FTA ไทย-สหรัฐ 1 ปี ยังย่ำอยู่ที่เดิม เกมการค้าที่ไทยเสียแต้มต่อ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ


 

            การเจรจาเขตการค้าเสรีในระดับทวิภาคี หรือ FTA ระหว่างไทยกับสหรัฐ นอกจากเป็นประเด็นที่ถูกจับตามองมากที่สุดในรอบปี 2548 แล้ว ยังถือเป็นการเจรจาที่ยืดเยื้อยาวนานและยังไม่สามารถหาข้อสรุปที่ลงตัวได้

            ตลอดปี 2548 มีการเจรจาระหว่างสองประเทศนี้แล้วถึง 5 รอบด้วยกัน โดยในรอบ 1 - 4 เป็นการแลกเปลี่ยนความความคิดเห็นและข้อมูลต่าง ๆ เพื่อกำหนดกรอบการเจรจาและทำความเข้าใจระบบของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาในรายละเอียดของร่างข้อบท (Text) และร่างโต้ตอบที่ทั้งไทยและสหรัฐทำขึ้นมา เรียกได้ว่ายังไม่มีความชัดเจนหรือได้ข้อสรุปที่น่าพอใจของทั้งสองฝ่าย กระทั่งมาถึงการเจรจาในรอบที่ 5 ที่ไปเจรจาไกลถึงกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ที่เริ่มมีความคืบหน้าในรายละเอียดมากขึ้น แต่ที่สุดก็ยังไม่มีข้อสรุปใด ๆ ออกมาเหมือนเช่นเคย

            เปิดศักราชใหม่มาได้เพียง 2 สัปดาห์ ทั้งไทยและสหรัฐ ก็ถือเอาฤกษ์เอาชัยวันที่ 9 - 13 มกราคม 2549 เปิดการเจรจากันในรอบที่ 6 ที่จังหวัดเชียงใหม่ แต่บรรยากาศการเจรจาดูจะพิเศษกว่าทุกครั้ง เพราะเป็นการเจรจาท่ามกลางการชุมนุมคัดค้านของเครือข่ายประชาชน 11 เครือข่ายจากทั่วประเทศกว่า 5 พันคน ที่เรียกร้องให้หยุดการเจรจาดังกล่าว มุ่งใน 3 ประเด็นหลักคือ

            1.ทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะสิทธิบัตรยา ที่รัฐบาลไทยจะยอมขยายอายุสิทธิบัตรและยกเลิกมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค ที่เกินเลยข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ (WTO) และแม้แต่กฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาเอง รวมถึงสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิตที่กระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น

            2.การเปิดเสรีสินค้าเกษตร ที่จะเปิดให้สินค้าเกษตร เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง ที่ได้รับการอุดหนุนจนทำให้ต้นทุนมีราคาถูกเกินจริงจากประเทศสหรัฐอเมริกาเข้ามาท่วมตลาดไทย ส่งผลต่อเกษตรกรรายย่อยนับล้านครอบครัว

            3.การเปิดเสรีการลงทุนที่จะให้สิทธินักลงทุนสหรัฐทัดเทียมคนไทย โดยเฉพาะกิจการบริการสาธารณะขั้นพื้นฐาน อาทิ ไฟฟ้า น้ำประปา และการลงทุนด้านการเกษตร ซึ่งเป็นความมั่นคงด้านอาหารของชาติ

            การชุมนุมคัดค้านของเครือข่ายทั้ง 11 เครือข่าย ต่างมองว่ากระบวนการเจรจาที่ผ่านมาทั้งหมดไม่มีความโปร่งใส เนื้อหาในการเจรจาถูกปิดเป็นความลับ และไม่เคยได้รับการตรวจสอบโดยสังคมไทย

            สอดคล้องกับข้อมูลของคณะกรรมาธิการต่างประเทศ วุฒิสภา ที่ระบุว่า การทำ FTA ระหว่างไทยกับสหรัฐ ไม่ได้เป็นเพียงการลดภาษีสินค้าหรือการเปิดตลาดสินค้าเท่านั้น แต่ยังมีหัวข้อการเจรจาที่ครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ รวมทั้งหมด 23 หัวข้อ เช่น เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ที่จะส่งผลต่อการเข้าถึงยา การเปิดเสรีการลงทุน การเปิดเสรีภาคบริการ ที่จะส่งผลต่อการเข้ามาใช้ฐานทรัพยากรในประเทศเพื่อการผลิต ผลกระทบต่อเรื่องการจัดบริการการศึกษา ภาคการเงินการธนาคาร บริการสาธารณสุข การใช้กระบวนการยุติข้อพิพาทระหว่างนักลงทุนต่างชาติกับรัฐบาลไทยแบบพิเศษแทนการใช้กระบวนการศาลยุติธรรม ฯลฯ

            นอกเหนือจากความเสียเปรียบในแง่อำนาจการต่อรองระหว่างๆไทยหับสหรัฐ อันเป็นผลมาจากความแตกต่างอย่างมากของอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจแล้ว สหรัฐยังมีกฎหมายฉบับหนึ่งที่ชื่อว่า Trade Promotion Authority (TPA) เป็นกฎหมายที่กำหนดวิธีการขั้นตอนการเจรจา กรอบและเป้าหมายการเจรจาด้านการค้าของสหรัฐไว้อย่างละเอียด ที่กำหนดให้ผู้แทนการค้าของสหรัฐ (USTR) ต้องยื่นเสนอกรอบและเป้าหมายการเจรจาต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบก่อนการเจรจา และเมื่อเจรจาเสร็จแล้วต้องนำผลการเจรจามายื่นขอความเห็นชอบจากรัฐสภาอีกครั้ง โดยมีอำนาจเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบให้ลงนาม แต่ไม่มีอำนาจแก้ไขรายละเอียดในความตกลง FTA

            เหตุผลที่รัฐบาลไทยอธิบายถึงความจำเป็นที่ต้องทำ FTA กับสหรัฐคือ เพื่อขยายตลาดการค้าของไทย ทั้งนี้ เนื้อหาใน FTA ที่สหรัฐกำหนดไว้ 23 หัวข้อ ทุกหัวข้อมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างซับซ้อน เช่น เรื่องสินค้าเกษตร หากพิจารณาให้ดี มีเนื้อหาหลักเกี่ยวกับการลดภาษีศุลกากร การทำความตกลงเกี่ยวกับมาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) ดูเหมือนไทยจะส่งสินค้าเกษตรไปสหรัฐได้มากขึ้น แต่ที่สหรัฐเรียกร้องและมีความเกี่ยวโยงทั้งในเรื่องการขยายการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เรื่องการเปิดเสรีการค้า GMOs เรื่องการเปิดเสรีการค้าบริการและการลงทุน และสิ่งแวดล้อม

            โดยเฉพาะประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา สหรัฐเรียกร้องให้ขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรให้ครอบคลุมสิ่งมีชีวิตทุกประเภท ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นอีกหลายเท่าตัวจากการแข่งขันของสินค้าของสหรัฐที่จะเข้ามาในตลาดไทย เช่นเดียวกับการเรียกร้องให้ไทยเปิดเสรีการลงทุนและบริการเกือบทุกประเภท ซึ่งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นคือ นักลงทุนจากสหรัฐจะเข้ามาทำธุรกิจด้านการเกษตร หรือด้านอื่น ๆ เช่นด้านการเงินแข่งกับผู้ประกอบการไทย

            ข้อเสนอ 3 ประเด็นหลักที่คณะกรรมาธิการต่างประเทศเสนอและเรียกร้องต่อการเจรจาในรอบที่ 6 คือ 1.ให้ยกเลิกข้อตกลงรักษาความลับในการเจรจา และนำข้อมูลข้อเรียกร้องทั้งหมดของสหรัฐและไทยมาเปิดเผยแก่ประชาชน 2.ให้ประชาชนซึ่งเป็นผู้รับผลกระทบโดยตรงจากการทำ FTA ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการเจรจา ทั้งในเรื่องการรับรู้ข้อมูลอย่างครบครัน เรื่องการแสดงความคิดเห็น การร่วมกำหนดจุดยืนท่าทีการเจรจา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการร่วมตัดสินใจลงนามความตกลง FTA โดยการออกเสียงประชามติตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 214 และ3.ให้นำหัวข้อการเจรจาที่ขัดแย้งกับการค้าเสรีและเป็นธรรมออกจากหัวข้อการเจรจา เช่น เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เนื่องจากเป็นการให้สิทธิผูกขาด ขัดแย้งกับหลักการค้าเสรี

            ประเด็นด้านหลักที่ทำให้การเจรจาเขตการค้าเสรี FTA ไทย-สหรัฐเป็นที่จับตามองมากที่สุด ก็เพราะที่ผ่านมาไม่มีการเปิดเผยข้อมูลการเจรจาอย่างชัดแจ้ง กลายเป็นเรื่องลับที่ปิดหูปิดตาประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบและเสียประโยชน์ ทำให้การเจรจาถูกมองว่าไม่มีความโปร่งใส ที่สำคัญคือขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน

            นับเป็นเกมการค้าที่มีมูลค่ามหาศาล แต่ด้านสำคัญเป็นเกมการค้าที่ไทยมีแต่จะเสียแต้มต่อ

 

******************

           

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท