Skip to main content
sharethis








ลองหลับตา ย้อนนึกกลับไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548 จนถึงวันนี้ แล้วถามตัวเองว่า หากเราย่นย่อเวลาได้เท่ากับระยะที่สมองและหัวใจส่งสัญญาณได้ "คุณเห็นใครในปีที่ผ่านมา" และนี่คือโจทย์ที่กองบรรณาธิการประชาไทแต่ละคนได้รับ เพื่อให้มันเหมาะกับวาระแห่งการสรุปบทเรียนอย่างในช่วงปีเก่าผ่าน-ปีใหม่มานี้


 


โปรดอย่าเพิ่งคิดว่า บุคคลที่อยู่ในหัวข้อข้างบนเป็นบุคคลที่ "ประชาไท" จัดให้เป็น "The Visible Man" ของเรา เพราะบทวิพากษ์วิจารณ์ต่อจากนี้ เป็นการนำเสนอคนที่อยู่ในสายตาในรอบปี 2548 จากบุคคลในกองบรรณาธิการประชาไท คนที่ 1 ที่ผ่านการสืบค้น วิเคราะห์ วิพากษ์ ชั่ง ตวง วัด และให้น้ำหนัก จากจำนวนทั้งหมด 8 คน ซึ่งจะทยอยนำเสนอวันละคนจนครบ 8 ก่อนที่เรา "กองบรรณาธิการประชาไท" จะได้ร่วมกันประชุม ถกเถียง และเลือกโดยใช้หลักฉันทามติ ซึ่งก็คือ ทุกคนจะต้องเห็นพ้องต้องกันอย่างปราศจากข้อข้องใจ เพื่อให้ได้ "The Visible Man" ของ "ประชาไท" โดยมี อ.รุจน์ โกมลบุตร จากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินการประชุม


 


 


 



 


 


"จารุวรรณ เมณฑกา" ควรได้รับการยกย่องเป็นบุคคลที่สังคมควรจะพูดถึง ไม่เฉพาะปีที่จะผ่านไปนี้ แต่ควรเลยไปถึงปีที่กำลังผ่านเข้ามาด้วย เพราะเชื่อขนมกินได้ว่า เรื่องราวของตำแหน่ง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน น่าจะยังยืดเยื้อต่อไปได้อีกหลายยก


 


ท่ามกลางสังคมที่ดูมืดมนอนธกาลมากขึ้นทุกทีๆ "จารุวรรณ เมณฑกา" ในเวลานี้จึงไม่ใช่เพียงคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา อย่างที่เคยเป็น ไม่ใช่เพียงบุคคลในข่าวที่ผ่านมาแล้วผ่านไปเหมือนคนอื่น


 


แต่ "จารุวรรณ เมณฑกา" ได้กลายเป็น "สัญลักษณ์" บางอย่างสำหรับสังคมไทย อาจหมายถึง การไม่ยอมรับอำนาจ การต่อสู้กับความชั่วร้ายคอร์รัปชั่น ความจงรักภักดี ความรักชาติ ความยุติธรรม ฯลฯ


 


นี่คือความหมายหลากหลายที่สังคมไทยสามารถให้ได้กับ "จารุวรรณ เมณฑกา" ไม่ว่าฝั่งผู้นิยมเจ้า ฝ่ายซ้ายสารพัดรุ่น ชมรมคนเกลียดทักษิณ ฯลฯ และการยืนยันสัญลักษณ์นี้ต่อไป ก็เท่ากับเป็นการพยายามดิ้นรน "เล็กๆ" ของสังคมด้วยเช่นกัน


 


แม้กรณี "จารุวรรณ เมณฑกา" จะถูกฉวยใช้ปลุกกระแสนิยมกษัตริย์เพื่องัดข้อกับกลุ่มทุน  แต่กรณีนี้ก็ได้สร้างคุณูปการด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือสถานการณ์พาไป เพราะทำให้เกิดการถกเถียงในประเด็นแหลมคมเกี่ยวกับ "สถาบันกษัตริย์" ซึ่งสังคมไทยพยายามไม่แตะต้องมาเป็นเวลาพักใหญ่  ดังจะเห็นได้จากบทความของ "ธงชัย วินิจจะกูล" แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมดิสัน สหรัฐอเมริกา ที่ออกมาวิพากษ์ปรากฏการณ์นี้อย่างหนัก-หนา-สาหัส ออกจะเป็นเรื่องแปลกหูแปลกตาสำหรับคนรุ่นใหม่ ซึ่งเติบโตมาในบรรยากาศ "เรื่องต้องห้ามโดยอัตโนมัติ"


 


หากให้ย้อนเรื่องราว (เพื่อแสดงให้เห็นว่าทำการบ้านมาบ้าง) ก็คงต้องเริ่มต้นว่า เรื่องราวได้ลุกลามหลังจากผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนแรกตามรัฐธรรมนูญ 2540 คนแรกคนนี้เริ่มต้นขุดคุ้ยโครงการโคตรโกงมาได้ 1 ปี 7 เดือน แต่แล้วจู่ๆ ก็ถูกส.ว.บางกลุ่มเข้าชื่อกันเล่นแง่ด้านกฎหมายยื่นเรื่องต่อรัฐสภาโดยอ้างว่ากระบวนการได้มาซึ่งตำแหน่งนี้ไม่ถูกต้อง ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญก็ "วินิจฉัย"ตามนั้นจนชาวบ้านร้านตลาดผิดหวังอยากโดดน้ำตายไปตามๆ กัน มีผลให้"จารุวรรณ เมณฑกา"ต้องเด้งออกจากเก้าอี้ จากนั้นมีการสรรหากันใหม่โดยเสนอ "วิสุทธิ์ มนตริวัตร" แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ลงมา ขณะเดียวกับที่"จารุวรรณ เมณฑกา"ก็ยืนยันหนักแน่นว่า ถ้ายังไม่มีการโปรดเกล้าฯ คนใหม่ อันเป็นนัยให้คนเก่าออก "ชั้นยังเป็นผู้ว่าสตง.ย่ะ"


 


ความอิหลักอิเหลื่อในอำนาจนี้ ได้กลายเป็นมูลเหตุของการเขียนหนังสือ "พระราชอำนาจ" ชูกระแสนิยมกษัตริย์โดยประมวล รุจนเสรี ซึ่งต่อมา "สนธิ ลิ้มทองกุล" แห่งอาณาจักร "ผู้จัดการ" ฉวยใช้-สานต่อโดยผสมกับข้อมูลมืดอีกมากมายของรัฐบาล กระทั่งก่อเกิดกลุ่มก้อนมวลชนขนาดใหญ่ ทำเอาหลายต่อหลายคนผู้เคยอยู่ในเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงสำคัญของบ้านเมืองต้องคอยประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด


 


นอกจากนั้น เรายังถือได้ว่า "จารุวรรณ เมณฑกา" เป็นหอกข้างแคร่ตัวจริงเสียงจริง ในยุครัฐบาลทักษิณซึ่งประสบความสำเร็จอย่างงดงามในการทำลายองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญจนเหี้ยนเตียน เพราะ สตง.ในเวลา 19 เดือนภายใต้การดูแลของ "จารุวรรณ เมณฑกา" ผู้ซึ่งทำงานตรวจสอบบัญชี ณ องค์กรแห่งนี้มา 32 ปี สร้างผลงานให้ สตง.เป็นองค์กรแห่งความหวังของสังคมได้อย่างดี ไม่ว่ากรณีการยกเลิกการประมูลจ้างเหมาเบ็ดเสร็จแบบเทิร์นคีย์ (Turn Key) โครงการก่อสร้างทางหลวงกาญจนาภิเษกสุขสวัสดิ์-บางพลี เพราะเอื้อประโยชน์ผู้รับเหมา เสียหายประมาณ 1,600 บ้านบาท กรณีการล็อคสเปคของบริษัทท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (บทม.) ในการประกวดราคาอุปกรณ์ท่อร้อยสายไฟฟ้า มูลค่างาน 4,000 ล้านบาท รวมถึงโครงการกล้ายาง บ่อบำบัดน้ำเสีย-กำจัดขยะ โกงราคายา โกงค่าผ่านทางด่วน ฯลฯ  (ขออภัยเริ่มขี้เกียจอธิบายรายละเอียด)


 


ด้วยผลงานประมาณนี้ ลำพังแค่การยื้อเรื่องราวให้ยาวนาน ทำให้กระบวนการปกติดำเนินต่อไปไม่ได้ ก็เป็นช่องว่างที่มากเพียงพอแล้วสำหรับมหกรรมการโกง


 


ในแง่ส่วนตัว "จารุวรรณ เมณฑกา" คุณหญิง (ได้ตำแหน่งเมื่อปี 46) ที่เอะอะมะเทิ่งที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทยได้ทำลายจินตภาพของใครบางคน ที่คิดว่า การที่เธออยู่ในตำแหน่งใหญ่โตสู้รบปรบมือกับอำนาจแบบไม่กลัวหน้าอิฐหน้าพรหม ขณะเดียวกันก็เทิดทูนสถาบันอย่างเหนียวแน่นนั้น คงเป็นเพราะมีแบ็คดี หรือมีเชื้อมีสายตระกูลเป็นขุนน้ำขุนนางเก่าแก่ ที่มีบารมีและคุ้นชินกับแวดวงอำนาจ


 


ปล่าว! พ่อเธอเป็น "เจ๊กกวางตุ้ง" ส่วนแม่เป็นคนเมืองนนท์ สร้างครอบครัวคนชั้นกลางที่อบอุ่น โดย"จารุวรรณ เมณฑกา"หรือ "ไหล่จั้ง"(มุกสวย) หรือ "เป็ด" เป็นพี่คนโตของน้องๆ อีก 8 คน ตามประวัติแล้วเธอทั้งเก่ง ทั้งดื้อ เรียนดีจนได้ทุนไปเรียนเมืองนอกเมืองนา ได้สามีเป็นนักธุรกิจเชื้อสายจีน และเป็นแม่ของลูกๆ อีก 3 คนไล่เรียงลำดับหญิงชายและอายุเหมือนลูกของท่านนายกฯ ไม่มีผิด


 


ก็ใช่หรือไม่ว่า ประวัติอันสามัญธรรมดายิ่งขับเน้นให้มุกเม็ดนี้เปล่งประกายเจิดจรัส


 


แต่สิ่งสำคัญที่ลืมเสียไม่ได้ คือ "อารมณ์ขัน โหด มัน ฮา" ของเธอที่มักซื้อใจนักข่าวผู้ขอสัมภาษณ์ และทำให้ภาพของเธอต่อสาธารณชนดูเข้มแข็งไม่ยี่หระกับสิ่งใด


 


ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน "จารุวรรณ เมณฑกา" ได้ถูกสำนึกโหยหา "ความสุจริต"ของสังคมไทยรังสรรค์ปั้นแต่งให้กลายเป็นฮีโร่ที่โดดเด่นอย่างช่วยไม่ได้  เพราะสังคมไทยเป็นสังคมที่มีคนเก่งจำนวนมาก คนดีมีจำนวนไม่น้อย แต่คนกล้าหาญกลับหาไม่ค่อยได้


 


กระนั้นก็ตาม ท่ามกลางกระแสสรรเสริญเยินยอ "จารุวรรณ เมณฑกา" ขณะเดียวกันก็เป็นบททดสอบสังคมไทยด้วยว่า จะลงเอยด้วยการฝากความหวังไว้กับบุคคลคนเดียว โยนภาระทั้งหมดในการตรวจสอบควบคุมผู้มีอำนาจให้ผู้อื่นทำแทน แล้วนิ่งเงียบประนีประนอมกับความฉ้อฉลทั้งปวงหรือไม่  หากเป็นเช่นนั้น การเชิดชู "จารุวรรณ เมณฑกา" ก็ไม่มีความหมายเท่าไรนัก


 


ทิ้งท้ายด้วยกลอนสำนวน "เป็ดซ่า" จากงานสัมมนาเรื่อง "คอร์รัปชั่นกับสังคมไทย" เพื่อพัฒนาวิชาชีพแพทย์ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชน คัดลอกจากหนังสือ "เส้นทางหญิงเหล็กฟ้าประทาน คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา"


 


"เร็วก็หาว่าล้ำหน้า ช้าก็หาว่าอืดอาด โง่ก็ถูกตวาด ฉลาดก็ถูกระแวง ทำก่อนถามว่าใครสั่ง ทำทีหลังด่าว่าไม่รู้จักคิด คนดีถูกถีบไปไกลตัว เอาคนชั่วมาอยู่ใกล้ชิด เกลียดคนตรง หลงคนคดงอ ชอบกินลูกยอ แต่ให้ลูกโยน หัวตัวเองไม่พอใจ ชอบหัวใหม่ด้วยการใส่หัวโขน คนดีจึงเผ่นหนีหน้า คนที่เดินหน้าจึงมีแต่โจร"


 


มาถึงวันนี้ จากจุดเริ่มต้นของจารุวรรณในกรณี สตง. ถูกรับลูกและโหมกระพือ โดย "ม็อบสนธิ" และกำลังจะทำให้ปี 2549 เป็นปีเพื่อการปฏิรูปการเมืองอีกครั้ง


 


..............................................


แหล่งข้อมูล


หนังสือ "เส้นทางหญิงเหล็กฟ้าประทาน คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา" โดยศักดา จิวัธยากูล ของสำนักพิมพ์ร่วมด้วยช่วยกัน พิมพ์ครั้งที่ 2 พฤศจิกายน 2548

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net