Skip to main content
sharethis

ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น หลายฝ่ายต่างพากันตั้งคำถามว่าปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้เกิดความไม่สงบในพื้นที่ ท่ามกลางคำถามที่ว่า "ทำไมสิ่งนี้จึงเกิด" ได้มีคำถามว่า "ทำไมสิ่งนี้จึงไม่เกิด" ฝ่าวงล้อมออกมาเป็นโจทย์ใหม่ กล่าวคือ เหตุใดจึงไม่เกิดความรุนแรงในจังหวัดสตูล ซึ่งเป็นจังหวัดบ้านใกล้เรือนเคียงที่มีความคล้ายคลึงทั้งทางด้านภูมิศาสตร์และประชากรศาสตร์กับ 3 จังหวัดปลายด้ามขวานทอง


 


สตูลเป็นจังหวัดเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ทางชายฝั่งของทะเลอันดามัน มีพรมแดนติดกับมาเลเซีย ครั้งหนึ่งสตูลมักจะถูกเหมารวมโดยกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบว่าเป็น "1 ใน 4 จังหวัดมาเลย์-มุสลิม" นั่นหมายถึงการเป็นพื้นที่เป้าหมายในการแบ่งแยกดินแดนด้วยเช่นกัน ด้วยการมีภูมิหลังทางประวัติศาสตร์เชื่อมโยงกับมาเลเซีย ประชากรส่วนใหญ่ต่างก็นับถือศาสนาอิสลามและใช้ภาษามลายู รวมทั้งมีวัฒนธรรมร่วมของชาวมุสลิมด้วยกัน หากแต่ในช่วงที่ผ่านมาซึ่งสถานการณ์รุนแรงมากขึ้น สตูลกลับถูก "ถอด" ออกจากกระบวนการการแบ่งแยกดินแดน นั่นหมายความได้หรือไม่ว่า ในความคล้ายคลึงระหว่างสตูลกับจังหวัดเพื่อนบ้านนั้นน่าจะมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญซ่อนตัวอยู่ ซึ่งทำให้สตูลสามารถกันตัวเองอยู่นอกวงล้อมของเหตุการณ์ความไม่สงบอันมีที่มาจากขบวนการแบ่งแยกดินแดนดังเช่นจังหวัดใกล้เคียงอื่นๆ


 


ประเด็นสำคัญก็คือ อะไรทำให้สตูลมีจุดยืนอยู่ที่ความสมานฉันท์อย่างมั่นคงบนเส้นทางแห่งความแตกต่างในพื้นที่


 


งานวิจัยเรื่อง Maintaining Peace in a Neighborhood Torn by Separatism: The Case of Satun Province in Southern Thailand โดย Thomas I. Parks อธิบายปรากฏการณ์แห่งความสันติสุขที่เกิดขึ้นในจังหวัดสตูลไว้อย่างน่าสนใจ โดยพบว่า ในความคล้ายคลึงที่กล่าวมาข้างต้นนั้น กลับมีความแตกต่างที่เป็นคุณลักษณะเฉพาะของสตูลปรากฏอยู่ และความแตกต่างนี้เองที่น่าจะเป็นคำตอบของความสมานฉันท์


 


หากศึกษาภูมิหลังของจังหวัดสตูล จะพบว่าสตูลไม่มี "เมล็ดพันธุ์" ของขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่สมบูรณ์เพียงพอที่จะเจริญเติบโตได้ ย้อนเวลากลับไปเมื่อร้อยกว่าปีก่อนเมื่อครั้งประเทศไทย หรือสยามเริ่มแผ่อำนาจปกครองดินแดนทางภาคใต้ กระบวนการต่อต้านอำนาจจากศูนย์กลางนำโดยผู้ปกครองในพื้นที่ได้ก่อตัวขึ้นอย่างเข้มแข็งในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส เนื่องจากชนชั้นปกครองเหล่านั้นสูญเสียอำนาจในการปกครองเกือบทั้งหมดไป ยังมาซึ่งความไม่พอใจและการต่อต้านนั่นเอง ทว่าผู้นำท้องถิ่นของสตูลในสมัยนั้นกลับเลือกที่จะสวามิภักดิ์ และยอมรับในระบอบการปกครองของสยามรวม ไม่พยายามแบ่งแยกตัวเองออกจากสยาม เพราะพวกเขายังคงมีอำนาจปกครองท้องถิ่นอยู่เช่นเดิม อีกทั้งผู้ปกครองท้องถิ่นเหล่านี้ยังได้รับการยอมรับทั้งจากคนในท้องถิ่นและจากรัฐบาลสยาม แม้ที่ผ่านมาจะมีความพยายามในการเคลื่อนไหวของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน แต่หาได้มีความพยายามเหล่านี้เจริญเติบโตงอกงามจากพื้นดินของสตูลไม่


 


การที่สตูลถูกเหมารวมว่าเป็น "1 ใน 4 จังหวัดมาเลย์-มุสลิม" สตูลปรากฏตัวอยู่ใน "แผนที่รัฐปัตตานี" ในเกือบทุกตำราและคำกล่าวอ้าง หรือข้อเรียกร้องของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน อาจเป็นเพราะภูมิหลังทางประวัติศาสตร์เมื่อกว่า 100 ปีมาแล้วที่ว่า สตูลเคยเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทรบุรี หรือ Kedah แต่ผลจากสนธิสัญญาที่สยามทำกับสหราชอาณาจักรเมื่อปี ค.ศ.1909 ทำให้สตูลและปัตตานีตกเป็นกรรมสิทธิ์ของสยาม จะเห็นได้ว่าการถูกเหมาสตูลว่าเป็น "1 ใน 4 จังหวัดมาเลย์-มุสลิม"  นั้นไม่ถูกต้องเสียทีเดียว แม้แต่ชาวมุสลิมในจังหวัดสตูลเองก็ยังรู้สึกกระอักกระอ่วนใจที่พวกเขามักจะถูกเหมารวมเข้ากลุ่มแบ่งแยกดินแดนไปด้วย เพราะการเหมารวมเช่นนั้นได้มองข้ามความแตกต่างอย่างชัดเจนที่สตูลมี อันเป็นกุญแจสำคัญที่จะไขปริศนาว่า ทำไมสตูลจึงสามารถ "ยืนหยัด" และ "แยกแยะ" ตนเองออกจากวงล้อมของ "ไฟใต้" ได้เช่นนี้


 


งานวิจัยดังกล่าวสรุปคุณลักษณะพิเศษที่ทำความสันติสุขบังเกิดบนแผ่นดินสตูลว่า


 


1. ชาวมุสลิมในจังหวัดสตูลไม่ซาบซึ้งใน "อัตลักษณ์ความเป็นมาเลย์" หากถามชาวสตูลคิดว่าอัตลักษณ์ของเขาคืออะไร ส่วนใหญ่จะตอบว่าเขาเป็น "คนไทย" หรือ "ไทยมุสลิม" เพราะ "สตูลเป็นส่วนหนึ่งของไทย เขาอยู่ที่นี่เขาก็ต้องเป็นคนไทย" นอกจากนี้ยังอ้างอิงได้จากบรรพบุรุษของเขาที่เติบโตบนแผ่นดินไทย ภาษาที่เขาใช้ ตลอดจนการมีส่วนร่วมทางการเมืองกับรัฐบาลไทย ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือชาวมุสลิมที่นี่แทบจะไม่รู้สึกอะไรกับภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ที่เมื่อครั้งหนึ่งสตูลเคยเป็นส่วนหนึ่งของไทรบุรี เพราะถือว่านั่นเป็นอดีตที่ผ่านมานานแล้ว


 


ในทางตรงกันข้าม สำหรับชาวมุสลิมในอีก 3 จังหวัด ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส พวกเขาซาบซึ้งและยึดถือในอัตลักษณ์ความเป็นส่วนหนึ่งของมาเลย์ไว้อย่างเหนียวแน่นและเปิดเผย สำหรับพวกเขาแล้ว อัตลักษณ์ความเป็นมาเลย์ ศาสนาอิสลาม และภาษามาเลย์ เป็นสิ่งที่แยกออกจากกันไม่ได้โดยเด็ดขาด ในขณะเดียวกัน สายใยแห่งอัตลักษณ์ เชื้อชาติ และศาสนาอิสลามนี่เองที่มักจะถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับสุมไฟแห่งการแบ่งแยกดินแดนให้ลุกลามอย่างรวดเร็ว


 


2. ประชากรกว่าร้อยละ 99 ใช้ภาษาไทยในการติดต่อสื่อสาร ในฐานะที่เป็นภาษาแรกและภาษาที่สอง บางทีปัจจัยข้อนี้อาจจะเป็นข้อแตกต่างที่เด่นชัดที่สุดก็ว่าได้ เป็นเวลากว่าครึ่งทศวรรษแล้วที่มีการเรียนการสอนภาษาไทยกันอย่างกว้างขวางในโรงเรียน เด็กๆ มักจะเริ่มเรียนภาษามาเลย์จากที่บ้าน แต่เมื่อเข้าโรงเรียนแล้วพวกเขาจะได้เรียนภาษาไทย สำหรับรัฐบาลไทยแล้ว สตูลถือได้ว่าเป็นผลผลิตแห่งอุดมคติของนโยบายการศึกษาที่จะใช้กับภาคใต้ของไทยเลยทีเดียว นโยบายดังกล่าวมีเป้าประสงค์ที่จะให้ชาวมุสลิมใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวันและในโรงเรียน และใช้ภาษาอาราบิกในกิจกรรมและการเรียนการสอนทางศาสนา เป็นการใช้สองภาษาควบคู่กันได้อย่างอิสระ


 


ช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านจากการใช้ภาษามาเลย์มาเป็นภาษาไทยนั้นเกิดขึ้นเมื่อกว่า 60 ปีที่แล้ว เริ่มจากรุ่นปู่ย่าตายายที่พูดได้แต่ภาษามาเลย์ พอมารุ่นลูกเริ่มพูดได้ 2 ภาษา เพราะได้รับการศึกษาจากโรงเรียน ครั้นมาถึงรุ่นหลานและเหลนบางคนพูดภาษาไทยได้เพียงภาษาเดียวเท่านั้น เหตุที่ผู้นำท้องถิ่นยอมรับการเรียนการสอนภาษาไทยเป็นเพราะ นี่เป็นวิธีเดียวที่ชาวมุสลิมในจังหวัดสตูลจะได้รับโอกาสทางการศึกษาสายสามัญจากภาครัฐ นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ปกครองท้องถิ่นบางท่าน เช่น พระยาสมานทราช บุรินทร์ (Tui bin Abdullah) ยังก่อตั้งโรงเรียนที่สอนภาษาไทยอีกหลายแห่งด้วย


 


3. การมีพรมแดนทางธรรมชาติเป็นแนวเขาที่ทอดตัวยาว กอปรกับป่าดงดิบตลอดแนวเขานั้น ทำให้ติดต่อกับชาวมาเลย์ในประเทศมาเลเซียยากลำบาก ยังผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างกันจืดจางหรือขาดสะบั้นลง


 


ในขณะที่พรมแดนทางด้านนราธิวาสและยะลากลับอำนวยความสะดวกในการติดต่อกับชาวมาเลย์เป็นอย่างยิ่ง พี่น้องมุสลิมทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น ทั้งจากการสมรส การใช้ภาษาที่มีสำเนียงเกือบจะเหมือนกันอย่างไม่ผิดเพี้ยน การมีภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ร่วมกัน ที่สำคัญแนวร่วมของขบวนการแบ่งแยกดินแดนนั้นมักจะได้รับการสนับสนุนด้านต่างๆ จากบริเวณตะเข็บชายแดนนี้เป็นอย่างดีอีกด้วย


 


4. การหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันของชุมชนพุทธและชุมชนมุสลิม และการมีประวัติศาสตร์แห่งความสมานฉันท์มายาวนาน ที่นี่เราสามารถพบเห็นบ้านเรือนของชาวพุทธและชาวมุสลิมตั้งอยู่ปะปนกันในชุมชนเดียวกัน เรียกได้ว่าแทบจะหาชุมชนที่มีแต่ชาวพุทธหรือชาวมุสลิมทั้งชุมชนไม่ได้เลยในพื้นที่จังหวัดสตูล ชาวสตูลต่างภาคภูมิใจในความสมานฉันท์บนความแตกต่างทางความเชื่อและวัฒนธรรมที่บังเกิดขึ้นที่นี่ พวกเขามั่นใจว่าความสัมพันธ์ระหว่างพุทธและมุสลิมที่นี่ดีมาโดยตลอด และจะดีอย่างนี้ตลอดไป ในขณะที่ชุมชนมุสลิมและชุมชนพุทธในยะลา ปัตตานี และนราธิวาส จะแยกออกจากกันด้วยระยะทางที่ไกลอย่างเห็นได้ชัด


 


นอกจากนั้น ปัจจัยด้านภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ก็เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยให้เราสามารถหาคำตอบแห่งสันติภาพท่ามกลางหมอกควันความคลุมเครือและความขัดแย้งที่ปกแผ่แผ่นดินไทยอยู่


 


1. ผู้ปกครองสตูลซึ่งเป็นชาวมุสลิมที่มาจากไทรบุรีในอดีต ซึ่งช่วงเวลานั้นกำลังถูกละเลยจากแหล่งที่มาของอำนาจเดิมคือไทรบุรี แต่กลับมาได้รับอำนาจการปกครองจากสยาม พวกชนชั้นปกครองเหล่านั้นจึง "เลือก" ที่จะให้ความร่วมมือฉันท์มิตรกับรัฐบาลสยาม ด้วยระบบการปกครองของสยาม แทนที่จะต่อต้านเหมือนผู้ปกครองจังหวัดอื่นๆ อีก 3 จังหวัดที่สูญเสียอำนาจการปกครอง และอภิสิทธิ์ต่างๆ ที่เคยมี เหตุนี้เอง เมล็ดพันธุ์แห่งการแบ่งแยกดินแดนและการต่อต้านจึงยิ่งฝังรากลงในแผ่นดินรัฐปัตตานีอย่างชอบธรรม


 


นอกจากนี้ชาวสตูลยังรู้สึกอีกด้วยว่า การมีส่วนร่วมกับการเมืองการปกครองไทยจะทำให้พวกเขาได้รับความชอบธรรมในเรื่องต่างๆ มากขึ้น การปกครองแบบประชาธิปไตยของไทยช่วยปกป้องสิทธิของชาวมุสลิมได้ และสามารถกำจัดการแบ่งแยกเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม ไปในที่สุด


 


2. ชาวมุสลิมในจังหวัดสตูลยึดมั่นในตำราทางประวัติศาสตร์ฉบับ "ไทย" ที่เชื่อว่าไทรบุรีอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของสยามมาเป็นเวลาช้านานแล้ว เพราะมีการส่งเครื่องบรรณาการอย่างสม่ำเสมอ แม้ในโรงเรียนปอเนาะในจังหวัดสตูลก็ยังใช้ตำรานี้สอนเด็กๆ  ในขณะที่ประวัติศาสตร์ฉบับ "มาเลย์" กล่าวว่า สตูลเป็นส่วนหนึ่งของไทรบุรี ซึ่งเป็นรัฐสุลต่านของมาเลเซีย การส่งเครื่องบรรณาการนั้นเป็นเพียงการแสดงถึงมิตรภาพเท่านั้น ไม่ได้หมายถึงการยอมอยู่ใต้อำนาจการปกครองของสยามแต่อย่างไร ซึ่งประวัติศาสตร์ฉบับ "มาเลย์" นี้เองที่แพร่กระจายแบบปากต่อปาก ส่งอิทธิพลเหนือความเชื่อของชาวมุสลิมในปัตตานี ยะลา และนราธิวาส


 


3. การที่สตูลเป็นเมือง "ชายขอบ" ของทั้งไทรบุรี และหัวเมืองนครศรีธรรมราชของสยาม ส่งผลให้ผู้ปกครองสตูลเรียนรู้การจัดการกับอำนาจที่มาจากภายนอกได้เป็นอย่างดี ทำให้ไม่ได้รับอิทธิพลจากทั้งสองฝ่ายรุมเร้าจนเสียสมดุลดังเช่นในจังหวัดอื่นๆ


 


4. รัฐบาลไทยมีนโยบาย "สมานฉันท์" โดยการให้อิสระแก่สตูลในการดำรง "อัตลักษณ์" ของตนเอง ไม่เคยมองว่าสตูลเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อความมั่นคงภายในประเทศ ทำให้ผู้ปกครองท้องถิ่นของสตูลยังสามารถคงอำนาจในการปกครองตนเองตลอดมา ในทางกลับกันกลับใช้แรงกดดันทางการเมือง และใช้กองกำลังทหารเข้าคุกคามและควบคุม "อัตลักษณ์" ของปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ซึ่งนำไปสู่การต่อต้านบนวิถีทางความรุนแรงในที่สุด


 


กรณีศึกษาของจังหวัดสตูลนับได้ว่าเป็นตัวอย่างสำคัญที่สามารถอธิบายถึงกระบวนการปรับตัวของชาวมุสลิมท้องถิ่นให้เข้ากับการปกครองของไทย จนนำไปสู่การมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างเป็นรูปธรรม ส่วนผสมอันลงตัวในเรื่องราวของ "อำนาจ" และ "ปัจจัยทางประวัติศาสตร์" ณ ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านจาก "มาเลย์มุสลิม" มาเป็น "ไทยมุสลิม" สนับสนุนให้สตูลเลือกที่หลอมตัวตนของตัวเองเข้ากับรัฐไทยมากขึ้น รวมทั้งเพิกเฉยที่จะต่อต้าน ปัจจัยต่างๆ รวมตัวกันอย่าง(ลึกซึ้ง)เหมาะสมจนเกิดเป็น "สูตรสำเร็จแห่งความสมานฉันท์" ซึ่งเป็นเกาะกำบังสตูลจากภัยของขบวนการแบ่งแยกดินแดนในปัตตานี ยะลา และนราธิวาส นอกจากนี้ชาวสตูลเองยังได้รับคุณูประการจากความสมานฉันท์อย่างมากมายมากว่าทศวรรษแล้ว จึงไม่แปลกที่เราจะพบว่า รายได้ต่อหัวของประชากรจังหวัดสตูลสูงกว่าจังหวัดอื่นที่มีปัญหาความไม่สงบ ถึงร้อยละ 50


 


บทเรียนที่ได้รับจากกรณีของจังหวัดสตูลคืออะไร?


 


ประการแรก สตูลถือเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญอันแสดงถึง ปฏิกิริยาตอบสนองอันรุนแรงต่อนโยบายการใช้กำลังบังคับให้ "พวกเขา" ละลายตัวตนของเขามาหลอมรวมเป็น "พวกเรา" สตูลไม่เคยได้รับแรงกดดันเฉกเช่นเดียวกับที่ปัตตานี ยะลา และนราธิวาสได้รับ การที่สตูลไม่ได้รับแรงกดดันหรือการแทรกแซงนี่เองที่ทำให้สตูลยอมเลือกที่จะเป็นหนึ่งเดียวกับรัฐไทยมากขึ้น


 


ประการที่สอง เมล็ดพันธ์แห่งความสมานฉันท์ในสตูล ถูกบ่มเพาะตั้งแต่กาลก่อนด้วยการให้อำนาจแก่ผู้นำมุสลิมท้องถิ่นในการปกครองดูแลตนเอง ในทางตรงกันข้าม การใช้กำลังโค่นล้มอำนาจผู้นำมุสลิมท้องถิ่นในปัตตานีได้รับการตอบสนองด้วยความรุนแรงที่ทวีคูณ ซึ่งการใช้ความรุนแรงของรัฐไทยในครั้งนั้นไม่ต่างอะไรกับการหว่านเมล็ดพันธ์แห่งความเกลียดชังและต่อต้านให้หยั่งรากลึกลงในพื้นที่ อันส่งผลร้ายมาจนถึงทุกวันนี้


 


ร่องรอยของประวัติศาสตร์ได้สอนเราว่า การเลือกเดินบนเส้นทางที่แตกต่างระหว่างความรุนแรงกับความสมานฉันท์เมื่อครั้งอดีตให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เหตุการณ์ในปัจจุบันอันเป็นผลพวงจากอดีตน่าจะสอนอะไรแก่เรามากกว่าการ "เสียดาย" หรือ "เสียใจ" ที่เราไม่สามารถย้อนเวลากลับไปแก้ไขเรื่องราวในอดีตได้ อย่างน้อยที่สุดบทเรียนอันเจ็บปวดก็น่าจะเป็นเครื่องเตือนใจให้เราไม่ก้าวพลาดไปเดินบนเส้นทางแห่ง "ความรุนแรง" อีก


 


หรือ...เราอยากจะให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีกครั้งและอีกครั้งด้วยรอยเลือดและคราบน้ำตา


 


.................................


หมายเหตุ บทความนี้ เป็นส่วนหนึ่งของชุดเอกสารประกอบการสัมมนาวิชาการ ประจำปี 2548 ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)  ซึ่งมี มูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงแรงงาน และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เป็นองค์กรร่วมจัด เมื่อวันที่ 27-28 พฤศจิกายน 2548 ณ โรงเรียนแอมบาสเดอร์ พัทยา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net