เปิดแฟ้ม TDRI : กลไกภาครัฐในการลดความขัดแย้งเรื่อง "น้ำ"

 

 

ในบทความเรื่อง "กลไกภาครัฐในการลดความขัดแย้ง กรณีปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ" ผู้ศึกษาได้แบ่งกรอบผลการศึกษาออกเป็น 5 ส่วน ส่วนแรกเป็นเรื่องวิกฤตน้ำกับความมั่นคงของประเทศ ส่วนที่สอง คือ มูลเหตุที่มาของความขัดแย้งเกี่ยวกับการแย่งชิงทรัพยากรน้ำ ส่วนที่สามเรื่องแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของภาครัฐในปัจจุบัน ส่วนที่สี่ ตัวอย่างกรณีความขัดแย้งในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และในส่วนสุดท้ายส่วนที่ห้า เป็นเรื่องของกลไกของภาครัฐในการลดความขัดแย้งในปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ

 

โดยในส่วนแรก เรื่องวิกฤตการณ์น้ำกับความมั่นคงของประเทศ ผู้ศึกษาได้นำเสนอวิฤตการณ์น้ำกับความมั่นคงไว้ 4 ด้าน

 

วิกฤตการน้ำกับความมั่นคงในด้านความเป็นอยู่ของประชากรและความมั่นคงทางสังคม ผู้ศึกษาชี้ให้เห็นว่า แม้ประเทศไทยจะได้ชื่อว่าเป็นแหล่งที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีน้ำกินน้ำใช้ แต่ในปัจจุบันกลับพบว่า ประชากรใน 19,000 หมู่บ้าน จากจำนวน 73,467 หมู่บ้าน "ไม่มีน้ำอุปโภคบริโภคใช้เพียงพอ"

 

"ผลของการขาดแคลนน้ำดังกล่าว ประกอบกับโครงสร้างของประชากรในประเทศไทย ประกอบอาชีพในภาคการเกษตรถึง 65% จึงทำให้ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศที่เป็นเกษตรกรมีรายได้ต่ำ และเกิดการเหลื่อมล้ำทางรายได้และสังคม ของประชากรในประเทศ ผลต่อเนื่องคือประชากรในชนบทอพยพเข้ามาทำงานในเมือง เกิดปัญหาชุมชนแออัด และสำหรับผู้ที่ไม่มีงานทำก็หันไปประกอบอาชีพที่ผิดกฎหมาย เป็นการบั่นทอนความสงบสุข และความเป็นอยู่ของประชากรในประเทศได้โดยรวม"

 

"การขาดแคลนน้ำยังก่อให้เกิดปัญหาการแก่งแย่งการใช้น้ำ ระหว่างต้นน้ำกับท้ายน้ำ" และเนื่องจาก "น้ำเป็นปัจจัยที่ผูกพันกับวิถีชีวิตของคนไทย...โดยวิถีชีวิตคนไทยส่วนใหญ่โดยเฉพาะในชนบทมักจะตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนริมน้ำ เพื่อใช้เพาะปลูก เพื่อการจับสัตว์น้ำ เพื่อการคมนาคม และมีกิจกรรมทางน้ำที่เป็นวัฒนธรรมพื้นบ้าน...หากขาดซึ่งน้ำแล้ว ก็จะทำให้เป็นการทำลายวิถีชีวิตวัฒนธรรม และประเพณีของคนไทย"

 

วิกฤตการณ์น้ำกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ

ผู้ศึกษามองว่า รายได้หลักของประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นจากภาคอุตสาหกรรม การบริการ การท่องเที่ยวและการเกษตร ล้วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์อยู่กับ "น้ำ"

 

"น้ำเป็นปัจจัยที่สำคัญที่รองรับภารกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว โดยทุกแหล่งท่องเที่ยวจะต้องมีความมั่นคงในเรื่องน้ำ ...และจะต้องมีน้ำพอเพียงสำหรับรองรับนักท่องเที่ยวปีละไม่น้อยกว่า 30 ล้านคน โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวหลายแหล่งต้องอาศัยน้ำเป็นเครื่องดึงดูดท่องเที่ยว"

 

"ในด้านเกษตรกรรรม..สำหรับชาวสวนผลไม้แล้ววิกฤตน้ำเป็นสิ่งที่ชาวสวนผลไม้วิตกกังวล และต้องการหลีกเลี่ยงเป็นอย่างยิ่ง เพราะการลงทุนในแปลงผักผลไม้แต่ละแปลงมีมูลค่าสูง และต้องอดทนรอเป็นเวลานานกว่าจะเห็นผล ชาวสวนจึงยอมลงทุนขุดสระในไร่ของตนเอง หรือซื้อน้ำจากรถบรรทุกน้ำมารดต้นไม้ในช่วงวิกฤต ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น มีผลกระทบต่อการส่งออก และไม่เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม"

 

"ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมจะเห็นความสำคัญของน้ำเป็นอย่างยิ่ง...ทั้งนี้เนื่องจากโรงงานต้องการใช้น้ำทุกวันโดยไม่สามารถขาดน้ำได้ ปัจจุบันความต้องการน้ำในภาคอุตสาหกรรมทั้งประเทศ อยู่ที่ประมาณ 2% หรือประมาณ 1,300 ล้าน ลบ.ม. และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น"

 

วิกฤตการณ์น้ำกับความมั่นคงทางสิ่งแวดล้อม

"ปัญหาการขาดแคลนน้ำนับว่ามีผลต่อความยั่งยืนของระบบนิเวศ...เมื่อเกษตรกรขาดน้ำขาดรายได้ ก็จะบุกรุกแผ้วถางป่าไมม้เพื่อขยายพื้นที่ทำกิน หรือแสวหาผลผลิตจากป่าไม้และสัตว์ป่าเพิ่มเติมเพื่อความอยู่รอด เหล่านี้ล้วนเป็นการทำลายระบบนิเวศ..."

 

นอกจากนี้น้ำเสียยังเป็นอีกปัญหาหนึ่งในเรื่องวกฤตน้ำ "น้ำเสียอาจเกิดจากธรรมชาติด้วยการถ่ายมูลของสัตวที่ถูกชะลงสู่ทางน้ำ หรือเกิดจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การปลูกพืชโดยใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลงการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การขับถ่ายของเสียจากชุมชน และการระบายน้ำเสียออกจากโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน ทำลายระบบนิเวศ"

 

วิกฤตการณ์น้ำกับความมั่นคงทางการเมือง

"เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ของประเทศมีอาชีพเกษตรกรที่ต้องการน้ำ และภาคการผลิตต่างๆ ก็มีความต้องการน้ำ ทำให้ปัจจัยเรื่องน้ำเป็นสิ่งต้องการของประชากรส่วนใหญ่ และเรียกร้องให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ตลอดจนผู้นำท้องถิ่นให้เร่งรัดในการจัดหาน้ำให้รองรับความต้องการที่ขยายตัวอยู่ตลอดเวลา"

 

เรื่องการจัดการน้ำจึงเป็นเรื่องที่ "ทางการเมืองให้ความสำคัญเพื่อแก้ไขปัญหา และยกสภาพความเป็นอยู่ของราษฎร ซึ่งจะนำไปสู่ความมั่นคงในด้านฐานการเมืองของพรรคได้ เพราะการแก้ไขปัญหาน้ำได้ย่อมสร้างศรัทธา ขวัญกำลังใจ และจิตวิยา ให้กับประชาชนและสนับสนุนพรรคการเมืองให้ดำเนินงานต่อไป"

 

"ด้านการเมืองระหว่างประเทศ...ในปัจจุบันประเทศไทยได้อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อผันน้ำจากพม่า ลาว กัมพูชา มาใช้ในภูมิภาคในประเทศไทย ตลอดจนการมีคณะกรรมธิการร่วมระหว่างประเทศไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม เพื่อใช้น้ำจากแม่น้ำโขง การจะได้มาซึ่งน้ำจึงต้องการความมั่นคงทางการเมืองต่างประเทศด้วย"

 

ในเรื่อง "มูลเหตุที่มาของความขัดแย้งในเรื่องน้ำ" ผู้ศึกษาได้อธิบายถึงปัจจัย 6 ประการที่นำไปสู่ความขัดแย้งเรื่องน้ำ

 

ประการแรก "การเจริญเติบโตของภาคเศรษฐกิจและการเพิ่มจำนวนของประชากรอย่างรวดเร็ว รวมทั้งนโยบายของประเทศในการส่งเสริมการผลิตภาคอุตสาหกรรม ทำให้เกิดความต้องการใช้ทรัพยากรน้ำในปริมาณที่เพิ่มขึ้น

 

ประการที่สอง "การบุกรุกทำลายป่าไม้และพื้นที่ต้นน้ำ ซึ่งส่งผลต่อระบบนิเวศสิ่งแวดล้อม ทำให้ปริมาณน้ำต้นทุนลดลงจากอดีต ปริมาณน้ำฝนลดลงเกิดสภาวะฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล"

 

ประการที่สาม "ขาดการวางแผนและยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่เป็นเอกภาพและต่อเนื่องของภาครัฐ...การแก้ไขปัญหาส่วนใหญ่เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อจัดการกับแต่ละปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนั้น"

 

ประการที่สี่ "มีหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำหลายหน่วยงานกระจายอยู่ในกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ จึงเกิดความซ้ำซ้อนและขาดการประสานงานกันระหว่างหน่วยงานให้ดำเนินการไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากไม่มีองค์กรที่ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในภาพรวม"

 

ประการที่ห้า "ขาดกฎหมายหลักที่ใช้เป็นแม่บทในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ"

 

ประการสุดท้าย "ขาดการรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักในความสำคัญและคุณค่าของทรัพยากรน้ำ"

 

ผู้ศึกษาได้ยกตัวอย่างกรณีความขัดแย้งในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำไว้ 3 กรณี โดยแบ่งเป็น  กรณีความขัดแย้งที่เกิดจากการดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำของรัฐ อย่างเช่น ปัญหาเรื่องเขื่อนปากมูล ฝ่ายราสีไศล ในประเด็นค่าชดเชยเรื่องที่ดิน เรียกร้องให้เปิดประตูน้ำเพื่อคืนระบบนิเวศ

เป็นต้น

 

กรณีความขัดแย้งที่เกิดจากการจัดสรรน้ำ "หรือมีผู้นิยามว่าเป็น "สงครามเย่งชิงน้ำ" ...เช่น กรณีความขัดแย้งในการจัดสรรน้ำระหว่างผู้ประกอบการสวนส้มกับเกษตรกรรายย่อยในภาคเหนือ ปัญหาการจัดสรรน้ำระหว่างนิคมอุตสาหกรรมกับภาคเกษตรกรรมและชุมชนในพื้นที่ภาคตะวันออก ปัญหาการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำระหว่างพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลอง-เจ้าพระยา"

 

กรณีความขัดแย้งที่เกิดจากการก่อมลพิษทางน้ำ เช่น "กรณีสารตะกั่วรั่วไหลจากเหมืองลงสู่แหล่งน้ำในจังหวัดกาญจนบุรี กรณีน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมและภาคปศุสัตว์ในแม่น้ำท่าจีน"

 

อย่างไรก็ตาม ผู้ศึกษาดูค่อนข้างเชื่อมั่นว่า "รัฐบาลชุดปัจจุบัน (ซึ่งมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี) ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องทรัพยากรน้ำอย่างมาก โดยได้บรรจุเรื่องทรัพยากรน้ำอยู่ในในวาระแห่งชาติอันเป็นวาระสำคัญของรัฐบาล"

 

ผู้ศึกษา อธิบายว่า ปัจจุบันการที่รัฐบาล "ได้มีการนำหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนมาใช้ในกระบวนการบริหารจัดการน้ำ ทั้งในระดับนโยบายภาพรวม และระดับบริหารจัดการลุ่มน้ำ โดยอาศัยหลักการในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๘" ที่กำหนดให้มีคณะกรรมการทรัพยากรน้ำธรรมชาติเป็นองค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และกำหนดให้มีคณะอนุกรรมการลุ่มน้ำ จะเป็นกลไกที่สำคัญที่ทำให้ "ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และลดความขัดแย้งระหว่างผู้ใช้น้ำทั้งภายในลุ่มน้ำและระหว่างลุ่มน้ำ รวมถึงความขัดแย้งระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชนได้ในระดับหนึ่ง"

 

................................

หมายเหตุ บทความนี้จัดทำโดย นายศิริพงศ์ หังสพฤกษ์ และนายพิพัฒน์ กัจนพฤกษ์ เป็นส่วนหนึ่งของชุดเอกสารประกอบการสัมมนาวิชาการ ประจำปี 2548 ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เรื่อง "สู่สังคมสมานฉันท์" ซึ่งมี มูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงแรงงาน และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เป็นองค์กรร่วมจัด เมื่อวันที่ 27-28 พฤศจิกายน 2548 ณ โรงเรียนแอมบาสเดอร์ พัทยา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท