมชน ทำหน้าที่วางแผน กำหนดขั้นตอน และกรอบแนวคิดร่วมในการฟื้นฟูร่วมกันระหว่างหน่วยงานระดับจังหวัด อำเภอ อบต. เทศบาล อบจ. ร่วมกับภาคธุรกิจ องค์กรพัฒนาเอกชน และภาคชุมชนในพื้นที่ตลอดจนนำแผนดังกล่าวไปใช้ในทางปฏิบัติ

หน่วยงานเฉพาะกิจนี้ ยังมีหน้าที่ประสานงานกลางแบบใช้พื้นที่เป็นหลัก (area-based) โดยประสานทั้งองค์กรอื่นๆและ "อาสาสมัครเท้าเปล่า" โดยกำหนดขอบเขตพื้นที่ปฏิบัติการให้ชัดเจน และได้รับการยอมรับสถานภาพในเชิงกฎหมายด้วย ส่วน "อาสาสมัครเท้าเปล่า" ดังกล่าวจะทำหน้าที่เสริมร่วมการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ พัฒนากรและองค์กรพัฒนาเอกชนอื่นๆ เพื่อทำหน้าที่รับรู้ความคิดความรู้สึกของผู้ประสบภัย และคิดหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยที่อาสาสมัครเท้าเปล่านี้อาจประกอบด้วยทั้งคนในพื้นที่ประสบภัยและอาสาสมัครจากนอกพื้นที่

 

2.3. การให้ความช่วยเหลือ : ความทั่วถึง เท่าเทียม และการอธิบาย

การให้ความช่วยเหลือควรเป็นไปอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาความขัดแย้งที่มักเกิดขึ้นระหว่างฝ่ายต่างๆในหลายกรณี เช่น หนึ่ง ระหว่างชุมชนผู้ประสบภัยแต่ละแห่งที่ได้รับความช่วยเหลือไม่เท่าเทียมกัน, สอง ระหว่างชุมชนผู้ประสบภัยกับชุมชนรอบนอกในพื้นที่เดียวกัน ที่ไม่ประสบภัย แต่ประสบปัญหาเดิมที่มีอยู่ก่อนแล้ว, หรือสาม ระหว่างฝ่ายปฏิบัติงานของภาครัฐในพื้นที่กับหน่วยงานระดับจังหวัดที่ไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างสมน้ำสมเนื้อกับภาระหน้าที่ ดังกรณีที่เกิดกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่จังหวัดพังงาบางหน่วย เป็นต้น

 

นอกจากนี้ ในบางกรณี ปัญหาความขัดแย้งสืบเนื่องจากความไม่เท่าเทียมของการช่วยเหลือดังกล่าว จำเป็นต้องได้รับการอธิบายเหตุผล และสื่อสารสาธารณะ (public communication) เพื่อยกระดับความเข้าใจร่วมในสังคม และเกิดความเห็นใจ ตลอดจนป้องกันการเกิด "ความขัดแย้งซ้ำซาก"

 

2.4. ระบบข้อมูลชุมชน : กระบวนการชุมชนและการแบ่งปันข้อมูลเพื่อประโยชน์สาธารณะ

ในการรับมือกับภัยพิบัตินั้น ข้อมูลด้านต่างๆของชุมชนมีความสำคัญมากต่อการวางแผนและวางนโยบายทั้งในระดับชุมชนและระดับประเทศ ทำให้ทุกฝ่ายทุ่มกำลังไปกับการลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากผู้ประสบภัยเป็นจำนวนมาก จนเกิดปรากฏการณ์การจัดเก็บข้อมูลซ้ำซ้อน ผู้ประสบภัยต้องตอบคำถามซ้ำหลายครั้ง โดยเฉพาะในคำถามที่อ่อนไหวต่อความรู้สึก ดังที่มีการกล่าวถึงกันมากว่าเป็นการถามตอกย้ำรอยแผลในจิตใจของผู้ประสบภัย รวมทั้งเกิดปรากฏการณ์หวงข้อมูลกันระหว่างหน่วยงาน เนื่องด้วยสาเหตุทางงบประมาณ ตลอดจนเกิดภาวะที่ผู้ประสบภัยกล่าวขานกันมากว่าเก็บข้อมูลแล้วก็หายไป มิได้รับรู้การนำไปใช้ประโยชน์ของข้อมูลดังกล่าว กระทั่งหลายฝ่ายก็เสนอให้มีการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลชุมชนขึ้น

 

ดังนั้น เพื่อให้ชุมชนได้รับรู้ถึงการใช้ประโยชน์ของข้อมูล รวมทั้งรู้สึกร่วมเป็นเจ้าของข้อมูลด้วย หน่วยงานภายนอกจึงควรมีบทบาทเสริมหรือเอื้ออำนวยให้ชุมชนดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลพื้นฐานของตนร่วมกัน สร้างเป็นระบบข้อมูลชุมชน กระบวนการยังเป็นการถอดบทเรียนและเรียนรู้ร่วมกันของคนในชุมชน ที่สำคัญ ข้อมูลที่ได้มาควรเปิดให้เป็นข้อมูลสาธารณะ มีการแบ่งปันข้อมูลเหล่านี้ทั้งระหว่างหน่วยงานภายนอกด้วยกันเอง และแบ่งปันกับชุมชนผู้ประสบu3616 .ัย เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างชุมชนต่างๆ ด้วยเช่นกัน

 

2.5. สื่อสารมวลชนกับการสื่อสารเกี่ยวกับภัยพิบัติ

วิธีการสื่อสาร : เน้นการสื่อสารสองทาง หลีกเลี่ยงการสื่อสารแบบบนลงล่าง ศูนย์กลางสู่ภูมิภาค รวมทั้งการมองผู้ประสบภัยเป็นเพียงผู้ถูกช่วยเหลือ ดังที่พบเป็นปรากฏการณ์ทั่วไปในสื่อขนาดใหญ่ โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ช่องต่างๆ แต่ควรให้ความสำคัญต่อบทบาทของชุมชนในการเป็นผู้ร่วมแก้ไขปัญหา

 

เนื้อหาการสื่อสาร : สติ ขวัญ และปัญญาของสังคม การสื่อสารเรื่องภัยพิบัติต่างๆ ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างสมดุลเนื้อหา และให้ความสำคัญต่อการสื่อสารที่นำไปสู่สติ ขวัญ และปัญญาของสังคม รวมทั้งควรหาหนทางแปรข้อมูลวิชาการที่ซับซ้อนให้สาธารณชนเข้าใจได้ง่าย รู้วิธีการป้องกัน สามารถประเมินอันตรายของผลกระทบได้ โดยไม่หยุดเพียงความถูกต้องน่าเชื่อถือเท่านั้น แต่มีการระบุอัตราความเสี่ยง รวมทั้งเงื่อนไขที่ทำให้เสี่ยง ตลอดจนติดตามตรวจสอบและรายงานความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ ในประเด็นดังกล่าว ความริเริ่มของศูนย์บริการข้อมูลข่าวสารเพื่อผู้ประสบภัยสึนามิของคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ในการเสริมการทำงานของสื่อมวลชนขนาดใหญ่ นับว่ามีความน่าสนใจอย่างยิ่ง และควรมีการส่งเสริมให้มีมากขึ้นอีก

 

2.6. ขอบเขตของระบบบริการสุขภาพและระบบประกันสุขภาพสำหรับกรณีภัยพิบัติ

ระบบบริการสุขภาพและระบบประกันสุขภาพของประเทศ เช่น โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคเป็นต้น ควรปรับปรุง ยกเว้นค่ารักษาพยาบาล และขยายขอบเขตให้รองรับกรณีความเจ็บป่วยลักษณะต่างๆ ที่เกิดจากภัยพิบัติ เช่น การเจ็บป่วยทางจิตที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านบางคนในบ้านน้ำเค็ม หรือกรณีความเจ็บป่วยหรือการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นโดยมีสาเหตุมาจากภัยพิบัติ แต่แสดงอาการหลังภัยพิบัติผ่านไปนานแล้ว ดังกรณีชาวบ้านที่ตำบลคึกคัก เป็นต้น

 

นอกจากนี้ ระบบการดูแลรักษาสุขภาพผู้ประสบภัยควรขยายขอบเขตให้ครอบคลุมผู้ที่กลายเป็นผู้พิการจากภัยพิบัติซึ่งน่าจะมีจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะผู้พิการที่ไร้ญาติขาดมิตร หรือผู้พิการที่เกิดความเจ็บป่วยด้วยอาการทางจิต มีการจัดสถานที่ แพทย์ และผู้ดูแลพยาบาลอย่างเป็นระบบ

 

3. ช่วงการเตรียมพร้อม : รอบใหม่ของภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น

3.1. การจัดการที่ดิน

จากประสบการณ์ที่ผ่านมา 1 ปี ทำให้เห็นได้ว่าเรื่องการจัดให้มี "โฉนดที่ดินเพื่อสาธารณะ" เป็นเรื่องที่ไม่อาจละเลยได้อีกแล้ว ทั้งนี้โฉนดที่ดินเพื่อสาธารณะเป็นประเด็นที่น่าสนใจในการเตรียมพื้นที่ไว้สำหรับรองรับและสร้างที่พักชั่วคราวเมื่อประสบภัยพิบัติได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องเสียเวลาทำเรื่องขออนุญาตใช้พื้นที่ว่างของหน่วยงานราชการในสภาวการณ์ที่ต้องการความรวดเร็วต่อการตอบสนองปัญหาอย่างยิ่ง ดังกรณีการหาพื้นที่ตั้งศูนย์ที่พักชั่วคราว ต.บางม่วง เป็นต้น นอกจากนี้ "โฉนดชุมชน" ก็นับว่าอาจเป็นทางออกหนึ่งในการจัดสรรที่ดิน เพื่อเตรียมพื้นที่ร่วมให้ชุมชนได้ทำกิจกรรมการฟื้นฟูและเยียวยาภัยพิบัติร่วมกัน โดยเฉพาะเพื่อป้องกันการฉกฉวยผลประโยชน์จากปัญหากรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งที่มีมาก่อนและเกิดขึ้นใหม่หลังภัยพิบัติ

 

3.2. การจัดหลักสูตรพิเศษเพื่อบริหารภาครัฐในพื้นที่เสี่ยงภัย

การบริหารภาครัฐในพื้นที่เสี่ยงภัยจำเป็นต้องใช้องค์ความรู้ด้านต่างๆเป็นตัวนำการดำเนินงาน ดังนั้น ควรจัดให้มีการพัฒนาและฝึกอบรมพิเศษแก่เจ้าหน้าที่ภาครัฐที่ต้องปฏิบัติงานในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อภัยพิบัติ ให้มีความรู้ความเข้าใจลักษณะเฉพาะของภัยพิบัตินั้นๆ ตลอดจนการกำกับดูแล บัญชาการหลักสูตรช่วยดำเนินการ และบทบาทหน้าที่รับผิดชอบของตนเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น

 

3.3. ระบบการสื่อสาร

โครงสร้างการบริหารการสื่อสาร : ระบบการสื่อสารท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญมากต่อการเชื่อมโยงผู้คนในพื้นที่เข้าด้วยกันและการบริหารการรับมือภัยพิบัติที่กินอาณาบริเวณกว้างขวางและมีเหตุการณ์พลิกผันได้ตลอดเวลา ต้องอาศัยการตัดสินใจเฉพาะหน้าเป็นสำคัญ ดังนั้นโครงสร้างการบริหารควรมีลักษณะกระจายอำนาจ เพื่อความคล่องตัวโดยเฉพาะด้านการตัดสินใจ เพื่อให้สื่อท้องถิ่นสามารถวางบทบาทการสื่อสารเพื่อตอบสนองท้องถิ่นโดยมีประชาชนผู้ประสบภัยเป็นศูนย์กลางการสื่อสาร ตลอดจนพัฒนาศักยภาพของตนในฐานะพลังการสื่อสารของชุมชนที่จะต่อรองหรือร่วมกำหนดทิศทางการรับมือภัยพิบัติในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง ดังที่มีการปรับตัวตอบรับสถานการณ์ได้ดีของสวท.ภูเก็ตในช่วงต้น แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ภายหลัง ต้องปรับบทบาทไปตอบสนองนโยบายของรัฐในการสร้างความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยวเป็นหลัก

 

นอกจากนี้ การพัฒนาให้มีศูนย์ข้อมูลข่าวสารและจัดระบบจราจรข่าวสาร ที่มีเป็นอิสระและมีความเป็นมืออาชีพ ที่สามารถรองรับความต้องการการสื่อสารที่ล้นหลามในภาวะวิกฤต โดยอยู่บนฐานความคิดการสื่อสารสองทาง จะเป็นการเตรียมการเพื่อเสริมการรับมือภัยพิบัติได้อย่างดียิ่งโดยเฉพาะในภาวะฉุกเฉิน

 

แผนการสื่อสารเพื่อรับมือกับภัยพิบัติ : แม้เหตุการณ์ภัยพิบัติได้ผ่านพ้นไปแล้ว แต่การเตรียมการที่สำคัญมากและไม่อาจละเลยได้ คือการวางแผนการสื่อสารเพื่อสร้างเสริมให้ประชาชนลดความหวาดกลัวและตื่นตระหนก แต่หันมาตระหนักรู้ถึงภัยพิบัติ และร่วมกันวางแผนบรรเทาภัยพิบัติอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน เพื่อให้เกิดความอุ่นใจและความตื่นรู้ร่วมกัน รวมทั้งพร้อมรับมือภัยพิบัติในอนาคตได้

 

การพัฒนาสื่อมวลชน : จากบทเรียนในช่วงแรกๆหลังเหตุการณ์ ที่มีสถานีโทรทัศน์จำนวนไม่น้อยขาดความรู้เรื่องสึนามิทำให้ไม่สามารถลำดับความสำคัญและน้ำหนักของเนื้อหาได้เหมาะสมมากนัก ดังนั้น การพัฒนาสื่อมวลชนจึงเป็นเรื่องที่ต้องเตรียมการไว้ โดยเน้นให้สื่อมวลชนมีความรู้ ความเข้าใจเรื่องภัยพิบัติชนิดต่างๆ เพื่อให้สามารถตัดสินใจ วินิจฉัย กำหนดวาระและลำดับความสำคัญเร่งด่วนของประเด็นข่าว รวมทั้งวางน้ำหนักการนำเสนอให้มีเป้าหมายอยู่ที่การสื่อสารกับชุมชนผู้ประสบภัยมากขึ้น ตลอดจนมีความถูกต้อง แม่นยำของการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสู่สาธารณชน

 

นอกจากนี้ ควรพัฒนาสื่อมวลชนให้มีความรู้ความเข้าใจเชิงวิธีคิดและมุมมองในการรายงานข่าว ซึ่งจะมีผลต่อเนื้อหาและประเด็นข่าว การเกาะติดหรือการยุติการรายงานข่าว รวมทั้งการให้/ไม่ให้ความสำคัญต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อให้สามารถเพิ่มพลังการสื่อสารของผู้ประสบภัยและชุมชนในฐานะเป็นผู้มีบทบาทร่วมกระทำการในการช่วยเหลือ ปัญหาในประเด็นนี้พบได้ทั่วไปในสื่อโทรทัศน์ช่องต่างๆ เช่นกัน

 

3.4. การจัดระบบอาสาสมัครเพื่อรับมือภัยพิบัติประเภทต่างๆ

ข้อสำคัญที่มักละเลยกันไป คือแนวโน้มความเข้าใจของฝ่ายต่างๆในสังคมที่มองตัวผู้เป็นอาสาสมัครคล้ายเป็น "แรงงานราคาถูก" ที่ใช้เพียงเพื่อเสริมการทำงานบริการที่ภาครัฐไปไม่ถึงเท่านั้น ทำให้เกิดการดูเบามิติทางจิตใจของอาสาสมัครไป ดังนั้น การบริหารจัดการอาสาสมัครควรเน้นแนวทางการพัฒนา "ด้านใน" (inner development) หรือด้านจิตวิญญาณของอาสาสมัครแต่ละคนไปด้วยเช่นกัน ความพยายามของเครือข่ายจิตอาสาที่เน้นแนวทางดังกล่าวนี้นับว่าเป็นความริเริ่มที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

 

นอกจากนี้ ในการเตรียมระบบอาสาสมัครเพื่อรับมือกับภัยพิบัติประเภทต่างๆและแบบใหม่ๆ ที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในอนาคต น่าจะมีการดำเนินการใน 3 ประการ ได้แก่

 

ประการแรก การจัดตั้งระบบงานส่งเสริมพัฒนางานอาสาสมัครให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ทั้งในภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคชุมชน จนกระทั่งกลายเป็นสถาบันทางสังคมอีกภาคีหนึ่ง ที่พร้อมจะร่วมกันรับมือกับภัยพิบัติประเภทต่างๆ อันเป็นข้อสรุปที่ได้จากการทำงานด้านอาสาสมัครของหลายฝ่าย เช่น งานด้านอาสาสมัครภาคชุมชนและประชาสังคมอย่างเครือข่ายฟื้นฟูชุมชนชายฝั่งอันดามัน (Save Andaman) และอาสาสมัครแบบต่างคนตามาอย่างศูนย์อาสาสมัครสึนามิ แห่งเขาหลัก เป็นต้น

 

ประการที่สอง การพัฒนาระบบจับคู่ (matching) คนหรือองค์กร กับ งานรับมือภัยพิบัติ ควรพัฒนาระบบฐานข้อมูลในลักษณะบริการกลางที่สามารถจับคู่คนหรือองค์กรกับงานรับมือภัยพิบัติได้ ที่มีสมรรถนะในการรองรับจำนวนอาสาสมัครในระดับประเทศ

 

ประการที่สาม การจัดให้มีการศึกษาวิจัยประเมินความเสี่ยง (risk assessment) หรือจัดการความเสี่ยง (risk management) ประเภทต่างๆ เพื่อกำหนดแผน ขั้นตอน ลำดับก่อนหลัง และความรู้ในการดำเนินการของอาสาสมัคร ตลอดจนความรู้ในการบริหารจัดการอาสาสมัคร หากเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติแต่ละชนิดขึ้น

 

ในทั้ง 3 ประการนี้เครือข่ายจิตอาสาได้ริเริ่มดำเนินการไปบ้างแล้วบางส่วน ดังนั้นควรมีการส่งเสริมให้มีการขยายการดำเนินการในลักษณะดังกล่าวเพิ่มยิ่งขึ้นและเป็นไปอย่างมีการประสานร่วมมือกันกับโครงการที่ริเริ่มไปแล้วก่อนหน้า

 

สังคมไทยได้ผ่านความเจ็บปวดมหาศาลจากเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิ พร้อมกับได้เห็นคลื่นน้ำใจของคนไทย ตลอดจนได้เห็นการเรียนรู้และบทบาทการปรับตัวเชิงระบบเพื่อตอบสนองต่อเหตุการณ์ในช่วงต่างๆของทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคชุมชน และภาคธุรกิจเอกชนอย่างน่าสนใจไม่น้อย ขวบปีที่ผ่านมาจึงนับเป็นห้วงเวลาสำคัญอีกครั้งหนึ่งสำหรับการเรียนรู้u3626 .ำคัญของสังคมไทยทั้งองคาพยพ ในวาระครบรอบ 1 ปีสึนามิ จึงนับเป็นโอกาสสำคัญในการร่วมทบทวนประสบการณ์และเรียนรู้จุดแข็ง จุดอ่อน รวมทั้งข้อควรปรับปรุงส่งเสริมของการจัดระบบรับมือภัยพิบัติในช่วงที่ผ่านมา เพื่อสามารถให้คำตอบได้อย่างหนักแน่นต่อคำถามที่ว่า "ประเทศไทยพร้อมแล้วหรือไม่กับการรับมือภัยพิบัติสึนามิรอบใหม่ที่ไม่อาจคาดการณ์ได้?"

 

 

วันเสาร์ที่ 24 ธันวาคม พ.. 2548

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท