Skip to main content
sharethis

ตลอดปี  2548  ข่าวภัยพิบัติจากธรรมชาติต่อเนื่องจากปลายปีที่แล้วกรณี "สึนามิ" ที่ภาคใต้ ยังคงต่อเนื่องมา   ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมในเขตภาคเหนือ เช่นในเขตอำเภอเมือง จ.เชียงใหม่ จากที่ไม่เคยท่วมก็ท่วมซ้ำซากถึง  4 รอบ  จนถึงส่งท้ายน้ำท่วมภาคใต้โดยเฉพาะในเขต ชายแดนใต้ เช่นที่ปัตตานี  ยะลา  นราธิวาสท่วมหนักสุดในรอบหลายสิบปี    ไม่นับรวมภัยก่อการร้าย  และนโยบายของรัฐที่มีต่อการแก้ไขปัญหาที่ยังไม่คืบหน้าไปถึงไหน        นอกจากเหตุการณ์ภัยพิบัติแล้ว  ยังตามด้วยกระแสข่าวการเมืองที่เข้มข้น  ดวงชะตาของรัฐบาลที่หลายฝ่ายต่างชี้ว่าเป็นช่วงขาลงยังคงมีอย่างต่อเนื่อง    


              ภายใต้กระแสข่าวที่ยังคงไม่สดใสนักสำหรับปีที่ผ่านมา  มีข่าวอีกเป็นจำนวนมากที่เราไม่ควรปล่อยผ่านเลยไป    ควรจับตา  ตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง  ทั้งนี้เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังมิได้สิ้นสุดไปตามปีที่ผ่านไป  หากแต่จะทวีความเข้มข้นขึ้น ตามลำดับ


            สำนักข่าวประชาธรรมคัดเลือก "ข่าวรอบปีกับนโยบายสาธารณะ" ขึ้นมา  โดยเห็นว่าเป็นประเด็นข่าวที่มีความสำคัญในระดับนโยบายสาธารณะ  ที่ประชาชนยังควรจับตา  และร่วมกันตรวจสอบต่อเนื่องในปีต่อไป   เพราะพลังการตรวจสอบของประชาชนจะเป็นพลังการเปลี่ยนแปลงให้เราเห็นอะไรที่ดีขึ้นตามมา


 


น้ำในกำมือต่างชาติ   


            ปีที่ผ่านมานอกจากเราจะเผชิญกับภัยธรรมชาติ "น้ำท่วม" เกือบจะทั้งประเทศแล้ว   เรายังเผชิญกับนโยบายการจัดการน้ำที่กระหน่ำหนักเช่นกัน  ในทุกรอบของการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรไปตามจังหวัดต่าง ๆ  พบว่ารัฐบาลมีการพิจารณาอนุมัติโครงการขนาดใหญ่เกี่ยวกับการจัดการน้ำหลายระลอกตั้งแต่จ.บุรีรัมย์  พะเยา  จันทบุรี  จนถึงล่าสุดส่งท้ายปีที่จ.สุโขทัยในช่วงส่งท้ายปีเก่า    ปีที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณตามแผนการลงทุนขนาดใหญ่ระหว่างปี 2549-2552  ในการบริหารจัดการน้ำ   25  ลุ่มน้ำตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอจำนวน   2.4 แสนล้านบาท  ในงบประมาณจำนวนนี้มีงบประมาณก่อสร้างสูงถึง 1.9 แสนล้านบาท


            สาระสำคัญของข้อเสนอเชิงนโยบายเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำจะแบ่งการจัดการน้ำออกเป็นพื้นที่ต้นน้ำ  กลางน้ำ  และปลายน้ำคือ


1.แก้ไขปัญหาเร่งด่วนเรื่องน้ำท่วม  ภัยแล้ง  โดยเฉพาะการขาดแคลนน้ำภาคตะวันออกที่ประสบภาวะวิกฤติ


            2.โครงการก่อสร้างเขื่อน  อ่างเก็บน้ำต่าง ๆ  ที่เคยมีการเสนอมาแล้วก็จะมีการอนุมัติเพื่อการดำเนินการต่อ เช่นเขื่อนคลองท่าด่าน เขื่อนปากพนัง      


            3.การเสนอให้ชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนประมูลบริหารจัดการลุ่มน้ำ 25 ลุ่มน้ำ   ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการจัดระบบน้ำ  โดยอ้างว่าเพื่อการจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ


            ปัจจุบันข้อเสนอเกี่ยวกับการจัดการน้ำที่เสนอโดยรัฐบาลนั้น  ภาคประชาชนจำนวนมากยังไม่เห็นด้วย  ทั้งนี้เพราะแนวทางการจัดการน้ำยังคงเป็นแนวทางเดิม ๆ คือการลงทุนก่อสร้างเขื่อน  โครงการผันน้ำขนาดใหญ่ที่ไม่ได้แก้ไขปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้งแต่อย่างใด  เพราะจะยิ่งเป็นการสร้างปัญหาเพิ่มขึ้นมากกว่า  


            นอกจากนี้ประเด็นที่เริ่มมีนักวิชาการหลายท่าน  รวมทั้งสื่อมวลชนออกมาวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น คือกรณีที่เสนอให้ต่างชาติเข้ามาประมูลการจัดการน้ำ   ซึ่งหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าการจัดการน้ำโดยชาวต่างชาติ  จะทำให้คนไทยสูญเสียสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรหรือไม่  อีกทั้งเทคโนโลยีจะสอดคล้องกับความต้องการของคนไทยหรือไม่ ?   


 


กม.ป่าชุมชนยังต้องรอต่อไป


ภายหลังจากที่ผู้รักษาป่าชุมชนทั่วประเทศได้ร่วมกันเสนอกฎหมายป่าชุมชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170  ตั้งแต่ปี 2543  จนถึงปัจจุบันกฎหมายป่าชุมชนก็ยังไม่คลอดออกมาเสียที  ปีนี้มีการพิจารณากฎหมายป่าชุมชนโดยคณะกรรมาธิการร่วมสองสภา (สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา)  สาระสำคัญคือการพิจารณาในมาตรา 18  ที่ยังมีความเห็นไม่ตรงกันระหว่างร่างกม.ป่าชุมชนฉบับ ส.ส. และ ส.ว.คือ    ฝ่ายส.ส.เห็นด้วยกับการมีป่าชุมชนในเขตอนุรักษ์ ขณะที่ ส.ว.คัดค้าน


ผลการพิจารณาของ กรรมาธิการร่วมสองสภาเสร็จสิ้นแล้ว  ปรากฏว่าร่างกฎหมายฉบับนี้มีการเปลี่ยนเจตนารมณ์ตามที่ชาวบ้านร่วมกันเสนอ   โดยเพิ่มเติม "เขตพื้นที่อนุรักษ์พิเศษ" เข้าไปในร่างกม.ป่าชุมชน     ไม่ให้ชุมชนจัดการป่าชุมชนในเขตพื้นที่อนุรักษ์พิเศษ   รวมทั้งหากชุมชนใดอยู่อาศัยหรือทำกินในพื้นที่ดังกล่าวก็ต้องอพยพออกโดยไม่มีเงื่อนไข  


ส่งผลให้เครือข่ายป่าชุมชนทั่วประเทศต้องออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านร่างกม.ป่าชุมชนฉบับที่ผ่านการพิจารณาของ กมธ.ร่วมสองสภา  ทั้งนี้เพราะเห็นว่าขัดต่อเจตนารมณ์เดิมของกฎหมายป่าชุมชนที่ให้ชุมชนมีส่วนร่วมรักษาป่า  เริ่มตั้งแต่เครือข่ายป่าชุมชนเหนือเริ่มเดินเท้า "ธรรมชาติยาตราเพื่อป่าชุมชน" เข้ากรุงเทพฯเพื่อทวงถามกฎหมายป่าชุมชนเป็นเวลานานนับเดือน  หลังจากนั้นก็มีเครือข่ายป่าชุมชนอีสาน  และใต้มาสมทบก่อนมุ่งหน้าสู่รัฐสภา 


อย่างไรก็ตามผลปรากฏว่าก่อนปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อกลางธันวาคมที่ผ่านมา  ก็ยังไม่มีการพิจารณากม.ป่าชุมชนแต่อย่างใด   ดังนั้น กม.ป่าชุมชนจึงต้องจับตาต่อไป


 


แก้หนี้สินประชาชน  หรือเพิ่มหนี้


            ปัญหาหนี้สินของประชาชนเป็นปัญหาเรื้อรังที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างหนัก  โดยเฉพาะกลุ่มคนจนระดับรากหญ้า   ปีที่ผ่านมานักวิชาการมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าปัญหาหนี้สินของประชาชนนั้นแท้จริงแล้วก็มาจากนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สินของรัฐบาลในสมัยแรก   มุ่งแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร  โดยใช้นโยบายประชานิยมที่เน้นการหว่านโปรยเงินลงไปในแต่ละหมู่บ้าน  แต่ละชุมชน   เช่น กองทุนหมู่บ้าน  เงินโครงการพัฒนาศักยภาพหมู่บ้าน-ชุมชน (SML)  ซึ่งใช้งบประมาณหลายหมื่นล้านบาท   ซึ่งเงินดังกล่าวกลายเป็นการสร้างหนี้สินเพิ่มมากขึ้น   ขณะที่ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรที่เป็นปัญหาสะสมมายาวนาน อันเนื่องมาจากปัญหาราคาพืชผล  การขาดแคลนที่ดินทำกินไม่ได้รับการแก้ไข


            ปีที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแก้หนี้สินภาคประชาชนในเดือนตุลาคม 2548   ปรับโครงสร้างหนี้ประชาชนโดยเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาหนี้สินของคนระดับกลาง หรือมนุษย์เงินเดือน  โดยเน้นที่กลุ่มคน 2 กลุ่มใหญ่คือข้าราชการ และพนักงานบริษัทหรือประชาชนทั่วไปที่มีรายได้ประจำ  หรือเป็นกลุ่มที่เรียกว่าคนชั้นกลางในระดับล่าง  คือ 1.โครงการปรับโครงสร้างหนี้ภาคประชาชนที่ติดบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล ซึ่งประเมินว่าจะมีลูกหนี้ประมาณ 1 แสนราย  เป็นเงินต้นทั้งระบบ 7 พันล้านบาท  และดอกเบี้ย 2 หมื่นล้านบาท   2.แก้ปัญหาหนี้สินข้าราชการโดยเน้นที่ข้าราชการระดับล่างตั้งซี 1-3  โดยรัฐบาลจะตั้งกองทุนขึ้นมาและปล่อยกู้ให้กับข้าราชการกลุ่มนี้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ  โดยใช้แหล่งเงินจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) 


            อย่างไรก็ตามนโยบายแก้หนี้ประชาชนยังคงถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการว่าจะทำให้เกิดปัญหาเรื่องวินัยทางการเงิน  สร้างนิสัยการสร้างหนี้ให้กับคนไทยเพิ่มมากขึ้นอยู่เช่นเดิม  และหลีกไม่พ้นนโยบายประชานิยมอยู่เช่นเดิม


 


จับตาแปรรูปรัฐวิสาหกิจ


            รัฐบาลทักษิณตั้งเป้าแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ให้เป็นบริษัทมหาชน จำกัดให้สำเร็จภายในปี 2548  เพราะหากสำเร็จจะทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยสูงขึ้นกว่า 1,000 จุด   โดยคาดว่าหุ้น กฟผ.มีมูลค่าตามราคาตลาด(มาร์เก็ตแคบ)สูงถึง 2 แสนล้านบาท  ติดอันดับเป็น 1 ใน 5 ของบริษัทที่มีมูลค่าหลักทรัพย์รวมสูงสุด  จะส่งผลดีต่อทางการเมือง  แม้ว่าจะโฆษณาว่าเพื่อความมั่นคงภาคพลังงานไฟฟ้าไทย ระดมเงินทุนเพื่อลงทุนสร้างโรงไฟฟ้า และเพิ่มประสิทธิภาพของ กฟผ.ก็ตาม


กระบวนการแปรรูป กฟผ. เริ่มตั้งแต่คณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจ(กนท.)อนุมัติแปลงทุน กฟผ.เป็นหุ้น ตามพ...ทุนรัฐวิสาหกิจ พ..2542 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อวันที่ 10 .. พร้อมลดกระแสต้านด้วยการยืนยันว่า บมจ.กฟผ ยังคงมีสถานะรัฐวิสาหกิจเพราะกระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่ 75% และภาคพลังงานไฟฟ้ามีความมั่นคง  เพราะกฟผ.จะเป็นผู้ผลิตหลัก และรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนเพียงผู้เดียว และแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการไฟฟ้า Regulator ทำหน้าที่ในช่วงเปลี่ยนผ่านก่อนที่กฎหมายประกอบกิจการไฟฟ้าจะบังคับใช้  และกำหนดรายละเอียดวิธีการกระจายหุ้นป้องกันนักการเมือง ทุนใหญ่ฮุบหุ้นกฟผ.เหมือนกรณีแปรรูป บมจ.ปตท.


อย่างไรก็ตามองค์กรเครือข่ายภาคประชาชน อาทิ สหพันธ์คุ้มครองผู้บริโภค    เครือข่ายผู้ติดเชื้อ    กลุ่ม FTA WATCH  ก็ร่วมกันคัคค้านการนำ กฟผ.เข้าสู่ตลาดหุ้น  โดยมีการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดให้ระงับการกระจายหุ้น และให้ตรวจสอบความโปร่งใสของขั้นตอนการดำเนินการแปลงสภาพและกระจายหุ้น กฟผ.  โดยมีเหตุผลสำคัญคือ  1.มีความไม่โปร่งใส  เพราะรัฐบาลตีราคาทรัพย์สิน กฟผ.จาก 4 แสนล้านบาทเหลือเพียง 2.8 แสนล้านบาท  โดยเฉพาะกรณีไฟเบอร์ออพติกที่จะมีประโยชน์ต่อธุรกิจโทรคมนาคม  ถือเป็นการนำสมบัติของชาติราคาแพงไปขายในราคาถูก   2.รัฐบาลใช้อำนาจออกพระราชกฤษฎีกา  2 ฉบับ  ได้แก่ พ.ร.ก.กำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยปี 2548  และ พ.ร.ก.กำหนดอำนาจ สิทธิและประโยชน์ของบริษัท กฟผ.จำกัด (มหาชน) มีผลบังคับใช้ 23 มิ.ย.2548  มีผลทำให้ยุติความเป็นรัฐวิสาหกิจของ กฟผ.  ถือเป็นการใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรีถ่ายโอนสมบัติของชาติไปเป็นสมบัติส่วนตัวของนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์


ในที่สุดวันที่ 15 พ.ย.ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งระงับการกระจายหุ้นของ กฟผ.ไว้ชั่วคราว   เพื่อตรวจสอบตามที่องค์กรเครือข่ายภาคประชาชน ร้องเรียน   อย่างไรก็ตามความเคลื่อนไหวขององค์กรเครือข่าย  และนักวิชาการยังมิได้หยุดนิ่ง  โดยมีประเด็นที่เป็นหัวใจสำคัญคือให้ยกเลิกนโยบายการแปรรูปกิจการไฟฟ้า  และใช้กระบวนการปฏิรูปกิจการไฟฟ้าทั้งระบบให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม


 


กระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่นไปไม่ถึงไหน


ในรอบปีนี้ ปัญหาการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นมีปรากฎการณ์สำคัญ เริ่มตั้งแต่อ้างข้อมูลกระทรวงมหาดไทย พบพฤติกรรมทุจริตในองค์กรปกครองท้องถิ่น องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ยังไม่มีความจำเป็นในการใช้เงิน และไม่มีประสิทธิภาพในการใช้เงิน เจ้าหน้าที่ขาดประสิทธิภาพในการทำงาน อีกทั้งการถ่ายโอนภารกิจด้านการสาธารณสุขและการศึกษาก็ไม่เป็นไปตามแผน  บุคลากรส่วนราชการไม่เต็มใจถ่ายโอนไปท้องถิ่นเพราะเกรงไม่ได้รับสวัสดิการเท่าเดิม


รัฐบาลจึงประกาศแก้ไขพ...กำหนดแผนและขั้นตอนกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่น พ.. 2542 มาตรา 30 ที่กำหนดให้ภายในปี 2549 รัฐบาลต้องจัดสรรรายได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 35 ของงบประมาณรัฐบาล เป็นไม่กำหนดระยะเวลา  และที่สุดรัฐบาลกำหนดในปีงบประมาณ 2549 จัดสรรให้ อปท.คิดเป็นร้อยละ 24


            เป็นที่น่าสังเกตว่าขณะที่รัฐบาลพยายามไม่ปฏิบัติตามกฎหมายกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่น  แต่รัฐบาลจัดสรรงบประมาณสู่ท้องถิ่นผ่านกลไกของรัฐบาล เช่น การจัดงบประมาณแก่ผู้ว่าราชการจังหวัด หรืองบซีอีโอ งบประมาณที่จัดสรรส่วนราชการระดับภูมิภาค งบประมาณภายใต้โครงการกองทุนหมู่บ้านและโครงการเอสเอ็มแอล นอกจากนี้ยังมีงบประมาณที่เกิดขึ้นจากการจัดประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรไปยังจังหวัดต่างๆ  รวม 7 ครั้ง


            นอกจากนี้กระทรวงมหาดไทยโอนอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกระจายอำนาจ สำนักนายกรัฐมนตรี มาสังกัดกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น และยกขึ้นเป็นทบวงสังกัดกระทรวงมหาดไทย และรัฐบาลยกร่างพ...เขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่รวบอำนาจจาก อปท.มาสู่ผู้ว่าการเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่รัฐบาลก็ลดกระแสคัดค้านจาก อปท.ด้วยการประกาศขอเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้กับผู้บริหาร อปท.ทั่วประเทศ พร้อมส่งสัญญาณปรับเงินเดือนพนักงาน อบต.


            นอกจากปัญหาโครงสร้างการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นแล้ว ในรอบปีนี้เกิดปรากฎการณ์ที่เกี่ยวข้องได้แก่ การชุมนุมคัดค้านของข้าราชการครูในการโอนสังกัดไปอยู่ อปท. เมื่อการคัดค้านแก้ไข พ... กำหนดแผนและขั้นตอนกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่น พ.. 2542 ไม่สำเร็จ  มีการเผาซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือเครือเอไอเอส และบัตรสมาชิกพรรคไทยรักไทย การที่กลุ่มข้าราชการครูแสดงออกรุนแรงต่อรัฐบาลไทยรักไทย สาเหตุหนึ่งคือ การเล่นเกม ด้วยการออกมติครม.14 .. 2547 ชะลอถ่ายโอนไปสู่อปท.หวังคะแนนเสียงช่วงเลือกตั้ง


            อีกปรากฎการณ์หนึ่งที่สำคัญคือ กทม.งัดข้อกับรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ โดยรัฐบาลอ้างว่าจะทำให้เสียภาพรวมโครงการเมกกะโปรเจ็ค แต่ผู้ว่าฯกทม.ยืนยันมีสิทธิตามอำนาจการบริหาร ประกอบกับกระแสคนกทม.สนับสนุน ที่สุดสภากทม.เก็นชอบโครงการสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าจากสาทรไปตากสิน วงเงิน 2,300 ล้านบาท


 


หยุดเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ 


            ในบรรดาการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือเอฟทีเอกับประเทศต่าง ๆ นั้น  เอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ  ดูเหมือนจะกลายเป็นประเด็นแหลมคมที่ฝ่ายองค์กรเครือข่ายภาคประชาชนหวั่นเกรงมากที่สุด  ทั้งนี้เพราะหากการทำเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ  เป็นผลสำเร็จ นั่นหมายถึงผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตคนไทยจะมีขึ้นอย่างมหาศาล


            เอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ  ในช่วงปีที่ผ่านมามีการเจรจาไปแล้วหลายครั้ง  และจะมีการเจรจารอบที่ 6 ในต้นปี 2549 ที่จะถึงนี้  ทั้งนี้รัฐบาลทั้งสองฝ่ายจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จ  และให้มีผลบังคับใช้ในปี 2549  อย่างไรก็ตามการเจรจาก็ยังไม่แล้วเสร็จ  โดยมีประเด็นที่หลายฝ่ายห่วงใยมิใช่เพียงแค่ประเด็นการลดอัตราภาษีศุลกากร และการเปิดตลาดเท่านั้น  แต่ยังครอบคลุมถึงการเปิดเสรีด้านการบริการ การลงทุน  เฉพาะอย่างยิ่งประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา เช่น สิทธิบัตรยา สิทธิบัตรพันธุ์พืช  และลิขสิทธิ์อื่น ๆ


จะมีผลกระทบต่อประชาชนทั้งกลุ่มเกษตรกร  ผู้บริโภค ผู้ประกอบการรายย่อย  กลุ่มผู้ป่วย   เป็นต้น


            ช่วงปีที่ผ่านมาองค์กรเครือข่ายภาคประชาชน อาทิ กลุ่ม FTA WATCH  เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์  กลุ่มเกษตรกรรายย่อย  กลุ่มผู้บริโภคร่วมกันคัดค้านการทำเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯในประเด็นสำคัญ  คือ


1.ประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา  ทั้งนี้เพราะสหรัฐฯ จะบีบบังคับให้ไทยขยายการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาจาก 20 ปี  เป็น  25 ปี  ซึ่งจะทำให้บรรษัทข้ามชาติผูกขาดการค้าและผลิตยาต่อไปอีก   มีผลกระทบต่อหลักประกันด้านสุขภาพของประชาชนชาวไทยโดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจ  โรคเอดส์ที่จำเป็นต้องรับยาบางขนานจากต่างประเทศ  อีกทั้งยังเป็นการปิดกั้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาภายในประเทศด้วย


            2.ประเด็นภาคเกษตรกรรม  สหรัฐฯจะใช้เป็นประเด็นต่อรองเพื่อแลกเปลี่ยนกับประเด็นอื่น ๆ ที่สหรัฐฯ ต้องการ เช่นทรัพย์สินทางปัญญา  การยอมรับจีเอ็มโอ   แต่ความเป็นจริงสหรัฐฯ ยังคงสนับสนุนภาคเกษตรกรรมของตนเอง  อีกทั้งมีมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีในการกีดกันสินค้าเกษตรได้ เช่น เรื่องสุขอนามัย   นอกจากนี้ก็ยังเปิดให้พืชจีเอ็มโอเข้ามาในประเทศไทย และต่างชาติผูกขาดเมล็ดพันธุ์โดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยีข้ามชาติจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเจ้าของตลาดเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอกว่า 90 %            


            3.ประเทศจะสูญเสียอธิปไตยทางเศรษฐกิจเพราะจะเปิดให้บรรษัทต่างชาติเข้ามาประกอบกิจการด้านการบริการได้อย่างเสรี


 


ชายแดนใต้ในสงครามขยายความเกลียดชัง


นับแต่รัฐบาลประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เมื่อวันที่ 16 ก.ค.2548 ผลักให้รัฐตกอยู่ในสถานการณ์ที่เพลี่ยงพล้ำมาโดยตลอด ขณะที่ผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงขยายวงกว้างจากเจ้าหน้าที่รัฐ ไปสู่ประชาชนทั่วไป โดยไม่แยกเพศหญิง ชาย ผู้ใหญ่หรือเด็ก ไม่ว่าจะเป็นชาวพุทธหรือมุสลิม


กฎหมายใหม่ซึ่งมาแทนกฎอัยการศึก ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการตรวจค้น สอบสวน กระทั่งจับกุมผู้ต้องสงสัยมาสอบปากคำ โดยไม่ต้องมีหมายจับ ได้ขยายปัญหาให้ลุกลาม ก่อเกิดเป็นความหวาดกลัวเกาะกินใจคนพื้นถิ่นมาตลอดระยะเวลากว่าครึ่งปี


28 มี.ค. 2548 หลังจากรัฐบาลตัดสินใจจัดตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ(กอส.)  เพื่อลดแรงเสียดทานจากสังคมกรณีปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  มีนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นประธานฯ  โดยมีภารกิจสำคัญคือ เพื่อศึกษา วิจัย รวมถึงเสนอมาตรการเพื่อสร้างความสมานฉันท์และสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้


สถิติซึ่งจัดทำโดยนักวิชาการ มอ.ปัตตานี ระบุว่าหลังจัดตั้ง กอส. พบว่า เหตุการณ์ความไม่สงบโดยเฉพาะการฆ่ารายวันลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว แต่อย่างไรก็ตามสถานการณ์กลับรุนแรงขึ้นโดยเฉพาะหลังประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ อาทิ การลอบวางระเบิด การรวมตัวก่อความไม่สงบในเมือง  โดยมีเป้าหมายเพื่อแสดงให้เห็นว่า รัฐไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้


นอกจากนี้ยังทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชน  และมีการขยายข่าวลือ    ข่าวลือที่ถูกขยายแบบปากต่อปาก ผ่านเครือข่ายการสื่อสารของชาวบ้าน ส่งผลสะเทือนกับความเชื่อถือต่อรัฐอย่างมาก   กระทั่งการเข้าตรวจค้นจับกุมผู้ต้องสงสัยในช่วงหลังมักถูกชาวบ้านขัดขวาง กลายเป็นสถานการณ์ขัดแย้งระหว่างชุมชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งบางประเด็นถูกยกระดับกลายเป็นความรุนแรงและมีผลลบต่อกระบวนการการสร้างความสมานฉันท์ในพื้นที่


รูปธรรมของความหวาดระแวงที่ปรากฏชัดคือ  กรณีการลอบสังหารโต๊ะอิหม่ามที่บ้านละหาน ต.ปะลุรู อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ซึ่งจุดชนวนกระแสความหวาดกลัว  ลุกลามถึงขั้นชาวบ้านรวมตัวกันปิดหมู่บ้าน ห้ามเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปภายใน  ตามมาด้วย131 ชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียง ขอลี้ภัยเข้าไปในรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย กระทั่ง "วิกฤตการณ์ตันหยงลิมอ" ซึ่งสังเวยด้วยความตายทั้งชาวบ้านและนาวิกโยธินรวม 5 คน 


รวมถึงล่าสุดกรณีสังหารโหดเด็ก ผู้หญิงและคนในครอบครัว "อาแวบือซา" ที่บ้านกะทอง ต.บองอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส รวม 9 ศพ ซึ่งชาวบ้านปักใจเชื่อว่า เป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐเช่นกัน


ไม่นับปัญหาในเชิงนโยบาย ที่ส่วนกลางกะเกณฑ์ให้เจ้าหน้าที่รัฐท้องถิ่นอาทิ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทำ "บัญชีดำ"ผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง โดยหวังว่า จะแยกแยะผู้ก่อการออกจากกลุ่มชาวบ้าน ซึ่งหลายต่อหลายครั้งที่รัฐใช้วิธีการเหวี่ยงแห  กดดันให้เข้ามามอบตัวตามเป้าที่กำหนดโดยไม่มีข้อมูลที่แท้จริงรองรับ ทำให้ความหวาดระแวงซึมลึกเข้าไปในกลุ่มชาวบ้าน กลายเป็นความเกลียดชังที่ยากจะบรรเทา


เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในปีหน้า เลวร้ายลงอีก


 


คนไร้รัฐ ไร้สัญชาติยังไร้หลักประกัน


            ในรอบปีนี้รัฐบาลมีมติ ค.ร.ม.ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาคนไร้สัญชาติ ไร้รัฐที่สำคัญ 4 ครั้ง 3 ครั้งเป็นเรื่องของโครงการเร่งรัดพิสูจน์สถานะบุคคลของกลุ่มชาวเขา และผ่อนผันให้อยู่ชั่วคราวเพื่อรอการพิสูจน์ โดยมติค.ร.ม.วันที่ 22 ..ผ่อนผันให้อยู่ชั่วคราวเพื่อเตรียมเข้าสู่ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิบุคคล  ซึ่งครม.มีมติเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าวเมื่อวันที่ 18 .. และกำหนดเริ่มใช้ตั้งแต่ 1 ..2549 เป็นต้นไป


ทั้งนี้การประกาศใช้ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิบุคคล ของสภาความมั่นคงแห่งชาติ เกิดกระแสวิจารณ์จากองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน ชนเผ่าว่าไม่ใช้หลักการมีส่วนร่วมในการร่างยุทธศาสตร์ฯ  เป็นการเหมารวมบุคคลที่รัฐต้องให้สัญชาติไทยไปเป็นผู้ขอมีสัญชาติไทย เช่น ชาวเขาที่อยู่ในประเทศไทยมานานก็จะมีสถานะไม่ต่างจากกลุ่มแรงงานข้ามชาติ    อีกทั้งมีเสียงท้วงติงเรื่องหลักการให้สัญชาติไทยก่อนถอนทีหลังว่าสร้างความไม่มั่นคงต่อคนไร้สัญชาติ และเป็นช่องทางให้หน่วยงานรัฐละเมิดสิทธิมนุษยชนได้


ที่สำคัญส่งผลให้แต่ละอำเภอไม่ดำเนินการพิสูจน์สถานะบุคคล และลงรายการสัญชาติไทยต่อชาวเขา รอให้เข้าสู่ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิบุคคล เปิดช่องให้มีการทุจริตเรียกรับเงินจากชาวเขา


            นอกจากนี้กรณีภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิ ทำให้ปัญหากลุ่มคนไร้สัญชาติในเขตภาคใต้ที่มีอยู่ปรากฎชัดเจน ได้แก่กลุ่มชาวมอแกน ชาวอุรักลาโว้ย และกลุ่มคนไทยพลัดถิ่น ประมาณไม่ต่ำกว่า 12,000 คน   ขณะที่รัฐบาลประกาศดำเนินการแก้ปัญหาคนสองสัญชาติในเขตชายแดนใต้คือไทย และมาเลเซียซึ่งคาดว่ามีประมาณ  200,000 คน เลือกถือเพียงสัญชาติเดียว  เกิดกระแสวิจารณ์ว่ารัฐบาลใช้อำนาจเกินขอบเขต เพราะบุคคลที่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดที่พ่อแม่เป็นคนสัญชาติไทยจะถอนสัญชาติไม่ได้เลย เว้นแต่เป็นผู้ได้สัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ


 


คน-ไก่ปลอดภัย ธุรกิจใครได้ประโยชน์?


ปีที่ผ่านมาสรุปภาพรวมการระบาดของไข้หวัดนกเอช 5 เอ็น1 ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2546 - พฤศจิกายน 2548 มีผู้ป่วยทั่วโลก 130 ราย เสียชีวิต 67 ราย โดยเวียดนามมีผู้ป่วย 92 ราย เสียชีวิต 42 ราย เป็นอันดับหนึ่ง ขณะที่ไทยอยู่ในอันดับ 2 มีผู้ป่วยรวม 21 ราย เสียชีวิต 13 ราย  ส่งผลให้ไข้หวัดนกได้เลื่อนชั้นกลายเป็นโรคประจำถิ่น


กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศยุทธศาสตร์แก้ปัญหาไข้หวัดนก (ปี 2548-2550)  6  ประการคือ 1.พัฒนาการจัดระบบปศุสัตว์ที่ปลอดโรค 2.การเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น 3.สร้างและจัดการความรู้เรื่องไข้หวัดนก 4.เสริมศัยภาพของบุคลากร 5.เพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชน 6.พัฒนากลไกการจัดการอย่างบูรณาการ


            แม้มาตรการข้างต้นจะส่งผลให้การกำจัดวงการแพร่ระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ แต่กระนั้นตัวแทนผู้เลี้ยงไก่ชน และเกษตรกรบางส่วนก็ได้ออกมากดดันเรียกร้องให้มีการใช้วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดนกในไก่  ท่ามกลางกระแสคัดค้านจากนักวิชาการ-นักสาธารณสุข รวมถึงรัฐบาลที่ยืนกรานว่าวัดซีนไม่ช่วยแก้ปัญหา  แต่จะทำให้สถานการณ์บานปลาย หรืออาจทำให้เชื้อไข้หวัดนกแฝงตัวและกลายพันธุ์


ทว่ากลุ่มผู้เลี้ยงไก่กลับเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ผนวกกับการลักลอบนำวัคซีนเข้ามาในประเทศ รัฐบาลจึงมอบหมายให้ทำการทดลองวิจัยวัคซีนไข้หวัดนกในไก่ ไปพร้อมกับการวิจัย-ค้นคว้าการผลิตยา"โอเซลทามิเวียร์" ขององค์การเภสัชกรรม ซึ่งเป็นตัวยารักษาไข้หวัดใหญ่สำหรับคนชนิดเดียวกับ"ทามิฟูล" คาดว่าจะสามารถผลิตออกใช้ภายในเดือนตุลาคม 2549           


            อย่างไรก็ตามวิกฤตการณ์ของไข้หวัดนก  ยังทำให้หลายฝ่ายมีการตั้งคำถามต่อแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลที่ยังคงผูกขาดและสั่งการแก้ปัญหา โดยขาดการมีส่วนร่วมจากเกษตรกรและคนในท้องถิ่น   อีกทั้งเป็นการเอื้อให้แก่บริษัทอุตสาหกรรมขนาดใหญ่  และธุรกิจส่งออกบางรายหรือไม่  เช่นการที่กระทรวงเกษตรฯ  ผลักดันการเลี้ยงไก่เชิงพาณิชย์ในระบบฟาร์มปิด   ขณะที่เกษตรกรรายย่อยมีทางเลือกเพียงแค่การเป็น "ลูกไล่ และเลิก" อาชีพนี้เท่านั้น  


            จึงสรุปได้ว่ารัฐบาลได้เปิดทางออกให้ผู้บริโภค และผู้ส่งออกแล้ว ส่วนตัวเกษตรกรรายย่อยก็ต้องเผชิญวิบากต่อไป แต่โจทย์สำคัญที่ต้องรอความกระจ่างในอนาคตคือ  ความสมดุลด้านความมั่นคงทางอาหาร และความยั่งยืนในวิถีการผลิตบนเส้นทางของการเป็นครัวโลก


 


แรงงานนอกระบบกับหลักประกันชีวิต-สุขภาพ


แม้จะมีการออกกฎกระทรวง 2 ฉบับว่าการคุ้มครองแรงงานผู้รับงานไปทำที่บ้าน และการคุ้มครองแรงงานในงานเกษตรกรรมตั้งแต่ในปี 2547 ซึ่งคาดการณ์ว่าจะถูกบังคับอย่างจริงจังตลอดทั้งปีนี้ แต่การบังคับใช้กฎหมายนี้กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าเป็นเพียงเสือกระดาษ ไม่สามารถใช้ได้จริง และยังก่อให้เกิดอุปสรรคในการดำเนินงาน เนื่องจากไม่สอดคล้องกับสภาพปัญหาของแรงงานนอกระบบ และยังคงถอดแบบมาจากพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ซึ่งทำให้นิติสัมพันธ์ของการจ้างงาน ยังอยู่ในวังวนของนายจ้าง-ลูกจ้างเช่นเดิม จนท้ายสุดกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานก็ส่งสัญญาณขอแก้มือด้วยการยกร่างพ.ร.บ.ผู้รับงานไปทำที่บ้านแทน


ด้านกลุ่มนักวิชาการ และกลุ่มแรงงานนอกระบบทั่วประเทศก็รวมตัวอย่างเหนียวแน่น และเรียกร้องอย่างต่อเนื่องให้มีการยกเครื่องกฎหมายแรงงาน ซึ่งปัจจุบันมีอยู่หลายฉบับจนทำให้เกิดความซ้ำซ้อน และมีช่องโหว่ อนึ่งเครือข่ายแรงงานนอกระบบเองก็ได้เดินหน้าให้ความรู้ด้านกฎหมาย การทำงานอย่างปลอดภัยแก่แรงงานนอกระบบตามชุมชนต่างๆ เพราะมีรายงานข่าวอย่างต่อเนื่องว่ามีการละเมิดสิทธิการจ้างงานอย่างรุนแรง อีกทั้งก็ยังไม่มีการศึกษาเรื่องแรงงานนอกระบบเพื่อนำไปสู่การพัฒนานโยบายอย่างจริงจัง


ในส่วนการสร้างหลักประกันทางสังคมให้แรงงานนอกระบบนั้น สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ก็ทุ่มเทการทำงานตลอดทั้งปีไปกับคิดค้น และปรับปรุงกฎหมายให้มีความทันสมัยขึ้น เพื่อไล่ตามนวัตกรรมการจ้างงานเพื่อลดต้นทุนแบบใหม่ๆ อาทิ  การจ้างเหมาช่วงค่าแรง การกระจายงานออกนอกโรงงาน ด้วยการเตรียมนำร่องขยายความคุ้มครองไปยัง คนขับรถแท็กซี่ รถสามล้อ รถสองแถวเล็ก จักรยานยนต์รับจ้าง รถตู้ เด็กรับรถ นักร้อง นักดนตรี ตลก พนักงานบริการ และกลุ่มแม่บ้าน 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์


แม้ว่าจะมีการเดินสายรับฟังความคิดเห็นเพื่อปรังปรุงกฎหมายประกันสังคมให้คุ้มครองแรงงานนอกระบบ  แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่  ตัวแทนแรงงานนอกระบบที่แท้จริงกลับมิได้มีส่วนร่วมแสดงความเห็น   ซึ่งต้องติดตามดูกันต่อไปว่ากม.หลักประกันสังคมจะสามารถคุ้มครองแรงงานนอกระบบได้ทัดเทียมกับแรงงานในระบบหรือไม่


 


เม็กกะโปรเจ็คเชียงใหม่


เป็นที่ฮือฮาสำหรับชาวเชียงใหม่อย่างมาก  เพราะภายหลังจากที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นคนเชียงใหม่  ก็ปรากฏว่ามีการคลอดโครงการเม็กกะโปรเจ็คที่ต้องใช้งบประมาณรวมกันถึง 100,000 ล้านบาท


ปีที่ผ่านมามีการเปิดเผยโครงการเม็กกะโปรเจ็คที่จะเกิดขึ้น  โดยโครงการที่จะดำเนินการใน จ.เชียงใหม่สามารถจำแนกออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือโครงการที่ดำเนินการโดยรัฐบาลและกลุ่มทุนเอกชนจำนวน 20 โครงการ เช่น โครงการศูนย์ประชุมนานาชาติ งบประมาณ 1,450 ล้านบาท โครงการจัดตั้ง Science Park มูลค่าโครงการ 7,000 ล้านบาท โครงการ IT Knowledge Park ของอุตสาหกรรมซอรฟต์แวร์ประเทศไทย วงเงิน 362 ล้านบาท รวมทั้งโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ที่มีวงงบประมาณ 1,500 ล้านบาท เป็นต้น


กลุ่มที่สอง เป็นโครงของกระทรวงคมนาคมที่ส่วนใหญ่เป็นโครงการก่อสร้างถนนสายต่างๆในจังหวัดรวมทั้งหมด 29 โครงการ และกลุ่มที่สามเป็นโครงการของเทศบาลนครเชียงใหม่อีก 10 โครงการ


โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวอย่างโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีที่มีพื้นที่ดำเนินการในเขตอุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุย และจะเปิดให้บริการในต้นปี 2549 นี้ นับว่าสร้างความวิตกแก่ชาวเชียงใหม่เป็นอย่างมากเพราะหวั่นเกรงปัญหาผลกระทบด้านสังคม สิ่งแวดล้อม (การใช้น้ำ และทรัพยากรธรรมชาติ)  รวมทั้งจะทำให้เชียงใหม่สูญเสียเอกลักษณ์ที่เป็นเมืองวัฒนธรรมและธรรมชาติ    


ความขัดแย้งระหว่างผู้ดำเนินโครงการ คือนายปลอดประสพ สุรัสวดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  กับ กลุ่มประชาชนในจ.เชียงใหม่ได้กลายเป็นประเด็นข้ามปี  เมื่อมีการออกรายการ "ถึงลูกถึงคน"  ประเด็นการนำเข้าสัตว์ป่าจากเคนยามายังไนท์ซาฟารี   จนเป็นเหตุให้ผู้ติดตามนายปลอดประสพควบคุมอารมณ์ไม่อยู่ถึงขั้นใช้กำลังกับนายชัยพันธ์ ประภาสะวัติ ตัวแทนภาคีฮักเชียงใหม่ที่ร่วมออกรายการหลังเลิกรายการ   ทำให้กลุ่มภาคีฮักเชียงใหม่มีการฟ้องร้องว่าเป็นการใช้อำนาจเกินไป


เหตุการณ์ความขัดแย้งนี้เป็นเพียงอุบัติการณ์เล็ก ๆ ที่สะท้อนความขัดแย้งในภาพใหญ่ที่ยังคงต้องจับตาดูกันต่อ. 


 


แผนงานพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net